สถิติอุบัติเหตุรถตู้สูงกว่ารถบัส 5 เท่า ‘ชัชชาติ’ แนะใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหา

ถกปัญหารถตู้ นักวิชาการเผยสถิติรถตู้มีอัตรการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตมากกว่ารถบัส 5 เท่า ชี้รัฐไม่สนับสนุนและช่วยอุดหนุนระบบขนส่งมวลชน การขาดการสนับสนุนระบบขนส่งมวลชนจากรัฐ แนะเปลี่ยนรถตู้เป็นรถมินิบัสช่วยลดอุบัติเหตุ ด้าน ‘ชัชชาติ’ เสนอใช้เทคโนโลยีจีพีเอสควบคุมพฤติกรรมคนขับ

เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มกราคม 2560 เวลา 13.30-16.00 น. ณ ห้องประชุมสารนิเทศ ชั้น 2 หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดเสวนา ‘แนวทางปฏิรูปหลังโศกนาฏกรรมรถตู้’ สืบเนื่องจากกรณีอุบัติเหตุรถตู้โดนสารชนรถกระบะที่อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันจันทร์ที่ 2 มกราคม 2560 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 25 ราย โดยศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รถตู้มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตมากกว่ารถบัสทั่วไปถึง 5 เท่า เพราะรถตู้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อขนส่งระยะทางไกล ทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนจาก 12 ที่นั่งเป็น 15 ที่นั่งทำให้มีปัญหาเรื่องความแออัด มีขนาดหน้าต่างที่เล็กและมีประตูทางออกเพียงทางเดียว ทำให้เวลาเกิดอุบัติเหตุผู้โดยสารออกจากตัวรถได้ยาก ต่างกับรถบัสโดยสารขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างความเข็งแรงกว่า หน้าต่างมีขนาดใหญ่ อุปกรณ์ช่วยชีวิตมีมากกว่า

นอกจากนี้ ศักดิ์สิทธิ์ยังชี้ให้เห็นปัญหาเชิงระบบว่า ที่ผ่านมารัฐไม่ได้ให้การสนับสนุนรถโดยสารขนาดใหญ่ ซึ่งแม้จะมีความปลอดภัยกว่า แต่ก็ช้าและไม่ตรงเวลา  อีกทั้งสถานีขนส่งยังมักตั้งอยู่นอกตัวเมือง ทำให้ไม่สะดวกในการเดินทาง ส่งผลให้ผู้ใช้บริการที่ต้องการความสะดวกหันไปใช้บริการรถตู้มากขึ้น เบื้องต้น ศักดิ์สิทธิ์เสนอให้เปลี่ยนจากรถตู้เป็นรถมินิบัสแทน ซึ่งจะมีความปลอดภัยมากกว่า

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ด้านชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ความเห็นว่า สาเหตุที่ทำให้รถตู้มีผู้ใช้บริการมากกว่ารถทั่วไป เพราะมีความสะดวกสบายกว่า ไปได้หลายเส้นทาง ประหยัดเวลากว่ารถขนาดใหญ่ ส่วนปัญหาที่สำคัญจากอุบัติเหตุรถตู้ที่เกิดขึ้นนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีการสกรีนคนขับรถหรือเช็คสภาพร่างกายผู้ขับขี่ยานพาหนะ ทั้งยังมีการบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวน

ภาครัฐต้องยึดหลักว่าการขนส่งสาธารณะเป็นสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานของประชาชน ดังนั้น ความปลอดภัยและความสะดวกต้องมาก่อนปัจจัยอื่นๆ ถึงจะมีต้นทุนที่สูง แต่ต้องให้การสนับสนุน

ชัชชาติ ให้ความเห็นเพิ่มว่า แนวทางแก้ไขปฏิรูปควรมองที่ต้นเหตุและทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น พฤติกรรมการขับรถที่ไม่สุภาพของคนขับ การนำเทคโนโลยีจีพีเอสมาใช้จะช่วยให้ทราบ ความเร็ว ทิศทาง พฤติกรรมการขับของรถแต่ละคัน สามารถเก็บสถิติตลอดระยะทางที่ขับขี่ซึ่งช่วยให้ลดอุบัติเหตุลงได้ถึงร้อยละ 20 และยังควบคุมพฤติกรรมของคนขับให้ได้คนขับที่มีคุณภาพจริงๆ

ชัชชาติได้เสนอสามแนวทางแก้ไขปัญหาคือนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ กำกับดูแลเพราะการใช้อารมณ์ความรู้สึกไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และปรับโครงสร้างต้นทุนในการจัดการปัญหาดูแลผู้ประกอบการให้ทั่วถึง อีกทั้งต้องหาช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสอดส่องและรายงานพฤติกรรมของคนขับ

“แต่จีพีเอสไม่ใช่ยาวิเศษ แต่อยู่ที่การบังคับใช้เพื่อทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อคนขับ” ชัชชาติย้ำ

ด้านอภิวัฒน์ รัตนวราหะ จากภาควิชาการวางแผนภาคผังเมือง คณะสถาปัตย์กรรมศาสตร์ จุฬาฯกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุรถตู้ต้องพึ่งการควบคุมและตรวจสอบมาตรฐานรถโดยสารและพฤติกรรมของคนขับ รวมถึงระบบลงโทษผู้ประกอบการและวินที่ทำความผิดบ่อยครั้ง แต่จากประสบการณ์จากหลายประเทศทั่วโลก บริการขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพและปลอดภัยควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่นในประเทศที่พัฒนาแล้วรัฐบาลจะให้งบประมาณลงทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและยานพาหนะ แต่ในประเทศไทยรัฐบาลลงทุนเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร โดยเน้นไปที่รถไฟฟ้าแต่ที่ต่างจังหวัดยังไม่มีการลงทุน ทำให้ระบบขนส่งสาธารณะไม่มีคุณภาพ

อภิวัฒน์ ยังเน้นอีกว่า ภาครัฐต้องยึดหลักว่าการขนส่งสาธารณะเป็นสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานของประชาชน ดังนั้น ความปลอดภัยและความสะดวกต้องมาก่อนปัจจัยอื่นๆ ถึงจะมีต้นทุนที่สูง แต่ต้องให้การสนับสนุน เช่น การพัฒนาระบบรถบัสโดยสารให้มีความสะดวกและแข่งขันได้ หากค่าบริการมีราคาแพง  รัฐต้องช่วยหาวิธีลดต้นทุนการจัดการให้ได้มาตรฐานในรูปแบบที่เหมาะสม เช่น การลดภาษีนำเข้าหรือส่งเสริมการประกอบรถบัสภายในประเทศ ให้เงินอุดหนุนในการพัฒนาและจัดซื้ออุปกรณ์ที่เพิ่มความปลอดภัย และการพัฒนาขนส่งสาธารณะควรเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่เพื่อให้เกิดการคุ้มค่าสูงสุด

“ในปัจจุบันแม้เป็นเรื่องดีที่ภาครัฐมุ่งเน้นการสร้างรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง แต่ระบบรถโดยสารที่เชื่อต่อไปยังระบบรางยังไม่ได้รับการพัฒนา จะนำไปสู่ปัญหาความไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนและเปิดช่องว่างให้ผู้ใช้บริการรถตู้ที่สะดวกและถูกกว่าสามารถเข้ามาทำธุรกิจบนความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท