Skip to main content
sharethis

สภานิติบัญญัติมีมติรับหลักการ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ กรอบเวลาทำงาน 58 วัน และแปรญัตติภายใน 15 วัน

ที่มาภาพ เว็บไซต์วิทยุรัฐสภา 

30 พ.ย.2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. .... ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้เสนอ ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเห็นด้วย 188 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 5 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 33 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 15 วัน กรอบระยะเวลาดำเนินการ ภายใน 58 วัน และ สนช. ยังมีมติรับหลักการในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ด้วยเช่นกัน ด้วยคะแนน 177 ต่อ 1 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 27 คน โดยมีกรอบเวลาทำงาน 58 วัน และแปรญัตติภายใน 15 วัน

ก่อนลงมติ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ชี้แจงว่า กรธ.ได้พิจารณาร่างกฎหมายลูกดังกล่าว โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั้ง 4 ภาค และการเชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาร่วมพิจารณาตั้งแต่ต้น เพื่อนำข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับแนวคิดของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มากที่สุด โดยการปรับแก้สาระสำคัญส่วนใหญ่เป็นเรื่องแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเลือกตั้ง อาทิ การใช้สิทธิเลือกตั้ง กำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรมให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม หากผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิโดยไม่มีเหตุอันสมควรจะถูกจำกัดสิทธิ การยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. และสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น เป็นเวลา 2 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง และกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ต้องแสดงหลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปี เว้นแต่เป็นผู้ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ให้ทำหนังสือยืนยันการไม่ได้เสียภาษีพร้อมทั้งสาเหตุ ขณะที่การกำหนดหมายเลขผู้สมัคร ส.ส.จะแตกต่างกันไปในแต่ละเขตเลือกตั้ง รวมทั้งกำหนดให้มีการนับคะแนนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนในช่องทำเครื่องหมาย “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” ด้วย เพื่อให้เป็นไปตามกลไกที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญที่ระบุให้คะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนมีความหมาย ขณะเดียวกันหากในเขตเลือกตั้งใดที่ไม่มีผู้สมัครรายใดได้รับคะแนนเสียงมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด ผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมดในเขตนั้นจะไม่มีสิทธิได้รับเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นใหม่ในคราวนั้นด้วย

มีชัย ระบุด้วยว่า นอกจากนี้ กรธ.ยังได้กำหนดให้คณะกรรมการและ กกต. มีอำนาจตรวจสอบการเลือกตั้งในเชิงรุกมากขึ้น โดยมีอำนาจสั่งยับยั้ง หรือยกเลิกการเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ หากพบว่ามีการดำเนินการใดๆ ที่ทำให้การเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม พร้อมทั้งบัญญัติบทกำหนดโทษกรณีกระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้งไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่ระบุว่า ต้องไม่เป็นบุคคลที่เคยถูกลงโทษว่ากระทำการทุจริตต่อการเลือกตั้ง ทั้งนี้เพื่อเป็นความชัดเจน หากฝ่าฝืนจะถูกตัดสิทธิ

สำหรับ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. นั้น มีชัย กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้ยกร่างตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลักการการได้มาซึ่ง ส.ว. ส่วนสำคัญสุด คือ การแบ่งกลุ่มคัดเลือกเป็น ส.ว. และวิธีการคัดเลือก ซึ่ง กรธ.ได้ออกแบบมาให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องการให้ประชาชนทุกอาชีพ ทุกคุณลักษณะทั่วประเทศมีส่วนในการใช้สิทธิทางการเมืองโดยทั่วหน้า จึงแบ่งกลุ่มตามลักษณะต่าง ๆ และมีกลุ่มอื่น ๆ ไว้ ในกรณีที่อาจจะไม่เข้าคุณลักษณะกลุ่มที่กำหนดไว้ ซึ่งแต่ละคนมีสิทธิที่จะเลือกลงสมัครได้หลายที่ หากเกิด เคยศึกษา หรือเคยทำงานในสถานที่นั้น สำหรับวิธีการเลือก ส.ว.นั้น ได้พยายามคิดวิธีการเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงในการฮั้วกันได้ จึงใช้ทั้งวิธีจับสลากแบ่งสาย วิธีเลือกโดยจำกัดจำนวน เลือกไขว้กัน แต่ กรธ.ไม่ขัดข้องหากจะมีการเสนอวิธีอื่นที่ดีกว่านี้

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า สนช. ส่วนใหญ่ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว.ของ กรธ.ว่าจะสามารถป้องกันการฮั้วหรือทุจริตได้จริงหรือไม่ และยังไม่แน่ใจว่าวิธีการของ กรธ.จะดีกว่าการเลือกตั้งตรงของประชาชนอย่างไร ขณะที่บางส่วนเห็นว่าการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการวิสามัญอาจเป็นเรื่องยาก เนื่องจากข้อบัญญัติหลายเรื่องเขียนผูกโยงกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

สมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. ตั้งข้อสังเกตถึงวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว.จำนวน 200 คนที่มาจากการเลือกกันเองตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ก่อนส่งให้ คสช.คัดเลือกเหลือเพียง 50 คน ว่า อาจเกิดการบล็อกโหวตจากฝ่ายการเมืองที่ยอมเสียเงินจ้างคนของตัวเองเข้าไปตัดตอนตั้งแต่การเลือกระดับอำเภอ และแม้ว่าท้ายที่สุด คสช.จะคัดเลือกให้เหลือ 50 คน แต่ก็เป็น 50 คนใน 200 คนที่ส่งมาจากฝ่ายการเมืองอยู่ดี จึงเหมือนปรากฏการณ์ ยอมเสียเงิน 5,000 ล้านบาท ซื้อประเทศไทยทั้งประเทศ พร้อมยืนยันจะพยายามหาวิธีการแปรญัตติเพื่อป้องกันการบล็อกโหวตให้ได้

มีชัย ยอมรับว่า ปัญหาการบล็อคโหวตยังเป็นข้อกังวลใจ แต่จำเป็นต้องเดินหน้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งวิธีการของ กรธ.จะเป็นตัวพิสูจน์ว่าคนไทยได้พัฒนาไปมากน้อยเพียงใด เพราะถ้าเป็นไปตามข้อสังเกตของนายสมชาย แสดงว่าคนไทยซื้อได้ทั้งประเทศ ดังนั้นไม่ว่าระบบอะไรก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

 

ที่มา : เว็บไซต์วิทยุรัฐสภา และสำนักข่าวไทย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net