Skip to main content
sharethis

ศาลแพ่งพิจารณา 2 ประเด็น จากกรณีบีทีเอสสร้างลิฟต์ล่าช้า ชี้ศาลแพ่ง-ปกครองความเห็นไม่ตรงกันเรื่องเป็นผู้พิจารณาคดี ยื่นต่อคณะกรรมการชี้ขาดเป็นผู้ตัดสิน

7 ส.ค.2560 เว็บไซต์ ThisAble.me รายงานว่า ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก พิจารณาการไต่สวนฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก กทม. ในกรณีสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกบนบีทีเอสล่าช้า หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ กทม.และบีทีเอสจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการ ภายใน 1 ปี นับแต่มีคำสั่งเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2558 จนบัดนี้เลยกำหนดเวลาและยังไม่มีความคืบหน้านั้น

วันนี้ ศาลได้พิจารณาในสองประเด็นคือ หนึ่ง อำนาจหน้าที่ของศาลในการรับฟ้องว่าเป็นอำนาจของ ศาลยุติธรรม หรือศาลปกครอง และสอง พิจารณาคำร้องขอยื่นฟ้องร้องแบบกลุ่ม โดยมีคนพิการเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมากกว่า 60 คน และมีสื่อมวลชนจากหลายสำนัก

จนกระทั่งเวลา 9.30 น. ผู้พิพากษาเดินทางเข้าสู่บัลลังก์ ห้องพิจารณาคดีที่ 211 ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก โดยผู้พิพากษาขึ้นกล่าว มีใจความว่า ศาลแพ่งได้มีความเห็นแล้วว่า คดีการฟ้องร้องนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิ จึงเห็นควรให้ศาลแพ่งเป็นผู้พิจารณาคดี

และกล่าวต่อถึงความเห็นของศาลปกครองว่า ศาลปกครองกลางวิเคราะห์แล้วเห็นต่างว่าคดีนี้ ศาลปกครองควรเป็นผู้พิจารณาคดี โดยให้เหตุผลว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาคดีพิพาทของหน่วยงาน หากมีการละเลยหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า โดยรัฐมีหน้าที่พัฒนาคุณภาพชีวิตบุคคลด้อยโอกาส ทั้งในเรื่องขนส่ง จราจรและการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในที่สาธารณะ รวมทั้งมีอำนาจในการบังคับให้ กทม.ในส่วนที่เป็นนิติบุคคล และราชการมีระเบียบตามข้อบังคับที่กล่าวมาข้างต้น อีกทั้งตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 4 ระบุว่า คนพิการหมายถึงคนที่มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตประจำวันหรือการมีส่วนร่วมทางสังคม ทั้งทางด้านร่างกาย การเรียนรู้ จิตใจ ฯลฯ มีความจำเป็นเป็นพิเศษที่ต้องได้รับการช่วยเหลือพิเศษ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตและเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม ซึ่งรวมไปถึงการส่งเสริมให้คนพิการสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างอิสระ เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสิ่งอันเป็นสาธารณะ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ. ได้กำหนดไว้ รวมถึงการทำให้คนพิการไม่ได้รับสิทธิ คนพิการมีสิทธิ์เรียกร้องให้เลิก หรือห้ามไม่ให้กระทำ และศาลมีสิทธิกำหนดค่าเสียหายได้ในเชิงลงโทษไม่เกิน 7 เท่าของค่าเสียหายจริง

ทั้งนี้ โจทก์คือสุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ เป็นผู้มีความบกพร่อง ที่ต้องได้รับการดูแลพิเศษ นับว่าเป็นคนพิการตามมาตรา 4 พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จึงมีสิทธิฟ้องร้องเพื่อกำหนดแนวทางปรับปรุงวิธีการ และกำหนดบทสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ เกิดการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและสงเคราะห์คนพิการ หน่วยงานรัฐจึงต้องทำตามข้อบังคับนี้ หากไม่ทำตามคนพิการก็มีสิทธิฟ้องได้

ด้านจำเลย ซึ่งได้แก่ กทม.เป็นหน่วยงานรัฐ ต้องสนับสนุนคนพิการและทำให้คนพิการมีสิทธิในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสิ่งสาธารณะได้ กทม.จึงต้องปฏิบัติตามนับตั้งแต่มีการออกฎกระทรวงเพื่อการเข้าถึงของคนพิการและกฎกระทรวงที่ว่าด้วยเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก กทม.จึงมีหน้าที่เป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหาย จึงเห็นได้ว่าคดีนี้เป็นคดีละเมิดและอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องจากศาลแพ่งและศาลปกครองมีการให้ความเห็นที่ไม่ตรงกัน จึงต้องส่งเรื่องต่อเพื่อให้คณะกรรมการวินิจฉัยอำนาจชี้ขาดระหว่างศาลเป็นผู้ชี้ขาดอำนาจดังกล่าว โดยยังไม่ทราบวันที่และเวลา รวมทั้งหากคณะกรรมการวินิจฉัยอำนาจชี้ขาดระหว่างศาลชี้ว่า ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ กลุ่มคนพิการจะไม่สามารถดำเนินการการฟ้องร้องแบบกลุ่มได้

นับตั้งแต่คนพิการได้ยื่นฟ้อง กทม.ตั้งแต่ปี 2550 จนกระทั่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2558ให้ กทม.จัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกบนบีทีเอสให้ครบทั้ง 23 สถานี ภายใน 1ปี (ภายใน 21 ม.ค.2559) กทม.ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามเวลา คนพิการจึงเดินหน้าฟ้องร้องแบบกลุ่มเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายต่อศาลแพ่งในวันที่ 20 ม.ค.2560 และ กทม.ได้ยกเหตุผลคัดค้านใน 2 ประเด็น ได้แก่ หนึ่ง คดีนี้ไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลแพ่ง และสองคดีนี้ไม่สามารถฟ้องแบบกลุ่มได้ จึงนำมาสู่การพิจารณาไต่สวนในวันนี้

อนึ่งตั้งแต่ปี 2550-ปัจจุบัน กทม. สามารถจัดสิ่งอำนวยความสะดวกได้เพียงร้อยละ  19  จากทั้งหมด โดยมีลิฟต์เพียงร้อยละ 41 มี 5 สถานีที่มีลิฟต์ทั้งสองฝั่ง มี 6 สถานีที่มีลิฟต์ฝั่งเดียวและมี 12 สถานีที่ไม่มีลิฟต์

ทางลาด อักษรเบรลล์  ป้ายประกาศ ป้ายบอกทาง อุปกรณ์สื่อสารกับคนหูหนวกมีเพียงร้อยละ 17 จากทั้งหมด

 

ข่าวทีี่เกีี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net