นิติราษฎร์เสนอเลือกตั้ง ส.ส.พร้อม ส.ว. -ชี้ช่องเอาผิด-ถอดถอน กกต. ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

16 ก.พ. 2557 คณะนิติราษฎร์แถลงข่าวกรณี อำนาจและความรับผิดชองกกต. กรณีกำหนดวันลงคะแนนใหม่ เป็นวันที่ 20 และ 27 เม.ย. ตามลำดับนั้น วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ระบุว่าเป็นการกำหนดเวลาที่ยาวนานเกินไป และไม่มีเหตุผลรองรับเพียงพอ พร้อมทั้งเสนอว่าควรกำหนดให้เร็วกว่านี้กันอำนาจนอกระบบ/คนกลาง เข้าแทรกแซง อย่างช้าที่สุดไม่เกิน 30 มี.ค. หรืออาจจัดพร้อมการเลือกตั้ง ส.ว.ที่จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมก็ได้ นอกจากนี้ กกต.ยังมีอำนาจเลื่อนวันรับสมัครเลือกตั้ง และประกาศวันลงคะแนนใหม่ใน 28 เขตในภาคใต้ได้ โดยไม่ต้องให้รัฐบาลออก พ.ร.ฎ.การเลือกตั้งใหม่ เพราะการออกพ.ร.ฎ.ใหม่เสี่ยงให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะเนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นวันเดียวกันทั่วประเทศ

ย้ำ กกต. ต้องพยายามอย่างเต็มความสามารถ-จัดการเลือกตั้งให้ลุล่วงภายในเดือนมีนาคม

ทั้งนี้ วรเจตน์ระบุว่า การออกมาให้ข่าวของ กกต. รายหนึ่งถึงการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่นั้น มีประเด็นพิจารณาได้ 3 ประเด็นได้แก่

ประเด็นแรก การกำหนดวันเลือกชดเชยวันตั้งล่วงหน้าจากวันที่ 26 ม.ค. ไปเป็น 20 เมษายน และสำหรับคนที่ไม่สามารถออกเสียงลงคะแนนได้ในวันที่ 2 พ.ค. เป็นวันที่ 27 เม.ย. นั้นเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมหรือไม่

ประเด็นที่สอง คือการตราพระราชกฤษฎีกา วันออกเสียงลงคะแนนใหม่ สำหรับ 28 เขตเลือกตั้งนั้น เป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือเป็นหน้าที่ของรัฐบาล

ประการที่สามคือ การที่วันออกเสียงลงคะแนนใหม่ล่าช้าไปมาก กกต. จะมีความรับผิดทางกฎหมายอย่างใดหรือไม่
ในประเด็นแรกนั้น เขากล่าวว่า ก่อนมีการเลือกตั้ง 2 ก.พ. หลายคนกังวลว่าการเลือกตั้งอาจจะเกิดขึ้นไมได้เพราะการให้ข่าวและบางคนก็แสดงความเห็นว่า อาจจะมีการฉีกบัตรทั่วประเทศเป็นแสนๆ ใบ พยายามเสนอให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป แต่ที่สุดก็ไม่มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป และมีผู้ออกไปใช่สิทธิลงคะแนนถึงยี่สิบล้านคน ดำเนินไปได้อย่างเรียบร้อยเป็นส่วนใหญ่

การที่ประเทศว่างเว้นการมีสภาผู้แทนราษฎรหรือว่างเว้นไปเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอำนาจนอกระบบเข้าแทรกแซง กกต. เป็นองค์กรสำคัญในแง่การจัดการเลือกตั้งและมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้การเลือกตั้งลุล่วงไปโดยบริบูรณ์ การเกิดขึ้นของสภาผู้แทนราษฎรมีนัยยะสำคัญของการเคารพสิทธิของผู้ที่ไปออกเสียงเลือกตั้งด้วย ซึ่งบัดนี้ได้รอคอยสภาผู้แทนราษฎร

ตอนนี้มีการเสนอนายกคนกลาง และอื่นๆ แต่เป็นข้อเสนอที่ไมเป็นประชาธิปไตย นิติราษฎร์ยืนยันว่าเราไม่สามารถออกจากความขัดแย้งทางการเมืองโยละทิ้งหลักการที่ดำรงอยู่ และกฎเกณฑ์ที่ปรากฏตามรัฐธรรมนูญ สิ่งที่นิราษฎร์เสนอคือ ต้องดำเนินไปตามกรอบรัฐธรรมนูญ การเจรจาใดๆ ต้องดำเนินไปบนพื้นฐานตามหลักรัฐธรรมนูญ

กกต. มีอำนาจตามกฎหมายในการจัดการกับผู้ที่ขัดขวางการเลือกตั้ง คำถามคือได้จัดการกับบุคคลเหล่านั้นหรือยัง ในสภาวะความขัดแย้งนี้ เมื่อการเลือกตั้งส่วนใหญ่เกิดขึ้นแล้ว การเลือกตั้งที่เหลือก็ต้องดำเนินขึ้นตามมา การพยายามชะลอการเลือกตั้งเป็นความพยายามหน่วงเหนี่ยวการก่อตั้งรัฐบาลเพื่อให้ผู้ที่พยายามล้มรัฐบาล ได้กระทำการต่างๆ ซึ่งจะส่งผลอย่างร้ายแรง

โดยนิติราษฎร์เสนอว่าต้องเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม พึงต้องพยายามอย่างเต็มความสามารถ

อีกประเด็นคือเรื่องการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันออกเสียงลงคะแนนใหม่สำหรับ 28 เขตเลือกตั้ง อาจะเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบ เพราะเลื่อนกำหนดเวลานานไปโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

ส่วนอำนาจในการตราพรฎ อยู่ที่ใครกันแน่ ข้อเท็จจริงคือ ในหลายเขต คือ 28 เขตนี้มีคนไปสมัครรับเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถทำได้ ซึ่งในเวลานั้น กกต. ได้ให้คำแนะนำกับผู้ที่ต้องการลงสมัครรับเลือกตั้งให้ไปฟ้องต่อศาลฎีกา ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ไม่ถูกต้องเพราะไม่ใช่เรื่องที่อยู่ในอำนาจศาลฎีกา กรณีที่จะร้องต่อศาลฎีกา ต้องเป็นกรณีที่มีการสมัครรับเลือกตั้งแล้วผู้สมัครไม่มีเบอร์ แต่กรณีที่เกิดขึ้นคือการไม่สามารถสมัครได้แต่แรก เป็นการแนะนำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อผู้สมัครไปยื่นต่อศาลฎีกา ศาลก็ยกคำร้อง เมื่อเวลาล่วงเลยไป ก็ทำให้ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต แล้ว 28 เขตเลือกตั้งนี้จะทำอย่างไร นิติราษฎร์เห็นว่าเป็นหน้าที่ของกกต.

อำนาจในการกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง เป็นอำนาจของ กกต. เมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกา ยุบสภา และประกาศวันเลือกตั้ง การสมัครรับเลือกตั้งได้เกิดจะขึ้นตามประกาศของกกต. ทั้งนี้ การสมัครับเลือกตั้งที่ผ่านมา ทุกเขตเลือกตั้งจะมีผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อทั้งสิ้น เพราะระบบบัญชีรายชื่อรับสมัครที่กรุงเทพฯ และเป็นบัญชีเดียว ใช้ทั้งประเทศ
เมื่อกกต. ไม่ทำ ไม่ขยายเวลาให้เพิ่มเวลาสำหรับการรับสมัครส.ส. ระบบเขต แล้วตอนนี้มาบอกว่า ไม่มีอำนาจแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามว่าจะกล่าวอ้างนี้เช่นนี้ได้หรือไม่ ทั้งนี้ เขาเห็นว่า กกต. มีระยะเวลาที่จะเตรียมการรับมือกับปัญหาการขัดขวางการรับสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต แต่ไม่ทำ และเมื่อรับสมัครไม่ได้ ก็ไม่มีการกำหนดวันรับสมัครใหม่ จนเวลาล่วงเลยมาถึงวันเลือกตั้ง ก็ทำให้มีปัญหาว่า มีบางเขตที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต

วรเจตน์กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นคือ เรามี กกต. เพื่ออะไร ทำไมเราต้องมีคระกรรมการการเลือกตั้งทีเป็นองค์กรอิสระ เพื่อให้จัดการการเลือกตั้ง ซึงจะหวังให้ราบรื่น ไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่เพราะการจัดการเลือกตั้งต้องมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น มีประเด็นปัญหากฎหมาย เราจึงต้องมีองค์กรที่ต้องทำหน้าที่เต็มกำลังความสามารถ ไม่ใช่คาดการณ์ไปตลอดเวลาว่าจะไม่ราบรื่น จะรุนแรง จะจัดการการเลือกตั้งได้ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นไม่มีวันที่จะมีการเลือกตั้ง ทั้งที่ความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องปกติตามหลักประชาธิปไตย และในหลายหน่วยไม่ได้พยายามทำการจัดการเลือกตั้งเลย เช่น กรณีนครศรีธรรมราช แม้จะมีความพนายามขัดขวางการรับสมัครเลือกตั้งแต่พยายามย้ายไปจัดการในค่ายทหาร ก็จัดการได้ อีกทั้งการเลือกตั้ง 2 ก.พ. ส่วนใหญ่ก็ผ่านไปได้โดยเรียบร้อย แม้จะมีความพยายามขัดขวางการเลือกตั้งก็ตาม

เสนอเลือก ส.ส. พร้อม ส.ว. วันที่ 30 มี.ค. เชื่อคนไทยไม่สับสน

ปิยบุตร แสงกนกกุล สรุปประเด็นสั้นๆ เรื่องข้อเท็จจริงที่สมชัย ศรีสุทธิยากร หนึ่งใน กกต.แถลงว่า กกต. มีมติลงคะแนนใหม่ 20 และ 27 เม.ย. ก็เกิดข้อสงสัยว่าทำไมจึงต้องทอดยาวออกไปขนาดนั้น

“กกต. เลือกที่จะทำน้อยเกินไปที่จะจัดการการลงคะแนนให้เสร็จสมบูรณ์ คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่จัดการการเลือกตั้ง ไม่ใช่มาทำหน้าที่หยิบยกว่ามีปัญหาโน้น ทุกที่มีปัญหาหมด ไปที่ไหนก็ร้องแต่ว่ามีปัญหาๆ อุปสรรคเต็มไปหมด ก็ถ้ามีปัญหาก็เป็นหน้าที่ที่คุณต้องจัดการให้ลุล่วง ยิ่งหยิบยกเท่าไหร่ก็ยิ่งต้องจัดการเครื่องไม้เครื่องมือมาจัดการการเลือกตั้งให้ลุล่วง”

โดยปิยบุตร กล่าวถึงเงื่อนเวลาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 127 ระบุว่าหลังการเลือกตั้ง ไป 30 วัน จะต้องมีการเรียกประชุมรัฐสภา แล้วหลังจากนั้นนับไปอีกให้สภาผู้แทนราษฎรเลือก ส.ส. คนหนึ่งมาเป็นนายก แล้วไปตั้งครม. ให้ครบองค์ประกอบ กลไกรัฐธรรมนูญได้วางไว้หมด

ปัญหาคือ ตามมาตรา 127 สร้างมาเพื่ออะไร 30 วัน บังคับตายตัวไหม หรือ 30 วันนี้เป็นระยะเวลาเร่งรัดเท่านั้น ซึ่งนิติราษฎร์เห็นว่า 30 วันนี้เป็นระยะเวลาเร่งรัด  องค์กรที่เกี่ยวข้อทั้งหลาย ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งถึงร้อยละ 95 เพื่อให้เปิดรัฐสภาได้ ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่มีผลอะไร แต่ถ้าดูเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทีเกิดขึ้น ดูจาก กกต. ชุดที่แล้วที่เพิ่งพ้นไป ระยะเวลา 30 วันเขาทำกันได้หมด ทั้งๆ ที่มีการร้องเรียนทุจริตเลือกตั้ง มีการคัดค้านเต็มไปหมด ก็มีใบเหลืองใบแดง แต่พอระยะเวลากระชั้นชิดมาใกล้พ้นสามสิบวัน ก็จะปล่อยออกไปก่อนแล้วตามไปสอยทีหลัง ที่ผ่านมามีปัญหาว่าจะไม่ครบ 95 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็จะเห็นการแสดงความพยายามของกกต. ที่จะทำให้ได้ ส.ส.ให้ครบ 95 เปอร์เซ็นไปก่อนให้กลไกเดินไปตามระบบ ปัญหาคือ ครั้งนี้มีปัญหาว่าบางเขตมีผู้สมัครที่ไม่มีผู้สมัครในเขตนั้นๆ เลย ถูกขัดขวาง ระยะเวลาทอดเลยยาวออกไปกว่า 30 วันแน่นอน

ปิยบุตรกล่าวว่า นิติราษฎร์เสนอเงื่อนเวลาใหม่ ให้กกต. กำหนดการเลือกตั้ง ส.ส. พร้อม ส.ว. ในวันที่ 30 มี.ค. นี้  เพราะคนที่อยากเป็นส.ว. และคนที่อยากดึงสิทธิของตัวเองกลับมาใหม่จะต้องพยายามไปใช้สิทธิของตัวเองอย่างแน่นอน และแม้จะต้องลงคะแนนทั้ง ส.ส. แบ่งเขต, บัญชีรายชื่อ และ ส.ว. รวมแล้ว 3 ใบ แต่เขาเชื่อว่าคนไทยไม่โง่พอจะกาผิด เพราะคนไทยกาบัตรเลือกตั้งมาหลายครั้งแล้ว

ปิยบุตรกล่าวต่อไปว่า หากการเลื่อนเลือกตั้งไปเดือนเมษายน แล้วเหตุผลที่กกต. ให้มาไม่มีเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอ ขณะที่ระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้เปิดสภาผู้แทนได้ภายใน 30 วันหลังการเลือกตั้ง ถูกทำให้ทอดยาวไป ทำให้ประเทศไทยไม่มีสภาผู้แทนราษฎรเสียที คนที่เสียหายคือผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คนที่ได้รับการเลือกตั้ง ทั้งประเทศก็เสียหายเพราะการปฏิบัติหน้าที่ภารกิจต่างๆ ของรัฐสะดุด ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรตรากฎหมาย ไม่มีคณะรัฐมนตรี ทุกวันนี้ก็มีปัญหาอยู่อย่างเรื่องการจำนำข้าว หรือส่วนราชการต่างๆ เริ่มหารือกันเพราะไม่รู้ว่ารัฐบาลที่มีอยู่มีอำนาจเพียงใด ปัญหาเหล่านี้มันกระกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐที่ต้องต่อเนื่อง และมาตรา 127 เขากำหนดมา 30 วันเพื่อการนี้ ถ้าไม่เช่นนั้นก็เป็นเวลาที่ไม่มีรัฐบาล ถ้ากกต. ไม่ช่วยสนับสนุนให้เกิดสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมา อาจเข้าข่ายว่ากกต. อาจะใช้ดุลพินิจทอดยาวออกไปจนทำให้ไม่เกิด ส.ส. และครม. และสุ่มเสี่ยงที่จะมีความผิดอาญาได้

เปิดช่อง ฟ้องอาญา 157 ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ – ถอดถอน กกต. ตามกลไกรธน.

สาวตรี สุขศรี กล่าวถึงความรับผิดต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ หากกกต.ไม่ได้กระทำตามกฎหมาย การแจ้งความกล่าวโทษและการร้องขอให้ถอดถอน กกต.สามารถเกิดขึ้นควบคู่กันได้ โดยขยายความว่า

1. ความรับผิดทางอาญา
1.1 มาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา
ถ้าอ่านให้ดีจะเห็นว่ากำหนดเรื่อง การปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วย กล่าวคือ ไม่สอดคล้องกับกฎหมายที่กำหนดให้ตัวเองต้องทำอะไร กับละเว้นไม่ทำหน้าที่เลย หรือทำโดยทุจริต
ในกรณีของ กกต. กฎหมายให้กกต.เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะการกระทำของกกต.จะเห็นว่า จัดการเลือกตั้งเลยกรอบตามรัฐธรรมนูญกำหนด ไม่สอดคล้องกับ พ.ร.ฎ.จัดการเลือกตั้ง อาจเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ
นอกจากนี้ยังมีลักษณะการใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบ คือ เรื่องการเลื่อนลงคะแนนถึงเมษายนโดยไม่มีเหตุจำเป็น ซึ่งอาจเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ กระทำการต่างๆ ไม่สอดคล้องกับกฎหมาย ไม่พยายามจัดการเลือกตั้งโดยเต็มที่
หลักกฎหมายข้อนี้ต้องกระทำโดยเจตนาและมีมูลเหตจูงใจ ให้เกิดความเสียหายก่อผู้หนึ่งผู้ใด วันนี้เกิดความเสียหายแล้วกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และทำให้ไม่มี ครม.ให้บริหารประเทศไปได้ สิ่งที่อยู่ข้างในเป็นเรื่องพิสูจน์ยาก ในทางกฎหมายอาญา บอกว่า กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา กรรมคือการกระทำ สิ่งที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมากกต. ไม่พยายามให้มีการรับสมัครเลือกตั้งภายในเวลาที่กำหนด ไม่พยายามจัดเลือกตั้งในกรอบกฎหมายกำหนด ถึงวันนี้ กกต.เคยแจ้งความดำเนินคดีกับการขัดขวางการเลือกตั้งสักคดีไหม หรือการแถลงข่าวต่างๆ ที่ออกมาโดยเฉพาะจากสมชัย ศรีสุทธิยากร ประชาชนตั้งคำถามว่าจะจัดหรือจะไม่จัดกันแน่เพราะพยายามเลื่อนตลอดเวลา

1.2 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยสมาชิกสภาผู้แทน 2550
มาตรา 20 ห้ามไม่ให้กกต.จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำการอื่นใดเพื่อขัดขวางมิให้การณ์เป็นไปตามกฎหมายการเลือกตั้ง หากมีลักษณะการหน่วงเหนี่ยวไม่ให้เกิดสภาฯ ไม่ให้เกิดการเลือกตั้งในเวลาที่กำหนด ก็อาจเข้าข่าย บทลงโทษของมาตรา 20 ระวางโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 1-2 แสนบาท และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
ทั้งสองสิ่งล้วนแล้วแต่เป็นอาญาแผ่นดิน ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ผู้มีสิทธิในการริเริ่มคดีคือ เจ้าพนักงานรัฐ เห็นแล้วไม่จำเป็นต้องรอให้ใครกล่าวโทษ ริเริ่มคดีได้ทันที แต่ไม่มีใครทำ เราจะทำอย่างไร ประชาชนสามารถทำได้ โดยการแจ้งความกล่าวโทษกับตำรวจให้ดำเนินคดีต่อไป หากตำรวจไม่ทำอะไรก็จะโดนม.157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

หากเริ่มดำเนินคดี กกต.เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ เพราะถ้าใช่ กระบวนการต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไป แต่ กกต.ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงไม่ต้องอาศัย ปปช. แต่อาศัยพนักงานสอบสวนตามปกติ การกล่าวโทษนั้นต้องระบุให้ชัดว่าต้องการให้ตำรวจดำเนินคดี เพื่อให้ตั้งพนักงานสอบสวนหาหลักฐานต่อไป เพื่อทำความเห็นส่งพนักงานอัยการ เพื่อวินิจฉัยว่าจะสั่งฟ้องคดีหรือไม่ ถ้าสั่งฟ้องคดีจะขึ้นสู่ศาลยุติธรรม

นี่คือช่องทางปกติ แต่ถ้าท่านเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ได้รับความเสียหายโดยตรง เป็นผู้เสียหายโดยตรง แทนที่จะได้เป็นส.ส. ได้เข้าทำหน้าที่ตามเวลาที่กฎหมายกำหนด ท่านสามารถยื่นฟ้องคดีได้เลย ไม่ต้องผ่านพนง.สส. ไม่ต้องผ่านอัยการ

2. การเข้าชื่อถอดถอน

ม.270 ของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ รวมถึง กกต. ถูกเข้าชื่อถอดถอนได้ หากมีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย คนที่จะเข้าชื่อถอดถอดได้ คือ ส.ส.หรือ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 หรือไม่ก็ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคนเข้าชื่อถอดถอน
ประชาชนเข้าชื่อได้ ต้องทำเป็นคำร้อง ระบุพฤติกรรมต่างๆ ที่น่าจะเข้าข่ายที่สามารถถอดถอนได้ และจะต้องมีผู้ริเริ่มในการเข้าชื่อ โดยต้องไปแสดงตัวต่อประธานวุฒิสภาว่าจะล่ารายชื่อ แล้วไปรวบรวมรายชื่อ ผู้ลงชื่อได้ต้องมีสิทธิเลือกตั้ง การยื่นคำร้องยื่นต่อประธานวุฒิสภาต้องทำภายใน 180 วันนับแต่วันที่ไปแสดงตัวว่าจะล่ารายชื่อ
ประธานวุฒิสภาจะตรวจคำร้อง หากไม่ถูกต้องจะส่งคืนให้แก้ไขภายใน 30 วัน แต่หากถูกต้องจะส่งเรื่องให้ ปปช.ไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร็ว หลังจากนั้น จะลงมติว่าข้อกล่าวหามีมูลหรือไม่ หากปปช.เห็นว่ามีมูลก็จะส่งความเห็นคืนให้ประธานวุฒิสภา หลังจากนั้นประธานวุฒิสภาจะจัดให้มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาและลงมติถอดถอน หากวุฒิสภาเห็นว่าต้องถอดถอนต้องใช้คะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า 3 ใน 5 ผู้ถูกถอดถอนจะพ้นจากตำแหน่งทันที และถือเป็นที่สุด หากวุฒิมีมติไม่ถอดถอน เราจะร้องอีกไม่ได้ แต่การถอดถอนหรือไม่ถอดถอนจะไม่กระทบต่อกระบวนการทางอาญา

ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวถึงการโพสต์เฟซบุ๊กของ สมชัย ศรีสุทธิยากร ซึ่งเป็นการแสดงการกระทำหรือ กรรม ที่ชี้เจตนาลึกๆ ของท่าน จึงขอเตือนด้วยความหวังดีว่าไม่ควรโพสต์เฟซบุ๊กบ่อยๆ

“เช่นเมื่อวานนี้ ให้ข้อสอบ 7 ข้อกับรัฐบาล แล้วบอกว่าข้อสอบไม่ยากเกินไปนะครับ คุณสมชัย คุณไม่ใช่คนตั้งคำถาม แต่คุณนั่นเองที่ต้องตอบคำถาม ไม่ใช่มาตั้งปัญหาให้ไปสู่ทางตันแบบนี้ เป็นเรื่องของตัวเองทั้งนั้นเลยแล้วรัฐบาลจะทำอย่างไร มันเป็นอำนาจของคุณที่ต้องทำ การโพสต์แบบนี้มันแสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะเหมือนกัน ท่านไม่ได้นายสมชัยธรรมดาแล้ว ท่านเป็น กกต.ที่ต้องจัดการเลือกตั้ง”

วรเจตน์กล่าวว่า อาจมีคนสงสัยว่า การเลื่อนวันไปถึงเมษาทำให้นิติราษฎร์ต้องมาแถลงข่าว ผมคิดว่ามีบางอย่างซ่อนอยู่ในนั้น การเลือกตั้งส่วนใหญ่ดำเนินไปได้แล้วในประเทศ แต่มันยังไม่มีการประกาศรับรองการเลือกตั้งเลย เพราะมีการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ยังไม่เสร็จ และยังจะช้าไปเรื่อย การประกาศรับรองผลการเลือกตั้งจะส่งผลให้ผู้สมัครเป็นส.ส.โดยสมบูรณ์ เมื่อเกิดส.ส.สักคนหนึ่งก็กดดันว่าคนอื่นๆ ต้องตามมา การไม่รับรองเลยอันตรายในแง่ว่า มันจะอยู่ในความสุ่มเสี่ยงและไม่แน่นอนตลอดเวลา มันส่งผลกระทบถึงประเทศโดยรวมด้วย ตอนนี้ต่างประเทศมองอยู่ว่าจะมีสภาผู้แทนฯ ถูกต้องตามวิถีทางประชาธิปไตยหรือไม่ สภาวะแบบนี้ไม่ส่งผลดีต่อใครเลย

วรเจตน์กล่าวว่า ใครก็ตามหวังดีต่อชาติบ้านเมือง อย่าไปเรียกร้องวิถีทางอื่นนอกระบบ การแก้ปัญหาว่ากันไปตามระบบ ก่อนหน้าวันที่ 2 ก.พ.มีแต่คนหวาดหวั่นว่าจะเกิดการเลือกตั้งขึ้นหรือไม่ แต่ความไม่มั่นใจไม่ทำให้เราไม่เดินตามหลักการ สุดท้ายมันเกิดขึ้นได้ สำเร็จไปหนึ่งก้าวแล้ว แต่มันยังไม่เสร็จโดยสมบูรณ์ เพราะไม่เกิดสภาผู้แทนราษฎรขึ้น ช่วงเวลานี้อันตราย ในเวลาเป็นเดือนๆ แบบนี้ ยังไม่ประกาศว่าใครเป็นส.ส.เลย เราไม่รู้ว่าจะล่วงเลยไปนานแค่ไหน สภาวะแบบนี้การบริหารราชการแผ่นดินเกิดขึ้นไม่ได้อย่างบริบูรณ์ ฝ่ายข้าราชประจำมีโอกาสจะกระด้างกระเดื่องได้สูง จำเป็นต้องมีรัฐบาลขึ้นมา เรื่องนี้ไม่ใช่ประโยชน์ของพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่ง เราไม่ได้สนใจว่าใครชนะการเลือกตั้ง แต่เราพูดในเชิงระบบว่าจำเป็นต้องทำตามระบบ ใครทำผิดกฎหมายต้องยอมรับการกระทำตนเอง คนมีหน้าที่อะไรก็ต้องทำไม่เช่นนั้นอาจเผชิญกับการฟ้องร้อง

“ไม่ได้หมายความว่าเกิดสภาผู้แทนราษฎรแล้วความขัดแย้งจะหมดไป ความขัดแย้งนี้พัวพันหลายมิติพัวพันกับทุกสถาบันการเมือง และต้องใช้เวลาในการแก้ไข แต่ถ้าเราไม่เดินในทิศทางแบบนี้ เราจะออกจากปัญหานี้ได้อย่างไร เราจะหาผู้วิเศษจากไหน สังคมไทยเติบใหญ่แล้ว ไม่ต้องการคนกลาง ประชาชนเป็นผู้ใหญ่บริบูรณ์แล้วที่จะกำหนดชะตาชีวิตของเขาเองได้” วรเจตน์กล่าว

วรเจตน์กล่าวอีกว่า การได้นายกฯ คนกลาง คุณต้องทำลายรัฐธรรมนูญบางส่วน แต่มันไม่แค่นั้น มันมีการเลือกตั้งแล้ว ท้องแก่จะคลอดแล้ว สิ่งที่คุณทำคือทำลาย ทำแท้ง ฆ่าก่อนคลอดออกมา ทางกฎหมายทำไม่ได้ แต่วิธีเดียวที่จะทำได้คือ การทำรัฐประหาร ซึ่งทำได้โดยทหารฉีกรัฐธรรมนูทั้งฉบับ หรือใช้วิธีการทางกฎหมาย ฉีกนุ่มๆ ฉีกบางส่วน หนทางที่ผิดไปจากกติกาที่วางไว้คือ การฉีกรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ไม่ว่าจะฉีกแบบแรงหรือฉีกแบบเบา สุดท้ายมันก็คือขาดเหมือนกัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท