เผย อำนาจซ้อนทับ-อุปสรรคในการเรียกร้องความเป็นธรรมของเหยื่อชายขอบที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ตัวแทนชนเผ่าพื้นเมือง, คนข้ามเพศ และคนพิการ ร่วมแลกเปลี่ยนว่าอะไรเป็นมายาคติในสังคมไทยที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีถูกล่วงละเมิดทางเพศ กงสุลใหญ่สหรัฐฯ ชี้ นอกจากการยุติความรุนแรงแล้วยังต้องต่อสู้กับ "การอ้างความชอบธรรม" ในการใช้ความรุนแรงต่อสตรีด้วย

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2560 มีงาน "การประชุมและรณรงค์วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล" จัดโดย เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อความเท่าเทียมระหว่างเพศ (CSOs for Gender Equality) ภาควิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มช. กลุ่มสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน มูลนิธิเอ็มพลัส แอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล อเมริกันคอร์เนอร์เชียงใหม่ และสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ เชียงใหม่

ในการประชุมดังกล่าวมีงานเสวนาในประเด็นเรื่องความรุนแรงทางเพศ และกิจกรรมแลกเปลี่ยนกันเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการคุกคามและการล่วงละเมิดทางเพศ มีผู้สนใจเข้าร่วมราว 100 คน โดยมีตัวแทนมาจากหลายองค์กรรวมถึงนักศึกษา

กงสุลใหญ่สหรัฐฯ ปาฐกถา "ต้องต่อสู้กับการอ้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงด้วย"


เจนนิเฟอร์ ฮาร์ไฮ กงสุลใหญ่สหรัฐฯ ประจำเชียงใหม่ พูดถึงการยุติความรุนแรงทางเพศ

เจนนิเฟอร์ ฮาร์ไฮ กงสุลใหญ่สหรัฐฯ เปิดงานด้วยการกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อยุติความรุนแรงทางเพศ” โดยย้ำว่า "สิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชน" ทุกคนเป็นมนุษย์เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นแม่ เมีย หรือเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจยากจนหรือร่ำรวย

กงสุลใหญ่ฯ ยังพูดถึงความท้าทายเกี่ยวกับความรุนแรงที่นอกจากจะต้องต่อต้านความรุนแรงแล้ว ยังต้องต่อสู้กับการอ้างความชอบธรรมให้เกิดความรุนแรงด้วย ไม่ว่าจะเป็นข้ออ้างจากวัฒนธรรมในสังคมนั้นๆ หรือข้ออ้างทางกฎหมาย หรือการใช้เหตุผลใดๆ ก็ตาม

"จึงขอให้ต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีทุกรูปแบบ และมุ่งมั่นทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนต่อไป" ฮาร์ไฮกล่าวสรุปในการปาฐกถา

#MeToo มุมมองต่อการล่วงละเมิดทางเพศในสังคมไทยยังเต็มไปด้วยมายาคติ


เวทีเสวนา #metoo แคมเปญรณรงค์ยุติการคุกคามและการละเมิดทางเพศจากการรณรงค์ระดับโลกสู่การเคลื่อนไหวในระดับชุมชน

ต่อมา มีการเสวนาเกี่ยวกับประเด็นแคมเปญรณรงค์ยุติการคุกคามและการละเมิดเพศที่เป็นประเด็นในระดับโลกอย่าง #MeToo ซึ่งศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระและนักวิเคราะห์จาก Voice TV ผู้ดำเนินรายการเสวนา ชี้ว่าประเด็นนี้แม้จะเป็นปัญหาของคนครึ่งโลกแต่ก็เป็นปัญหาที่คนเคยชิน จึงควรพูดถึงความสำคัญของปัญหานี้

ในการเสวนานี้ยังมีวิทยากรจากหลายองค์กรมาพูดถึงประสบการณ์ที่เคยเผชิญกับการล่วงละเมิดทางเพศมาก่อนและอุปสรรคในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตนเอง

ความเชื่อจารีตที่กดขี่ซ้ำคนถูกละเมิดทางเพศ - เสียงจากหญิงชนเผ่าพื้นเมือง

อำพร ไพรพนาสัมพันธ์ จากเครือข่ายสตรีชนเผ่า และเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อความเสมอภาคทางเพศ กล่าวว่า ตนเองมาจากชนพื้นเมืองปกาเกอะญอ การถูกล่วงละเมิดทางเพศสร้างความเจ็บช้ำทั้งทางร่างกายและจิตใจ

แต่ทว่าปัญหาในการที่คนจะต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้ตัวเองในเรื่องนี้กลับมีข้อจำกัดเนื่องจากจารีตของชนพื้นเมืองเอง เช่นจารีตเรื่องการต้อง "เป็นผู้หญิงที่ดี" ซึ่งหมายถึงมีความเป็นแม่ มีความบริสุทธิ์ ถูกกำหนดวิถีทางเพศด้วยการแต่งงาน และถูกคาดหวังให้ต้องทนกับสามี เวลาเกิดเรื่องถูกทำร้ายหรือล่วงละเมิดก็มักจะเป็นฝ่ายถูกประณามว่า "เพราะเธอเป็นผู้หญิงแบบนี้น่ะสิ" แทนที่จะได้รับความช่วยเหลือ แม้แต่การจะออกข้างนอกก็ต้องขอสามี อีกทั้งยังถูกกีดกันเรื่องการเรียนหนังสือ

อย่างไรก็ตาม อำพรเล่าถึงชีวิตเธอว่าเธอพยายามดิ้นรนจนออกมาหาเงินเรียนด้วยตัวเองทั้งจากการรับจ้างและการกู้เรียน กระนั้นเธอก็ต้องเผชิญกับเหตุล่วงละเมิดทางเพศ ไม่เพียงแค่ความเจ็บปวดจากการถูกกระทำแต่จารีตของชุมชนเธอกลับทำให้เธอต้องแบกรับความรู้สึกผิดเพิ่มขึ้นไปอีกเพราะจารีตที่ว่าทำให้เธอรู้สึกตัวเองกลายเป็น "ผู้หญิงไม่ดี"

อำพรเล่าว่าเธอเครียดมากจึงกลับไปที่บ้านและปรึกษาแม่เพราะเชื่อใจ แต่กลับถูกว่ากล่าว "ถ้าเธอไม่ยอม ก็ไม่มีใครทำเธอได้" ทั้งที่เหตุล่วงละเมิดทางเพศนี้เป็นสิ่งที่ผู้ถูกกระทำไม่ได้ตั้งใจให้ถูกกระทำ แม่ของเธอกลับกลัวเรื่องชื่อเสียงมากกว่า อำพรยังกล่าวอีกว่ากรณีของผู้หญิงชนพื้นเมืองที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศเช่นนี้ ทำให้พวกเธอรู้สึกเหมือนไม่มีที่พึ่งที่อื่นเลย เพราะวัฒนธรรมการประณามเหยื่อและรู้สึกเป็นเรื่องธรรมดา เช่นการใช้วลีว่า "เพราะเธอเป็นผู้หญิงไม่ดีเธอถึงต้องเป็นแบบนี้" มีหญิงบางคนถูกกดดันจนหาทางออกไม่ได้จนต้องฆ่าตัวตายพร้อมกับลูกในท้อง

จารีตและความเชื่อบางอย่างยังกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้ผู้หญิงพูดเรื่องเหล่านี้กับชุมชนตัวเองไม่ได้ บางทีความเชื่อฝังหัวก็ทำให้แม้แต่ผู้หญิงที่เชื่อฝังหัวยังต่อต้านไม่ให้ผู้หญิงที่ถูกกระทำพูดเรื่องเหล่านี้ได้ เวลาพวกเธอพยายามรณรงค์เพื่อสิทธิของคนที่ถูกกระทำ มีความพยายามดึงผู้ชายที่มีความเข้าใจในเรื่องนี้เข้ามาร่วมด้วยแม้จะยังมีน้อยอยู่ ชายบางคนเข้าร่วมด้วยสาเหตุว่าพวกเขาก็มีลูกผู้หญิงและไม่อยากให้ลูกของพวกเขาต้องถูกกระทำเช่นนี้รวมถึงเคยพบเห็นผู้หญิงที่ถูกกระทำมาก่อน

ศิโรตม์ถามว่า เหตุใดการรณรงค์ในบางชนเผ่าพื้นเมืองถึงได้ผลแต่ในอีกบางส่วนกลับไม่ได้ผล ผู้ร่วมเสวนาที่เป็นตัวแทนชนพื้นเมืองท่านหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่าเป็นเพราะความเชื่อว่าจารีตต่างๆ สืบต่อมาจากบรรพบุรุษจะเกิดอาเพศถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลง การจะเปลี่ยนแปลงจึงขึ้นอยู่กับ "ผู้ใหญ่" ในชุมชนนั้นๆ อำพรเสริมว่านั่นทำให้มีความพยายามดึงผู้ชายในชนเผ่าพื้นเมืองเข้ามาร่วมเปลี่ยนแปลงด้วยเพาะพิธีกรรมส่วนใหญ่ยังขึ้นอยู่กับผู้ชาย

ปัญหาการอธิบายเหมารวม LGBTQ ถูกนำมาอ้างความชอบธรรมการล่วงละเมิด - มุมมองของคนข้ามเพศ

วิทยากรคนต่อมาคือ เจษฎา แต้สมบัติ จากมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน เจษฎาพูดเสริมกรณีของชนเผ่าพื้นเมืองที่เป็นคนข้ามเพศว่ามีความยากลำบากเวลาต้องกลับไปในสังคมของชนพื้นเมืองตัวเอง พวกเธอมักจะถูกคาดหวังให้ต้องกลับบ้านทุกปี และจากเดิมที่ในโลกภายนอกพวกเธอปรับเปลี่ยนร่างกายเป็นผู้หญิง แต่พอกลับบ้านพวกเธอต้องเปลี่ยนรูปลักษณ์ตัวเองให้กลับเป็นผู้ชาย สร้างความอึดอัดให้คนข้ามเพศ

ในประเด็นเรื่องการใช้แฮกแท็ก #MeToo พูดถึงเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศนั้น เจษฎาบอกว่าเธอเองก็แชร์ประสบการณ์เรื่องนี้ผ่านทางแฮกแท็ก #MeToo ด้วยเช่นกันจนทำให้แม่ของเธอแสดงความเป็นห่วงเมื่อพบเห็นโพสต์นี้ เจษฎาเล่าว่าการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นในช่วงที่เธอเป็นนักเรียนที่ยังไม่มีอำนาจต่อรองและกฎหมายก็ไม่คุ้มครองเธอ ทำให้เธอไม่รู้จะไปหาใคร แม้แต่ในทางสังคมก็มีคำพูดปรามไม่ให้เธอเรียกร้องสิทธิตัวเองว่า "อย่าทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่" รวมถึงความคิดที่ว่าการที่เธอเป็นคนข้ามเพศก็ทำให้ครอบครัวหนักใจอยู่แล้ว จึงพูดเรื่องนี้ได้ยากเพราะกลัวเป็นภาระ

เจษฎาพูดถึงพื้นที่ที่คนข้ามเพศมักจะถูกล่วงละเมิดทางเพศอย่างเช่นห้องน้ำในโรงเรียน ค่ายทหาร หรือหอพักในมหาวิทยาลัย ปัญหาอีกเรื่องหนึ่งคือการที่ประเทศไทยยังไม่มีการยอมรับเรื่องเพศสภาพที่หลากหลาย (Gender Recognition) รวมถึงไม่มีกฎหมายรับรองในจุดนี้ ทำให้เวลาออกแบบอาคารสถานที่ต่างๆ คนข้ามเพศจะมีความเสี่ยงจะถูกล่วงละเมิดทางเพศ เช่น ในโรงเรียนคนข้ามเพศถูกบีบให้ต้องเข้าห้องน้ำชายซึ่งเป็นสถานที่เสี่ยง บางคนถึงขั้นไม่ยอมเข้าห้องน้ำตลอด 8 ชั่วโมงในโรงเรียน

