ผู้ใช้ พ.ร.บ.สุขภาพจิต ตอบประเด็นขังลืมผู้ป่วยจิตเวชในเรือนจำ

คุยกับผู้ใช้กฎหมายสุขภาพจิต กรณีผู้ป่วยจิตเวชในเรือนจำที่รักษาไม่หายและไม่สามารถกลับสู่กระบวนการพิจารณาคดีได้ ทำให้ต้องติดค้างอยู่ในเรือนจำจนหมดอายุความ พบปัญหาทรัพยากรไม่เพียงพอ ทั้งกรมราชทัณฑ์และกระทรวงสาธารณสุขทำงานภายใต้ข้อจำกัด ผู้ต้องขังกลุ่มนี้หากอยู่โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่าย 1 ล้านต่อคนต่อปี

  • กรมสุขภาพจิตและกระทรวงสาธารณสุขกำลังสร้างเครือข่ายกับเรือนจำในแต่ละพื้นที่เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถระบบบริการสุขภาพ รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรสาธารณสุขในเรือนจำในการคัดกรองผู้ป่วย
  • กรณีผู้ป่วยจิตเวชที่รักษาไม่หายและไม่สามารถกลับเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีได้ ทางกรมสุขภาพจิตรับรู้ปัญหาและพยายามให้การรักษา แต่เนื่องจากทรัพยากรมีจำกัดทำให้การดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การหาความสมดุลระหว่างระบบยุติธรรมและระบบสาธารณสุขในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้

 

ผู้ป่วยจิตเวชในเรือนจำยังมีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงการรักษา ผลจากปัญหาความแออัดในเรือนจำ บุคลากรไม่เพียงพอ ทรัพยากรจำกัด อีกทั้งข้อกฎหมายยังทำให้ผู้ต้องขังจิตเวชที่รักษาไม่หายหรือทุเลาไม่สามารถกลับสู่การพิจารณาคดีได้ จนทำให้ต้องอยู่ในเรือนจำจนหมดอายุความ

เราพูดคุยกับ นพ.อภิชาติ แสงสิน นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ในฐานะผู้ใช้ พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 ต่อประเด็นข้างต้นและแนวทางที่กำลังดำเนินการปรับปรุงการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยจิตเวชในเรือนจำ

“ปัญหาสุขภาพจิตในเรือนจำ กลุ่มผู้ต้องขังเป็นกลุ่มเฉพาะกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในระหว่างการต้องโทษ การเข้าถึงบริการสุขภาพ ไม่เฉพาะสุขภาพจิตก็มีข้อจำกัด เพราะเรือนจำก็ต้องมีการรักษามาตรฐานความปลอดภัย และด้วยภารกิจของราชทัณฑ์ที่ต้องคืนคนดีกลับสู่สังคม ทำให้เรื่องสุขภาพจิตหรือสุขภาพกายของผู้ต้องขังอาจยังไม่ได้เป็นเป้าหมายหลัก จึงเป็นที่มาว่ากระทรวงสาธารณสุขต้องเข้าไปทำเครือข่ายกับเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลในเรือนจำ เพื่อช่วยเหลือ ให้ความรู้ในการดูแล คัดกรอง คนไหนมีปัญหาจะได้เข้าสู่ระบบการรักษา เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกรมราชทัณฑ์กับกระทรวงสาธารณสุข”

ขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิตทำเครือข่ายกับเรือนจำ แต่ทางกรมไม่สามารถทำฝ่ายเดียวได้ เนื่องจากโรงพยาบาลในสังกัดมีจำนวนจำกัด เหตุนี้จึงมีการพยายามผลักดันให้โรงพยาบาลจังหวัดในแต่ละพื้นที่ที่มีจิตแพทย์ทำเครือข่ายกับเรือนจำเช่นกัน เพื่อจะเข้าไปตรวจรักษาผู้ต้องขัง โดยในส่วนของสถาบันกัลยาณ์ฯ มีการทำเครือข่ายมานานแล้ว แต่เนื้องานมีความเข้มข้นขึ้นและถูกกระจายไปสู่ส่วนอื่นๆ อย่างเข้มข้นขึ้นในช่วงสี่ห้าปีมานี้

เบื้องต้นที่ทางกรมสุขภาพจิตดำเนินการอยู่คือการให้องค์ความรู้ในการสังเกตอาการและพฤติกรรมจิตเวชกับบุคลากรของสถานพยาบาลในเรือนจำ และมีแบบคัดกรองต่างๆ ที่จะช่วยประเมินว่าผู้ต้องขังมีปัญหาสุขภาพจิตมากน้อยแค่ไหน ถ้ารุนแรงมากก็ต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา สถานพยาบาลในเรือนจำก็จะปรึกษากลับมาว่าจะรักษาอย่างไร จะให้ทีมแพทย์เข้าไปตรวจหรือไม่ อย่างไร

“แบบคัดกรองช่วยทำให้เราเจอผู้ป่วยมากขึ้น ผู้ต้องขังเข้าถึงกระบวนการรักษามากขึ้น”

เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะคัดกรองไม่พบผู้ป่วยจิตเวช ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา

“ความเห็นผม มันก็มีความเป็นไปได้ที่จะคัดกรองไม่เจอ เพราะอย่างที่รู้ว่าผู้ต้องขังมีจำนวนมากและแออัด แล้วความพิเศษของคนไข้จิตเวชคือไม่แสดงออก บางคนก็ไม่ขอความช่วยเหลือ ไม่เหมือนโรคทางกายที่มักจะขอความช่วยเหลือ

“มันเป็นความท้าทายที่เราต้องพัฒนาต่อ เพราะจำนวนคนไข้ที่เยอะ ณ ปัจจุบัน เราก็เจอมากขึ้น ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเป็นเพราะผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เพิ่มขึ้น แต่เราก็พูดไม่ได้เต็มปากว่าคนไข้ทั้งหมดจะถูกส่งมา เพราะการที่จะเป็นอย่างนั้น แปลว่าเราต้องคัดกรองถูกเคสและการคัดกรองต้องอาศัยผู้ที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ ซึ่งการใช้แบบคัดกรองก็มีโอกาสหลุด และคนที่ทำงานด้านนี้ก็มีจำกัด เอาเข้าจริงๆ แล้ว หน้างานที่เราทำ ถ้าเราเจอ คนไข้ได้รับการรักษาดูแลแน่นอน แต่ไม่กล้าพูดหรอกว่าเราเอาผู้ต้องขังทั้งหมดที่น่าจะป่วยออกมาจริงๆ”

นพ.อภิชาติ กล่าวอีกว่า การคัดกรองต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ แต่บุคลากรที่อยู่ในสถานพยาบาลเรือนจำเองก็มีอยู่น้อย ถ้าต้องคัดกรองทุก 6 เดือน สมมติว่าเรือนจำหนึ่งมีผู้ต้องขัง 4,000 คน มีพยาบาล 3 คน ย่อมไม่สามารถทำได้ และต้องไม่ลืมว่าบุคลากรในสถานพยาบาลไม่ได้ทำงานด้านจิตเวชอย่างเดียว แต่ยังทำงานด้านสุขภาพทั่วไปด้วย

“เงินก็จะไม่ใช่คำตอบอย่างเดียว คุณมีเงิน มีเวชภัณฑ์พอ แต่คนที่จะเอาเงิน เอาเวชภัณฑ์ไปใช้ ไม่มี จ้างเอาก็ไม่ได้ เพราะมันเป็นเรือนจำ อยู่ดีๆ จะเอาใครเข้าไปก็ไม่ได้ ผมอยากให้มองว่าขนาดประชาชนทั่วไป การเข้าถึงบริการทางจิตเวชก็ยังจำกัด ยิ่งไปอยู่ในเรือนจำ การเข้าถึงบริการสุขภาพก็ยิ่งจำกัดเข้าไปอีก มันก็ยิ่งยาก แต่ผมเข้าใจว่าผู้บริหารก็พยายามพัฒนาตรงนี้ แน่นอนว่าสาธารณสุขไม่ได้เลือกว่าเราจะดูแลเฉพาะคนนี้ ไม่ดูแลคนนั้น”

ประเด็นมาตรา 36 พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 ที่ระบุว่า ‘ภายใต้บังคับมาตรา 14 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้สถานบำบัดรักษารับผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ควบคุมและบำบัดรักษาโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ต้องหาหรือจำเลย จนกว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหายหรือทุเลาและสามารถต่อสู้คดีได้ เว้นแต่พนักงานสอบสวนหรือศาลจะมีคำสั่งหรือมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

‘ให้จิตแพทย์ผู้บำบัดรักษาทำรายงานผลการบำบัดรักษาส่งให้พนักงานสอบสวนหรือศาลภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ ในกรณีที่จิตแพทย์เห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้รายงานผลการบำบัดรักษาทุกหนึ่งร้อยแปดสิบวัน เว้นแต่พนักงานสอบสวนหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

‘ในระหว่างการบำบัดรักษา เมื่อจิตแพทย์ผู้บำบัดรักษาเห็นว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการบำบัดรักษาจนความผิดปกติทางจิตหายหรือทุเลา และสามารถต่อสู้คดีได้แล้ว ให้รายงานผลการบำบัดรักษาต่อพนักงานสอบสวนหรือศาลทราบโดยไม่ชักช้า’

ข้อกฎหมายนี้ทำให้ผู้ต้องขังที่ไม่สามารถรักษาให้หายจนกลับเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีได้ต้องอยู่ในเรือนจำจนคดีหมดอายุความ นพ.อภิชาติ กล่าวว่า

“กรมสุขภาพจิตไม่ได้มีหน้าที่แก้กฎหมาย แต่กรมฯ ก็เห็นปัญหาตรงนี้อยู่ เราไม่ได้ละทิ้งคนเหล่านี้ เราเข้าไปรักษาอยู่เรื่อยๆ แต่การบอกว่าเราควรจะให้การช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้อย่างไร มันไม่ใช่แค่กรมสุขภาพจิตอย่างเดียว มันเป็นการประสานกันระหว่างระบบสุขภาพกับระบบยุติธรรมที่จะทำอย่างไรให้บุคคลเหล่านี้ได้รับการดูแลรักษาที่ดีที่สุด ถ้าเราจะบอกว่าคนเหล่านี้ป่วยทางจิต รักษาไม่หาย ก็ไม่ควรอยู่ในเรือนจำ ควรปล่อยออกมา ในแง่ระบบยุติธรรมก็มองว่า ถ้าปล่อยออกมาจะเป็นอันตรายต่อสังคมหรือไม่ ถ้าเราไม่มีเหตุผลมากพอที่จะบอกว่าเขาไม่อันตราย การอยู่ในเรือนจำอาจจะปลอดภัยมากกว่า เพราะในแง่ระบบยุติธรรม เขาต้องปกป้องสังคม แต่ในแง่สาธารณสุขก็มองว่าคนเหล่านี้ควรได้รรับการเยียวยารักษา อยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม มันก็เลยเป็นสิ่งที่ต้องสร้างสมดุล

“แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ดุลพินิจเหล่านี้ก็ขึ้นกับทางศาล ทางกระบวนการยุติธรรม มันมีเคสที่ตกค้างอยู่ในเรือนจำที่สู้คดีไม่ได้ แต่ก็มีอีกหลายๆ เคสที่ศาลจำหน่ายคดีและปล่อยให้ญาติรับไปดูแลภายใต้เงื่อนไข เคสเหล่านี้กระบวนการยุติธรรมก็ต้องมั่นใจว่าเคสเหล่านี้ปลอดภัย คืออย่างน้อยต้องมีคนควบคุมดูแล อย่างน้อยต้องเข้าถึงการรักษาสม่ำเสมอ เพราะถ้าไม่สามารถให้ความมั่นใจตรงนี้ได้ จะเสี่ยงปล่อยดีหรือไม่”

มีผู้ป่วยจิตเวชในเรือนจำกลุ่มนี้อยู่สักเท่าไหร่ นพ.อภิชาติ ตอบว่าหลักร้อย

“ล่าสุดที่ประชุมก็มีเป็นหลักร้อย แต่ถ้าตัวเลขอิงของราชทัณฑ์น่าจะแม่นยำกว่า เพราะเป็นฝ่ายที่ดูแล อย่างสาธารณสุขเอง เวลาเข้าไปสำรวจหรือประเมิน เป็นลักษณะของการเข้าไปรักษาและใช้สถิติ ความแม่นยำอาจจะไม่เท่ากับทางราชทัณฑ์ อย่างสถาบันฯ เอง เรือนจำในเขตที่เราดูแลคือเรือนจำพิเศษธนบุรีและทัณฑสถานหญิงธนบุรี ก็มีผู้ป่วยกลุ่มนี้อยู่หลายสิบ จึงเชื่อว่าถ้ารวมเรือนจำอื่นๆ ก็น่าจะมีเยอะกว่านี้”

ถึงจุดนี้อาจเกิดคำถามว่า แล้วเหตุใดจึงไม่ส่งตัวผู้ต้องขังกลุ่มนี้ไปไว้ในโรงพยาบาล นพ.อภิชาติ ตอบว่า

“ถ้าจะนำตัวบุคคลเหล่านี้ไปไว้ในสถานพยาบาล ก็ต้องถามว่าสถานพยาบาลพร้อมจะรองรับหรือไม่ มันไม่ใช่แค่ พ.ร.บ.สุขภาพจิต อย่างเดียว มันตั้งแต่วิธีพิจารณาความอาญา คือถ้าคนที่สู้คดีไม่ได้ก็ให้ส่งคนเหล่านี้ไปรับการดูแลรักษา ศาลก็จำหน่ายคดีไว้ ในช่วงนี้กฎหมายไม่ได้ระบุว่าต้องทำอย่างไร ใน พ.ร.บ. ก็ไม่ได้ระบุว่าต้องทำอย่างไร จำหน่ายคดีคือการพักการพิจารณา หายแล้วจึงนำมาพิจารณาต่อ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเรือนจำ ขึ้นอยู่กับว่าศาลจะให้ไปอยู่ที่ไหน ทีนี้ศาลจะให้ไปอยู่ที่ไหนขึ้นอยู่กับการพิจารณาว่าปลอดภัยต่อสังคมหรือไม่ มีคนดูแลหรือไม่ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ญาติก็ได้

“พูดง่ายๆ ตอนนี้กรมราชทัณฑ์และกระทรวงสาธารณสุขทำงานภายใต้ข้อจำกัด เงินที่ลงไปเป็นเงินก้อน แต่คนไข้กลุ่มนี้เวลาดูแลไม่ได้จบเป็นครั้งคราว ต้องดูแลต่อเนื่องเพราะเรื้อรัง สมมติคนไข้มาอยู่โรงพยาบาลเป็นปีๆ โรงพยาบาลจะเอาเงินมาจากไหน หรือกรมราชทัณฑ์เองก็เหมือนกัน จะเอาทรัพยากรมาดูแล เพราะคนกลุ่มนี้ต้องการการดูแลเป็นพิเศษมากกว่า ผู้ต้องขังทั่วไป ขณะเดียวกันถ้าคนกลุ่มนี้มาอยู่โรงพยาบาล ก็ต้องการการดูแลเป็นพิเศษมากกว่าผู้ป่วยทั่วไป”

นพ.อภิชาติ เล่าว่า มีผู้ป่วยจิตเวชต้องคดีที่รักษาไม่หายบางกรณีที่รักษาตัวอยู่ในสถาบันฯ ซึ่งเป็นคนไข้ที่ต้องการการดูแลพิเศษ กรณีผู้ป่วยกลุ่มนี้ โรงพยาบาลต้องรับผลขาดทุนต่อคนปีละเป็น 1 ล้านบาท คำถามคือโรงพยาบาลจะเอาเงินจากไหน

“มันจึงต้องดูและแก้ไปทีละปัจจัย เพราะการดูแลคนไข้กลุ่มนี้ต้องใช้ทรัพยากรมากกว่าคนไข้ทั่วไป ใช้ระบบการรักษาความปลอดภัยที่มากกว่า ปัญหานี้มองแบบเส้นตรงไม่ได้ การที่คนคนหนึ่งจะได้รับการดูแล อยู่ในกระบวนการรักษาที่เหมาะสม ต้องอาศัยหลายปัจจัยประกอบกัน ถ้าเรามองว่าคนไข้เยอะไป ก็ต้องหาคำตอบว่าจะทำอย่างไรให้คนไข้น้อยลง แล้วผู้ป่วยที่ป่วยอยู่แล้วจะทำอย่างไรให้น้อยลง จะเห็นว่ามีปัจจัยอื่นๆ เกี่ยวข้องอีกเยอะ”

นพ.อภิชาติ กล่าวว่า ต้องคุยกันว่าจะหาแนวทางปฏิบัติอย่างไรจึงจะเหมาะกับคนกลุ่มนี้มากที่สุด พอได้ข้อสรุปแล้วก็จะนำมาสู่กระบวนการที่ 2 คือพัฒนากระบวนการที่เหมาะกับคนกลุ่มนี้

“กฎหมายคงไม่ได้เขียนลึกถึงขนาดว่าคนไข้ต้องไปอยู่ที่ไหน อย่างไร แต่ถ้ามีระบบรองรับ ผมคิดว่าน่าจะพอตอบโจทย์การดูแลคนกลุ่มนี้ได้ เพราะแก้กฎหมายเป็นเรื่องใหญ่และก็ต้องรออีก แต่บางอย่างเราทำได้เลย เช่น ให้คนไข้เข้าสู่กระบวนการรักษาเราก็ทำได้เลย กฎหมายไม่ได้เขียนว่าต้องไปรักษาที่ไหน ไม่ได้ระบุวิธีการรักษา ผมกำลังจะบอกว่าถ้าเราทำระบบขึ้นมาแล้วกฎหมายปรับตามอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ”

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท