Skip to main content
sharethis
  • ศาลนราธิวาสไต่สวนมูลฟ้อง คดีอาญาเหตุการณ์ตากใบเสร็จสิ้น 1 ปาก 25 มิ.ย. ไต่พยานต่ออีก 2 ปาก ผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิต (โจทก์ร่วม) และญาติกว่า 50 คน มาให้กำลังใจร่วมจับตาศาลจะรับฟ้องหรือไม่
  • ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ นัดสืบพยานโจทก์จำเลย 25-26 มิ.ย. 67 อรรถสิทธิ์ นุสสะ เหยื่อซ้อมทรมานปี 64 ฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อ สตช.

 

24 มิ.ย.2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานความคืบหน้ากรณีคดีอาญาเหตุการณ์ตากใบ ว่ วันนี้ (24 มิ.ย. 67) เวลา 9.00 น. ณ ศาลจังหวัดนราธิวาส ในนัดไต่สวนมูลฟ้องเพื่อพิจารณาว่าคดีมีมูลฟ้องเป็นคดีอาญาหรือไม่ ทนายโจทก์มาศาล จำเลย 4 คนแต่งทนายความส่วนตัวเป็นตัวแทนมาศาล จำเลยอีก 5 คน ไม่ได้แต่งทนายความมา แม้จะขอให้พนักงานอัยการมาว่าความให้ โดยพนักงานอัยการได้แถลงต่อศาลขอให้เลื่อนนัดไต่สวนมูลฟ้อง แต่เนื่องจากไม่มีใบแต่งทนายความจึงยังไม่สามารถแต่งเข้าเป็นตัวแทนได้ และจะมาขอเลื่อนการพิจารณาคดีไม่ได้ ศาลให้สืบพยานวันนี้ไม่เลื่อนการพิจารณา

วันนี้ทนายความโจทก์ ได้เสนอพยาน 3 ปาก เพื่อให้ศาลไต่สวนมูลฟ้อง พยานปากแรกเป็นทนายความที่ได้รับมอบหมายจากสภาทนายความให้ช่วยเหลือคดีชาวบ้านตากใบตั้งแต่ปี2548  และให้ความช่วยเหลือตลอดมา การไต่สวนได้ดำเนินไปตลอดช่วงบ่ายจนเสร็จสิ้นในเวลา 17.00 น.ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งนัดไต่พยานอีก 2 ปากที่เหลือในวันต่อไป คือวันที่ 25 มิถุนายน 2567 เวลา 9.00 น. โดยพยานทั้งสองเป็นผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อปี 2547 หลังจากการไต่สวนพยานทุกปากเสร็จสิ้น จะมีคำสั่งว่าจะรับฟ้องเป็นคดีอาญาต่อไปหรือไม่

อนึ่งวันนี้อัยการจังหวัดนราธิวาส สองคนเมื่อได้รับคำร้องขอจากจำเลยที่ 4-8 ให้มาเป็นทนายแก้ต่างให้ ได้ขอศาลเลื่อนการพิจารณา อ้างเหตุผลว่าอัยการสูงสุดเพิ่งได้รับสำนวนคดีในเหตุเดียวกันจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุด  ทำให้ยังไม่ทราบคำสั่งจะใช้เวลานานเท่าใด ถ้าหากอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องก็ไม่อาจมาทำหน้าที่ทนายความแก้ต่างให้กับจำเลยในคดีได้  ทนายโจทก์ร่วมกันคัดค้านการเลื่อนการพิจารณาไต่สวนไปเพราะคดีล่าช้า เกือบหมดอายุความ จำเลยรับหมายโดยชอบมีโอกาสที่จะใช้สิทธิที่จะแต่งทนายความมาถามค้าน ศาลจึงวินิจฉัยให้ไต่สวนคดีไม่เลื่อนนัด

คดีนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมหน้าสภ.ตากใบเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 ตัวแทนผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายจึงได้ร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาสเป็นคดีอาญา  โดยมีจำนวนโจทก์รวม 48 คน ลำดับที่ 1-34 เป็นผู้ที่เสียชีวิตจากอาวุธปืนทันทีที่หน้าโรงพักตากใบ 2 คน และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน รวม3 คน และที่เสียชีวิตจากการขนย้ายรวม 31 คน ลำดับที่ 35-48 เป็นผู้ได้รับบาดเจ็บ

โจทก์ทั้ง 48 คน ได้ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 9 คน ทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ และฝ่ายปกครอง ประกอบด้วย จำเลยที่ 1 อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น จำเลยที่ 2 อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น จำเลยที่ 3 อดีตผู้บัญชาการพล. ร. 5 ในขณะนั้น จำเลยที่ 4 อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า จำเลยที่ 5 อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9  จำเลยที่ 6 อดีตผู้กำกับสภอ.ตากใบในขณะนั้น จำเลยที่ 7 อดีตรองผู้กำกับสภอ.ตากใบในเวลานั้น จำเลยที่ 8 รองผอ.สสส.จชต. หรือกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น และจำเลยที่ 9 ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสในขณะเกิดเหตุ

จำเลยทั้ง  9 รายถูกชาวบ้านฟ้องในข้อหาร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ข้อหา ฆ่าผู้อื่น โดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย ตามมาตรา 288 และ289 (5) ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพฯ ตามมาตรา 309 หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามมาตรา 310

การฟ้องร้องคดีอาญาเหตุการณ์ตากใบในครั้งนี้เกิดจากความพยายามของกลุ่มผู้เสียหาย ครอบครัวผู้เสียชีวิต กลุ่มทนายความและชาวบ้านในท้องที่ ที่ต้องการให้เกิดการค้นหาความจริงและเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเหตุการณ์ตากใบเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลอย่างมากต่อปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้ที่ยืดเยื้อต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาทนายความ ขอเชิญชวนให้สื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจร่วมติดตามความคืบหน้าและผลของนัดไต่สวนมูลฟ้องคดีตากใบต่อไปอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียชีวิตจะได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสมโดยเฉพาะสิทธิในการรู้ความจริง (Rights to Truth) ได้รับความยุติธรรม สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษต่อไป และยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในเจ้าหน้าที่รัฐที่มีมาอย่างยาวนาน รวมถึงเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเช่นนี้กับบุคคลใดได้อีก

ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ นัดสืบพยานโจทก์จำเลย 25-26 มิ.ย. 67 อรรถสิทธิ์ นุสสะ เหยื่อซ้อมทรมานปี 64 ฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อ สตช.

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยังแจ้งอีกว่า พรุ่งนี้ (25 มิ.ย.67) เวลา 09.00 น. ศาลแพ่งกรุงเทพใต้นัดสืบพยานโจทก์และนัดสืบพยานจำเลยต่อเนื่องในวันที่ 26 มิ.ย. 2567  ในคดีที่อรรถสิทธิ์ นุสสะ ผู้เสียหายจากการถูกซ้อมทรมานโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดินแดง  เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำความผิด จำเลยในคดี เพื่อเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย ตามพรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 รวมเป็นเงินกว่า 3.3 ล้านบาท

คดีนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์วันที่ 29 ต.ค. 2564 เวลาประมาณ 18.00 น. อรรถสิทธิ์เดินทางไปเข้าร่วมกิจกรรมจุดเทียนไว้อาลัยและทวงถามความยุติธรรมให้แก่นายวาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตหน้าสน.ดินแดงระหว่างที่มีการชุมนุม โดยระหว่างที่เข้าร่วมกิจกรรมนั้น อรรถสิทธิ์ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดินแดง เข้าจับกุมและควบคุมตัวไว้ใน สน.ดินแดง เป็นเวลาหนึ่งคืนและถูกซ้อมทำร้ายร่างกายบังคับให้บอกข้อมูลภายในคืนนั้น จนได้รับบาดเจ็บบริเวณดวงตาและร่างกาย ก่อนที่อรรถสิทธิ์จะได้รับการปล่อยตัวในช่วงบ่ายของวันที่ 30 ต.ค.2564 ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์อรรถสิทธิ์ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่องจากอาการบาดเจ็บทางร่างกายรวมถึงจิตใจ

นับแต่เกิดเหตุ เส้นทางของการเรียกร้อความยุติธรรมเดินทางเข้าสู่ปีที่ 3 โดยที่ปัจจุบันยังคงไม่มีความคืบหน้าใดๆ แม้อรรถสิทธิ์จะเดินหน้าเข้าแจ้งความร้องทุกข์ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร  รวมถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อขอให้ช่วยสอบสวนหาข้อเท็จจริงและดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกราย  ปัจจุบันคดีอาญา สำนวนคดียังคงอยู่ที่สน. ดินแดงและไม่มีความคืบหน้าใดๆ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน  ระบุตอนท้ายด้วยว่า ขอเชิญชวนสื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจร่วมกันติดตามการสืบพยานคดีนี้วันและเวลาข้างต้น เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่อรรถสิทธิ์ ประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานแต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรง ให้อรรถสิทธิ์ได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง รวมถึงการชดใช้เยียวยาในทุกมิติ อีกทั้งเพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นกับประชาชนคนใดได้อีก และยุติวัฒนธรรมลอยนวลของเจ้าหน้าที่รัฐให้ได้อย่างแท้จริง

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net