Skip to main content
sharethis

บอร์ดค่าจ้างไร้มติ เลื่อนไปเป็น 17 ม.ค.นี้ ประธานบอร์ดค่าจ้าง ยันขึ้นแน่แต่ไม่เท่ากันทุกจังหวัด ขณะที่รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ชงยกเลิกอนุ คกก.ค่าจ้างจังหวัด แนะ ประยุทธ์ ใช้ม.44 ปรับค่าจ้าง ยันตัวเลข 360 บาททั่วประเทศ

แฟ้มภาพ

11 ม.ค.2561 ความคืบหน้าการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ของคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) วานนี้ (10 ม.ค.61) คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า จรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้าง กล่าวว่า การประชุมบอร์ดค่าจ้างทั้ง 3 ฝ่าย เข้าร่วมประชุมพิจารณาการปรับค่าจ้าง ซึ่งมาประชุมครบทุกคน แต่พบกว่าตัวเลขที่อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอมาแต่ละพื้นที่ มีความแตกต่างกันมาก บางจังหวัดอัตราค่าจ้างต่ำ บางจังหวัดอัตราค่าจ้างสูงเกินไป บางจังหวัดไม่มีตัวแทนลูกจ้าง

“บอร์ดค่าจ้างจึงไม่สามารถสรุปอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ได้ ขอให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดกลับไปทบทวนอัตราค้าจ้าง ก่อนเสนอมาอีกครั้งในการประชุมบอร์ดค่าจ้างนัดต่อไปวันที่ 17 มกราคม 2561” จรินทร์ กล่าว

"ส่วนจะมีการปรับขึ้นเท่าไหร่ ต้องดูจากหลายปัจจัยประกอบ อาทิ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ความสามารถในการผลิต ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ รวมถึงศึกษาเทียบเคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหลังจากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ไม่มีการปรับขึ้นมา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2559 เพิ่งจะปรับ ในปีที่ผ่านมา สูงสุด 310 บาท” ประธาน บอร์ดค่าจ้าง กล่าว

ไทยพีบีเอส รายงานดวยว่า ประธาน บอร์ดค่าจ้าง ยืนยันว่าจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำทุกจังหวัด แต่ไม่เท่ากัน ส่วนตัวเลขอยู่ที่ 2-15 บาทหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับบอร์ดค่าจ้างทั้ง 3 ฝ่าย ที่จะพิจารณาจากข้อมูลที่อนุกรรมการค่าจ้างแต่ละจังหวัดเสนอตัวเลขเข้ามา 

คมชัดลึกออนไลน์ รายงานความเห็นของ ชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ด้วย โดย ชาลี กล่าวว่า การประชุมบอร์ดค่าจ้างวันนี้แม้ครบองค์ประชุม แต่เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดค้าจ้างแล้ว กลับมีข้อท้วงติงจากส่วนกลางมากมาย เหมือนไม่เชื่อใจอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด 76 จังหวัด ที่เสนอตัวเลขมามีความแตกต่างกัน จึงถูกตีตกไป ทำให้เสียเวลาในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ออกไปอีก

“ผมมองว่าบอร์ดค้าจ้าง ยื้อเวลาออกไปเรื่อยๆ อาศัยอนุกรรมค่าจ้างจังหวัดเป็นเกราะกำบัง หรือเป็นข้ออ้างในการเตะถ่วงไม่ยอมปรับค่าจ้างขั้นต่ำเสียที ผมขอเสนอให้ยกเลิกอนุกรรมการต่าจ้างจังหวัด เพราะเสนอตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำมาแต่ละครั้งก็ถูกส่วนกลางตำหนิหรือตีตกไปทุกครั้ง ทำให้เสียเวลาเสียโอกาส” ชาลี กล่าว

ชาลี กล่าวอีกว่า ควรจะมีหน่วยงานกลางหรือคนกลาง เช่น สถาบันทีดีอาร์ไอ หรือมหาวิทยาลัยทำการศึกษาวิจัยค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมกับประเทศไทย ที่นายจ้าง ลูกจ้างอยู่ได้ ทั้งนี้ในส่วนของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  ยังยืนยันตัวเลขเดิม ค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศที่ 360 บาท ส่วนข้อเสนอให้ปรับ2-15 บาทนั้น ในสภาพความจริงเป็นไปไม่ได้ เพราะเงิน 2 บาทแทบจะทำประโยชน์อะไรไม่ได้เลย

“ผมไม่มั่นใจว่า 17 ม.ค. 2561 บอร์ดค่าจ้างจะสามารถเคาะค่าจ้างขั้นต่ำปี2561ได้หรือไม่ ผมขอเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.ใช้ม.44 ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ จะดีกว่า”  รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าว

เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุม ครม. ถึงกรณีการปรับค่าแรงขั้นต่ำว่า เป็นเรื่องการพิจารณาหารือของคณะกรรมการ นายกรัฐมนตรีไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายการพิจารณาหารือในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาแล้ว โดยการพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำนั้น ต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรจะให้ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ถ้าหากมีการปรับขึ้นค่าแรงจะขึ้นเท่าไหร่ โดยจะมีการพิจารณาและดำเนินการอย่างเป็นธรรม ขอให้รอฟังผลการพิจารณาหารือ ซึ่งคาดว่าเร็วๆ นี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวขอความร่วมมือภาคเอกชนให้ทำความเข้าใจ หากผู้ประกอบการมีความเดือนร้อน รัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือหาวิธีการดูแล โดยเฉพาะมาตราการเงินและการคลัง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net