Skip to main content
sharethis

 

หลัง ICC* ประกาศทบทวนสถานะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ไทยเมื่อ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา จากเกรด A ลงไปเป็น B ก็เรียกได้ว่า “งานเข้า” กสม.ชุดใหม่ทันทีทั้งที่เพิ่งรับตำแหน่งเมื่อ 20 พ.ย. จากนั้นวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา กสม.ก็ได้ทำคำคัดค้านและคำชี้แจงต่อหน่วยงานประเมินเป็นที่เรียบร้อย

แหล่งข่าวในแวดวงสิทธิคาดว่า ICC จะพิจารณาและประกาศผลในวันที่ 30 ธ.ค.นี้

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาผลงานที่ผ่านมา กสม.ชุดนี้ได้ออกแถลงการณ์แล้ว 2 ฉบับ โดยหลังเหตุสกัด ‘รถไฟไปราชภักดิ์’ นำโดยจ่านิวและเพื่อน 1 วัน กสม.ก็ออกแถลงการณ์วอนทุกฝ่ายใช้สติ จากนั้นหลังบริษัทเหมืองฟ้องหมิ่นประมาทต่อเด็ก ม.4 ไม่กี่วัน กสม.ก็ออกแถลงการณ์ขอให้บริษัทเอกชนทบทวนการฟ้องร้อง

ส่วนกรณีบุกจับ ‘ธเนตร’ หนึ่งในทีมจ่านิวจากโรงพยาบาลโดยไม่รู้สถานที่คุมขัง ในโซเชียลมีเดียมีการรณรงค์นัดหมายให้ผู้คนโทรไปร้องเรียนเรื่องนี้กับ กสม.ทาง กสม.ก็รับเรื่องไว้และเริ่มรวบรวมข้อเท็จจริง แม้ไม่ได้ออกแถลงการณ์หรือทำเรื่องขอเข้าตรวจสอบเรือนจำมทบ.11 ตามเสียงเรียกร้องก็ตาม (อ่านที่นี่)

ในขณะที่สังคมกำลังจับตาดูบทาทและทิศทาง กสม.ชุดใหม่อย่างยิ่ง หากดูบทสัมภาษณ์ วัส ติงสมิธ ประธานกสม.ที่ลงในบางกอกโพสต์ เมื่อ 19 ธ.ค.อาจจะยิ่งเพิ่ม “คำถาม” และ “ความท้าทาย” ให้กับกรรมการชุดนี้มากยิ่งขึ้น เช่น  

“สำหรับผู้ที่ตัดสินไปก่อนแล้วควรอนุญาตให้ผมได้ทำงานก่อน นี่มันเพิ่งจะไม่ถึงเดือนหนึ่งแต่เราก็ทำงานมากแล้ว (ออกแถลงการณ์สองฉบับ)”

“ผมไม่สนใจหากใครจะว่าเป็นพวกหนุนหรือต้านรัฐประหารก็ตาม เพื่อนของผมไม่ว่าเฉดสีไหนในทางการเมืองต่างรู้ว่า ผมยึดหลักกฎหมายเป็นคำตอบสูงสุดสำหรับปัญหาใดๆ เมื่อคณะรัฐประหารเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ ประกาศของเขาในทางพฤตินัยกลายมาเป็นกฎหมาย และถ้าเราพยายามอ้างถึงอย่างอื่น มันก็จะเป็นเหตุให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในประเทศ”

“ผมไม่คิดว่าเราจะต้องเข้าเยี่ยมเรือนจำชั่วคราวใน มทบ.๑๑ ผมคิดว่าเราต้องหารือกันก่อนภายในคณะกรรมการ แต่เพราะว่ามันตั้งอยู่ในค่ายทหารจึงไม่สะดวกสำหรับผู้ถูกควบคุมตัวและญาติที่จะไปเยี่ยม เรื่องราวมันเกิดขึ้นมากมายตอนนี้ เราจำเป็นต้องหาข้อเท็จจริงก่อนว่าอะไรเกิดขึ้นจริงๆ บ้างก่อนที่จะเคลื่อนไหวอะไร”

ท่ามกลางการละเมิดสิทธิที่เข้มข้นผสมกับบรรยากาศขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมไทย ‘ประชาไท’ สัมภาษณ์ สุณัย ผาสุก จากฮิวแมนไรท์ วอทช์ ซึ่งมักออกแถลงการณ์ “แรง” และ “เร็ว” ต่อกรณีต่างๆ ว่า เขามองบทบาท กสม.อย่างไร กสม.สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้หรือไม่ อะไรคือข้อจำกัด และแนวโน้มสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยในอนาคตอันใกล้จะไปทางไหน

0000


(แฟ้มภาพ)

ประชาไท: กรรมการสิทธิ์ดูเหมือนจะถูกจำกัดบทบาท หรือจำกัดบทบาทตัวเองค่อนข้างเยอะ เช่น กรณีตามหาคนที่ถูกทหารจับกุม กสม.ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าคุมตัวที่ไหน ในสภาพเช่นนี้ กสม.หรือองค์กรสิทธิอื่นๆ สามารถทำอะไรได้มากกว่าการออกแถลงการณ์ไหม บางคนให้ข้อมูลว่าหากไทยลงนามในพิธีสารเลือกรับว่าด้วยการทรมาน จะทำให้ กสม.เข้าตรวจสถานที่คุมขังได้ทุกแห่ง จริงหรือไม่

สุณัย: พิธีสารว่าด้วยการทรมานนั้นลงนามแล้ว มีผลแล้วกับไทย เหลือเพียงเรื่องการออกกฎหมายภายในที่ยังไม่เรียบร้อย แต่ต่อให้ตัวกฎหมายยังไม่เรียบร้อยก็มีกรอบใหญ่คือกติการะหว่างประเทศว่าด้วยเสรีภาพ สิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง ไทยเป็นสมาชิกรุ่นแรกๆ เลย

นี่สะท้อนประเด็นที่เป็นเรื่องใหญ่มาโดยตลอดกับ กสม.หรือแม้แต่การวินิจฉัยของศาลยุติธรรมก็ดี นั่นคือ การถือว่ากฎหมายในประเทศใหญ่กว่ากฎหมายระหว่างประเทศ โดยมองว่าในกรณีที่กฎหมายในประเทศยังไม่มีตัวบท ยังไม่พระราชบัญญัติหรือการแก้ไขเพิ่มเติมก็จะไม่เอามาใช้ปฎิบัติ ทั้งที่จริงๆ แล้วกฎหมายระหว่างประเทศนั้นไทยมีความผูกพันอยู่ อันนี้เป็นจุดอ่อนทำให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยมีช่องโหว่มาโดยตลอด

แปลว่าเอาจริงแล้วความพยายามยึดโยงกับกฎหมายระหว่างประเทศมันไม่ฟังก์ชั่นในประเทศไทย

มันสะท้อนทัศนะแบบที่ไปอิงกับการตีความของศาล และด้วยการที่เราได้ศาลมานั่งเป็นองค์กรอิสระรวมทั้ง กสม.ด้วย โดยเฉพาะกสม.ชุดปัจจุบันที่มีอดีตศาลมาเป็นประธาน ทัศนะอย่างนี้คงจะยิ่งเข้มข้น

ถ้าดูในบริบทใหญ่กว่านั้น บริบทการเมืองในยุคที่คสช.ขึ้นมาแล้วบรรดาองค์กรอิสระทั้งหลายยอมรับว่า คสช.เป็นรัฏฐาธิปัตย์ องค์กรเหล่านี้ก็ยิ่งการตีความตามแบบ คสช.ที่มองว่าความเป็นไทยใหญ่กว่าทุกอย่าง ยิ่งสอดรับกับทัศนะที่ไม่เอาหลักการระหว่างประเทศ จึงมีแนวโน้มว่าในยุคสมัยนี้ที่การละเมิดสิทธิรุนแรงมากขึ้น องค์องกรอิสระอย่างเช่น กสม.ซึ่งควรจะมีบทบาทเชิงรุกกลับจะยิ่งไม่มีบทบาท เพราะตัวทัศนคติของ กสม.เอง บวกกับกรอบในการจัดระเบียบการเมืองที่ คสช.สร้างขึ้นมาและมวลชนที่สนับสนุนคสช.

คิดว่ามีรูปธรรมอะไรที่ กสม.น่าจะทำได้มากกว่านี้

อย่างฮิวเมนไรท์ วอทช์ เราถือกติการะหว่างประเทศเป็นหลัก ดังนั้น กสม.เองก็มีพันธผูกพันที่จะต้องทำให้การปฎิบัติของรัฐไทยและตัวแสดงอื่นๆ ที่ไม่ใช่รัฐสอดรับกับกติการะหว่างประเทศเหล่านั้น กสม.ไม่ควรอ้างเรื่องกฎหมายในประเทศที่ยังไม่พร้อมหรือยังไม่เรียบร้อย หรือท่าทีแบบในแถลงการณ์ที่ใช้คำว่า “วิงวอน” มันสะท้อนถึงความไม่เข้าใจในอาณัติ ในหน้าที่ ในอำนาจของการเป็นองค์กรอิสระที่จะต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ไปวิงวอนแต่ต้องเรียกร้อง ตรงนี้สะท้อนสถานะตัวเองว่ายอมจำนนให้กับอำนาจของรัฏฐาธิปัตย์ แม้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่มีพฤติกรรมในการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด ถ้าถามผม ผมว่าเปิดตัวมาก็สอบตก

กสม.ชุดที่แล้วถึงแม้จะมีข้อวิจารณ์ แต่บทบาทเรื่องงานฉุกเฉินนั้น การช่วยเหลือกรณีเร่งด่วนเฉพาะหน้าเราจะเห็นบทบาทอย่างหมอนิรันดร์ (พิทักษ์วัชระ) ที่ทำในเชิงรุกมากกว่า ใช้อำนาจของประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ขอเข้าเยี่ยม เข้าพบ เข้ารับฟังการชี้แจงมาโดยตลอดและต่อเนื่อง

ดูแนวโน้มแล้ว กสม.คงทำงานเชิงรุกได้ยากในยุคทหาร ที่ประเมินให้เขาสอบตกถือว่าประเมินเร็วไปไหม

ไม่เร็วเลย จริงๆ คือสอบตกต่อเนื่อง สอบตกมาตั้งแต่กระบวนการสรรหาแล้ว และแทนที่มาแล้วจะทำอะไรที่ดีขึ้นเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้ว่าการสรรหามันห่วยแต่เราก็ยังทำงานได้นะ มันไม่ใช่ ประโยค “วิงวอน” นี่มันจบทุกอย่างเลย แล้วบวกกับคำสัมภาษณ์ของประธานกสม.ยิ่งอ่านแล้วอึ้ง  

กสม.ชุดนี้แบ่งเรื่อง สิทธิทางการเมือง กับ สิทธิพลเมือง ออกจากกันโดยแยกทำงานเป็นอนุกรรมการสองชุด คิดอย่างไร

เรื่องนี้ก็ต้องย้อนกลับไปที่ตัวประธาน ประธาน กสม.ขอรับทำหน้าที่ในการดูแลงานเรื่องสิทธิการเมืองด้วยตัวเอง เป็นทั้งประธานด้วยแล้วจะรับงานเรื่องสิทธิการเมืองด้วยซึ่งกำลังเป็นปัญหาอย่างมาก แล้วยิ่งไม่มีบทบาทเชิงรุกกับมีทัศนะยอมรับอำนาจของรัฏฐาธิปัตย์ด้วย มันจะทำให้ กสม.อยู่ในสภาพอ่อนด้อยอย่างมาก และไม่สามารถทำหน้าที่ในเรื่องของการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อย่างแท้จริง

ที่ผ่านมา กสม.ถูกวิจารณ์เยอะตั้งแต่ชุดที่แล้ว เคยมีข้อถกเถียงกันถึงขั้นว่า ควรมีองค์กรนี้ต่อไปหรือไม่ ภายใต้โครงสร้างการสรรหาแบบนี้ คิดอย่างไร

มันควรจะต้องมี แต่ควรจะต้องมีกระบวนการสรรหาที่ทำให้ได้คนที่มีความรู้ มีประสบการณ์ เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนตามกติการะหว่างประเทศอย่างแท้จริง แต่ปัญหาของไทย หลังจาก กสม.ชุดแรกไปแล้ว ได้มีการเปลี่ยนกติกาสรรหาทำให้คนที่เข้ามาสมัครเป็นกรรมการนั้น ขาดคุณสมบัติทั้ง 3 เรื่อง คือ ไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและไม่มีประสบการณ์ในด้านสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง และยิ่งอยู่ในบริบทของสังคมที่อาจจะเป็นสังคมเปลี่ยนผ่านหลังรัฐประหาร กระบวนการสรรหายิ่งได้คัดกรองโดยกลไกของระบบรัฐประหาร มันก็ยิ่งทำให้คนที่ถูกเลือกเข้ามาเป็นคนที่มีแนวโน้มว่าจะไม่คัดง้างกับอำนาจของรัฐประหารชัดเจนขึ้น เพราะฉะนั้นข้องกังวลของฮิวแมนไรท์ วอท์ช ที่เราพูดมาตั้งแต่ กสม.ชุดที่แล้ว แล้วก็ชุดนี้ด้วย คือควรจะลาออกตอนที่มีการสรรหา เพราะเรามองว่าส่วนใหญ่มีคุณสมบัติไม่ตรง ชุดแรกมีแค่คุณหมอนิรันดร์ รอบนี้ก็ได้คุณอังคณามา ส่วนคนที่เหลือเรามองว่าคุณสมบัติไม่ถึงก็ควรจะลาออกไปแล้วจัดกระบวนการสรรหาใหม่ แต่การท้วงติงทั้งสองครั้งไม่ได้รับการตอบสนอง มันทำให้มาถึงจุดที่การประเมินของ ICC ซึ่งเป็นองค์กรจัดเกรดสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นทำการลดระดับ กสม.ไทย

มีการแจ้งเตือนว่าจะลดเกรดเป็น B

เขาแจ้งเตือนมาตั้งแต่ปีที่แล้วแล้วว่าถ้าไม่มีการปรับปรุงก็ต้องมีการถูกลดระดับ แล้วมันก็ครบรอบ น่าจะในเดือนนี้

การลดเกรด กสม.ไทย เป็นเพียงเรื่องภาพพจน์ประเทศ หรือมีผลกระทบอะไรมากกว่านั้น

คือ สิทธิเสรีภาพเป็นสิ่งที่จะต้องได้รับการคุ้มครอง และเราอยู่ในยุคสมัยที่มีการจัดตั้งกลไกระดับชาติขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของทุกคน แต่เมื่อกลไกนี้ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือจากต่างประเทศ มันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย มันจะกลับมาในสภาวะที่เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ถึงขั้นที่แม้แต่สถาบันแห่งชาติที่ควรจะต้องทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพกลับไม่ได้รับความเชื่อถือทั้งจากสถาบันที่จัดมาตรฐานสากล ส่วนคนในประเทศก็ตั้งความน่ากังขาอย่างมาก มันสะท้อนถึงสภาวะอับจนอย่างมากของประเทศไทย คู่กันไปกับสภาวะที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องโดยรัฐ เราพึ่งใครไม่ได้แล้วหรือ

เรื่องอย่างนี้ในบรรยากาศอย่างนี้ มันไม่ใช่แค่ภาพพจน์ แต่มันคือชีวิต มันคือความเป็นความตาย มันคือความอยู่ดีมีสุข ประชาชนคนไทยทุกคน กสม.ได้พิสูจน์ตัวเองหรือยังว่าในวิกฤตขณะนี้จะเข้ามา ไม่ใช่เพื่อแก้ภาพพจน์ตัวเอง แต่เพื่อปกป้องคุ้มครองชีวิต ความอยู่ดีมีสุข ของประชาชนคนไทยทุกคนทุกฝ่าย และไม่ใช่จะทำเพื่อแก้ภาพพจน์ตัวเองเท่านั้น

มันเป็นหลักการที่ต้องรักษาไว้ อย่างคุณวีระ สมความคิดที่ตอนนี้ถูกทหารล้อมบ้าน หรือแม้แต่ผู้จัดการ เอเอสทีวีที่ก่อนหน้านี้ก็ถูกบอกว่าถ้ายังไม่หยุดวิจารณ์ก็จะต้องปิด มันก็สะท้อนว่าถ้าหลักการไม่มี ใครก็เป็นเหยื่อได้ พอคุณสร้างบรรทัดฐานขึ้นมา ต่อไปในอนาคตมันก็ไม่มีหลักประกันว่าฝ่ายอื่นที่ขึ้นมามีอำนาจไม่ว่าเป็นใครก็ตาม จะใช้มาตรฐานนี้ปฏิบัติต่อไปหรือไม่

เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ คนทั่วไปในฐานะพลเมืองที่ถูกละเมิดสิทธิ สามารถหาช่องทางอื่นใดที่ยึดโยงกับกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อช่วยปกป้องสิทธิของตัวเองได้ไหม

อย่างไรก็ตามเราก็ยังคงต้องส่งเรื่องร้องเรียนไปที่ กสม.แล้วถ้า กสม.ไม่ทำ มันก็จะเป็นการประจานตัวเอง เป็นการตอกย้ำภาพการประเมินของทั้งคนในประเทศไทยและประชาคมระหว่างประเทศว่า ไม่มีน้ำยา ไม่มีมาตรฐาน แต่เราละทิ้ง กสม.ไม่ได้ เราควรจะต้องส่งไปเรื่องไป และในขณะเดียวกันมันก็ยังมีกลไกอื่นที่เสริมมา เช่น องค์กรอิสระอย่างผู้ตรวจการแผ่นดิน แม้จะไม่ได้รับการเชื่อถือแต่เราก็ต้องส่งเรื่องไป ต้องจี้ไป ในทางคู่ขนานก็ยังมีกลไกที่ไม่ใช่ของรัฐคือ เอ็นจีโอทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ก็ใช้ช่องทางนั้นได้ เรามีสื่อมวลชนในประเทศ ระหว่างประเทศ แม้แต่การรนรงค์เคลื่อนไหวโดยตรงของภาคประชาสังคมเองก็ทำได้ แต่ยังไงเสียเราจะให้ กสม.อยู่เฉยๆ โดยที่มัวไปมองว่าไม่มีน้ำยาไม่ได้ ยิ่งเราไม่เชื่อถือ เรายิ่งต้องให้ทำงาน ต้องตอกย้ำให้เห็นชัดๆ ความคิดผมเป็นแบบนี้

ทำไมต้องให้มีคนร้องเรียนก่อน กสม.ถึงจะดำเนินการได้ ในประเทศอื่นระบบเป็นแบบนี้ไหม

จริงๆ แล้ว กสม.สามารถใช้ช่องทางอย่างไม่เป็นทางการได้ ถ้ากรรมการใน กสม.ใหญ่หรือระดับอนุฯ มีความสนใจก็สามารถไปตรวจสอบได้ด้วยตัวเอง คือวิ่งไปหาเหยื่อ เพื่อพบกับเหยื่อ แล้วหลังจากนั้นเข้าสู่กระบวนการที่เป็นทางการอีกชั้นหนึ่ง คือ ให้เหยื่อทำเรื่องร้องเรียนมา หรือคนที่มีความกังวลทำเรื่องร้องเรียนมา เรื่องขั้นตอนไม่ใช่ปัญหา สามารถวิ่งเข้าไปตรวจสอบก่อนได้ ไม่อย่างนั้นคุณจะไม่รู้อะไรเลย

บทบาทที่เขาทำกันในองค์กรกรรมการสิทธิมนุษยชนที่เข้มแข็ง มีความกระตือรือร้น เขาจะทำงานกันแบบนั้น ไปพบเหยื่อเพื่อให้ความเชื่อมั่นว่าคุณร้องเรียนมา เราดูแลความปลอดภัยให้ได้ อธิบายเลยว่าขั้นตอนในการร้องเรียน 1 2 3 4 คืออะไร เอกสารยื่นอะไรบ้าง

ฮิวแมนไรท์วอชในช่วงหลังรัฐประหารมีบทบาทสูงในการออกแถลงการณ์ที่โจมตีผู้มีอำนาจโดยตรง มีผลกระทบอะไรบ้างไหม  เป็นอุปสรรคในการทำงานของคนทำงานไหม

คณะทหารที่ยึดอำนาจเขามีทัศนะที่ถือว่านี่เป็นเงื่อนไขเฉพาะของประเทศไทยทำให้ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แล้วก็มีความคาดหวังว่าคนไทยทุกคนจะต้องยอมรับความคิดนี้ เพราะฉะนั้นในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ในประเทศไทยและเป็นคนไทย พอมีบทบาทการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องแหลมคมก็ถูกมองว่าเป็นศัตรูของระบอบ คสช. ถูกมองว่าไม่ใช่คนไทย แล้วท่าทีเช่นนี้ก็กระจายออกไปจากตัวรัฐ ไปถึงสื่อมวลชน ไปถึงองค์กรมวลชนที่สนับสนุนคณะรัฐประหาร เราจึงอยู่ในสภาพที่เป็นเป้า ถูกมองว่าเป็นศัตรู ซึ่งไม่เคยมีครั้งไหนมาก่อนที่เป็นขนาดนี้

ถ้าดูปฎิกริยาของรัฐ เริ่มตั้งแต่การปิดเว็บไซต์ของฮิวแมนไรท์ วอทช์ ห้ามไม่ให้ฮิวแมนไรท์ วอทช์ จัดการแถลงข่าวเพื่อเผยแพร่รายงานที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แล้วหลังจากนั้นก็มีการชุมนุมประท้วงโดยที่รัฐอนุญาตให้ทำได้เพื่อขับไล่ฮิวแมนไรท์ วอทช์ออกจากประเทศไทย ทั้งสามกรณีเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย แล้วก็เป็นท่าทีที่สร้างความกังวลอย่างมากว่าสิทธิมนุษยชนนั้นถูกถือว่าเป็นศัตรูของรัฐ ถือว่าเป็นภัย แล้วก็เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ไทย นี่เป็นสิ่งที่น่ากลัวมากสำหรับบรรยากาศการเมืองในปัจจุบัน มันจะเป็นปัญหาต่อไปในระยะยาว ถ้าหากคุณมองว่าสิทธิมนุษยชนนั้นไม่ใช่ความเป็นไทยหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงแล้ว เท่ากับเป็นการเปิดทางให้รัฐสามารถกระทำย่ำยีกับประชาชนได้ โดยที่มีมวลชนจำนวนมากสนับสนุนการกระทำเช่นนี้ ภาพของฝูงชนใต้ต้นมะขามมันกำลังเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

แรงเสียดทานที่เกิดขึ้นจะมีผลต่อการทำงานหรือท่าทีของฮิวแมนไรท์ วอทช์ ในอนาคตหรือไม่

เราไม่ยอมจำนนกับการถูกคุกคามกดดัน เพราะนี่เป็นสิ่งที่เป็นอานัติ เป็นหน้าที่ในการทำงานขององค์กร และก็เป็นความเชื่อส่วนตัวว่าถ้ายอมจำนนก็คงต้องเลิกบทบาทเช่นนี้ ถึงบอกว่าถ้าใครยอมรับอำนาจรัฏฐาธิปัตย์แบบนี้แล้วอย่ามาทำงานด้านสิทธิมนุษยชนจะดีกว่า

คิดว่าสถานการณ์สิทธิในในอนาคตจะเป็นอย่างไร

ผมมีความกังวลอย่างมาก ในทิศทางของสิทธิมนุษยชนของไทย เพราะว่าทางคสช.ได้สร้างบรรทัดฐานของการใช้อำนาจที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นั่นคือการใช้อำนาจผ่านมาตรา44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่อนุญาตให้พลเอกประยุทธ 1.มีอำนาจสูงสุดโดยไม่มีการตรวจสอบ ถ่วงดุลเลยจากฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ 2.การใช้อำนาจนี้มีความกว้างขวางอย่างมาก ถึงขั้นเปิดทางให้ละเมิดสิทธิมนุษยชนได้โดยไม่ต้องรับผิดในทางแพ่ง อาญา วินัยและไม่สามารถตรวจสอบหรือทัดทานได้ด้วยกระบวนการปกครอง มันจึงเป็น “เช็คเปล่า” ของการใช้อำนาจ นี่เป็นบรรทัดฐานที่ร้ายแรงที่สุดต่อประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในยุคของคสช. แล้ว คสช.ก็มีแนวโน้มว่าจะอยู่ในอำนาจต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการคุมอำนาจโดยตรงแบบนี้ หรือเป็นการอยู่โดยอ้อมโดยแฝงตัวอยู่ในโครงสร้างที่ครอบคลุมการเมืองต่อไปในอนาคตผ่านการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งสองทางเป็นสถานการณ์ปลายเปิดแต่เป็นการใช้อำนาจที่กว้างขวาง ตรวจสอบไม่ได้ และไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้นต่อการกระทำที่เกิดขึ้น แล้วคนที่มีปากเสียงนั้นถูกทำให้ไม่เป็นไทย ซึ่งประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับบ้านเรามาตลอดก็คือ เมื่อใดที่คนถูกทำให้ไม่เป็นไทย ไม่ว่าจะเป็นสมัย 6 ตุลาก็ดี สมัยพฤษภาทมิฬก็ดี สมัยคอมมิวนิสต์ก็ดี หรือแม้แต่การทำสงครามปราบยาบ้า หรือการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนเหล่านั้นจะทำให้ถูกละเมิดสิทธิได้ถึงขีดสูงสุด นั่นคือการพรากชีวิตได้ โดยที่ผู้ละเมิดสิทธินั้นไม่ต้องรับผิด และไม่เสี่ยงต่อการถูกกดดันและถูกประณามใดๆ  

 

* Annual Meeting International Coordinating Committee of National Human Rights Institutions (ICC) - SCA (Sub-Committee on Accreditation) ผู้ดำเนินการพจารณาสถานะของกสม.ทั่วโลก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net