นอกจากนี้เจษฎายังพูดถึงอุปสรรคเรื่องความคิดการตีตราจากสังคมที่เอื้อต่อการให้ความชอบธรรมในการล่วงละเมิดทางเพศคนข้ามเพศ เช่น ความเชื่อเหมารวมที่ว่าคนข้ามเพศคือคนที่หมกมุ่นในเรื่องเพศ หรือเป็นแค่วัตถุทางเพศ ฉะนั้นเวลามีเหตุล่วงละเมิดทางเพศผู้ก่อเหตุจะมักอ้างว่า "ก็เธอชอบนี่"

ตัวเธอเองพูดถึงกรณีที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่สุ่มเสี่ยงอย่างการเข้าค่ายของนักศึกษาวิชาทหาร สิ่งที่ทำให้รู้สึกแย่คือตอนที่มีคนมุดเต็นท์มาพยายามล่วงละเมิดทางเพศเธอ โดยที่คนที่อยู่ในเต็นท์เดียวกันไม่ช่วยแต่กลับมุดออกไปปล่อยให้เธอเผชิญเหตุ ทำให้เธอโกรธมาก เธอหนีออกจากเต็นท์ที่เกิดเหตุไปหาเพื่อนคนข้ามเพศอีกฝั่งหนึ่ง ตอนเช้าอีกวันหนึ่งเมื่อเธอไปต่อว่าเพื่อนของเธอที่ปล่อยให้เธอถูกกระทำ เพื่อนคนนั้นกลับตอบมาว่า "ก็นึกว่าเธอชอบนี่" แม้แต่ผู้ใหญ่บางคนก็พูดราวกับว่าพวกเธอเป็นคนที่ผิดที่ทำให้คนอื่นเกิดอารมณ์ทางเพศ เธอจึงย้ำว่าการเหมารวมตัวตนทางเพศแบบนี้เป็นเรื่องอันตราย

นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงวันสากลว่าด้วยการรำลึกถึงคนข้ามเพศผู้ถูกสังหารด้วยเหตุแห่งความเกลียดชัง (Transgender Day of Remembrance) ซึ่งมีการค้นคว้าข้อมูลจากองค์กรทรานส์เจนเดอร์ยุโรป (TGEU) พบว่ามีผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกสังหาร 2,016 คน นับตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2558 ส่วนสถิติในไทยพบว่ามีผู้ที่ถูกสังหารด้วยเหตุแห่งความเกลียดชังหรือ "Hate Crime" เพราะเป็นคนข้ามเพศ 19 ราย

เจษฎายังกล่าวถึงอุปสรรคเรื่องการเข้าถึงข้อมูลผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยว่ายังคงเข้าถึงยากเพราะมักจะมีการบันทึกเพศสภาพตามเพศกำเนิดของคนๆ นั้นอย่างเดียว อีกทั้งปัญหาที่กฎหมายในประเทศไทยยังไม่มีการบัญญัติว่าด้วยเรื่อง Hate Crime

อีกทั้งในสังคมไทยยังมีสิ่งที่ครอบงำการอธิบายเรื่องผู้มีความหลากหลายทางเพศแต่จากมุมมองของทางการแพทย์ที่ยังใช้คำว่า "เบี่ยงเบนทางเพศ" แม้แต่องค์การอนามัยโลกก็ยังใช้คำว่า "Transgenderism" ซึ่งสื่อในเชิงว่าเป็นความผิดปกติ มุมมองจากศาสนาจะบอกว่าการเป็นเพศอื่นนอกจากหญิงหรือชายเป็นบาปเป็นเรื่องผิดและบีบให้มีการ "บำบัด" ให้กลับไปเป็นเพศกำเนิด ในแง่การศึกษาในวิชาสุขศึกษาก็ยังมีการเลือกปฏิบัติมีการระบุว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศ "ผิดปกติ" หรือมีปัญหาเรื่องชู้สาว

เจษฎากล่าวต่อว่าอคติเหล่านี้ก็ยังถูกผลิตซ้ำต่อโดยสื่อ เช่น กรณีที่มีการนำคนข้ามเพศมาออกรายการแล้วพอคนๆ นั้นหกล้มหัวฟาดพื้นก็กลับมาเป็นชาย เรื่องนี้เอื้อต่อการสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงต่อเพศ หรือแม้แต่ในหน้าข่าวเองก็นำเสนอเวลาคนข้ามเพศถูกสังหารโดยเน้นแต่มุมมองของผู้กระทำ ซึ่งมักพูดให้ความชอบธรรมต่อการใช้ความรุนแรง เช่น อ้างว่าคนข้ามเพศอยากมีเพศสัมพันธ์กับตนเลยใช้ความรุนแรงจนถึงแก่ชีวิต

เจษฎากล่าวว่าขณะที่สังคมไทยยังมีการเลือกปฏิบัติต่อคนข้ามเพศอยู่ แต่ปัจจุบันการใช้โซเชียลมีเดียก็ทำให้มีการแชร์ข่าวสารประเด็นต่างๆ ในเรื่องนี้มากขึ้น และประเด็นนี้เป็นที่พูดถึงแพร่หลายในระดับสากล สำหรับในไทยเองเจษฎากล่าวว่ายังควรต้องมีการทำงานรื้อสร้างวาทกรรมไม่ว่าจะเป็นในสถาบันศาสนา สถาบันการแพทย์ สถาบันการศึกษา รวมถึงสื่อมวลชน

สังคมที่มองคนพิการแค่สงสารแต่ไม่เข้าใจเรื่องฐานสิทธิ - ประสบการณ์ของหญิงพิการ

วิทยากรคนที่สามคือ กัชกร ทวีศรี จากองค์กรโกลบอลแคมปัสเชียงใหม่ (Global Campus Chiang Mai) ที่พูดถึงเรื่องของความรุนแรงเชิงโครงสร้างต่อคนพิการเพราะถูกมองว่าเป็นคนไม่มีความสามารถ รวมถึงแชร์ประสบการณ์เรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศที่ถูกกดขี่ซ้อนทับกับตัวตนความเป็นคนพิการด้วย

กัชกรเล่าประสบการณ์ว่าด้วยความพิการทำให้เธอไม่ได้ไปเรียนหนังสือ ในยุคนั้นทางโรงเรียนอ้างว่าไม่รู้จะดูแลเธออย่างไร ไม่อยากรับผิดชอบถ้าหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น รวมถึงเรื่องไม่มีสิ่งของที่จะอำนวยความสะดวกให้พวกเขา ถึงแม้ว่าจะมีโรงเรียนเฉพาะทางแต่ทางโรงเรียนที่แม่เธอพาไปนั้นก็บอกว่ารับเฉพาะ "ผู้มีความพิการรุนแรงซ้ำซ้อน" เท่านั้น ความยากลำบากของเธอยังผนวกกับการที่เป็นผู้หญิงทำให้ถ้าไม่ได้รับการศึกษาคงใช้ชีวิตได้ยากในสังคม ทำให้แม่เธอพยายามค้นหาโรงเรียนให้ได้

ในเชิงสังคมแล้วคนพิการยังถูกทำให้ไม่มีเพศด้วยคำพูดในเชิงว่าพวกเขาไม่ควรมีลูก ไม่ควรแต่งงาน ไม่มีใครรักพวกเขาจริง สายตาที่มองคนพิการก็มองแปลกจากคนอื่นๆ ตัวเธอเองก็รู้สึกวิตกกังวลและรู้สึกเหมือนอยู่ในโลกนี้คนเดียวเพราะตอนเด็กรู้สึกมีแต่ตัวเองที่พิการ และยังคงรู้สึกถูกลดทอนความเป็นมนุษย์มาตั้งแต่เป็นเด็กมาจนถึง ณ ปัจจุบัน

กัชกร เล่าว่าเธอเคยถูกคุกคามทางเพศมาก่อนตอนที่พาหลานไปเที่ยวที่สวนสัตว์ ด้วยความที่เธอเดินไม่สะดวกด้วยในช่วงที่เธอกับหลานกำลังยืนดูบ่อช้างอยู่ก็มีชายคนหนึ่งมายืนชะโงกดูด้วย แต่ท่าทีที่เขาชะโงกดูโดยเอาตัวเองเข้ามาเบียกตัวเธอจากด้านหลัง เบียดไปเบียดมาทั้งที่คนก็ไม่ได้เยอะจนเบียดกัน นั่นทำให้เธอรู้สึกไม่ปลอดภัย เธอจึงออกมาจากจุดนั้นแล้วไปแจ้งเจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ก็อำนวยความสะดวกด้วยการพานั่งรถไปแจ้งความ เธอตกลงเพราะรู้สึกว่าเรื่องนี้ชายคนนั้นทำไม่ถูก

แต่เมื่อกัชกรเข้าไปแจ้งความเรื่องนี้ที่สถานีตำรวจกลับถูกตำรวจพากันหัวเราะเมื่อรู้ว่าเป็นเรื่องล่วงละเมิดทางเพศ มีเสียงออกมาจากสถานีว่า "สงสารลุงเขาเถอะ" ทำให้เธอรู้สึกกังวลเหมือนถูกคุกคามซ้ำ เธอยังกังวลว่าถ้าหากเป็นคนพิการคนอื่นๆ ที่ถูกล่วงละเมิดพวกเธอจะทำอย่างไรเพราะความเป็นคนพิการทำให้มีโอกาสหลบหนีออกจากพื้นที่ได้น้อยกว่า มีความเข้าใจว่าตัวเองถูกล่วงละเมิดน้อยกว่าเพราะโอกาสในการศึกษา

กัชกรยังพูดถึงอุปสรรคในการดำเนินการทางกฎหมายต่างๆ แม้กระทั่งการทำบัตรประชาชนก็ยังถูกมองว่าจะเอาไปทำอะไร หรือการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ก็มีอุปสรรคจากการมองคนพิการด้วยภาพเหมารวม ทำให้รู้สึกถูกกีดกันเหมือนไม่มีตัวตนในสังคม จากที่กระบวนการต่างๆ ไม่มีการรองรับคนพิการทำให้พวกเธอรู้สึกว่าต้องต่อสู้กับสิ่งต่างๆ มากมาย และในการทำงานก็มีเรื่องของอำนาจซ้อนทับที่บางครั้งคนพิการที่เป็นผู้ชายก็ยังกีดกันคนพิการที่เป็นผู้หญิง เธอเคยถูกคนพิการชายคนหนึ่งปรามาสในเชิงดูถูกตอนที่เธอได้ไปพูดที่สหประชาชาติว่า "ไหนดูซิ ว่าเธอจะพูดอะไรได้บ้าง" หรือแม้กระทั่งการเหยียดคนบ้านนอกว่า "เธอเป็นผู้หญิงพิการที่มาจากบ้านนอก เธอจะไปรู้อะไร"

ทั้งนี้ ความเชื่อในสังคมไทยยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กดขี่คนพิการ เช่น ความเชื่อเหนือธรรมชาติ กัชกรเล่าว่ามันมีความเชื่อที่ว่าถ้ารับคนพิการขึ้นรถ พวกเขาจะซวย มีรถแดงบางคันที่พอรับคนตาบอดขึ้นรถแล้วต่อมารถโดนเฉี่ยวก็อ้างว่าซวยเพราะไปรับคนตาบอดขึ้น หรือกรณีที่ในชนบทเวลามีคนขาหักแล้วเอาไม้ค้ำยันไว้ที่บ้านก็จะมีคนรีบเอาไปไว้ที่วัดเพราะกลัวว่าจะมีคนบาดเจ็บ

กัชกรบอกว่าความเชื่อฝังหัวทางสังคมต่อคนพิการยังมีเรื่องการครอบงำจากแนวคิดแบบเวทนานิยมจากในอดีต แม้ว่าคนพิการจะมีตัวตนเพิ่มมากขึ้นแต่ผู้คนยังมองพวกเขาด้วมุมมองที่ว่าคนพิการน่าสงสาร มันทำให้คนรู้สึกว่า "ช่วยๆ เขาไปเถอะ" แต่กลับไม่ได้มีการมองคนพิการในแง่ของฐานสิทธิที่ว่าคนพิการก็ควรได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนคนหนึ่ง

ในวงเสวนายังมีการตั้งข้อสังเกตว่าหลายครั้งที่การล่วงละเมิดทางเพศเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากคนใกล้ตัว ส่วนในคำถามที่ว่าทำไมคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง เจษฎามองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาในระดับสังคมเองจากที่มีการพูดถึงประสบการณ์ของผู้คนเหล่านี้ เช่น พอไปแจ้งความตำรวจก็หัวเราะ หรือถูกบีบให้ไกลเกลี่ย รวมถึงความคิดฝังหัวทางวัฒนธรรมที่ทำให้คนที่ออกมาพูดเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศของตัวเองถูกมองในแง่ลบ รวมถึงการหาข้ออ้างประณามเหยื่อ (victim blaming) แทนที่จะพูดถึงปัญหาจากผู้ก่อเหตุล่วงละเมิด สิ่งเหล่านี้บีบให้คนที่ถูกใช้ความรุนแรงไม่กล้าออกมาพูด

เจษฎาบอกว่า "สิ่งที่ควรถูกตั้งคำถามมากกว่าคือสังคมที่เราอยู่ ว่าเราอยู่ในสังคมแบบไหนกันทำไมถึงปล่อยให้เกิดความรุนแรงเกิดขึ้นตั้งแต่ในระดับครอบครัว"

นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงการแก้ไขปัญหาโดยผู้ร่วมเสวนาท่านหนึ่งมองว่าคนไทยยังไม่ค่อยรู้สิทธิของตัวเองว่าพวกเขาควรได้รับการคุ้มครองเรื่องนี้ รวมถึงในบางกรณีที่ผู้ก่อเหตุมีชื่อเสียงหรือมีอำนาจทางสังคมก็ทำให้เกิดการพยายามปกปิดเรื่องนี้ มีปัญหาเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐเองเพิกเฉยต่อปัญหา ผู้เสวนาอีกท่านหนึ่งพูดถึงในระดับสังคมว่าครอบครัวผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศบางคนพยายามปกปิดเรื่องนี้เพราะกลัวเรื่องชื่อเสียงวงศ์ตระกูล และเสนอว่าการแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้างควรรณรงค์เรื่องสิทธิบนบรรทัดฐานเท่าเทียมกันทุกคน

เวิร์กชอปแลกเปลี่ยนสร้างความตระหนักรู้เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ

 


กิจกรรมการสร้างความตระหนักรู้และแลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ

ในช่วงบ่ายยังมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเริ่มจากการให้ความรู้ว่าการกระทำแบบใดถึงจะเรียกว่าเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ มีกระบวนกรคือ มัจฉา พรอินทร์ ผู้อำนวยการโครงการสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน และเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อความเท่าเทียมระหว่างเพศ

โดยการประชุมมีข้อสรุปว่าการกระทำทั้งแบบจับเนื้อต้องตัว การแสดงความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ต การใช้วาจา หรือการจ้องมอง ในแบบที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือรู้สึกถูกล่วงล้ำเนื้อตัวร่างกายโดยไม่มีการอนุญาต ถือเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ โดยการระบุว่ากรณีใดใช้หรือไม่ใช่การล่วงละเมิดทางเพศนั้น ควรมีการถามฝ่ายที่เป็นคนถูกกระทำ แทนที่จะไปถามฝ่ายกระทำ

นอกจากนี้ยังมีการยกตัวอย่างว่าการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นได้แม้กับคนใกล้ชิดเช่นกับเพื่อนกันเอง โดยมีการเล่นสมมติเหตุการณ์เพื่อนสนิท 2 คู่ ว่าระดับใดจึงจะถือว่าเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ และมีการพูดถึงว่ากรณีเช่นนี้อาจจะเกิดขึ้นได้แม้ไม่ตั้งใจ ทุกคนไม่ว่าเพศใดก็ตามมีโอกาสจะกลายเป็นผู้กระทำได้จากอำนาจที่มีอยู่ เช่นแม้แต่กับกรณีเจ้านายที่เป็นหญิงก็อาจจะใช้อำนาจตัวเองล่วงละเมิดทางเพศลูกน้องชายได้

มีผู้ร่วมกิจกรรมรายหนึ่งเสนอว่าควรเริ่มจากตัวผู้พบเห็นเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศเองที่ต้องแสดงตัวต่อต้านและบอกว่าการกระทำนั้นๆ ผิดอย่างไร ผู้ดำเนินกิจกรรมพูดย้ำว่าปัญหาการคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศไม่ควรจะเป็นการเน้นแก้ปัญหาโดยจ้องเล่นงานตัวบุคคลอย่างเดียวต้องมองเป็นเรื่องเชิงโครงสร้างอำนาจด้วย

World Cafe ผู้เข้าร่วมประเด็นการกดขี่ทางเพศหลายรูปแบบ จากมุมมองอำนาจทับซ้อน (Intersectionality)

จากนั้นจึงมีการแลกเปลี่ยนในวงกว้างจากกิจกรรม World Cafe แบบเปิดให้ผู้ร่วมงานพูดถึงประเด็นความรุนแรง การคุกคามทางเพศ หรือการกดขี่ในรูปแบบต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัว มีทั้งตัวแทนกลุ่มคนพิการที่พูดถึงการถูกกระทำซ้ำซ้อนจากโครงสร้างสังคม กรณีของคนข้ามเพศที่ถูกใช้ภาษาในเชิงล่วงล้ำเช่นถามเรื่องการแปลงเพศหรือเรื่องการเปลี่ยนแปลงร่างกายต่างๆ มีกระทั่งเป็นคำถามในการสมัครงาน แม้จะทำไปด้วยความอยากรู้แต่มันทำให้คนข้ามเพศ "รู้สึกเหมือนมีคนมาเปิดกระโปรง"

มีการแลกเปลี่ยนเรื่องที่ว่าแม้จะมีการแจ้งกรณีการคุกคามทางเพศต่อภาครัฐ แต่ก็ไม่ได้รับการคุ้มครองเสมอไป ยังรู้สึกไม่ปลอดภัยเพราะเป็นคนอำนาจน้อย เป็นชายขอบ อีกทั้งวิธีการซักถามผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศของภาครัฐยังมีลักษณะซ้ำเติมผู้ถูกกระทำอย่างการถามว่า "ทำไมถึงถูกทำแบบนี้" ซึ่งเหมือนบีบให้เหยื่อรู้สึกเหมือนตัวเองผิด คนชายขอบยังเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ยาก และตัวกระบวนการยุติธรรมเองก็มีช่องว่างไม่คำนึงถึงความหลากหลายมากพอ

นอกจากนี้ยังมีคนที่พูดถึงการกดขี่ในแง่มุมต่างๆ เช่นการกีดกันเลือกปฏิบัติในสังคมต่อผู้หญิงที่มีน้ำหนักมาก ถูกกดให้ต่ำกว่าคนที่ผอมกว่าแทนที่จะมองด้านประสิทธิภาพในการทำงาน

กลุ่มตัวแทนผู้ทำงานบริการทางเพศก็แลกเปลี่ยนประสบการณ์ถูกกระทำซ้ำซ้อนเช่นกัน พวกเธอนอกจากจะถูกตีตราทางสังคมแล้ว ยังถูกกดขี่ในที่ทำงานโดยที่รับไม่ยอมให้การคุ้มครอง อีกทั้งยังใช้กฎหมายกดขี่พวกเธอ ตัวแทนผู้ทำงานบริการทางเพศจึงต่อสู้ด้วยการพยายามวิจัยเรื่องราวของคนทำงานบริการทางเพศด้วยกันเอง รวมถึงเรียกร้องต่อต้านกฎหมายว่าด้วยการปรามการค้าประเวณีที่ถูกนำมาอ้างใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนทำงานบริการทางเพศ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท