Skip to main content
sharethis

‘ถ่ายทำที่ชุมชน ฉายที่ชุมชน’ คนพื้นที่ทำได้ ไม่ต้องรอสื่อกระแสหลัก เทรนด์สื่อสารใหม่ของสำนักสื่อ WARTANI ที่ใกล้ชิดประชาชนคนปาตานี กับผลพลอยได้ที่คาดไม่ถึงผ่านโครงการอบรมนักผลิตสื่อเพื่อสันติภาพ


ไม่น่าเชื่อว่า โครงการอบรมเชิงปฏิบัติงานนักผลิตสื่อเพื่อสันติภาพรุ่นที 1 ช่วงชั้นที่ 3 [Wartani Grassroots Media – WGM SECTION 3] ของสำนักสื่อวัรตานี (WARTANI) สื่อทางเลือกรุ่นใหม่ในชายแดนใต้/ปาตานี ระหว่างวันที่ 6-8 มีนาคม 2558 ซึ่งจัดพร้อมกันใน 2 แห่ง ได้แก่ที่สำนักงานเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าฮาลา – บาลา ต.โละจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส และที่บ้านสนามบิน ต.บางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา จะมีผลพลอยได้ที่คาดไม่ถึงเอามากๆ

แม้ว่าการจัดอบรมที่บ้านสนามบิน ซึ่งเป็นบ้านของนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางลางมีปัญหาในช่วงแรก เนื่องจากมีกลุ่มเจ้าหน้าที่ทหารไม่ทราบหน่วยมาแจ้งนายก อบต.ให้ยกเลิกกิจกรรมก่อนถึงกำหนดเพียง 5 นาที แต่สุดท้ายทางนายอำเภอบันนังสตามาช่วยรับรองทีมงานและผู้ร่วมอบรมจนสามารถดำเนินการต่อไปได้ ส่วนการจัดอบรมที่ อ.แว้ง ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

เหตุดังกล่าวถือได้ว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งของสื่อทางเลือกในพื้นที่ได้ความสนใจจากหน่วยความมั่นคงพอสมควร แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าอยู่ที่เนื้อหาและวิธีการอบรม ซึ่งทางสำนักสื่อวัรตานีได้รวมกิจกรรมหลักๆ 2 กิจกรรมไว้ด้วยกัน นั่นคือการจัดอบรมและการจัดเวนา

การอบรมแบ่งเป็น 2 ทีมใน 2 แห่ง ระหว่างวันที่ 6-8 มีนาคม ดังที่กล่าวมาข้างต้น จากนั้นในช่วงคำของวัน 8 มีนาคม ได้จัดสานเสวนาหัวข้อ “คนในพื้นที่จะสื่อสารอย่างไร เพื่อให้มีพื้นที่ข่าวของตนเอง” พร้อมๆกับนำเสนอคลิปวิดีโอซึ่งเป็นผลงานจากผู้เข้าอบรม ให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ชม

เรียกได้ว่าเป็นการลงพื้นที่ถ่ายทำในชมชนแล้วเอามาฉายให้คนในชุมชมชนได้ชมเลย ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่ได้ยอมมกว่าการที่ชาวบ้านได้ชมเรื่องราวของชุมชนหมู่บ้านตัวเองผ่านสื่อเท่านั้น แต่ยังได้ความไว้วางใจและอื่นๆตามมา

การอบรมที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าฮาลา – บาลา แบ่งผู้เข้าอบรมเป็น 3 ทีมโดยลงพื้นที่เก็บข้อมูลทำคลิปวิดีโอเรื่อง 1.ป่าฮาลา – บาลา 2.ตามหาคนบาเตาะชนเผ่ากินคนที่สาบสูญ และ 3.ร่อนทองที่บ้านภูเขาทอง วิทยากรอบรมคือ ดร.อัยนา ภูยุทธานนท์ อาจารย์ประจํา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ส่วนวิทยากรอบรมการเขียนข่าว คือนายมูฮำหมัด ดือราแม บรรณาธิการ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)

ส่วนจากฉายผลงานคลิปวิดีโอจัดขึ้นที่ที่ทำการกองทุนแม่ของแผ่นดิน บ้านบาลา ม.5 ต.โละจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส ท่ามกลางชาวบ้านและเด็กนักเรียนที่มาชมเป็นร้อยคน สลับกับการจัดเสวนา ที่สำคัญคือก่อนเริ่มงาน มีการแสดงดิเกร์ฮูลูของเหล่านักเรียนแห่งบ้านบาลา ที่นายมะอะฮูมือรี ยูนุ๊ ผู้ใหญ่บ้านโละจูดจัดให้ ซึ่งทีมนักแสดงของบ้านบาลาชุดนี้มีชื่อเสียงอยู่พอสมควร เคยไปแสดงตามที่ต่างๆมาแล้ว

โครงการนี้ซึ่งเรียกสั้นๆว่า โครงการ WGM ทางสำนักสื่อวัรตานีระบุในใบโครงการว่า มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลิตสื่อในพื้นที่ โดยคนในพื้นที่ สร้างนักสื่อสารมวลชนจากคนในพื้นที่ เพื่อคนในพื้นที่ ส่งเสริมสนับสนุนข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ และสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพปาตานี

แต่เนื่องด้วยสื่อสารมวลชนส่วนใหญ่มักจะอิงข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐเพียงด้านเดียว ยังขาดข้อมูลจากประชาชนโดยตรง สำนักสื่อวัรตานีจึงจัดโครงการอบรมนี้ขึ้นมาเพื่อผลิตสื่อ หรือนักข่าวที่เป็นคนในพื้นที่เพื่อผลิตข้อมูลข่าวสาร หรือรายงานถึงข้อมูลข้อเท็จจริงของคนในพื้นที่โดยคนพื้นที่เสียเอง ซึ่งพวกเขาจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพให้เป็นวาระแห่งชาติต่อไป

ที่ผ่านมา การอบรมในรุ่นที่ 1 นี้ ได้อบรมใน SECTION หรือช่วงชั้นที่ 1 และ 2 มาแล้ว รวมระยะเวลา 6 เดือน จากทั้งหมด 4 ช่วงชั้น จึงจะจบหลักสูตรเพื่อให้สามรถเป็นนักข่าวมืออาชีพได้ ซึ่งการอบรมครั้งนี้อยู่ในช่วงชั้นที่ 3

สิ่วที่น่าสนใจคือ โครงการนี้มีเยาวชนจาก 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เข้าอบรมจำนวน 38 คน แต่ปัจจุบันเหลือ 31 คน ใน 31 คนนี้ ทางทีมงานได้แบ่งให้แต่ละคนเลือกฝึกอบรมตามความถนัดใน 3 กลุ่มวิชาโดยการสอบ ได้แก่  

1.กลุ่มวิชากราฟิกดีไซน์ขั้นสูง (Graphic Design Courses : GDC-103)
2.กลุ่มวิชาการเขียนข่าวเพื่อการรายงานข่าวขั้นสูง (Advanced Journalism Courses : AJC-103) และ
3.กลุ่มวิชาการรายงานข่าววีดีโอขั้นสูง (Advanced Video Courses : AVC-103)

นายซาฮารี เจ๊ะหลง บรรณาธิการข่าว สำนักสื่อวัรตานีเล่าว่า โครงการ WGM รุ่นที่ 1 เกิดขึ้นเนื่องจากสำนักสื่อวัรตานีมีปัญหาการเข้าถึงพื้นที่เพื่อทำข่าว จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ทำสื่อเอง และเชื่อมเป็นเครือข่ายกับสำนักสื่อวัรตานี

โครงการนี้เริ่มต้นเมื่อต้นปี 2557 เป็นโครงการอบรมระยะยาว 1 ปี แต่บางช่วงมีปัญหางบประมาณทำให้การอบรมขาดช่วงไปบ้าง โดยครั้งแรกเป็นการอบรมรวมทั้งหมดเพื่อทำความเข้าใจหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการสื่อสาร จากนั้นให้แต่ละคนเลือกกลุ่มวิชาตามผลสอบของแต่ละคน ซึ่งในการอบรมนั้นจะเชิญผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขามาเป็นผู้ให้การอบรม

จากการอบรมที่ผ่านมาพบว่า บางคนที่ถนัดงานวิดีโอแต่ไม่ถนัดเขียน บางคนที่ถนัดเขียนก็ไม่ถนัดเรื่องวิดีโอ ดังนั้นในการลงพื้นที่จึงเก็บข้อมูลหรือผลิตชิ้นงานจะแบ่งเป็นทีม ใน 1 ทีมต้องมีคนครบทั้ง 3 กลุ่มวิชาลงไปทำงานด้วยกัน เพราะสามารถหนุนเสริมกันได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ

ในจำนวน 31 คนนี้ คนอยู่ในกลุ่มวีดีโอมากที่สุด 18 คน รองลงมาคือเขียนข่าว 7 คน และกราฟิกดีไซน์ 6 คน

นายซาฮารี บอกว่า จากการอบรมที่ผ่านมาคนที่อยู่ในกลุ่มวิดีโอแต่ละคนสามารถผลิตคลิปวิดีโอได้แล้ว สามารถร่างสคริปต์เรื่องเองได้ ตัดต่อเองได้ และเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์เองได้เช่นกัน รวมทั้งยังสามารถถ่ายทอดสดได้โดยผ่านเว็บไซต์ยูทิวป์ตรีมมิ่ง

ส่วนคนที่อยู่ในคอร์สเขียนข่าวก็มาสามารถเขียนข่าวได้ มีผลงานข่าวออกมาเผยแพร่อย่างต่อเนื่องผ่านเว็บไซต์ของสำนักสื่อวัรตานีและเครือข่าย เขียนสกู๊ปได้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวของคนในพื้นที่ เช่น เรื่องสายบุรี จ.ปัตตานี ชุมชนบ้านรือเป อ.บันนังสตา จ.ยะลา หรือนำเสนอประเด็นจากงานมหกรรมต่างๆ ที่สำนักสื่อวัรตานีลงไปถ่ายทอดสด
“ข่าวที่เผยแพร่ส่วนใหญ่ของสำนักสื่อวัรตานีก็มาจากการผลิตของผู้เข้าอบรมในโครงการนี้นั่นเอง”

ส่วนคอร์สออกแบบกราฟิก ผู้เข้าอบรมสามารถออกแบบสื่อชนิดต่างๆ ได้แล้ว เช่น ออกแบบหนังสือ ออกแบบสคริปชั่นต่างๆ ประกอบในเว็บไซต์ ซึ่งแล้วแต่ผลงานว่าจะใช้เผยแพร่ทางไหน เช่น หน้าเว็บไซต์ ภาพประกอบข่าว แบนเนอร์ต่างๆ เป็นต้น คนในกลุ่มนี้จะมีส่วนช่วยทำให้เนื้องานน่าสนใจมากขึ้น

“ในระยะ 1 ปีที่ผ่านมาของการอบรม จนแต่ละคนสามารถผลิตชิ้นงานออกมาได้ถือว่าก้าวหน้ามาก เพราะแต่ละคนเริ่มจากศูนย์ ไม่มีพื้นฐานอะไรเลยแต่มาด้วยใจจริงๆ ต้องการเรียนรู้จริงๆ ไม่มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการสื่อสารเลย ต้องสอนแม้กระทั่งการเปิดปิดกล้องถ่ายรูป”

การจัดทีมลงพื้นที่ก็คือให้คนที่อยู่ในจังหวัดเดียวกันรวมกันเป็นหนึ่งทีม ลงพื้นที่พร้อมกัน โดยทางสำนักสื่อวัรตานีจะผู้อำนวยความสะดวกต่างๆ หรือคอยช่วยเหลือประสานงานต่างๆ เช่น การลงพื้นที่ถ่ายทอดสดการจัดกิจกรรมของชุมชนผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักสื่อวัรตานี

นายซาฮารี พูดถึงปัญหาและอุปสรรคหลักๆ คืองบประมาณ เนื่องจากทางสำนักสื่อวัรตานีไม่มีค่าตอบแทนให้ผู้เข้าอบรม แต่พวกเขาก็มาด้วยใจที่ต้องการพัฒนาศักยภาพทางด้านการสื่อสารเพื่อชุมชน ทำให้บางครั้งการอบรมไม่ต่อเนื่องเพราะบางคนต้องกลับไปทำงานหาเงินก่อน

“แม้มีอุปสรรค แต่ก็ทำให้เราเห็นศักยภาพของคนในพื้นที่ของเราเองว่า สามารถพัฒนาในส่วนนี้ได้ เป้าหมายต่อไปคือ ต้องการให้พวกเขาได้กลับไปตั้งกลุ่มสื่อของตัวเองในพื้นที่ ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำงานให้สำนักสื่อวัรตานีอย่างเดียว แต่เป็นเครือข่ายที่จะเชื่อมการทำงานในพื้นที่”

ผลจากการอบรมโครงการนี้ ทำให้มีการนำเสนอข่าวบางประเด็นที่ไม่เป็นข่าวมาก่อนได้ มีหลายเรื่องที่ถูกขุดขึ้นมาเนื่องจากสื่อกระแสหลักไม่สนใจ ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้ยังเป็นการจุดประกายให้สังคมในพื้นที่อยากสื่อสารเรื่องราวของตัวเองขึ้นมาด้วย ทำให้สังคมเห็นว่าลูกหลานของพวกเขาก็มีความสามารถในด้านการสื่อสารได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้สื่อกระแสหลักมาสื่อสารเท่านั้น

“แน่นอนว่า พวกเขาทำให้ชาวบ้านชอบใจไปด้วย เพราะหลายแห่งชาวบ้านได้เห็นผลงานของพวกเขาได้ทันทีจากการนำเสนอของพวกเขา ได้เห็นเรื่องราวของชาวบ้านเองถูกนำเสนอออกมาในสื่อแล้ว เพราะเราฉายให้ชาวบ้านได้ดูเลย อย่างเช่นการถ่ายทอดสดกิจกรรมต่างๆ ในหมู่บ้าน ชาวบ้านได้ชอมเลย หรือไม่ก็มีการบันทึกไว้และอัดลงในแผ่นซีดีส่งกลับไปให้ชาวบ้านเก็บไว้ดู”

นายซาฮารี บอกว่า ด้วยเหตุนี้ทำให้ในช่วงหลังๆ มีชาวบ้านหลายแห่งติดต่อมาขอให้ทางสำนักสื่อวัรตานีลงไปถ่ายทอดสดงานกิจกรรมต่างๆของชาวบ้านในหมู่บ้านมากขึ้น อย่างที่หลายคนได้ติดตามอยู่ แต่บางครั้งก็ต้องปฏิเสธเพราะทีมงานไม่พร้อม

“วิธีการสื่อสารแบบนี้นี้ทำให้ชาวบ้านยิ่งไว้ใจมากขึ้น ก็ยิ่งส่งผลให้เราได้ข้อมูลต่างๆที่ชาวบ้านไม่กล้าบอกคนอื่นมากขึ้นไปด้วย แม้บางข้อมูลไม่สามารถเผยแพร่ได้ อย่างน้อยก็ทำให้เราได้รู้และเข้าใจเรื่องราวต่างๆมากขึ้นไปด้วย”

นายซาฮารี บอกว่า เมื่อชาวบ้านไว้ใจมากขึ้นชาวบ้านก็อยากมีส่วนร่วมมากขึ้น อย่างน้อยก็ทำอาหารเลี้ยงพวกเรา จัดที่พักให้ฟรี อย่างเช่น การอบรมที่บ้านสนามบินชาวบ้านถึงกับเชือดแพะเลี้ยงทุกคนด้วย เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งมันเป็นผลพลอยได้ที่คาดไม่ถึงมากๆ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net