Skip to main content
sharethis

ชาวเมืองเย ทางตอนใต้ของรัฐมอญ ชุมนุมใหญ่เพื่อคัดค้านแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,280 เมกะวัตต์ ของบริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในไทย โดยพวกเขากังวลว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสุขภาพ

เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ชาวเมืองเยหลายพันคน ประท้วงต่อต้านแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในพื้นที่หมู่บ้านอังแตง เมืองเย ทางตอนใต้ของรัฐมอญ ประเทศพม่า

สำหรับโครงการดังกล่าว ผู้ก่อสร้างคือบริษัทโตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทีทีซีแอล จํากัด (มหาชน) โดยเมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา บริษัทเป็นผู้ลงนามในสัญญาการลงทุนใหม่กับกระทรวงพลังงานไฟฟ้า ของรัฐบาลพม่า เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ประเภท Ultra Super Critical (USC) ตลอดจนการดำเนินงานโรงไฟฟ้า ด้วยมูลค่าลงทุน 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 1,280 เมกะวัตต์ และได้รับสัญญาสัมปทานดำเนินงานเป็นระยะเวลา 30 ปี

ขณะที่หลังวันที่ 9 เมษายน ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัท ทีทีซีแอล ได้เพิ่มมูลค่าขึ้น จากราคาปิดตลาดวันที่ 9 เมษายน อยู่ที่ 27.50 บาท/หุ้น เป็น 36.75 บาท/หุ้น ในวันที่ 20 เมษายน และอยู่ที่ 32.00 บาท/หุ้น ในวันที่ 30 เมษายน

สำหรับขั้นตอนต่อไปของโครงการคือการซื้อที่ดิน ทำข้อตกลงทางการเงิน และยื่นขอใบอนุญาตขายไฟในพม่า (PPA) โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินเมืองเยมีแผนผลิตกระแสไฟฟ้า 1,280 เมกกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9.1 หมื่นล้านบาท หากเป็นไปตามแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 2559 โดยจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ถึง 6 ปี

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ล่าสุดที่เมืองเย ชาวเมืองในพื้นที่ได้ออกมาชุมนุม และชูป้ายต่อต้านถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินในเมืองเย โดยผู้คัดค้านกังวลว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณนั้น อีกทั้งอาจทำลายเศรษฐกิจท้องถิ่น และก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

ในรายงานของสื่อมวลชนพม่า "อิระวดี" ระบุว่า ในการประชุมครั้งหนึ่งระหว่างชาวบ้านอังแตงกับทางบริษัท บริษัทเคยเสนอที่จะใช้งบประมาณสำหรับโครงการรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท โดยตั้งงบประมาณไว้ที่ 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ แบบจ่าย 1 งวด เพื่อส่งเสริมการการพัฒนาในพื้นที่ ขณะที่ชาวบ้านได้ทำการสำรวจข้อมูลทางเศรษฐกิจในพื้นที่ และยืนยันว่าชุมชนสามารถหารายได้กว่า 5.8 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีจากการเกษตรและการประมง โดยพวกเขาเห็นว่าโครงการของบริษัทจะส่งผลกระทบต่อการเกษตรในพื้นที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net