ศูนย์ทนายความมุสลิมชี้ยังไม่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่เก็บ DNA

24 พ.ย. 2558 จากกรณีเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ(นปพ.) ตำรวจภูธรจังหวัด (ภจว.)ปัตตานี ร่วมกับชุดสืบคดีสำคัญศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.), หน่วยเฉพาะกิจทหารพราน (ฉก.ทพ.)ที่ 4, หน่วย ฉก.ปัตตานี 24 สนธิกำลังเข้าปิดล้อมบ้านของ น.ส.เจ๊ะปาติเมาะ แวกะจิ และ นายมาอุเซ็น แวจิ ที่บ้านเลขที่ 57/1 ม.1 บ.ดอนรัก ต.ดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อ วันที่ 22 พ.ย. 2558 แต่ผลการตรวจค้นไม่พบพฤติกรรมต้องสงสัยหรือสิ่งผิดกฎหมาย

เจ้าหน้าที่จึงนำบุคคลดังกล่าวไปเก็บตัวอย่างสารทางพันธุกรรม หรือDNA พร้อมพิมพ์ลายนิ้วมือรวม 5 คน ได้แก่ 1.นายมาอุเซ็น แวจิ 2.น.ส.เจ๊ะปาตีเมาะ แวกะจิ 3.นางสาวน.ส.ซอมารีย๊ะ มะลี ภรรยาผู้ต้องหาของนายเสรี แวมามุ ผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ที่เจ้าหน้าที่กำลังติดตามตัว และ 4.ด.ช.ชาลีฟ มะลี อายุ 5 เดือนลูกชายของนายเสรี

จากกรณีดังกล่าว ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการเก็บตัวอย่าง DNA ในเด็กอายุเพียง 5 เดือนว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เข้าข่ายละเมิดสิทธิหรือไม่

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเต๊ะ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การเก็บตัวอย่าง DNA นั้น เจ้าหน้าที่สามารถเก็บได้เฉพาะผู้ต้องหาเท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่ต้องแจ้งข้อกล่าววหาเขาทำผิดอะไร แล้วจึงขอเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอได้ เพื่อตรวจสอบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับวัตถุพยานหรือหลักฐานในที่เกิดเหตุหรือไม่

“กรณีที่ผู้ต้องหาปฏิเสธไม่ยอมให้เก็บ ตามกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า มันอาจเป็นผลร้ายกับผู้ต้องหาคนนั้น เพราะการเก็บตัวอย่าง DNA คือส่วนหนึ่งของกระบวนการสอบสวนเพื่อยืนยันความผิด ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องมีพยานหลักฐานอื่นประกอบการพิจารณาคดีด้วย ไม่ใช่ยึดDNAอย่างเดียว” นายอับดุลกอฮาร์ กล่าว

นายอับดุลกอฮาร์ กล่าวอีกว่า ไม่ว่ากฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ ไม่ได้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการเก็บ DNA ดังนั้น การเก็บ DNA ของเจ้าหน้าที่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเคยออกมารับรองแล้วในกรณีนี้แล้ว

“หากเจ้าหน้าที่ต้องการจะเก็บ DNA ก็สามารถเก็บได้กรณีที่เป็นพนักงานสอบสวนที่ต้องการเก็บ DNAจากผู้ต้องหาและผู้ต้องหาเองก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธ ยิ่งถ้าจะเก็บ DNAไว้เพื่อเป็นฐานข้อมูลก็ยิ่งไม่มีกฎหมายรองรับ”

นายอับดุลกอฮาร์ กล่าวว่า ถ้าจะให้มีอำนาจเก็บ DNA เช่นนั้นก็ต้องมีการออกกฎหมายให้อำนาจโดยเฉพาะไปเลย เช่น กรณีทำบัตรประชาชนก็ต้องเก็บลายพิมพ์นิ้วมือและDNA ด้วย เพื่อเป็นฐานข้อมูลของทางราชการ เวลามีเหตุร้ายเกิดขึ้นก็สามารถตรวจ DNA จากวัตถุพยานไปเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลได้

นายอับดุลกอฮาร์ กล่าวด้วยว่า การเก็บ DNA จากผู้ต้องสงสัยเท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิถ้าเขาปฏิเสธ แต่ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการหว่านล้อม กดดัน เพื่อให้เซ็นยินยอม ซึ่งเป็นขัดขืน กดดันหรือคุกคาม ถือเป็นการละเมิดสิทธิของเขาเช่นกัน

“การขอเก็บ DNA เจ้าหน้าที่ต้องถามคนที่จะถูกเก็บด้วยว่ายินยอมหรือไม่ ถ้าเขาไม่ยินยอมก็ไม่สามารถเก็บได้ โดยเฉพาะเด็กซึ่งไม่อาจเป็นผู้ต้องหาได้อยู่แล้ว ถึงแม้เขาจะเป็นลูกของโจรก็ตามก็ไม่สามารถทำได้ ถ้าไม่มีกฎหมายให้อำนาจทำได้” นายอับดุลกอฮาร์ กล่าว

นายอับดุลกอฮาร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการนี้ในการเก็บ DNA มาตลอด ถึงแม้ไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ทำไปตามกประเพณีปฏิบัติ ซึ่งถูกปล่อยปละละเลยมานาน การเก็บ DNA ต้องชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่หน่วยไหนเป็นคนเก็บ แล้วนำไปไว้ในฐานข้อมูล ไม่ใช่เก็บแล้วเก็บอีก อย่างนี้ถือว่าไม่มีระบบในการจัดทำฐานข้อมูล ที่สำคัญคือคนที่ถูกเก็บมีสิทธิที่จะขอตรวจสอบได้ จึงอยากฝากหน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ให้ระมัดระวังในการปฏิบัติด้วย เพราะเรื่องนี้คนในพื้นที่ไม่สบายใจกับพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่มาตลอด

นายอับดุลกอฮาร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีของเด็ก 5 เดือนที่ถูกเก็บ DNA นั้นทางศูนย์ทนายความมุสลิมพร้อมที่จะรับเรื่องร้องเรียน เพื่อทำเป็นฐานข้อมูลในกรณีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และอาจจะมีแถลงการณ์ที่เกี่ยวข้องกับหลักกฎหมายและแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ด้วยเพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน และย้ำว่าถ้ายังยืนยันที่จะเก็บ DNA ก็จำเป็นต้องให้มีกฎหมายมารองรับอย่างชัดเจน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท