ชุมชนมุสลิมเก่าแก่ในกรุงเทพฯ กำลังเผชิญภาวะไล่รื้อ

ผู้นำชุมชนมุสลิมเก่าแก่ของกรุงเทพ เผยว่า พวกเขากำลังเผชิญวิกฤติถูกไล่รื้อ เวนคืนที่ดิน หรือเผชิญหน้ากับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและความเจริญแบบตะวันตก ซึ่งคุกคามวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม

1 พ.ย. 58 มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ จัดงานเสวนา ชุมชนมุสลิมร่วมสร้างพระนคร ณ ป้อมมหากาฬ สะพานผ่านฟ้า โดยมีตัวแทนชุมชนมุสลิมเก่าแก่ในกรุงเทพฯ ได้แก่ ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ ชุมชนมัสยิดตึกดิน และชุมชิดมัสยิดมหานาค มาพูดถึงประวัติศาสตร์และบทบาทของชาวมุสลิมที่เติบโตไปพร้อมกับกรุงเทพมหานคร

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ เจ้าหน้าที่มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า การที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองท่า ก็เป็นปกติที่จะมีคนหลากหลายชาติพันธุ์ คนมุสลิมในกรุงเทพ ถูกนำมาตั้งแต่ประมาณ รัชกาลที่สาม ซึ่งมีการนำเอาชาวมลายูจากปาตานีมาที่กรุงเทพฯ ในขณะที่ชาวมุสลิมที่อยู่ทางฝั่งธนบุรีเป็นชาวสยามที่นับถือศาสนาอิสลาม ที่มีรากเหง้าสืบเชื้อสายมาจากขุนนางเดิมในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวมุสลิมที่อยู่ในกรุงเทพชั้นในและทางตะวันออกของกรุงเทพส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมที่สืบเชื้อสายจากชาวมลายูปาตานีและเมืองใกล้เคียง

วลัยลักษณ์กล่าวต่อว่า ประวัติศาสตร์ของชาวมุสลิมที่กรุงเทพฯ ก็มีความเกี่ยวพันกับความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เพราะมีการผลิตซ้ำตำนานที่ว่า สยามนำคนมลายูจากปาตานี ใส่เอ็นร้อยหวายที่ข้อเท้า ร้อยต่อๆ กัน แล้วให้มาขุดคลองแสนแสบ แล้วก็เรื่องที่สยามไปเอาปืนใหญ่ของปาตานีมาที่กรุงเทพฯ

เรื่องการร้อยหวายข้อเท้าคนมลายู แล้วบังคับให้มาขุดคลองนั้นเป็นเพียงตำนาน ที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ความเจ็บปวด และใช้ทางการเมือง เพื่อใช้ในการสร้างความชอบธรรมกับการต่อสู้กับรัฐไทย แต่เรื่องนี้เราไม่สามารถหาหลักฐานสนับสนุนได้ หากแต่พบหลักฐานชัดเจนว่า สยามจ้างคนจีนขุดคลองแสนแสบ แล้วสยามก็ให้คนมลายูมาอยู่ริมคลองที่ขุดแล้ว ไปทางตะวันออกของกรุงเทพฯ วลัยลักษณ์กล่าว 

จากซ้ายไปขวา: หริน สิริคาดีญา และ นิวัฒน์ วงษ์มณี จากชุมชนมัสยิดมหานาค, โอภาส มิตรมานะ จากชุมชนมัสยิดจักรพงษ์, ทำนุ เหล็งขยัน และ สมนึก หมัดมอญ จากมัสยิดตึกดิน

วลัยลักษณ์ มาถึงชุมชนมุสลิมที่กรุงเทพ ตอนนี้พวกเขากำลังเผชิญกับการถูกไล่รื้อและเวนคืนที่ และถูกนายทุนจ้องนำที่ดินไปพัฒนาเป็นอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ กรุงเทพมหานครก็มีโครงการจะพัฒนาภูมิทัศน์เกาะรัตนโกสินทร์ แต่เป็นการพัฒนาที่ทำให้ดูสวยงามแต่ไร้ชีวิตของผู้คน

นอกจากนี้ ชุมชนมุสลิมที่จะพูดถึงในวันนี้มีบทบาทสำคัญในการสร้างพระนคร จำนวนมากมีบทบาทในฐานะช่างฝีมือในรั้วในวัง ซึ่งเราจะเห็นว่า งานฝีมือต่างๆ ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ไม่ได้ทำโดยคนสยามแท้ๆ อะไร แต่ทำโดยคนที่ถูกอพยบมาจากที่อื่นทั้งนั้น ผู้ดำเนินรายการกล่าว

โอภาส มิตรมานะ ผู้นำชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ กล่าวว่า ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์นั้นตั้งอยู่ตรงข้ามห้างตั้งฮั้วเส็ง บางลำพู เขาได้เห็นบางลำพูปรับเปลี่ยนไปมากมาย ตั้งแต่ยุคที่เคยรุ่งเรืองมากๆ และตอนนี้ก็เสื่อมโทรม มีความพยายามบีบชุมชนให้ย้ายออกจากพื้นที่ ซึ่งทำให้เขาอึดอัด

ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์เป็นแหล่งช่างทองฝีมือเยี่ยม มีคนมุสลิมจากชุมชนของเราทำงานรับราชการในฐานะช่างฝีมือในวังมากมาย โอภาสกล่าว พ่อของเขาก็เป็นช่างทอง ทำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งแต่ก่อนต้องทำมือทุกชิ้น ทั้งยังรับซ่อม รับขัดและดูแลเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่ปัจจุบันเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทำโดยกรมทหารผ่านศึก ซึ่งใช้เครื่องจักรและเครื่องคอมพิวเตอร์ผลิต ทำให้งานไม่ประณีตอ่อนช้อยดังเดิม

"เยาวชน คนรุ่นใหม่บ้านผม ไม่ใส่ใจจะสืบทอดภูมิปัญหาเหล่านี้เลย เพราะเทคโนโลยีมันเข้ามาในหัวกันหมด ไม่ใส่ใจเรื่องการทำทองแล้ว ณ วันนี้ไม่เหลือช่างทองแล้ว" โอภาสกล่าว

เราอยากให้คนเห็นว่า วัฒนธรรมของชาวมุสลิมเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพมานานมากแล้ว "ผมนั้นเป็นคนเชื้อสายปาตานี แต่ผมพูดมลายูไม่ได้ เพราะผมกลายเป็นคนกรุงเทพไปแล้ว" 

มัสยิดจักรพงษ์ ตรงข้ามห้างตั้งฮั่วเส็ง บางลำพู

"เมื่อก่อนนั้น ตั้งแต่สหกรณ์บางลำพูจนถึงแยกคอกวัวเป็นที่อยู่อาศัยของคนมุสลิมทั้งนั้น แต่ปัจจุบันนี้กลายเป็นเกสต์เฮ้าส์ไปหมด ผมคิดว่า ประเทศไทยหมกมุ่นกับการท่องเที่ยวมากเกินไป พอการท่องเที่ยวมา วัฒนธรรมของเราก็เหลวแหลก มีฝรั่งใส่ขาสั้นมามัสยิดบ้านผม ผมก็ไล่ออกไปเลย การท่องเที่ยวทำให้วัฒนธรรมมันเสื่อมเสียไป" โอภาสกล่าว

โอภาสกล่าวว่า มีครั้งหนึ่งที่โรงแรมหนึ่งในซอยรามบุตรีไปแจ้งความตำรวจว่า มัสยิดจักรพงษ์ทำเสียงดังรบกวน "ผมก็บอกโรงแรมว่า ผมอยู่มาร้อยกว่าปีแล้ว ถ้ามึงอยู่ไม่ได้ก็ย้ายออกไป"  

ในขณะที่ทำนุ เหล็งขยัน ผู้นำชุมชนตึกดิน อีกชุมชนมุสลิมหนึ่งในเกาะรัตนโกสินทร์ กล่าวว่า พื้นที่ชุมชนนี้เคยใช้เก็บดินปืน ต่อมาชุมชนก็ถูกเวนคืน แล้วนำมาสร้างถนนราชดำเนิน ชุมชนเลยถูกแบ่งเป็นสองฝั่งด้านหลังของถนนราชดำเนิน คือ ตรอกสิน และ ตรอกตึกดิน ซึ่งตอนนี้อยู่หลังโรงเรียนสตรีวิทยา ชุมชนตึกดินนั้นมีชื่อเสียงในฐานะชุมชนช่างฝีมือทำงานโลหะ โดยเฉพาะการแกะพิมพ์เหล็ก แกะเครื่องหมาย สัญลักษณ์ ต่างๆ เหรียญพระดังๆ ก็ล้วนเป็นฝีมือของชาวมุสลิมที่ชุมชนตึกดิน

"ที่ผ่านมาชุมชนเราพยายามไม่แสดงออกสัญลักษณ์อะไรว่าเป็นมุสลิม เพราะเรากลัวจะถูกมองเชื่อมโยงกับความรุนแรงที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มันเหมือนเป็นตราบาปของคนมุสลิมที่อยู่ภาคกลาง เรามักถูกถาม และถูกมองไม่ดี เราเลยไม่กล้าจะออกตัวเท่าไหร่" ทำนุกล่าว

"เราก็อยากจะสื่อในความเป็นมุสลิมให้เห็นว่า เราสามารถอยู่กับใครก็ได้โดยสันติ อย่างเมื่อวานชุมชนของเราก็รวมเงินให้ทุนการศึกษาเด็ก เด็กที่ได้รับก็เป็นเด็กพุทธมากกว่าเด็กมุสลิม"

ทำนุกล่าวอีกว่า ชาวมุสลิมก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนชาวพุทธและวัดที่อยู่ติดกับชุมชน "เราก็สนิทกับพระบางรูปด้วยซ้ำไป พระท่านก็เข้าใจศาสนาอิสลามดี ก็มีคนไปถามพระว่า ให้เบาเสียงอาซาน (เสียงเรียกละหมาดจากสุเหร่า) ตอนตีห้าไหม พระก็บอกว่า ไม่เป็นไร คนจีนก็บอกผมว่า ชอบ เพราะใช้แทนนาฬากาปลุก ทำให้ได้ตื่นแต่เช้ามาทำมาค้าขาย  แต่พวกเราก็เกรงใจ เราพร้อมจะหรี่เสียงลง เพราะเราตระหนักดีว่าพื้นที่นี้ไม่ได้มีแต่มุสลิม"  

"ผมอยากจะบอกว่า อิสลาม เราไม่เอาความรุนแรง ผมมีเพื่อนเป็นทหาร บางทีเข้าไปในกองทัพบก ก็เข้าไปกอดคอเพื่อนที่เป็นทหาร ก็ผมคนไทยอ่ะ ผมไม่ได้รู้สึกแปลกแยกอะไร ผมก็รู้สึกเกรงใจเพื่อนที่เป็นทหาร เพราะที่ภาคใต้ ทหารโดนกระทำเยอะแยะ"

"ตอนนี้ผมก็ไม่อยากจะปิดแล้วว่าเป็นมุสลิม คือผมนับถือศาสนาอิสลาม แต่ผมก็เป็นคนไทย ตอนนี้ผมก็พยายามให้ชุมชนใช้สัญลักษณ์ เพื่อให้ชุมชนของเรามีตัวตน ผมเห็นการรณรงค์ของกรุงเทพมหานคร มีแต่รูปวัดวาอาราม ผมก็อยากให้มีรูปมัสยิดบ้าง กรุงเทพก็มีคนมุสลิมเหมือนกัน อย่างมัสยิดตึกดิน กับมัสยิดจักรพงษ์ ก็เป็นสองมัสยิดท่ามกลางวัดกว่ายี่สิบกว่าวัดในเกาะรัตนโกสินทร์"

"เราก็ทำงานต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนไม่ว่าชุมชนพุทธ จีน หรือ มุสลิม เราไม่อยากให้สิ่งแปลกปลอมมาเบียดเบียน ชุมชนดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นชุมชน จีน มุสลิม ไทย ผมไปคุยกับกรมผังเมืองว่า ทำไมถึงไม่กันพื้นที่รอบๆ วัดชนะสงคราม ตอนนี้ข้างหลังวัด เต็มไปด้วย แหล่งมอมเมา ผังเมืองก็บอกว่า เกสต์เฮ้าส์ก็สร้างมานานแล้ว"

นิวัฒน์ วงษ์มณี ผู้นำชุมชนมัสยิดมหานาค ซึ่งอยู่ติดตลาดโบ๊เบ๊กล่าวว่า ชุมชนมัสยิดมหานาคมีมีพื้นที่ทั้งหมด 23 ไร่ เป็นกุโบร์ (สุสาน) 10 ไร่ เป็นกุโบร์ที่ใหญ่อันดับหนึ่งของกรุงเทพ และมีมาตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีคนทำงานเป็นช่างในวังหลายคน และรับราชการกันมานาน ส่วนผู้หญิงมักมีความเชี่ยวชาญในการทำขนมหวาน ซึ่งได้เรียนรู้การทำขนมจากคนโปรตุเกส

"มีนักธุรกิจมาเสนอเงินเป็นร้อยล้าน ขอสร้างอาคารไว้เหนือกุโบร์ แต่ชุมชนก็ไม่เอา เพราะเห็นว่า ไม่เหมาะสม ปู่ย่าตายายเราอยู่ตรงนี้ แล้วมีคนสร้างบ้านค่อม เราว่ามันไม่ให้เกียรติ"

"ผมก็อยากตั้งคำถามกับการท่องเที่ยวว่า นักท่องเที่ยวที่มาไทยนั้นมีคุณภาพจริงไหม และเขาใช้เงินกันเยอะจริงๆ หรือ เขามากันอย่างประหยัดมากกว่า"

รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดี กล่าวว่า ราชการไทยมักมองชุมชนในลักษณะการเข้าไปจัดการเพื่อให้เป็นระเบียบเรียบร้อยทางกายภาพ แต่มิได้มองถึงประวัติศาสตร์ ความเป็นมา และความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในชุมชน  

"ถ้าให้มีการไล่รื้อต่อไปเรื่อยๆ กรุงเทพก็จะมีแต่เปลือก แต่คนกรุงเทพไม่มี เราจำเป็นต้องร่วมรักษาชุมชนไว้

การท่องเที่ยวเป็นอะไรที่แย่ที่สุด ที่มาทำลายชุมชนและวัฒนธรรม"

ผู้นำชุมชนจากชุมชนต่างๆ ต่างเห็นต่างกันว่า ชุมชนไม่ว่า จีน ไทย มุสลิม ต้องผนึกกำลังกันให้เข้มแข็ง เพื่อรักษาชุมชนของตนเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท