Skip to main content
sharethis

กสม. ตรวจสอบกรณีร้องเรียนเพจ 'สืบนครบาล IDMB' ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลผู้ต้องหาและเหยื่อ แนะ ตร. กำกับดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามระเบียบอย่างเคร่งครัด - ตรวจสอบการขอตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลชานอ้อยในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จ.ร้อยเอ็ด แนะทบทวนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก่อนพิจารณาอนุญาตให้ประกอบกิจ

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ และนางปรีดา  คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 24/2567 โดยมีวาระสำคัญ คือ การตรวจสอบกรณีร้องเรียนเพจ “สืบนครบาล IDMB” ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลผู้ต้องหาและเหยื่อ แนะ ตร. กำกับดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามระเบียบอย่างเคร่งครัด และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมและสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือน ก.ย. 2566 ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งได้เผยแพร่ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และคลิปเสียงของผู้ต้องหาในคดีอาญาลงในสื่อสังคมออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก เพจ “สืบนครบาล IDMB” จำนวนหลายครั้งในหลายคดี โดยผู้ต้องหาตกอยู่ในภาวะจำยอม ซึ่งการเผยแพร่ดังกล่าวเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงและมูลเหตุในการกระทำความผิดอันเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหา อีกทั้งยังเป็นการนำเสนอข้อมูลของเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือผู้เสียหายในคดีอาญาที่อาจไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายโดยตรงมาเผยแพร่อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงของทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 และมาตรา 32 บัญญัติคุ้มครองมิให้มีการกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว รวมทั้งมิให้นำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ นอกจากนี้ ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) อันสอดคล้องตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ที่บัญญัติรับรองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวตลอดจนการให้ความคุ้มครองและป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนี้ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 30 การปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชนและการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ พ.ศ. 2556 ลงวันที่ 11 มี.ค. 2556 ยังกำหนดห้ามให้ข่าว แถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือจะเกิดการเสียหายทั้งชื่อเสียงหรือผลประโยชน์แก่ผู้อื่น เช่น คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดฐานทำให้แท้งลูก ความผิดฐานหมิ่นประมาท และห้ามอนุญาตหรือจัดให้สื่อมวลชนถ่ายภาพ สัมภาษณ์ หรือให้ข่าวของผู้ต้องหาในระหว่างการควบคุมของตำรวจ เหยื่ออาชญากรรมหรือผู้เสียหาย รวมทั้งภาพที่มีลักษณะอุจาดหรือทารุณโหดร้าย หรือล่วงละเมิดสิทธิบุคคล หรือส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง เกียรติยศ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เว้นแต่พนักงานสอบสวนดำเนินการเพื่อประโยชน์แห่งคดีหรือได้รับความยินยอมจากผู้ต้องหา เหยื่ออาชญากรรม หรือผู้เสียหาย แล้ว

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า เพจเฟซบุ๊ก “สืบนครบาล IDMB” มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเตือนภัยให้แก่ประชาชนและสังคม โดยได้เผยแพร่คลิปวิดีโอการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสืบสวนจับกุมปราบปรามอาชญากรรมหลายคลิปวิดีโอในหลายคดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเตือนภัยอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ การนำเสนอวิธีการป้องกันภัยอาชญากรรม การรับแจ้งเบาะแสการกระทำความผิด และเป็นช่องทางการสื่อสารขอความช่วยเหลือ แจ้งเหตุเดือดร้อนระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้ ยังเป็นช่องทางเผยแพร่การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคม ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะและเข้าข่ายการปฏิบัติที่ได้รับการยกเว้นจากการใช้บังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 4 (2) และ (5) ที่บัญญัติไว้ว่าพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การดำเนินการของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาความปลอดภัยของประชาชน รวมทั้งการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

อย่างไรก็ดี แม้เพจเฟซบุ๊ก “สืบนครบาล IDMB” จะเผยแพร่คลิปวิดีโอการเข้าจับกุมผู้กระทำความผิด ตลอดจนการพูดคุยระหว่างผู้ถูกร้องกับผู้ต้องหา โดยมีการเบลอภาพเพื่อปกปิดใบหน้าหรืออัตลักษณ์ของผู้ต้องหาแล้ว แต่พบว่ามีบางคลิปวิดีโอที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้สัมภาษณ์ผู้ต้องหาในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ที่แม้ไม่ได้ระบุข้อมูลของเหยื่อหรือผู้เสียหายโดยตรงและผู้ต้องหาให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว แต่การให้ความยินยอมดังกล่าวอาจเนื่องมาจากผู้ต้องหาตกอยู่ในภาวะจำยอมไม่ได้เกิดจากความสมัครใจอย่างแท้จริง และการเผยแพร่ข้อมูลบางส่วนของผู้ต้องหา เช่น น้ำเสียง รูปพรรณสัณฐาน ประกอบกับบริบทแวดล้อมและพฤติการณ์ของคดี ก็อาจทำให้บุคคลในพื้นที่ทราบว่าเหยื่อหรือผู้เสียหายคือใคร ดังนั้น การปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าวของผู้ถูกร้องในกรณีดังกล่าวจึงไม่สอดคล้องกับระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 30 การปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าวฯ และหลักการในการคุ้มครองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัวของบุคคล ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติกา ICCPR ให้การรับรอง จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อเหยื่อหรือผู้เสียหาย

นอกจากนี้ การเผยแพร่คลิปวิดีโอถ่ายทอดเรื่องราวการกระทำความผิดของผู้ต้องหา อาจกระทบต่อหลักการสันนิษฐานบุคคลว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาล ซึ่งเป็นหลักความเป็นธรรมพื้นฐานที่ให้กับจำเลย นอกจากนี้ ยังอาจกระทบต่อสิทธิของผู้ต้องหาที่จะให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองมิได้ การเผยแพร่คลิปวิดีโอในลักษณะดังกล่าวจึงมีความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในฐานะหน่วยงานบังคับบัญชาของผู้ถูกร้องให้ตรวจสอบคลิปวิดีโอสัมภาษณ์ผู้ต้องหาที่โพสต์บนเพจเฟซบุ๊ก “สืบนครบาล IDMB” แล้วดำเนินการไปตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 30 การปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชนและการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ พ.ศ. 2556 และกำชับเจ้าหน้าที่ในสังกัดให้ดำเนินการตามระเบียบดังกล่าว อย่างเคร่งครัด มิให้นำเสนอข้อมูลที่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือเปิดเผยอัตลักษณ์ของผู้ต้องหาหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อมูลที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปทราบถึงตัวตนของเหยื่อหรือผู้เสียหายในคดีที่มีความอ่อนไหว เช่น คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ อันจะเป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลจนเกินสมควรแก่กรณี และไม่สอดคล้องกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) อันจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net