Skip to main content
sharethis

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่แถลงข่าวครบรอบ 1 เดือนการลงประชามติ ระบุจับตา คสช. ได้คืบเอาศอก อาศัยผลประชามติเพิ่มขยายอำนาจ ทั้งการแปรผลเรื่องคำถามพ่วงไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญเรื่อง ส.ว. สรรหาเสนอชื่อ/เลือกนายกรัฐมนตรี รวมทั้งแก้ รธน.ชั่วคราว เพิ่มจำนวน สนช. เผยจบประชามติมีผู้ถูกดำเนินคดี 163 ราย

การแถลงข่าวในโอกาสครบรอบ 1 เดือน การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และแนวทางการเคลื่อนไหวของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (ที่มา: เพจ Banrasdr Photo)

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 7 ก.ย. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  ขบวนการประชาธิปไตยใหม่แถลงข่าวเนื่องในโอกาสครบรอบ 1 เดือน การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และแนวทางการเคลื่อนไหวต่อไปของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ โดยมีการเผยแพร่คำแถลงในเพจขบวนประชาธิปไตยใหม่มีรายละเอียดดังนี้

"ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ได้จัดแถลงหลังจากที่ผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญอย่างไม่เป็นทางการปรากฏออกมาว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธ์ ได้รับการเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนผู้ลงประชามตินั้น NDM ได้ประกาศยอมรับการตัดสินใจดังกล่าวของประชาชน อย่างไรก็ตาม เรายังคงยืนยันว่าการรณรงค์ของเราเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และการที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านการเห็นชอบจากประชาชนไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะเห็นชอบให้ คสช. ใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ตามอำเภอใจของตนเอง

ในวันนี้ เป็นเวลา 1 เดือนนับตั้งแต่วันออกเสียงประชามติ ได้ปรากฏเหตุการณ์ต่างๆ อันเป็นผลพวงตามมาที่สะท้อนถึงการดำเนินการของ คสช. และปฏิกิริยาจากประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ ได้แก่

1. ความพยายามเสนอช่องทางให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ดำรงตำแหน่งต่อไป เช่น การประกาศตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี หรือข้อเสนอให้พลเอกประยุทธ์อยู่ในอำนาจต่อโดยไม่ต้องจัดการเลือกตั้ง

2. เหตุระเบิดและเพลิงไหม้ใน 7 จังหวัดภาคใต้เมื่อวันที่ 10-12 สิงหาคม 2559 ซึ่งนักวิชาการที่ติดตามสถานการณ์ชี้ว่าเป็นฝีมือของกลุ่มผู้ก่อการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอาจมีมูลเหตุจูงใจมาจากผลประชามติที่ให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเนื้อหาที่เลือกปฏิบัติในทางศาสนาและเพิ่มบทบาทฝ่ายทหารจนอาจเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาสันติภาพ

3. การตีความคำถามพ่วงประชามติร่างรัฐธรรมนูญโดย สนช. โดยตีความให้สมาชิกวุฒิสภาในวาระแรกสามารถเสนอชื่อบุคคลภายนอกเป็นนายกรัฐมนตรีได้ หากรัฐสภาไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมาได้

4. การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพิ่มจำนวนสมาชิก สนช. จากไม่เกิน 220 คน เป็นไม่เกิน 250 คน

5. ข้อเสนอยุทธศาสตร์ชาติ-ทหาร ระยะเวลา 20 ปี โดยนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) โดยเสนอให้จัดตั้งหน่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเป็นส่วนประสานงานกับทุกกระทรวง รวมทั้งจัดตั้งคณะติดตามการทำงาน ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี

6. ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน 2,375 คน ในคำถาม “เห็นด้วยกับโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ จำนวน 3 ลำ มูลค่า 36,000 ล้านบาทหรือไม่?” ปรากฏว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยในสัดส่วนร้อยละ 90.4

7. ข้อเสนอจาก สปท. ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งและออกเสียงประชามติ ยกเลิก กกต. ประจำจังหวัด และให้ กกต. กลางสั่งการผ่านเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองแทน รวมถึงให้ คสช. เป็นผู้ดูแลความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้งครั้งแรกที่จะมีขึ้นด้วย

เหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่า

1. แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านการออกเสียงประชามติแล้ว แต่ก็ไม่อาจเป็นที่ยอมรับของสังคมในทุกภาคส่วนได้ เพราะกระบวนการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เป็นไปอย่างไม่เสรีและไม่ยุติธรรม มีเพียงฝ่าย กรธ. เท่านั้นที่มีอภิสิทธิ์ในทางกฎหมายและมีทรัพยากรในการประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างกว้างขวาง ในขณะที่ฝ่ายที่คัดค้านกลับถูกขัดขวางการรณรงค์ ข่มขู่คุกคาม จับกุมคุมขัง และแจ้งข้อหา ซึ่งจนถึงวันนี้มีผู้ถูกตั้งข้อหาจากการรณรงค์ประชามติแล้วอย่างน้อย 163 คน เหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการออกเสียงประชามติที่ไม่เป็นธรรมย่อมไม่อาจสร้างความสมานฉันท์ได้

2. ความพยายามตีความอำนาจที่เกินเลยไปกว่าผลการออกเสียงประชามติของ คสช. ในขณะที่ NDM ได้ยอมรับการตัดสินใจของประชาชนในการออกเสียงครั้งนี้ คสช. เองกลับเป็นฝ่ายที่ “ได้คืบจะเอาศอก” พยายามอาศัยผลการออกเสียงประชามติในการเพิ่มพูนอำนาจของตนเองและพวกพ้อง เช่น ความพยายามตีความคำถามพ่วงเพื่อเพิ่มอำนาจของ ส.ว. หรือข้อเสนอให้ คสช. ดูแลความเรียบร้อยในการเลือกตั้งครั้งแรก เป็นต้น

3. สัญญาณแห่งการขยายฐานอำนาจและสืบทอดอำนาจของ คสช. ทั้งจากข้อเสนอต่างๆ ที่จะให้พลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งต่อ การเพิ่มจำนวนสมาชิก สนช. ความพยายามเพิ่มอำนาจแก่องค์กรที่ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน การมอบบทบาทให้หน่วยงานฝ่ายความมั่นคงกำหนดยุทธศาสตร์โดยรวมของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ NDM และผู้รณรงค์กลุ่มอื่นเคยชี้แจงถึงอย่างสม่ำเสมอในการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สิ่งที่ผู้รณรงค์ได้พยายามชี้ให้เห็นจนต้องถูกคุกคามมาโดยตลอดกำลังจะกลายเป็นเรื่องจริง

NDM ขอกล่าวไปยัง คสช. ว่า เรายังจับตาดูการกระทำของพวกท่านอยู่เสมอ และจะคอยต่อสู้คัดค้านการกระทำเหล่านี้ของ คสช. ทุกครั้งไป ซึ่งเราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าหาก คสช. และพวกพ้อง ยังคงกระทำการที่เป็นการสืบทอดอำนาจของตนเอง การนำองค์กรที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนไปเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของประเทศ การใช้กฎหมายโดยเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม การละเมิดสิทธิลิดรอนเสรีภาพของประชาชนต่อไปแล้ว สังคมไทยจะดำเนินไปสู่ปัญหา เฉกเช่นเดียวกับที่เคยประสบในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net