นักกฎหมายสิทธิฯ แนะเลือกตั้ง ชี้นายกฯพระราชทานไม่ใช่วิธีทางแห่งรัฐธรรมนูญ

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ระบุนายกฯพระราชทานไม่ใช่วิธีทางแห่งรัฐธรรมนูญ แนะใช่กติกาการเลือกตั้งและการแข่งขันเชิงนโยบาย

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2556 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส) ได้ออกแถลงการณ์เสนอแนะต่อสถานการณ์ทางการเมือง เพื่อวิธีทางแห่งประชาธิปไตย จากที่ได้มีกลุ่มบุคคลหลายกลุ่ม เช่น คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) โดยมีข้อเรียกร้องหลายอย่างเช่น ให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากการรักษาการ ร้องขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน รวมทั้งเรียกร้องการปฏิรูประบอบการเมืองของประเทศนั้น

โดย สนส. มีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว ดังนี้

1.นายกรัฐมนตรีพระราชทาน ไม่ใช่วิธีทางแห่งรัฐธรรมนูญ

ตามที่ได้มีข้อเรียกร้อง ขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน โดยอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 7 เป็นเพียงบทอุดช่องว่างของกฎหมาย ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญรองรับไว้เท่านั้น แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติถึงที่มาของนายกรัฐมนตรีไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 171, 172, และ 173 แล้ว ข้อเรียกร้องจึงไม่ต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ อีกทั้งการร้องของนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ก็ไม่ใช่แนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือประเพณีแห่งระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องยึดถือเจตจำนงร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ

2. ขอให้ทุกฝ่าย มุ่งเข้าสู่วิธีทางแห่งประชาธิปไตย

ระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบที่มาจากเจตจำนงร่วมของประชาชนเพื่อมุ่งไปสู่ผลประโยชน์ของมหาชน แม้เจตจำนงร่วมจะสามารถผิดพลาดได้ แต่เจตจำนงร่วมก็มิอาจถูกทำลายลงได้ การเข้าสู่กติกาการเลือกตั้งและการแข่งขันเชิงนโยบาย จะทำให้ได้ตัวแทนทางการเมืองอันมาจากความเห็นชอบของมหาชน ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่าต้องมีความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ระบอบการเลือกตั้งตามวิธีทางแห่งประชาธิปไตย ย่อมสามารถสร้างความไว้วางใจต่อสังคมว่า รัฐบาลจะคุ้มครองประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทย อีกทั้ง ระบอบการตรวจสอบถ่วงดุล ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งการสร้างความเชื่อมั่นว่า รัฐจะไม่กระทำการใดๆอันเป็นการมุ่งไปสู่ผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าผลประโยชน์ของมหาชนรัฐ

ข้อเสนอของฝ่ายที่เรียกร้องให้ใช้แนวทางอื่นๆ นอกจากวิธีทางการเลือกตั้ง ย่อมไม่อาจรับฟังได้ ด้วยเหตุที่ ตัวแทนทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ย่อมมิอาจพิสูจน์เจตจำนงร่วมของประชาชนได้ และตัวแทนดังกล่าวก็ไม่มีหลักประกันแห่งสิทธิใดๆต่อประชาชนว่าจะปกป้องประโยชน์สุขของมหาชน

3. ทุกฝ่ายต้องสร้างเจตจำนงร่วมเพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง

เพื่อสร้างแนวทางการปฏิรูปทางการเมือง แต่ละฝ่ายจึงต้องละทิ้งผลประโยชน์ส่วนตน มุ่งตรงไปสู่ผลประโยชน์ของมหาชน เคารพสัญญาประชาคมที่ประชาชนในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ร่วมมอบให้แก่รัฐในฐานะมติมหาชน เพื่อให้รัฐเป็นผู้คุ้มครองประโยชน์สุขของประชาชน องค์กรทางการเมือง ส่วนราชการ องค์กรทางกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ต้องหาข้อตกลงร่วมและให้สัตยาบันในการปฏิรูปการเมือง เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกฝ่ายมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด การปฏิรูปการเมืองจึงจะสะท้อนถึงเจตจำนงร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่มุ่งแต่พิทักษ์ผลประโยชน์ของเสียงส่วนใหญ่หรือกลุ่มคนบางกลุ่ม เพราะรัฐบาลไม่ใช่รัฐบาลของกลุ่มบุคคลเพียงกลุ่มเดี่ยว แต่เป็นรัฐบาลของประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท