ม.ล.ปนัดดาเบรกเลือกผู้ว่าฯ-กระจายอำนาจอยู่แล้วผ่าน อบต.-อบจ.

ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเห็นว่าประเทศไทยเดียวกัน ผวจ.ทำหน้าที่ตัวแทนรัฐบาล หากมาจากการเลือกตั้งความเชื่อมโยงจะขาดหายไป ท้องถิ่นการกระจายอำนาจอยู่แล้วผ่าน อบต. อบจ. - เล็งสร้างความเข้าใจเยาวชนว่า กทม. เป็นท้องถิ่นรูปแบบเทศบาลไม่ใช่จังหวัดที่ 77 อย่างที่เข้าใจ - ด้าน "ชำนาญ จันทร์เรือง" เตือนจะพาประเทศย้อนยุคเมืองขึ้น

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ/กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย)

ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเบรกเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ
เล็งทำความเข้าใจ กทม. เป็นเทศบาลไม่ใช่จังหวัดที่ 77

8 ก.ค. 2557 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีข้อเสนอให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนี้เป็นระบบที่เรียกว่าประเทศไทยเดียวกันคือผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่เป็นตัวแทนรัฐบาลที่ไปประจำอยู่ใน 76 จังหวัด ดังนั้นข้าราชการในภูมิภาคจึงทำหน้าที่เชื่อมโยงความเป็นประเทศไทยเดียวกัน

หากเป็นการเลือกตั้งทั้งหมดทุกระดับความเชื่อมโยงนี้จะขาดหายไป ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้ดี โดยการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีการเลือกตั้งอยู่แล้วโดยถือเป็นการกระจายอำนาจ ถ้าเป็นการเลือกตั้งทุกระดับรัฐบาลส่วนกลางจะมีระบบเชื่อมโยงทั้งเรื่องงบประมาณการบริหารจัดการไปสู่ระบบ 76 จังหวัดได้อย่างไร ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าผู้ที่เสนอในเรื่องนี้อาจคำนึงถึงเรื่องการกระจายอำนาจ ซึ่งรัฐบาลส่วนกลางจำเป็นต้องมีกลไกในการเชื่อมโยงการบริหารจัดการราชการแผ่นดิน

ส่วนกรณีเปลี่ยนชื่อเรียกตำแหน่งผู้ว่ากรุงเทพฯ ไปเป็นนายกเทศมนตรี นั้น ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า จะเป็นการสื่อความรู้ความเข้าใจให้กับลูกหลานเยาวชน รวมถึงประชาชนได้อย่างชัดเจนว่ากรุงเทพฯ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นลักษณะเทศบาลในรูปแบบพิเศษเนื่องจากกรุงเทพฯ ไม่ใช่จังหวัดที่ 77 เหมือนที่หลายคนเข้าใจ

 

ชำนาญโต้ ม.ล.ปนัดดา จะนำพาประเทศย้อนยุคเมืองขึ้น

ในวันเดียวกัน นายชำนาญ จันทร์เรือง ผู้ยกร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร หนึ่งในแกนนำการขับเคลื่อนจังหวัดจัดการตนเองได้แสดงความเห็นตอบโต้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล โดยนายชำนาญกล่าวว่าเป็นความคิดที่ย้อนยุคกลับไปสู่การปกครองในระบอบเมืองขึ้นที่จำเป็นจะต้องแต่งตั้งตัวแทนไปปกครองเมืองในอาณานิคมต่างๆ ซึ่งอาจจะเหมาะสมในยุคสมัยหนึ่งแต่ไม่เหมาะสมกับกาลสมัยซึ่งปัจจุบันโลกและเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว แม้แต่ฝรั่งเศสที่ใช้ระบบนี้ตัวจังหวัดเองก็เปลี่ยนเป็นราชการส่วนท้องถิ่นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) แล้ว เกาหลี ญี่ปุ่น ก็มีแต่เพียงราชการส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งอังกฤษเองซึ่งเป็นต้นแบบของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเองนั้นก็ไม่เคยมีราชการส่วนภูมิภาคเลยนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ในส่วนของการเสนอเปลี่ยนชื่อเรียกผู้ว่าราชการ กทม. นั้นไม่ติดใจว่าจะให้เรียกชื่ออะไร แต่ควรที่จะเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่พากันเดินถอยหลัง ไม่งั้นผู้ว่าราชการจังหวัดของเกาหลี ญี่ปุ่น ฯลฯ เวลาแปลเป็นภาษาไทยก็คงต้องเรียกนายกเทศมนตรีกันเสียทั้งหมดเป็นแน่

 

กรุงเทพมหานคร และที่มาของผู้ว่า กทม.

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับกรุงเทพมหานคร เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่บริหารเขตการปกครองพิเศษกรุงเทพมหานคร ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. พ.ศ. 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติ ได้ออกประกาศฉบับที่ 24 สั่งให้รวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเป็นหนึ่งจังหวัด เรียกว่านครหลวงกรุงเทพธนบุรี มีาผู้ว่าราชการนครหลวงกรุงเทพธนบุรี มาจากการแต่งตั้ง

ต่อมาเดือนธันวาคม พ.ศ. 2515 คณะปฏิวัติ ออกประกาศฉบับที่ 335 สั่งให้เรียกนครหลวงของประเทศไทยว่ากรุงเทพมหานคร โดยให้มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาจากการแต่งตั้ง กระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 มีการตรา พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 335 แล้วกำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นทบวงการเมือง มีสถานะราชการบริหารส่วนท้องถิ่นนครหลวง โดยให้มีผู้ว่าราชการ กทม. มาจากการเลือกตั้ง

โดยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. ในปี พ.ศ. 2518 มีผู้มาเลือกตั้งเพียงร้อยละ 13 ผลการเลือกตั้งได้นายธรรมนูญ เทียนเงิน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นอานายสมัคร สุนทรเวช ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าราชการ กทม. โดยได้คะแนน 99,247 คะแนน โดยได้คะแนนหนาแน่นจากเขตหนองแขม และมีนบุรี ส่วนคู่แข่งที่แพ้ไปเพียง 7,000 คะแนน คือนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ที่ลาออกจากหัวหน้ากองวิชาการ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) มาลงสมัครในนามพรรคพลังใหม่ ได้ 91,678 คะแนน โดยได้คะแนนหนาแน่นในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน ส่วนนายชมพู อรรถจินดา ผู้สมัครอิสระได้ 39,440 คะแนน

ทั้งนี้ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นายธรรมนูญซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการลูกเสือชาวบ้านพระนครด้วย เป็นผู้หนึ่งที่มาชี้แจงให้ลูกเสือชาวบ้านซึ่งชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าสลายตัว อย่างไรก็ตามหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พิจารณาว่าเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงทั้งในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติของ กทม. จนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ จึงใช้อำนาจตามมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2519 ปลดนายธรรมนูญออกจากตำแหน่งผู้ว่าราชการ กทม. เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2520 และให้กลับไปใช้รูปแบบการแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเวลา 8 ปี

ในปี พ.ศ. 2523 คณะรัฐมนตรี พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีความคิดจะร่างกฎหมายจัดตั้งทบวงนครบาล สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แบ่งพื้นที่กรุงเทพมหานคร ออกเป็นเทศบาลจำนวน 7 แห่ง แล้วให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ใช้อำนาจกำกับดูแล อย่างไรก็ตาม พล.อ.เกรียงศักดิ์ ลาออกเสียก่อนในวันที่ 29 ก.พ. 2523

กระทั่งเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้ความเห็นชอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาจากการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง โดยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. ครั้งที่ 2 ขึ้นในปี พ.ศ. 2528 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งลงสมัครในนาม "กลุ่มรวมพลัง" ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จากนั้นมาผู้ว่าราชการ กทม. มาจากการเลือกตั้งโดยตลอด

 

2 ทศวรรษข้อเสนอเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด "ยุคหลัง รสช." ถึง "ยุค คสช."

ทั้งนี้มีข้อเสนอเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในส่วนภูมิภาค โดยนักวิชาการและนักการเมือง มาตั้งแต่ช่วงหลังปี พ.ศ. 2516 แต่จำกัดตัวในวงแคบๆ เช่น นายลิขิต ธีระเวคิน นายชัยอนันต์ สมุทวณิช และนายไกรสรณ์ ตันติพงศ์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ ที่เสนอให้เชียงใหม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

ต่อมาหลังมีรัฐประหารในเดือนมีนาคม 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือ รสช. และมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเดือนมีนาคม 2535 มีพรรคการเมืองที่ประกาศนโยบายเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังธรรม พรรคความหวังใหม่ พรรคเอกภาพ และพรรคเสรีธรรม อย่างไรก็ตามพรรคสามัคคีธรรมซึ่งเป็นพรรคที่จัดตั้งรัฐบาลและสนับสนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีนโยบายเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

ต่อมาหลัง รสช. สิ้นสุดอำนาจ หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 มีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกันยายน 2535 มีพรรคการเมืองที่สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดหลายพรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังธรรม และพรรคเอกภาพ โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังธรรม ได้หาเสียงว่าจะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดหากได้รับเลือกเป็นรัฐบาล

อย่างไรก็ตามหลังการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์นำโดยนายชวน หลีกภัย ได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลผสม มีพรรคการเมืองอื่นเช่น พรรคความหวังใหม่ ซึ่งมีแกนนำคือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็น รมว.มหาดไทย ไม่ได้สนับสนุนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ขณะที่ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยแสดงความเห็นคัดค้านการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ เช่น นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ขอให้แกนนำพรรคพลังธรรมคือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง รักษามารยาทในการอยู่ร่วมกันในรัฐบาลผสม โดยการเรียกร้องให้สมาชิกพรรคพลังธรรมยุติการเคลื่อนไหวให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะไม่ได้มีการระบุไว้ในนโยบายของรัฐบาลผสมมาตั้งแต่ต้น

โดยในที่สุดมีการประนีประนอมเรื่องข้อเสนอเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด โดยเปลี่ยนเป็นการผ่าน พ.ร.บสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และยกระดับสภาตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล มีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และสมาชิกสภาตำบลมาจากการเลือกตั้งแทน (อ่านเพิ่มเติม ใน อัชกรณ์ วงศ์ปรีดี, ทศวรรษแห่งการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นไทย: จากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดสู่ อบต. และการเลือกตั้งโดยตรงผู้บริหารท้องถิ่น, วารสารสถาบันพระปกเกล้า 2548)

ภาพระหว่าง ภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง นำโดยนายชัชวาลย์ ทองดีเลิศอ่านแถลงการณ์ที่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ช่วงเช้าวันนี้ (24 มิ.ย.) ก่อนถูกทหารเข้ามาขอให้ยุติกิจกรรมและเชิญไปสอบถามที่ มทบ.33 ล่าสุดได้รับการปล่อยตัวแล้ว (ที่มาของภาพ: คลิปนักข่าวเมือง TPBS/แฟ้มภาพ)

ขณะที่ในช่วงที่มีการใช้รัฐธรรมนูญ 2550 มีข้อเสนอเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและการกระจายอำนาจมาจากหลายกลุ่ม เช่น เครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็นและภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง เคยล่ารายชื่อเสนอกฎหมาย พ.ร.บ.การบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร หรือ พ.ร.บ.เชียงใหม่จัดการตนเอง โดยเสนอร่างกฎหมายสู่รัฐสภาแล้วตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค. 2556 และขั้นตอนอยู่ที่เลขานุการรัฐสภา นอกจากนี้ยังมีกลุ่มต่างๆ ที่เสนอวาระ "จังหวัดจัดการตนเอง" อีกเกือบ 40 จังหวัด

ทั้งนี้ทางกลุ่มมีการนัดหมายทำกิจกรรมในวันที่ 24 มิ.ย. 2557 ที่ผ่านมา โดยเป็นการนัดหมายมาก่อนเกิดการรัฐประหาร อย่างไรก็ตามเมื่อถึงวันจัดกิจกรรม ทางกลุ่มมีการออกแถลงการณ์และประกาศจุดยืนกระจายอำนาจเพื่อการปรองดองและสนับสนุนการขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง และสนับสนุนกฎหมาย พ.ร.บ.เชียงใหม่จัดการตนเอง อย่างไรก็ตามมีทหารเข้ามาขอให้ยุติการจัดกิจกรรม และเชิญไปสอบถามที่ มทบ.33 จ.เชียงใหม่ และได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

นอกจากนี้ กปปส. นำโดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็เคยเสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เป็นข้อเสนอหนึ่งของการปฏิรูปการเมืองด้วย โดยเริ่มเสนอมาตั้งแต่ช่วง ธ.ค. 2556 (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท