ศาลแพ่งอ่านคำสั่งชี้ขาด คดีลิฟต์บีทีเอสเป็นอำนาจพิพากษาของศาลยุติธรรม

ศาลแพ่งชี้ คดีเรียกค่าเสียหายบีทีเอส เหตุสร้างลิฟต์ไม่ทันกำหนดเวลาเป็นอำนาจชี้ขาดของศาลแพ่ง หลังจากนี้ส่งคำวินิจฉัยไปศาลปครอง- กทม.มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คัดค้าน

วานนี้ 18 พ.ค.2560 เว็บไซต์ ThisAble.me รายงานว่า คนพิการกว่า 100 คน เดินทางเข้าร่วมฟังผลการไต่สวน หลังจากมีการไต่สวนเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2560 เพื่อขอยื่นฟ้องแบบกลุ่ม ณ ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก กรณีที่ กทม.และบีทีเอสไม่จัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการบนรถไฟฟ้านั้น

โดยมีการวินิจฉัยชี้ขาดเพียง 1 จาก 2 เรื่อง คือ คำสั่งชี้ขาดอำนาจศาลว่า การฟ้องคดีนี้จะอาศัยอำนาจของศาลใดในการตัดสิน ระหว่างศาลปกครองและศาลแพ่ง จนเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ผู้พิพากษาจึงได้อ่านคำวินิจฉัยชี้ขาด ความว่า โจทก์และจำเลยเคยมีคดีพิพาทมาก่อนหน้านี้ โดยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้ กทม. และบีทีเอสจัดสร้างลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในเวลา 1 ปีนับจากศาลตัดสินเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2558 ในการฟ้องร้องที่ศาลแพ่งครั้งนี้เป็นการฟ้องร้องเพื่อให้ศาลดำเนินการปรับ และเรียกค่าเสียหาย เมื่อพิจารณาแล้ว พบว่า การเรียกค่าเสียหายนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการที่จำเลยไม่ทำตามที่ศาลปกครองสูงสุดนั้นตัดสิน และมีการดำเนินการตามกระบวนการของศาลปกครองถึงที่สุดแล้ว และมีเพียงคำพิพากษาโดยไม่มีการปรับ

นอกจากนี้เห็นว่า คำร้องของกลุ่มคนพิการเป็นเพียงการร้องเพื่อได้มาซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่เป็นเพียงคดีการเลือกปฏิบัติ ศาลแพ่งจึงมีความเห็นว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิพากษาของศาลยุติธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีการชี้ขาด กทม.มีสิทธิยื่นอุทธรณ์เพื่อคัดค้านการชี้ขาดอำนาจศาลได้ภายใน 7 วัน และศาลแพ่งก็จะสรุปสำนวน และส่งคำวินิจฉัยไปยังศาลปกครอง หากมีความเห็นตรงกันในการให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้รับคำร้อง กระบวนการก็จะดำเนินต่อไป แต่หากมีความเห็นค้าน ศาลแพ่งก็จะต้องเอาสำนวนส่งเข้าคณะกรรมการวินิจฉัยเพื่อชี้ขาดว่า คดีนี้ควรอยู่ที่ศาลใด

ไทม์ไลน์การยื่นข้อเสนอ เรียกร้องให้จัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกบนรถไฟฟ้า

9 เม.ย.2534 ผู้ว่าฯ กทม. และบีทีเอสทำสัญญาสัมปทานบีทีเอส (ช่วงนี้ยังไม่มีกฎหมายด้านคนพิการมาบังคับ)

20 พ.ย.2534 ประกาศใช้ พ.ร.บ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 (กฎหมายคนพิการฉบับแรกของไทย)

4 ก.ค.2538 บีทีเอสร่วมลงชื่อในสัญญาก่อสร้างแบบเหมารวมเบ็ดเสร็จ ส่งผลให้คนพิการรวมตัวและร้องเรียน กทม. เนื่องจากไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกในแบบก่อสร้าง กทม.จึงสนับสนุนงบ 45 ล้านบาทติดตั้งลิฟต์ 5 สถานี ระหว่างนั้นในปี 2542 กฎกระทรวงฉบับที่ 4 ซึ่งกำหนดลักษณะของอาคารสถานที่ ยานพาหนะหรือบริการสาธารณะอื่นใดต้องอำนวยความสะดวกแก่คนพิการก็ออกมา

5 ธ.ค.2542 บีทีเอสเปิดให้บริการ

2543-ปัจจุบัน กลุ่มคนพิการเจรจากับ กทม. เพื่อหาข้อตกลงในการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกให้ครบทุกสถานี

2552 คนพิการยื่นฟ้องบีทีเอสต่อศาลปกครองกลาง กรณีบีทีเอสไม่จัดทำสิ่งอำนวยความสะดวก

22 ก.ย.2552 ศาลปกครองกลางยกฟ้อง เนื่องจากกฎหมายขณะนั้นไม่มีรายละเอียดสิ่งอำนวยความสะดวก จึงไม่ถือเป็นการละเมิดกฎหมาย

21 ต.ค.2552 คนพิการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด

30 ส.ค.2556 กทม.ลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างลิฟต์กับบริษัท เอทีที คอลซัลแทนท์ จำกัด

31 ก.ค.2557 กทม.ลงนามจ้างเหมาก่อสร้างและติดตั้งลิฟต์กับบริษัทเสรีการโยธา จำกัด

18 ส.ค.2557 กทม.แจ้งให้บริษัทเสรีการโยธา จำกัดและบริษัทเอทีที คอนซัลแทนท์ จำกัดเริ่มงานก่อสร้าง กำหนดเวลา 450 วัน มูลค่า 350 ล้านบาท

21 ม.ค.2558 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ กทม. ทำลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกให้ครบทั้ง 23 สถานี ภายใน 1 ปี หรือภายในวันที่ 20 ม.ค.2559

11 พ.ย.2558 ครบกำหนด 450 วันสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง แต่ยังไร้วี่แวเสร็จจึงขนายเวลาออกไป

20 ม.ค.2559 ครบกำหนด 1 ปี ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดแต่ก็ยังก่อสร้างไม่เสร็จ

มี.ค.2559 T4A เข้าร่วมเป็นคณะทำงานติดตามการก่อสร้างลิฟต์ร่วมกับ กทม.

20 ม.ค.2560 คนพิการยื่นฟ้องงต่อศาลแพ่ง เรียกค่าเสียหายจาก กทม. เนื่องจากไม่สามารถติดตั้งลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกได้ตามกำหนดเวลา

21 มี.ค.2560 รับฟังคำไต่สวนจากศาลแพ่งเพื่อพิจารณาการยื่นฟ้องแบบกลุ่มกับ กทม.

18 พ.ค.2560 ฟังผลการไต่สวนกรณีชีขาดอำนาจศาล ศาลแพ่งมีความเห็นว่า เป็นอำนาจพิพากษาของศาลยุติธรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท