Skip to main content
sharethis

26 มิ.ย. 2557 องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ได้เสนอ 5 มายาคติเกี่ยวกับการทรมาน เนื่องใน "วันต่อต้านการทรมานสากล" โดยระบุว่า วันที่ 26 มิ.ย. ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันช่วยเหลือเหยื่อจากการทรมานสากล แต่ในประเทศไทยมักคุ้นเคยกันนาม “วันต่อต้านการทรมานสากล” ซึ่งประกาศโดยองค์การสหประชาชาติ เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาและเชิญชวนให้คนในสังคมหันมาช่วยกันยุติการทรมาน หรือการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี และเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายให้ได้รับความเป็นธรรม วันนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงขอเสนอห้ามายาคติที่เราต้องทำความเข้าใจและช่วยกันทำลาย เพื่อยับยั้งการทรมานที่ยังเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายทั่วโลก

การทรมานมักถูกนำมาใช้กับผู้ต้องสงสัยในคดีก่อการร้ายและระหว่างสงคราม

งานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลชี้ให้เห็นว่า การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งเผชิญกับภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศทั้งที่เป็นจริงหรือตามที่พวกเขาคิดเอาเอง รวมทั้งภัยก่อการร้าย

อย่างไรก็ดี การให้ความสำคัญกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในช่วงที่ทางการสหรัฐฯ เรียกว่าเป็น “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” ในช่วงต้นศตวรรษนี้ อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่บิดเบือนในระดับโลก งานวิจัยของเรายังชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ส่วนใหญ่แล้วผู้ตกเป็นเหยื่อการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายทั่วโลก ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายที่อันตราย แต่กลับเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีอาญาที่ยากจน เป็นกลุ่มชายขอบและกลุ่มที่อ่อนแอ โชคร้ายที่พวกเขามักไม่ได้รับความใส่ใจจากสื่อมวลชนและความเห็นของสาธารณะทั้งในระดับประเทศหรือระดับโลก

ผู้ที่มักตกเป็นเหยื่อการทรมานยังมักได้แก่ “ศัตรู” ทั้งที่เป็นจริงหรือที่คิดไปเองของรัฐบาล โดยบุคคลเหล่านี้ไม่เคยพกพาระเบิดหรืออาวุธอื่นใด พวกเขาเป็นเพียงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักการเมืองฝ่ายค้าน และผู้สื่อข่าวเท่านั้น

หมายถึงว่า การทรมานจะเกิดขึ้นต่อไปในบริบทการต่อต้านการก่อการร้าย แต่แม้ในที่นี้การทรมานส่วนใหญ่ดูเหมือนจะถูกใช้เป็นวิธีการเพื่อลดทอนความเป็นมนุษย์ของศัตรู และสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงไม่ได้เหมือนกับภาพยนตร์เรื่อง “24” หรือ “Zero Dark Thirty” 

และในระดับโลก เหตุผลที่บุคคลถูกทรมานไม่ได้เป็นเพราะเขาเป็นผู้ก่อการร้าย แต่พวกเขาถูกทรมานเพียงเพราะเป็นคนยากจน คนที่แตกต่าง หรือคนที่กล้าแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ไม่ว่าจะมีแรงจูงใจอย่างไร การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายเป็นสิ่งที่ต้องห้ามอย่างเด็ดขาด โดยไม่มีเหตุผลอันชอบธรรมใดๆ มาสนับสนุน และไม่ว่าท่านจะเป็นใครและเคยทำอะไรมาก่อน

การทรมานเป็นวิธีการเดียวเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลอย่างรวดเร็ว

การทรมานเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเป็นเครื่องมือที่ล้าหลังและป่าเถื่อน รัฐมีช่องทางมากมายในการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความผิดทางอาญา ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและที่อยู่ระหว่างการวางแผน ทั้งนี้โดยไม่ต้องละเมิดมนุษยธรรมของตน และที่ผ่านมามีการพิสูจน์แล้วว่าเทคนิคการตั้งคำถามอย่างมีมนุษยธรรม เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากพอในการแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับความผิดที่เกิดขึ้น ทั้งนี้โดยไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อบุคคล สังคม และในแง่กฎหมาย

การทรมานบางรูปแบบไม่ได้เลวร้ายจนเกินไป

การทรมานไม่ได้มีลักษณะแตกต่างกัน ตามกฎหมายการทรมานหมายถึงการทำให้บุคคลได้รับความเจ็บปวดหรือทรมานไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ ทั้งนี้โดยความประสงค์เพื่อลงโทษหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ไม่มีการทรมานใดที่ถือว่า “เบา”

การทรมานในทุกรูปแบบเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจและผิดกฎหมาย ทั้งการใช้ไฟฟ้าช็อต การทุบตี การข่มขืนกระทำชำเรา การลบหลู่ดูหมิ่น การแกล้งจะสังหาร การทำให้เกิดรอยแผลไหม้ การบังคับไม่ให้หลับนอน การแกล้งทำให้จมน้ำ การถูกบังคับให้อยู่ในท่วงท่าที่ไม่สบายเป็นเวลานาน การใช้คีม การใช้ยาและสุนัข ที่น่าเศร้าก็คือวิธีการเหล่านี้มีใช้อย่างแพร่หลายในทุกประเทศทั่วโลก

ในบางบริบทการทรมานอาจตอบสนองเป้าหมายที่ดีได้

ไม่มีการทรมานใดที่ถูกกฎหมายหรือยอมรับได้ ประเทศที่ไม่มีกฎหมายลงโทษการปฏิบัติเช่นนี้ ถือว่ากำลังละเมิดมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ในแง่กฎหมายแล้ว ถือได้ว่าข้อห้ามต่อการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย “ไม่สามารถลดทอนได้” กล่าวคือไม่สามารถงดเว้นที่จะปฏิบัติตามได้ แม้ในช่วงที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อห้ามดังกล่าวสอดคล้องกับฉันทามติที่หนักแน่นในระดับโลก และได้กลายเป็นเงื่อนไขที่มีผลบังคับตามกฎหมาย แม้แต่กับประเทศที่ไม่ได้ลงนามเข้าร่วมในสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง

แต่ในปัจจุบัน รัฐบาลหลายประเทศยังคงทำการทรมานต่อไปโดยอ้างเหตุผลหลายประการ ส่วนใหญ่เป็นเพราะรัฐบาลเหล่านี้ได้รับประโยชน์จากการทรมาน หรือเชื่อว่าได้ประโยชน์ และเนื่องจากผู้ที่รับผิดชอบมักไม่ถูกนำตัวมาลงโทษ เรายังต้องทำงานอีกมากเพื่อยุติการปฏิบัติที่น่าชิงชังและน่ารังเกียจนี้

มีรัฐบาลที่เลวร้ายสุดเพียงไม่กี่แห่งซึ่งยังคงใช้การทรมาน

ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รายงานข้อมูลการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายซึ่งเกิดขึ้นใน 141 ประเทศ และในทุกภูมิภาคทั่วโลก

แม้ในบางประเทศ อาจมีการใช้การทรมานเพียงบางกรณี แต่ในหลายประเทศก็นำมาใช้อย่างเป็นระบบ ทั้ง ๆ ที่การทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายแม้เพียงกรณีเดียวก็เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

จากหลักฐานและงานวิจัยระดับโลกที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรวบรวมในช่วงห้าทศวรรษของการเก็บข้อมูลและการรณรงค์เพื่อต่อต้านการทรมานชี้ให้เห็นว่า การทรมานยังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ นำกลไกคุ้มครองมาใช้เพื่อป้องกันและลงโทษกรณีที่เกิดการทรมาน เช่น การกำหนดให้การทรมานเป็นความผิดตามกฎหมายในประเทศ การเปิดโอกาสให้หน่วยงานอิสระสามารถตรวจสอบสถานควบคุมตัวได้ การบันทึกวีดิโอในระหว่างการสอบปากคำ การจัดให้มีการตรวจร่างกายอย่างเหมาะสม การให้ผู้ถูกควบคุมตัวเข้าถึงทนายความได้โดยทันที  การให้มีการสอบสวนข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานอย่างเป็นอิสระและอย่างมีประสิทธิผล การฟ้องคดีต่อผู้ต้องสงสัย และการให้ความเยียวยาอย่างเหมาะสมต่อผู้เสียหาย ซึ่งจะล้วนส่งผลให้มีการทรมานลดน้อยลงในประเทศต่าง ๆ ที่พยายามปฏิบัติตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ อย่างจริงจัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net