Skip to main content
sharethis

15 ส.ค. 2559 องค์กรสิทธิมนุษยชน 6 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ร่วมออกแถลงการณ์ประณามเหตุระเบิด ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 11-14 ส.ค. ที่ผ่านมา และเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีตามหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม พร้อมขอให้เจ้าหน้าที่ทหารยุติการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 หรือตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว และเปิดเผยสถานที่ของผู้ถูกควบคุมตัว รวมถึงให้หลักประกันว่าผู้ถูกควบคุมตัวจะได้รับสิทธิในการพบญาติและสิทธิในการปรึกษาทนายความเป็นการส่วนตัว


 

แถลงการณ์ประณามเหตุระเบิด
และเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีตามหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม

               
ตามที่เมื่อวันที่ 11-14 สิงหาคม 2559 ได้เกิดเหตุวางเพลิงและระเบิดขึ้น 17 จุดใน 7 จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทยซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก   และนำมาสู่การใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ในการควบคุมตัวบุคคลซึ่งต้องสงสัยว่าอาจเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดและการวางเพลิงดังกล่าวในหลายพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค. 59 เป็นต้นมา โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานว่ามีการควบคุมตัวบุคคลกว่า 10 รายซึ่งเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ระเบิดดังกล่าว โดยวันที่ 15 สิงหาคม 2559 ญาติของผู้ถูกควบคุมตัวอย่างน้อยสี่รายรวมถึงทนายความไม่สามารถติดต่อและเข้าพบผู้ถูกควบคุมตัวในมณฑลทหารบกที่  11 ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวอ้างว่ามีการควบคุมตัวได้
               
องค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายชื่อข้างท้ายเห็นว่า แม้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวจำเป็นต้องเร่งหาตัวผู้กระทำความผิดโดยเร็ว แต่กระบวนการหาตัวผู้กระทำความผิดยังจำเป็นต้องเคารพหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมตามข้อ 9 และข้อ 14 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม กล่าวคือ  บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้ ในขณะจับกุมบุคคลใดที่ถูกจับกุมจะต้องได้รับแจ้งถึงเหตุผลในการจับกุม และจะต้องได้รับแจ้งถึงข้อหาที่ถูก จับกุมโดยพลัน และบุคคลที่ต้องหาว่ากระทำความผิดย่อมได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการติดต่อทนายความ นอกจากนี้การควบคุมตัวบุคคลในสถานที่ปิดลับและไม่อนุญาตให้ผู้ถูกควบคุมตัวติดต่อญาติยังขัดต่อพันธกรณีตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับซึ่งประเทศไทยได้ลงนามแล้วและคณะรัฐมนตรีได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาดังกล่าวอีกด้วย

องค์กรสิทธิมนุษยชนดังมีรายชื่อข้างท้ายจึงมีความเห็นและข้อเรียกร้องต่อสถานการณ์ดังกล่าวดังต่อไปนี้

1.ขอประณามผู้ก่อเหตุการณ์ความรุนแรงจากการวางเพลิงและระเบิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ และขอแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวไม่ว่าการกระทำดังกล่าวนั้นจะมีวัตถุประสงค์เพื่อการใด

2.ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระบวนการยุติธรรมตามปกติในการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้กระทำความผิดโดยเร็ว ดำเนินการโดยเคารพหลักการด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด และพิจารณาคดีโดยศาลพลเรือน

3.ขอให้เจ้าหน้าที่ทหารยุติการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 หรือตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราวแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 และเปิดเผยสถานที่ของผู้ถูกควบคุมตัวพร้อมทั้งให้หลักประกันว่าผู้ถูกควบคุมตัวจะได้รับสิทธิในการพบญาติและสิทธิในการปรึกษาทนายความเป็นการส่วนตัว

ด้วยความเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net