วิเคราะห์มุมมองของป๋วย อึ้งภากรณ์ ‘เสรีภาพ-ประโยชน์ส่วนรวม’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

ในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองสืบเนื่องมาเกือบทศวรรษที่เรากำลังเผชิญอยู่ มีปัญหาพื้นฐานที่ควรตั้งคำถามคือ เราใช้เสรีภาพอย่างรับผิดชอบหรือไม่ หรือประโยชน์ส่วนร่วมที่เราพยายามปกป้องคืออะไรกันแน่ ผมคิดว่าความคิดเกี่ยวกับ “เสรีภาพ” และ “ประโยชน์ส่วนรวม” ของอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ข้างล่างนี้บอกอะไรเราหลายอย่าง

เสรีภาพในสังคม หมายความถึง เสรีภาพในการพูด การคิด การเขียน การชุมนุมกันโดยสันติและปราศจากอาวุธ เป็นต้น เสรีภาพเช่นว่านี้ ไม่ใช่เสรีภาพในอันที่จะทำให้สิทธิเสรีภาพของผู้อื่นเสื่อมเสียไป และข้อจำกัดเสรีภาพอีกข้อหนึ่งคือ ประโยชน์ส่วนรวม โดยความเห็นชอบของประชาชนส่วนใหญ่หรือโดยรัฐบาล ผู้เผด็จการย่อมอ้างถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเสมอ แต่เป็นประโยชน์ส่วนรวมที่ผู้เผด็จการวินิจฉัยว่าเป็นประโยชน์ส่วนรวม มิใช่ประชาชนเป็นผู้วินิจฉัย (ป๋วย อึ๊งภากรณ์, "เหลียวหลัง แลหน้าเมื่ออายุ 60", หน้า 43-44)

อ่านความคิดเกี่ยวกับ “เสรีภาพ” ของอาจารย์ป๋วยแล้ว ทำให้ผมนึกถึงความคิดสำคัญของปรัชญา Existentialism ที่ถือว่า “เสรีภาพต้องมาคู่กับความรับผิดชอบ” แปลว่าเราต้องใช้เสรีภาพอย่างรับผิดชอบ ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของอาจารย์ป๋วยที่ว่า “...เสรีภาพเช่นว่านี้ ไม่ใช่เสรีภาพในอันที่จะทำให้สิทธิเสรีภาพของผู้อื่นเสื่อมเสียไป...”

หมายความว่าการใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองนั้น เราต้องใช้เสรีภาพอย่างรับผิดชอบ ความรับผิดชอบพื้นฐานที่เราต้องมีอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้เลยก็คือ “เราต้องใช้เสรีภาพอย่างรับผิดชอบต่อการปกป้องเสรีภาพ” พูดแบบอาจารย์ป๋วยก็คือ เราจะ “ใช้เสรีภาพในอันที่จะทำให้สิทธิเสรีภาพของผู้อื่นเสื่อมเสียไปไม่ได้”

มองจากความคิดเรื่องเสรีภาพของอาจารย์ป๋วย ทำให้เราเห็นการใช้เสรีภาพในทางการเมืองอย่างไม่รับผิดชอบต่อการปกป้องเสรีภาพ หรือการใช้เสรีภาพ “ในอันที่จะทำให้สิทธิเสรีภาพของผู้อื่นเสื่อมเสียไป” ในบ้านเราอย่างชัดเจน นั่นคือการใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองเพื่อขัดขวางและล้มการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 อันเป็นการละเมิดสิทธิในการเลือกตั้งซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน จนเป็นเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม ส่งผลให้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองสิ้นสุดลง

บรรดาคนที่ใช้เสรีภาพขัดขวางหรือล้มการเลือกตั้งอาจจะมี “เจตนาดี” ว่า ต้องการขจัดนักการเมืองโกงให้พ้นไปจากการเมือง ทำให้การเมืองสะอาดโปร่งใส แต่โดยหลักการแล้ว เราไม่มีสิทธิใช้เสรีภาพทางการเมืองเพื่อทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้

แม้แต่นักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชันเราก็ไม่มีสิทธิอันชอบธรรมใดๆ ที่จะขจัดหรือดำเนินการเอาผิดเขาด้วยวิธีรัฐประหาร หรือสนับสนุนวิธีรัฐประหารให้ขจัดและเอาผิดเขา เราต้องดำเนินการกับเขาตามวิถีทางประชาธิปไตยและใช้กฎหมายที่ชอบธรรมตามหลักสากลเท่านั้น

เพราะถ้าเรายืนยันว่าตัวเองกำลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หรือเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เราจำเป็นต้องใช้เสรีภาพอย่างรับผิดชอบต่อการปกป้องเสรีภาพ และอ้างประชาธิปไตยอย่างรับผิดชอบต่อการปกป้องวิถีทางประชาธิปไตย จะอ้างเสรีภาพและประชาธิปไตยเพียงเพื่อเป็น “เครื่องมือ” ขจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองโดยไม่เลือกวิธีการว่าจะถูกหรือผิดไม่ได้

ไม่เช่นนั้นการอ้างประโยชน์ส่วนรวมของเราก็จะเป็นอย่างที่อาจารย์ป๋วยเขียนว่า “...ผู้เผด็จการย่อมอ้างถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเสมอ แต่เป็นประโยชน์ส่วนรวมที่ผู้เผด็จการวินิจฉัยว่าเป็นประโยชน์ส่วนรวม มิใช่ประชาชนเป็นผู้วินิจฉัย” หมายความว่าการอ้างประโยชน์ส่วนรวมอย่างไม่รับผิดชอบต่อการปกป้องเสรีภาพในที่สุดก็เข้าทางเผด็จการจนได้

ดังการใช้เสรีภาพทางการเมืองละเมิดสิทธิการเลือกตั้งของประชาชน 2 กุมภา ที่นำไปสู่รัฐประหาร 22 พฤษภา ทำให้เราเห็นความจริงว่า การใช้เสรีภาพอย่างไม่รับผิดชอบต่อการปกป้องเสรีภาพ ผลของมันก็คือทำให้เสรีภาพทางการเมืองถูกทำลาย ทุกฝ่ายไม่มีเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองอีกต่อไป และแล้วเผด็จการก็เป็นผู้ป่าวประกาศแต่ฝ่ายเดียวว่าพวกเขากำลังทำเพื่อ “ประโยชน์ส่วนรวม” แต่เป็น “ประโยชน์ส่วนรวมที่ผู้เผด็จการวินิจฉัยว่าเป็นประโยชน์ส่วนรวม มิใช่ประชาชนเป็นผู้วินิจฉัย”

แท้จริงแล้วคำว่า “ประโยชน์ส่วนรวม” จะเป็นคำหลอกลวงที่สุดหากประชาชนไม่มีเสรีภาพร่วมกันวินิจฉัย นักปรัชญาประโยชน์นิยมอย่างจอหน์ สจ๊วต มิลล์ จึงยืนยันชัดเจนว่า “เสรีภาพเป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ของการตัดสินว่าอะไรคือประโยชน์ส่วนรวม” เพราะประโยชน์ส่วนรวมหมายถึงประโยชน์ของทุกคนในฐานะเป็น “คนเท่ากัน” ดังนั้น ทุกคนต้องถูกนับเป็น 1 คน 1 สิทธิ์ 1 เสียงที่ต้องมีเสรีภาพอภิปราย ถกเถียง ร่วมวินิจฉัยหรือลงมติตัดสินว่าอะไรคือประโยชน์ส่วนรวมที่ควรจะเป็น ไม่ใช่ให้ผู้เผด็จการใดๆ มาคิดแทนและยัดเยียดให้

ถามว่า ทำไมบ้านเราจึงมีเผด็จการทหารเข้ามายุติการใช้เสรีภาพทางการเมือง โดยอ้างว่า “ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม” และคิดแทนตัดสินใจแทนว่าอะไรคือ “ประโยชน์ส่วนรวม” แล้วก็ยัดเยียดการปลูกฝังค่านิยมต่างๆ เช่นล่าสุด “ค่านิยม 12 ประการ” เป็นต้น

ปัญหามันคงไม่ใช่ว่าทหารอยากทำอะไรก็ทำได้เลย หากไม่มีประชาชนจำนวนมากพอสมควรสนับสนุน รัฐประหารปี 49 หรือ 57 ก็คงเกิดขึ้นไม่ได้ และแน่นอนหากวิเคราะห์ลึกลงไปถึงพื้นฐานทางความคิดของกลุ่มคนที่สร้างเงื่อนไขหรือสนับสนุนวิธีรัฐประหารขจัดนักการเมืองโกง ก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นวิธีคิดที่ไม่ได้ยึดการใช้เสรีภาพอย่างรับผิดชอบต่อการปกป้องเสรีภาพ และไม่ได้ยึดประโยชน์ส่วนรวมที่ต้องนับเสรีภาพเป็นเงื่อนไขจำเป็นของการบรรลุประโยชน์ส่วนรวม

สุดท้ายการใช้เสรีภาพอย่างไม่รับผิดชอบ ก็นำไปสู่รัฐประหารที่ทำลายเสรีภาพนั้นเสียเอง และการอ้างประโยชน์ส่วนรวมอย่างไม่ยึดมั่นในแนวทางที่ยืนยันเสรีภาพและประชาธิปไตยเท่านั้น ก็นำไปสู่การสร้างประโยชน์ร่วมรวมแบบเผด็จการเป็นผู้กำหนด ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนรวมที่ประชาชนทุกฝ่ายมีส่วนร่วมวินิจฉัยอย่างเท่าเทียม

หากเราตระหนักในความคิดเรื่อง “เสรีภาพ” และ “ประโยชน์ส่วนรวม” ของอาจารย์ป๋วย สังคมเราคงไม่แก้ปัญหาด้วยวิธีรัฐประหารซ้ำซาก การเรียกร้องรัฐบาลที่โปร่งใสตรวจสอบได้ของเรา ก็คงไม่จบลงด้วยการจำนนต่ออำนาจเผด็จการที่ตรวจสอบไม่ได้ โดยหลอกตัวเองว่าพวกเขาเป็น “คนดี” เสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง แล้วก็มานั่งเสียใจภายหลังเหมือนรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท