Skip to main content
sharethis

เสวนา "‘มองเค้าโครงการเศรษฐกิจ’ และ ‘จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน' ในปัจจุบัน" อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี ถือเป็นแผนแม่บทรัฐสวัสดิการ ที่เกิดในช่วงหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกจากแนวทางเสรีนิยม วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร เสนอ 5 แนวคิดทางเศรษฐกิจของปรีดี ด้านอนุสรณ์ ธรรมใจ ชี้ถ้าไม่มีประชาธิปไตย ย่อมไม่เกิดรัฐสวัสดิการ แนะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะมีการลงประชามติ

จากซ้ายไปขวา วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี ผู้ดำเนินรายการ, อนุสรณ์ ธรรมใจ และ อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ

24 มิถุนายน 2559 สถาบันปรีดี พนงยงค์ จัดงานอภิปรายในหัวข้อ “ ‘มองเค้าโครงการเศรษฐกิจ’ และ ‘จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน' ในปัจจุบัน” วิทยากรโดย วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ราชบัณฑิต, อนุสรณ์  ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการและคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินรายการโดย เจนวิทย์  เชื้อสาวะถี

 

เค้าโครงเศรษฐกิจในฐานะแผนแม่บทรัฐสวัสดิการ - และจากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอนในฐานะบทขยาย

อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ เริ่มต้นด้วยการแนะนำเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งถือเป็นแผนแม่บทฉบับแรกที่กล่าวถึงแนวคิดสวัสดิการ ที่ต้องเน้นเรื่องนี้เนื่องจากที่ผ่านมาเวลามีเวทีนำเสนอเรื่องรัฐสวัสดิการ มักจะตัดตอนและเริ่มต้นกันที่บทความจากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอนของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จึงขอแนะนำ ให้รู้จัก จากนั้นจะพูดถึง และมองบริบทปัจจุบันที่น่าสนใจ สามารถนำมาประยุกต์ได้ และปิดท้ายด้วยบทส่งท้ายว่าจากทั้งแนวคิดของปรีดี พนมยงค์ และป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะนำมาสู่ความสุขสมบูรณ์ของราษฎรและสันติประชาธรรมได้อย่างไร

อิสริยากล่าวว่า ในช่วงทศวรรษ 1920-1930 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เศรษฐกิจเสรีนิยมในอังกฤษเริ่มมีปัญหา เกิดปัญหาคนว่างงานจำนวนมาก เกิดแนวคิดว่ารัฐต้องวางแผนเศรษฐกิจแทนที่จะปล่อยให้เป็นไปตามแนวคิดเสรีนิยม ซึ่งเป็นแนวคิดกระแสหลักในสมัยนั้น เกิดแนวคิดจัดการเศรษฐกิจแบบกลุ่มสังคมนิยมเช่น สหภาพโซเวียต แนวคิดฟาสซิสต์โดยอิตาลี เยอรมัน ญี่ปุ่น เสนอให้รัฐเข้ามาจัดการเศรษฐกิจ ในตอนนั้นภาพที่รัฐมาจัดการเศรษฐกิจถูกมองเป็นภาพบวก ยังไม่มีใครเห็นเป็นผลเสีย ในช่วงนั้นทุกประเทศพยายามพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ ผลิตในสินค้าที่ตัวเองทำได้ มีการคุ้มครองการค้าเกิดขึ้น และในช่วงเวลานั้น ปรีดี พนมยงค์ ไปศึกษาที่ฝรั่งเศสทำให้ได้รับแนวคิดเศรษฐศาสตร์จาก อธิบายแนวคิดภราดรภาพนิยม (Solidarisme) ของ Charles Gide ที่เสนอว่าคนในสังคมต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในความยากลำบากของผู้อื่น เคารพในกรรมสิทธิ ยอมรับในมรดก ให้อิสระในการใช้จ่าย ยอมรับเรื่องความไม่เสมอภาค และให้คนแข็งแรงและอ่อนแอมาช่วยกัน ซึ่งจะเห็นแนวคิดเหล่านี้ในเค้าโครงเศรษฐกิจ

ในช่วงบริบทของไทย ย้อนไปในช่วงก่อนปี 2476 อาชีพชาวนาคิดเป็นร้อยละ 80 ของประชากรในประเทศ อาชีพรองลงมาคือข้าราชการ สินค้าส่งออกคือข้าว ดีบุก ยางพารา ไม้สัก การค้าอยู่ในมือต่างชาติโดยเฉพาะชาวนา ชาวนามีภาวะความเป็นอยู่ที่ลำบาก โอกาสในการมีที่ดินนั้นมีน้อย ต้องเสียค่าเช่านา ถูกเก็บภาษีโค กระบือ เทคโนโลยีในการผลิตยังเข้าไม่ถึง ยังต้องใช้โค กระบือ

นอกจากนี้ชาวนายังประสบปัญหาน้ำท่วม ปัญหาชลประทาน ในเวลานั้นรัฐให้บริษัทเอกชนคือ บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มขุนนางร่วมทุนกับต่างชาติได้สัมปทานขุดคลอง ปรากฏว่าเมื่อขุดคลองไปแล้วก็ไม่มีประสิทธิภาพเพราะการทำนาในสมัยนั้นยังต้องอาศัยนาน้ำฝน แถมบริษัทยังได้สัมปทานขยายที่ดินสองฝั่งคลอง ทำให้ราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้น โอกาสที่ชาวนาจะเป็นเจ้าของที่ดินก็น้อยเข้าไปอีก

จะเห็นว่าบริบทในช่วงนั้นประชาชนมีความเป็นอยู่ลำบากแร้นแค้น การค้าก็ตกอยู่ในมือต่างชาติ แล้วจะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรเพื่อให้ได้เอกราชทางเศรษฐกิจได้อย่างไร ในช่วงเวลานั้นไม่มีทางเลย นอกจากรัฐบาลจะต้องจัดการเศรษฐกิจเสียเอง ปรีดี เสนอว่ามีอยู่แนวทางเดียวเท่านั้นคือเพื่อบำรุงความสุขสมบูรณ์อันเป็นหนึ่งในหลักเอกราชทางเศรษฐกิจ รัฐต้องจัดการเศรษฐกิจเอง โดยแบ่งการเศรษฐกิจออกเป็นสหกรณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นการนำแนวคิดที่ดีของลัทธิเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งเสรีนิยม และสังคมนิยมเข้ามาปรับปรุงมาเป็นเค้าโครงทางเศรษฐกิจ

ช่วงนำเสนอของอิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ

ส่วนสาระสำคัญในเค้าโครงเศรษฐกิจ อิสริยากล่าวว่า มีเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจ ได้แก่ ประสิทธิภาพ ความเท่าเทียม ความมั่นคงและเสถียรภาพ โดยในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจให้มั่นคง ด้วยเหตุแห่งความไม่เที่ยงแท้ รัฐบาลจะประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรตั้งแต่เกิดจนสิ้นชีพ มีการกำหนดฐานเงินเดือนขั้นต่ำที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยให้เงินเดือนแบ่งตามคุณวุฒิ ความสามารถ

ในแง่ของความเป็นธรรมก็ให้รัฐบาลเข้ามาจัดการเศรษฐกิจให้ร่วมกันทำ เพราะในสมัยนั้นราษฎรไม่มีทุน ไม่มีที่ดิน ขาดเครื่องจักรกลที่ทันสมัย ในแง่ประสิทธิภาพ หากให้เอกชนจัดการ ต่างคนต่างทำก็ทำให้แรงงานที่เสียไปไม่ได้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ การรวมกันทำจะประหยัดต้นทุนมากกว่า

และในเรื่องของเครื่องจักร ปรีดีให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าการนำเครื่องจักรมาใช้จะช่วยเพิ่มผลิตภาพแรงงาน อย่างไรก็ดีท่านึกถึงเรื่องความมั่นคงด้วย โดยเสนอว่าหากให้เอกชนเป็นฝ่ายใช้เครื่องจักรจะทำให้เกิดการว่างงาน แต่ถ้าให้รัฐดำเนินการจะไม่ส่งผลให้ประชาชนว่างงาน เพราะรัฐจะจัดสรรให้ประชาชนไปทำอย่างอื่น

อีกทั้งยังมีแนวคิดที่จะซื้อที่ดินคืนจากเข้าของที่ดิน เพื่อนำมาใช้ในการประกอบการเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะออกใบกู้และให้ดอกเบี้ยกับเจ้าของที่ดิน ซึ่งเจ้าของที่ดินก็ยังจะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่ ส่วนการหาเงินทุนรัฐบาลจะใช้วิธีเก็บภาษี เช่น ภาษีมรดก ภาษีรายได้ หรือ สลากกินแบ่ง เป็นต้น ในแง่เสถียรภาพก็เสนอให้มีการจัดตั้งธนาคารแห่งชาติ ในเรื่องของความมั่นคง ก็เสนอให้จัดการกสิกรรมและอุตสาหกรรม โดยไม่ต้องอาศัยต่างประเทศ เพื่อป้องกันการปิดประตูทางการค้า  ส่วนเรื่องของความเท่าเทียม ก็ให้รัฐบาลเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็นสหกรณ์ต่างๆ โดยรัฐบาลออกที่ดินและทึน ส่วนสมาชิกสหกรณ์เป็นผู้ออกแรง เพื่อเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองของราษฎร อีกทั้งยังเป็นการให้ประชาชนได้เข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย  ส่วนสุดท้ายเป็นเรื่องของการจัดทำแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ

อิสริยายังกล่าวอีกว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่เค้าโครงเศรษฐกิจนี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้ เนื่องจากมีการกล่าวหาว่าปรีดีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งหากดูจากเค้าโครงการเศรษฐกิจดังกล่าว ก็จะเห็นว่าไม่ใช่แนวคิดคอมมิวนิสต์ ยกตัวอย่างเช่น ไม่มีการยึดที่ดิน และรัฐบาลยังคงรับรองกรรมสิทธิ์ของเอกชน หรือให้เอกชนประกอบธุรกิจได้ เป็นต้น และหลังจากมีข้อกล่าวหาดังกล่าวก็มีการบังคับให้ปรีดีต้องเดินทางออกนอกประเทศหลังพระยามโนปกรณ์นิติธาดาออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เมื่อ 1 เมษายน 2476 ซึ่งต่อมาหลัง  20 มิถุนายน 2476 พระยาพหลพลพยุหเสนาทำรัฐประหารพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ทำให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถกลับมาเปิดได้อีกครั้งหนึ่ง คณะกรรมาธิการก็ยืนยันว่าปรีดีไม่มีมลทินตามที่ถูกกล่าวหา

หลังจากรัฐประหารปี 2490 รัฐบาลในยุคนั้นก็ได้ดำเนินนโยบายแบบชาตินิยม มีการผูกขาดการค้า และพอหลังจากมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจในปี 2504 เศรษฐกิจก็มีความเสรีมากขึ้นและพัฒนามากขึ้น แต่ก็เป็นการพัฒนาที่ไม่สมบูรณ์ เพราะเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างชนบทกับเมือง อีกทั้งยังมีปัญหาสังคมและทรัพยากรอีกด้วย ดังนั้น ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จึงเขียน “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง : จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ขึ้นมา โดยเป็นเรื่องว่าด้วยรัฐต้องจัดสวัสดิการให้ประชาชนตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงตาย ซึ่งรวมทั้งต้องได้รับสิทธิทางการเมือง และความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน อิสริยายังกล่าวว่าในงานของป๋วยและปรีดีมีประเด็นที่ตรงกันหลายอย่าง อย่างเช่น ความต้องการช่วยเหลือเกษตรกรให้หลุดพ้นจากความยากจน ความต้องการให้คนได้เข้าถึงเทคโนโลยี ความต้องการเพิ่มอำนาจต่อรอง และความต้องการให้ประชาชนมีเวลาว่างที่ทำในสิ่งเพลิดเพลิน เป็นต้น

“ดิฉันมองว่า บทความจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน เป็นการขยายบริบทจากเค้าโครงเศรษฐกิจ ขยายบริบทจากที่อาจารย์ปรีดีบอกว่า ราษฎรทุกคนต้องได้รับการประกันความสุขสมบูรณ์จากรัฐบาล อันนี้ก็เป็นการประกันความสุขสมบูรณ์จากรัฐบาลเช่นเดียวกัน แต่เป็นมิติของคุณภาพชีวิต”    

นอกจากนั้น อิสริยายังกล่าวว่าถึงแม้สังคมเศรษฐกิจของไทยจะเติบโตและเข้มแข็งมากขึ้นจากแต่ก่อน แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เที่ยงแท้ในการดำรงชีวิตก็ยังคงอยู่ ดังนั้นตนจึงเชื่อว่าควรนำแนวคิดภราดรภาพนิยมและพุทธธรรม มาเป็นเงื่อนไขสำคัญในการวางกรอบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ให้ทุกคนช่วยเหลือและไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน เพื่อจะนำไปสู่ความสุขสมบูรณ์ของราษฎร ตามเจตนารมณ์ของปรีดี และนำไปสู่สันติประชาธรรมตามแนวคิดของป๋วย

 

5 แนวคิดทางเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ในเค้าโครงเศรษฐกิจ

ด้าน วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร กล่าวถึงความประสงค์ของปรีดี 3 ประการในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ประการแรกคือ สถาปนาการปกครองที่ยืนยาวและเป็นรากฐานให้แก่บ้านเมือง ซึ่งก็คือการปกครองในระบอบ “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” ประการต่อมา คือ สถาปนาให้รัฐไทยก้าวหน้า ทันสมัย และเป็นสากลในทุกมิติ และประการสุดท้าย คือ สถาปนาหลักประกันความมั่นคงในชีวิตของราษฎรทุกคน ซึ่งตลอด 15  ปีที่คณะราษฎรรับผิดชอบบริหารประเทศ ก็สามารถบรรลุเป้าประสงค์ทั้ง 3 ได้อย่างครบถ้วน

นอกจากนั้น วิชิตวงศ์ยังกล่าวถึงแนวคิดทางเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ที่มีเป้าประสงค์คือความสุขสมบูรณ์ของราษฏรอย่างทั่วถึงและถ้วนหน้า ซึ่งการจะบรรลุในเป้าประสงค์นี้การบริหารนโยบายเศรษฐกิจของชาติจะต้องประกอบด้วยแนวคิด 5 ประการได้แก่ เศรษฐกิจความมั่นคงแห่งชาติ เศรษฐกิจสหกรณ์ในชนบท เศรษฐกิจประชาธิปไตย เศรษฐกิจสวัสดิการสังคม และเศรษฐกิจเทคโนโลยี ซึ่งปรีดีก็ได้สะท้อนแนวคิดทั้ง 5 นี้ไว้ในเค้าโครงเศรษฐกิจและงานเขียนตลอดชีวิตของเขา

 

รัฐสวัสดิการไม่เกิด ถ้าประเทศไม่มีประชาธิปไตย

ด้านอนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวว่าเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดีและจากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอนของป๋วย ตั้งอยู่บนพื้นฐานคิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดี ที่ระบุว่าหากต้องการจะทำสังคมให้เป็นประชาธิปไตยก็ต้องทำให้เศรษฐกิจเป็นประชาธิปไตยด้วย อย่างในการอภิวัฒน์สยามปี 2475 ก็ไม่ได้มุ่งหมายแค่เปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจด้วย และต่อให้ไม่มีกลุ่มคณะราษฎรหรือปรีดี การเปลี่ยนแปลงนี้ก็ยังจะเกิด เพราะเมื่อความสัมพันธ์ในการผลิตเปลี่ยน ทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนตาม

อนุสรณ์ยังกล่าวอีกว่า เค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดีและจากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอนของป๋วย จะสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้ ซึ่งรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมา รวมถึงชุดปัจจุบันก็ได้ทำให้แนวคิดบางอย่างที่ถูกระบุในเค้าโครงเศรษฐกิจหรือจากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอนเกิดขึ้นแล้ว แต่ทว่าไม่ได้เกิดขึ้นตามที่ถูกเขียนเอาไว้ อย่างกรณีการเรียนฟรี รัฐบาลอยากจะให้เรียนฟรีแต่สุดท้ายก็ไม่ได้ฟรีอย่างจริงจัง เพราะรัฐไม่สามารถจ่ายไหว เนื่องจากหากไทยต้องการจะเป็นรัฐสวัสดิการจะต้องมีการเก็บภาษีที่สูงกว่านี้มาก หรืออย่างกรณีภาษีที่ดิน ก็ถือว่าเป็นแนวคิดและการเริ่มต้นที่ดีที่ต้องการจะลดความเหลื่อมล้ำ แต่ทว่าก็ดูจะเป็นเพียงการทำนโยบายเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น

อนุสรณ์มองว่าแนวคิดภราดรภาพสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะปัญหาเศรษฐกิจไทยหรือเศรษฐกิจโลกก็ตาม เพราะหากทุกคนปฏิบัติต่อผู้อื่นเหมือนพี่น้องของตนเอง คิดว่าตนเองเป็นพลเมืองของโลกก็จะไม่เกิดปัญหา แต่แนวคิดภราดรภาพจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากระบบการศึกษาที่ดี

สุดท้าย อนุสรณ์กล่าวว่าแนวคิดรัฐสวัสดิการของปรีดีและป๋วยจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ถ้าประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตย ตนจึงขอเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะลงประชามติ

“ผมมีความเชื่ออย่างลึกซึ้งว่า สิ่งที่จะสถาปนาระบบเศรษฐกิจที่จะเกิดประโยชน์กับคนส่วนใหญ่และสร้างความสมบูรณ์ ความสุขให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง ต้องเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น เพราะว่าประชาธิปไตยมันจะเป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการ และก็จะทำให้โครงสร้างของภาครัฐเกิดการตรวจสอบถ่วงดุลกันตลอดเวลา แล้วทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าผลของประชามติจะออกมาเป็นเช่นไร ขอให้มีการไปพิจารณาแก้ไขเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” อนุสรณ์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net