Skip to main content
sharethis

สหภาพแรงงานสยามโภชนากรปิดถนนประท้วง

8 ม.ค. 2557 - พนักงานโรงงานสยามโภชนากรกว่า 150 คนชุมนุมประท้วงปิดถนนบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการเร่งช่วยเหลือพนักงานฯหลัง จากนายจ้างไม่ยอมเดินทางเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างพนักงานและโรงงาน ในเรื่องการจ่ายเงินโบนัสประจำปีและค่าแรงตามอายุงาน พร้อมทั้งให้สิทธิปิดงานไม่ให้พนักงานกลับเข้าไปทำงานอีก โดยพนักงานฯได้ปิดถนนขาออกจากตลาดปากน้ำเหลือช่องการจราจรพียงช่องเดียว เพื่อให้รถสัญจรได้ และยื่นข้อเรียกร้องให้ประสานกับเจ้าของโรงงานเดินทางมาเจรจาข้อพิพาทดัง กล่าวหากไม่ดำเนินการทางพนักงานจะย้ายไปปิดถนนบริเวณสามแยกหอนาฬิกา โดยมี พันตำรวจเอก พัลลพ แอล่มหล้า ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการ เข้าเจรจากับผู้ชุมนุม โดยก่อนหน้านี้ทางสหภาพแรงงานสยามโภชนากรได้เดินทางมายื่นหนังสือกับผู้ว่า ราชการจังหวัดสมุทรปราการ และได้นัดเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกันในวันที่ 8 มกราคม 2557 แต่ทางฝ่ายนายจ้างไม่ได้เดินทางมา

ภายหลังการเจรจาทางสหภาพฯได้ยื่นข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ประกอบด้วย ให้พนักงานทุกคนกลับเข้าไปทำงาน ,เงินที่ปิดงานต้องจ่ายคืนหมด ,เงินโบนัสและค่าแรงตามอายุงาน และสวัสดิการต่างๆที่มีอยู่ต้องจ่ายคืนพนักงานงานหมด ในเบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ประสานไปยังนายจ้างแล้วโดยได้นัด เจรจากันใหม่อีกครั้งในวันพรุ่งนี้ โดยผู้เข้าร่วมเจรจาประกอบด้วยประธานและรองประธานสหภาพแรงงานสยามโภชนากร ,นายจ้าง โดยมีผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการ และรองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมเป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทดังกล่าว

(สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์, 8-1-2557)

ก.แรงงาน เตรียมส่งช่างฝีมือ 200 คน ไปทำงานยูเออี

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน แถลงผลการเดินทางไปหารือความร่วมมือด้านแรงงานและเยี่ยมแรงงานไทยที่สหรัฐ อาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) กาตาร์และโอมาน ระหว่างวันที่ 21-27 ธ.ค.56 ว่า ได้หารือกับเลขาธิการกองทุนประกันสังคมอาบูดาบี กระทรวงมหาดไทย ยูเออี มีความต้องการผู้ช่วยแม่บ้านและแรงงานช่างฝีมือเช่น ช่างเชื่อม ก่อสร้าง ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่างฝีมือสาขาต่าง ๆ ประมาณ 200 คน ซึ่งกระทรวงจะจัดหาแรงงานส่งไปยังยูเออี โดยเฉพาะช่างฝีมือ แต่ผู้ช่วยงานบ้านจะไม่จัดส่ง เพราะเคยมีปัญหาแรงงานไทยไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งคาดว่าจะจัดส่งได้ภายใน 2 เดือนข้างหน้า

ส่วนประเทศกาตาร์ก่อนหน้านี้ได้มีข้อตกลงความร่วมมือด้านแรงงานระหว่าง กันโดยกาตาร์ต้องการแรงงานด้านช่างเชื่อมก่อสร้างและสาขาที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่ได้ดำเนินการเพราะจะต้องมีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารระหว่างรัฐบาล ไทยกับการ์ตาก่อน ซึ่งหากมีรัฐบาลชุดใหม่จะเร่งดำเนินการทันที

ขณะที่โอมานซึ่งกำลังพัฒนาประเทศเพื่อเปิดรับการลงทุนของบริษัทต่างชาติ มีความต้องการแรงงานช่างฝีมือช่างเชื่อม ก่อสร้าง และสาขาที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก โดยจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อจัดทำรายละเอียดความต้องการและพัฒนา ฝีมือแรงงาน รวมทั้งจะร่วมกันจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานขึ้นที่ประเทศโอมาน ซึ่งโอมานจะสนับสนุนงบดำเนินการโดยจะนำแรงงานไทยซึ่งเป็นช่างฝีมือในสาขา ต่างๆ มาฝึกอบรมเพื่อพัฒนาให้เป็นครูฝึกอบรมทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่แรงงาน ภายในประเทศโอมานต่อไป.

(สำนักข่าวไทย, 8-1-2557)

ตั้งสถาบันพัฒนาแรงงานด้านยานยนต์ ตั้งเป้า 6 ปี ไทยเป็นศูนย์กลางผลิต

(9 ม.ค.) นายวิษณุ ปาณวร รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ มีการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอีกเมื่อก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ส่งผลให้ประเทศกลายเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมดังกล่าวทั้งในระดับภูมิภาคและ ระดับโลก แต่อุตสาหกรรมนี้กลับประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน จนต้องมีการพึ่งพาแรงงานต่างด้าว และคาดว่ามีแรงงานต่างด้าวอยู่ประมาณ 120,000 คน จากทั้งหมด 6 แสนคน ส่วนมากจะเป็นแรงงานระดับล่าง หรือไร้ทักษะฝีมือ ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมากในด้านการผลิตที่มีความล่าช้าและคุณภาพสินค้าต่ำกว่า มาตรฐาน โดยในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติเช่นกัน
      
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) จึงแก้ปัญหาด้วยการจัดตั้ง “สถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์” ขึ้น ในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาคและศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดอย่าง สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ราชบุรี และนครราชสีมา พร้อมตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตด้านนี้ และเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ปีละ 4 ล้านคัน ในปี 2563 จากปกติปีละ 2 ล้านคัน จึงทำให้มีความต้องการแรงงานอีกประมาณ 2 แสนคน
      
รองอธิบดี กพร.กล่าวอีกว่า “สถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์” มีภารกิจในการพัฒนาบุคลากร ให้มีทักษะตั้งแต่ระดับกลาง จนถึงระดับสูง ให้รู้ถึงเทคนิคการสอน, การพัฒนาหลักสูตร เทคโนโลยี รูปแบบการฝึก ให้มีการพัฒนาระบบประกันคุณภาพ และการส่งเสริมการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ภายในสถานประกอบการ ทั้งการฝึกและการทดสอบ

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 9-1-2557)

ผลสำรวจลูกจ้างวอนบริษัทเพิ่มคุ้มครองโรคร้าย

นายเบน อึ๊ง ประธานคณะกรรมการบริหาร ด้านคอร์ปอเรท โซลูชั่น กลุ่มบริษัทเอไอเอ เปิดเผยว่า ข้อมูลจากผลการสำรวจล่าสุดชี้ว่า พนักงานในฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ยกให้การประกันสุขภาพที่คุ้มครองโรคร้ายแรง เป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของแผนสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาล (Employee Benefit Scheme - EBS) ที่นายจ้างควรมอบแก่พนักงาน

อย่างไรก็ตาม มีนายจ้างจำนวนน้อยกว่า 10% ที่มีแผนประกันดังกล่าวรวมอยู่ในแผนสิทธิประโยชน์ ผลจากการสำรวจดังกล่าว

การสำรวจดังกล่าว จัดทำขึ้นหลังจากการเปิดตัวแบรนด์โพสิชั่นนิ่งใหม่ของเอไอเอ “The Real Life Company เข้าใจชีวิต เข้าใจคุณ” อันสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและถ่องแท้ที่เอไอเอมีต่อชีวิต ของลูกค้า และบทบาทของเอไอเอในการมีส่วนช่วยเหลือครอบครัวต่างๆ ทั่วภูมิภาคในการวางแผนชีวิตทั้งในช่วงขาขึ้นและขาลง ชี้ว่าบริษัทต่างๆ ควรเข้าใจพนักงานและมองแผนสิทธิประโยชน์ฯ ให้เป็นมากกว่าเพียงผลประโยชน์ที่มอบให้แก่พนักงาน

นายซาลูน ธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอ ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะผู้นำตลาดคอร์ปอเรท โซลูชั่น บริษัทเชื่อว่าการได้มีส่วนช่วยให้นายจ้างสามารถบรรลุความคาดหวังของพนักงาน เป็นสิ่งถูกต้องที่ควรทำ และเอไอเอให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการให้คำแนะนำที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า เกี่ยวกับการผนวกความคุ้มครองโรคร้ายแรงเข้ากันกับแผนสิทธิประโยชน์ฯ หลักของบริษัท

(ไทยโพสต์, 10-1-2557)

ลุ้น ครม.เคาะประกาศค่าจ้างฝีมือแรงงาน 13 อาชีพ ให้ทีโออาร์จ้างทำวิจัยค่าจ้างลอยตัว

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ค่าจ้าง เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บอร์ดค่าจ้างได้ประชุมหารือเกี่ยวกับการจัดทำเนื้อหาร่างประกาศกระทรวง เรื่องอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานใน 5 กลุ่มสาขา 13 อาชีพ ได้แก่ กลุ่มช่างอุตสาหการ ช่างก่อสร้าง อุตสาหกรรมศิลป์ ช่างเครื่องกลและบริการในระดับ 1 โดยอัตราค่าจ้างต่ำสุดวันละ 350 บาท สูงสุดวันละ 815 บาท ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้คงข้อความที่กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเต็มอัตรา ตามระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน แม้นายจ้างจะไม่ได้ใช้ให้ลูกจ้างทำงานครบถ้วนทุกด้านตามที่มีมาตรฐานฝีมือ เพื่อไม่ให้นายจ้างใช้เป็นเหตุผลในการไม่จ่ายเงินค่าจ้างเต็มอัตราตามระดับ มาตรฐานฝีมือแรงงานของลูกจ้าง แต่นายจ้างควรให้ลูกจ้างได้ทำงานเต็มตามทักษะฝีมือที่มีอยู่
      
“ภายในเดือน ม.ค.นี้จะเสนอต่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการ รมว.แรงงาน ให้พิจารณานำร่างประกาศดังกล่าวเสนอต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากสำนักเลขาธิการ ครม.พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีผลผูกพันต่อรัฐบาลชุดใหม่ก็จะนำเสนอต่อ ครม.รักษาการให้พิจารณารับทราบและประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยจะมีผลบังคับ ใช้ภายใน 90 วัน แต่ถ้ามีผลผูกพันกับครม.ชุดใหม่ สำนักเลขาธิการ ครม.คงส่งร่างประกาศคืนกลับมายังกระทรวงแรงงานเพื่อเสนอรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป” ประธานบอร์ดค่าจ้าง กล่าว
      
นายจีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างยังเห็นชอบร่างทีโออาร์เพื่อจัดซื้อจัดจ้างสถาบันอุดม ศึกษาทำวิจัยเรื่องความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการใช้ระบบค่าจ้างลอยตัวใน ประเทศไทยโดยใช้งบจ้าง 2 ล้านบาท หลังจากนี้คณะกรรมการทีโออาร์จะประกาศให้สถาบันอุดมศึกษามาเข้าร่วมยื่น ประมูลต่อไป
      
ภายในเดือน ม.ค.นี้ จะเสนอต่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ให้พิจารณานำร่างประกาศดังกล่าวเสนอต่อสำนักเลขาธิการ

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 13-10-2557)

ก.แรงงานเตือนแรงงานไทยถูกหลอก

นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซียเรื่องการเดินทางเข้าไปทำงาน ในมาเลเซียของแรงงานไทย โดยเฉพาะในรายที่ถูกชักชวนโดยเอเยนต์ หรือกรณีที่นายจ้างให้ผู้อื่นไปติดต่อขอใบอนุญาตทำงาน เนื่องจากพบว่ามีแรงงานไทย รวมถึงนายจ้างในมาเลเซีย บางราย ถูกเอเยนต์หลอกทำใบอนุญาตทำงานปลอมแล้วหลายราย อีกทั้ง มีแรงงานไทยบางรายรู้เท่าไม่ถึงการ นำใบอนุญาตทำงานปลอมออกไปจ๊อบที่ด่าน ทำให้ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียจับกุม และถูกโทษจำคุก 6 เดือน จึงขอเตือนให้คนไทยระมัดระวังให้มากในการเดินทางเข้าทำงานในมาเลเซีย ผ่านเอเยนต์ หรือนายจ้างให้ผู้อื่นไปติดต่อขอใบอนุญาตทำงาน

อย่างไรก็ตาม นายสุเมธ กล่าวว่า การตรวจสอบใบอนุญาตทำงานว่าเป็นของจริงหรือของปลอมนั้น เบื้องต้นให้สังเกตในใบอนุญาตทำงาน หรือ Visit Pass (Temporary Employment) ว่า ระบุสถานที่ทำงานตรงกับสถานที่ทำงานจริงหรือไม่ และในส่วนของค่าธรรมเนียมวีซ่าของคนไทยจะต้องระบุว่า เป็น Gratis ยกเว้นส่วนของขั้นตอนที่ถูกต้องของการขอในอนุญาตทำงานจากสำนักงานตรวจคนเข้า เมืองมาเลเซีย คือ คนงานจะต้องได้รับ Calling Visa จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย และจะต้องผ่านการตรวจโรคกับคลินิก ที่อยู่ในสังกัดของ Fomema (หน่วยงานตรวจสุขภาพคนงานต่างชาติ) ก่อน จึงจะสามารถดำเนินการติดสติกเกอร์ใบอนุญาตทำงานในหนังสือเดินทางได้

(ไอเอ็นเอ็น, 14-1-2557)

สปส.จ่ายบำเหน็จชราภาพ 6 พันล้านงวดแรก 25 ก.พ.

เมื่อวันที่ 13 มกราคม นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพว่า ช่วงตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2556 มีผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 มายื่นเรื่องรับเงินสิทธิประโยชน์กรณีเงินชราภาพโดยเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ กว่า 160,000 คน ใช้เงินกองทุนประกันสังคมกว่า 6,600 ล้านบาท ซึ่ง สปส.ได้จ่ายเงินออกไปแล้ว ส่วนช่วงเดือนธันวาคม 2556 มีผู้ประกันตนมายื่นเรื่องรับเงินสิทธิประโยชน์กรณีเงินชราภาพทั้งเงิน บำเหน็จชราภาพและเงินบำนาญชราภาพรวมกว่า17,000 คน แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นผู้ที่มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพ ซึ่งส่งเงินสมทบมาไม่ครบ 180 เดือน หรือ 15 ปี มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และเกษียณจากการทำงานแล้วจำนวนเท่าใด และผู้ที่มีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพซึ่งส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน หรือ 15 ปี มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และเกษียณจากการทำงานแล้วจำนวนเท่าใด เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแยกจำนวนผู้ที่มีสิทธิและ เงินชราภาพที่ต้องจ่ายโดยภาพรวมในแต่ละประเภท

"สปส.จะเริ่มจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพซึ่งเป็นเงินบำนาญชราภาพ ให้แก่ผู้ประกันตนที่มีสิทธิซึ่งที่มายื่นเรื่องในช่วงเดือนธันวาคม2556 และเดือนมกราคม งวดแรกได้ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ โดยผ่านบัญชีธนาคาร 9 แห่งที่ร่วมมือกับ สปส. ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย ธนาคารธนชาต ธนาคารซีไอเอ็มบี และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยกรณีผู้ประกันตนที่มีเงินเดือน 9,000 บาท จะได้รับเงินบำนาญชราภาพโดยเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละประมาณ 1,800 บาท เงินเดือน 10,000 บาท ได้รับเดือนละประมาณ 2,000 บาท เงินเดือน 12,000 บาท ได้รับเดือนละประมาณ 2,400 บาท และเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไป ได้รับเดือนละประมาณ 3,000 บาท อย่างไรก็ตาม ผู้ประกันตนแต่ละคนอาจจะได้รับเงินบำนาญชราภาพไม่เท่ากัน โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบและค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณการทำงานบวกกับเงินปันผลกำไรที่ สปส.นำเงินสมทบไปลงทุน ซึ่ง สปส.จะนำเงินบำนาญชราภาพเข้าบัญชีธนาคารของผู้ประกันตนทุกวันที่ 25 ของแต่ละเดือน นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป" รองเลขาธิการ สปส.กล่าว

(ประชาชาติธุรกิจ, 14-1-2557)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net