Skip to main content
sharethis

อุตสาหกรรมค้าบริการทางเพศเป็นแหล่งรายได้จำนวนมหาศาลของประเทศไทย เป็นอาชีพที่มีค่าตอบแทนงาม ในทางกลับกัน การค้าประเวณีเป็นสิ่งต้องห้ามทั้งในทางกฎหมายและสังคมไทย และไม่มีสวัสดิการขั้นพื้นฐานใดๆให้กับอาชีพนี้ โดยในบางครั้งภาครัฐโดยเฉพาะตำรวจบางกลุ่มที่มีส่วนทำให้ชีวิตของพวกเธอยากลำบากมากขึ้น สิ่งที่พวกเธอต้องการมีเพียงแค่ให้อาชีพนี้ไม่ผิดกฎหมายเท่านั้น

ภาพจาก: http://i.epochtimes.com

เป็นที่รู้กันว่าธุรกิจประเภทนี้สร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาล โดยในปี พ.ศ. 2555 ชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ อดีตนักการเมืองที่ผันตัวมาจากผู้ประกอบการสถานบริการอาบอบนวด เคยประเมินว่าอุตสาหกรรมค้าบริการทางเพศสร้างรายได้มากถึง 2 แสนล้านบาท หรือกว่า 8.4% ของงบประมาณแผ่นดินในปีนั้น อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังไม่มีการจัดระเบียบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานที่ การอนุมัติกฎหมาย หรือแม้กระทั่งการให้สวัสดิการพื้นฐานแก่ผู้ค้าบริการ ยิ่งไปกว่านั้นการค้าบริการทางเพศยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายที่ส่งผลให้ผู้ขายบริการใช้ชีวิตอย่างยากลำบากอีกด้วย แม้ว่าพวกเธอจะมองว่าเป็นอาชีพหนึ่งเหมือนอาชีพอื่นๆทั่วไป

ในทางกลับกัน ในต่างประเทศเช่นเยอรมันที่การค้าประเวณีถูกกฎหมายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เตรียมบังคับใช้กฎหมายจัดระเบียบค้าประเวณีในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยกฎหมายฉบับนี้ได้ครอบคลุมถึงการให้สวัสดิการผู้ขายบริการทางเพศ การตรวจโรค การจดทะเบียน รวมไปถึงข้อบังคับให้ผู้ซื้อบริการต้องสวมถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้ง ซึ่งนอกจากจะเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการแล้ว ผู้ค้าบริการทางเพศยังได้รับความคุ้มครอง และสวัสดิการที่เท่าเทียมเหมือนอาชีพอื่นๆ

ในประเทศไทย ผู้ขายบริการทางเพศมีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ทั้งการบัญญัติให้ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อบริการทางเพศมีความผิดตามกฎหมายพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ซึ่งส่งผลให้ทำงานอย่างลำบากและมีวิถีชีวิตที่ต้องระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ ผู้ขายบริการมีสถานะเป็นพลเมืองชั้นสองในสังคมไทย ที่ไม่มีสวัสดิการอย่างแรงงานอาชีพอื่นๆ อย่างเช่นสวัสดิการลาหยุด การรักษาพยาบาล หรือแม้กระทั่งประกันสังคม  แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากเลือกที่จะประกอบอาชีพดังกล่าวเพราะเป็นอาชีพที่ทำรายได้อย่างมากภายในระยะเวลาสั้นๆ เช่น หากเป็นพนักงานฟรีแลนซ์ ไม่สังกัดร้านใด อัตราค่าบริการจะอยู่ที่ 600-800 บาท ต่อการรับลูกค้าหนึ่งรอบ ซึ่งมากกว่าไปทำงานโรงงาน 10 ชั่วโมงที่บางครั้งต้องทำงานล่วงเวลาก็ไม่ได้ค่าแรงเพื่อเงิน 300 บาท  

ด้วยความเป็นพลเมืองชั้นสองนั้น แม้ว่าชีวิตของพวกเธอจะตกอยู่ในอันตรายจากทั้งลูกค้าไม่พึงประสงค์ ระวังตำรวจที่จะล่อซื้อ ผู้ขายบริการก็ยังต้องตกเป็นจำเลยทั้งทางกฎหมายและสังคม  แม้ว่าพวกเธอเหล่านั้นจะได้รับผลกระทบจากช่องว่างทางกฎหมายก็ตาม ซึ่งจุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นคนไม่เท่าเทียมกันกับคนในสังคม ทำให้พวกเธอใช้ชีวิตในอีกมาตรฐานหนึ่งที่ได้รับการปฏิบัติที่แย่กว่าคนทั่วไป

บทความนี้ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตการทำงานที่ไร้ซึ่งสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับ ผิดกฎหมาย และได้รับผลกระทบจากทัศนคติของสังคมไทยผ่านพนักงานบริการสองคน คือเบล (นามสมมติ) ผู้ประกอบการการค้าบริการทางเพศในคาราโอเกะวัย 43 ปี และเจน (นามสมมติ) พนักงานบาร์วัย 36 ปี ทั้งสองเปิดเผยมุมมองที่น่าสนใจหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นมุมมองของผู้ค้าบริการทางเพศและผู้ประกอบการต่อการมีสวัสดิการ  การทำงานของผู้ค้าบริการทางเพศ รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของภาครัฐ 

ทั้งละแวกที่เบลทำงานอยู่ เป็นร้านคาราโอเกะที่ไม่สามารถร้องเพลงได้จริงๆ แต่เป็นสถานบริการทางเพศโดยจะมีพื้นที่ให้ลูกค้าสามารถเลือกพนักงานที่ถูกใจได้ แต่เหตุที่เรียกว่าร้านคาราโอเกะ ก็เพื่อให้สามารถจดทะเบียนเป็นสถานประกอบการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยอัตราค่าบริการจะอยู่ที่ 400-600 บาทต่อรอบ และเนื่องจากทางร้านจะหักรายได้ครึ่งหนึ่ง พนักงานจึงต้องคิดโปรโมชั่นเพื่อให้ได้ทิปเพิ่ม เช่น ใช้ปาก 200 บาท จับนม 200 บาท ขึ้นให้ 200 บาท เหมาหมด 500 บาท 

สำหรับงานประเภทบาร์ จะมีลักษณะเป็น ‘เด็กนั่งดริ๊งค์’ โดยจะได้รับเงินตามจำนวนที่ลูกค้าสั่งโดยอัตราจะแตกต่างกันไปในแต่ละร้านตั้งแต่ดริ๊งค์ละ 50-200 บาท ในส่วนการมีเพศสัมพันธ์ จะเป็นครั้งละ 1,500-2,000 บาท หรือ 3,000-5,000 บาทหากเหมาทั้งคืน โดยลูกค้าจะต้องจ่ายค่าบาร์ 500 บาทหากต้องการพาพนักงานออกไป โดยจะต้องเป็นผู้หาสถานที่และออกค่าใช้จ่ายเองด้วย แต่ถึงแม้รายได้และลักษณะงานของทั้งสองคนจะต่างกัน พวกเธอก็ต้องเผชิญกับการกีดกันจากสังคมไทยในฐานะพนักงานบริการในลักษณะเดียวกัน

“เราเหมือนพลเมืองชั้นสอง ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์” ความในใจของพนักงานบริการ

เจนเผยว่าในปัจจุบัน พนักงานค้าบริการมีสวัสดิการพลเมืองทั่วไปเท่านั้น เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค หรือ ตรวจเลือดฟรีปีละสองครั้ง แต่ถ้าเป็นแรงงานข้ามชาติก็จะไม่มีสิทธิพลเมืองอะไรเลย ถึงแม้ว่าจะมีสวัสดิการพลเมืองประจำตัวอย่างเช่นการตรวจเลือดฟรี แต่ในความเป็นจริงแล้วคือพนักงานบริการเองที่ตกเป็นเป้าหมายที่ต้องบังคับให้ตรวจเลือด กลายเป็นว่าถูกสวัสดิการประจำตัวที่มีมาบังคับตัวเอง โดยสถานประกอบการบางแห่ง จะบังคับให้นำผลตรวจมายืนยันทุกสามเดือน หากพนักงานไม่ยืนยันตามกำหนด ต้องถูกหักค่าแรงวันละ 300 บาทจนกว่าจะมีผลตรวจมายืนยัน นอกจากนี้เจนยังรู้สึกว่าการตรวจโรคเป็นการปกป้องคุ้มครองผู้ใช้บริการมากกว่าที่จะปกป้องพนักงานบริการ นอกจากนี้ยังเผยอีกว่าผู้ขายบริการทางเพศจำนวนมาก ไม่ได้รับประกันสังคมจากทางสถานประกอบการ เนื่องจากทางร้านอาศัยช่องว่างทางกฎหมายโดยการจ่ายค่าแรงเป็นรายวัน ในเมื่อสถานะการทำงานเป็นพนักงานรายวัน จึงไม่จำเป็นต้องจ่ายสวัสดิการแบบพนักงานรายเดือนแบบอาชีพอื่นๆ

คุณภาพการให้บริการที่แย่ อันมาจากทัศนคติที่ไม่ดีต่อผู้ค้าบริการทางเพศ

เบลเผยว่า ในละแวกที่ทำงานอยู่ ภาครัฐมีสวัสดิการทั่วไปคือการให้บริการตรวจโรคทุกๆ 3 หรือ 6 เดือน ที่ศูนย์กามโรค มีการให้ยาต่างๆ โดยให้ไปตรวจกับสถานพยาบาลของรัฐ แต่เมื่อเจ้าหน้ารู้ว่าใครเป็นผู้ค้าบริการทางเพศ จะปฏิบัติต่อผู้ค้าบริการทางเพศอย่างไม่เป็นธรรม อย่างเช่น ในสถานตรวจกามโรค ผู้ให้บริการมักจะวิจารณ์อวัยวะเพศ ต่อว่าให้รักษาความสะอาด รวมไปถึงตรวจร่างกายอย่างรุนแรงจนผู้ขายบริการทางเพศไม่สามารถรับงานได้ เบลจึงต้องมารับยาต่างๆให้กับพนักงานในร้านที่ตนเองดูแลมาตลอดเนื่องจากไม่มีใครอยากเจอกับการปฏิบัติที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ และเมื่อเบลนำอุปกรณ์ป้องกันให้กับพนักงานที่ร้าน กลับถูกต่อว่าว่าทำให้พนักงานไม่ยอมมาตรวจที่ศูนย์กามโรค 

“การให้บริการไม่เป็นมิตรสักเท่าไหร่เลย ผู้ให้บริการใช้วาจาไม่สุภาพ เช่น ขนยาวเชียวหัดรักษาความสะอาดบ้างนะและการขึ้นขาหยั่งถ่างขาให้ตรวจภายในนี่ ใช่ว่า จะทำแบบเบามือนะ บางคนอุปกรณ์ที่ใช้ไม่ตรงกับอวัยะวะเพศเขา มันก็เจ็บ ไปตรวจกลับมาก็ไม่สามารถรับงานได้ ทีนี้ไม่ค่อยมีใครอยากไปตรวจ หันมาโทษพี่ หาว่า พี่เอาอุปกรณ์ป้องกันแจกเขาจนทำให้พนักงานบริการไม่มาตรวจ ” เบลกล่าว

กฎหมายที่ควบคุมการค้าประเวณีที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันคือพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ซึ่งระบุไว้ว่า “การค้าประเวณีมีสาเหตุสําคัญมาจากสภาพเศรษฐกิจและสังคม ผู้กระทําการค้าประเวณีส่วนมากเป็นผู้ซึ่งด้อยสติปัญญาและการศึกษา” จึงต้องมีการอบรมอาชีพต่างๆ เพื่อมุ่งเน้นป้องกันการค้าประเวณีต่อไปในอนาคตมากกว่าที่จะมอบสวัสดิการและความช่วยเหลือในการประกอบอาชีพของผู้ค้าบริการทางเพศ โดยมีบทลงโทษแก่ทั้งผู้ประกอบการและผู้ค้าบริการทางเพศ ข้อกฎหมายฉบับนี้สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติต่อผู้ค้าบริการทางเพศที่มี “คุณค่า” ต่ำกว่า เป็นผู้ด้อยโอกาส ที่เลือกเส้นทางชีวิตที่ลดเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากจะมีการยับยั้งไม่ให้เกิดการค้าประเวณีในอนาคตแล้ว ยังมีการปราบปราม โดยตราบทลงโทษแก่ผู้ที่ทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการค้าบริการทางเพศอีกด้วย เช่น มาตรา ๖ ผู้ใดเข้าไปมั่วสุมในสถานการค้าประเวณี เพื่อประโยชน์ในการค้าประเวณีของตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจํา ทั้งปรับ หรือ มาตรา ๑๑ ผู้ใดเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปีและปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท

นอกจากตัวบทกฎหมายที่มองความเป็นคนไม่เท่ากัน สังคมไทยที่ตีตราผู้ค้าบริการทางเพศยังทำให้การผลักดันให้เกิดสวัสดิการในอาชีพค้าบริการทางเพศเกิดขึ้นได้ยากขึ้น ในต่างประเทศมีการจดทะเบียนทั้งผู้ค้าบริการและสถานประกอบการเพื่อให้มั่นใจว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายและผู้ค้าบริการทางเพศจะได้รับสวัสดิการอย่างเท่าเทียมกัน แต่สำหรับประเทศไทยการจดทะเบียนเพื่อยืนยันและเปิดเผยตัวตนผู้ค้าบริการทางเพศเพื่อให้พวกเธอได้รับสวัสดิการท่ามกลางทัศนคติแง่ลบต่ออาชีพของพวกเธอในสังคมอาจจะเป็นความคิดที่ไม่ดีนัก เบลยังเผยอีกว่า ยังมีผู้ค้าบริการอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้บอกกับครอบครัวว่าทำอาชีพค้าบริการ แต่การให้มีสวัสดิการในแวดวงธุรกิจสีเทาเช่นนี้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เบลคิดว่าไม่มีพนักงานบริการที่ไหนต้องการจดทะเบียน “จดทะเบียนมันก็เหมือนประทับไว้ที่หน้าผากให้โลกรู้ว่าฉันคือผู้หญิงขายตัว” เจนให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องจดทะเบียนอีกด้วยว่าพนักงานบริการอาจรู้สึกไม่สบายใจหากให้ตำรวจเป็นหน่วยงานจดทะเบียนและเก็บประวัติ เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขายบริการและตำรวจยังเป็นอะไรที่ค่อนข้างนอกกฎหมายอยู่พอสมควร

“คนสองคน ปิดประตูเข้าไปกันก็ไม่มีใครรู้แล้วว่าทำอะไร”

เบลกล่าวว่า โดยปกติแล้วสถานประกอบการจะมีบริการถุงยางอนามัยอยู่แล้ว แต่สุดท้ายเมื่อถึงหน้างานจริงๆ ทางร้านก็ไม่มีทางทราบได้ว่ามีการป้องกันจริงๆหรือไม่ เพราะตัวพนักงานและลูกค้าอาจตกลงราคาในกรณีที่ไม่สวมถุงยางป้องกัน โดยทุกอย่างเป็นไปด้วยความสมัครใจและความพอใจของทั้งสองฝ่าย ในบางครั้งถึงแม้จะเกิดเหตุการณ์เช่น ลูกค้าต้องการถอดถุงยางกลางคัน พนักงานก็สามารถหยุดให้บริการและแจ้งกับสถานประกอบการได้ แต่เมื่อทุกอย่างยังต้องเป็นไปตามกระบวนการลับเฉพาะ สถานประกอบการจึงไม่มีการชดเชย หรือปลอบขวัญกับพนักงานอย่างเป็นรูปธรรม 

เช่นเดียวกันกับเจน เจนเผยว่าบางทีลูกค้าที่สนิทกันจริงๆ หรือบางครั้งมีความสัมพันธ์กับผู้ค้าบริการ บางทีก็มีการตกลงกันได้ว่าจะไม่สวมถุงยาง เคยมีกรณีที่พนักงานบริการรู้สึกมากกว่าความเป็นลูกค้ากับตำรวจที่มาล่อซื้อ ก็ไม่สวมถุงยางเช่นเดียวกัน บทสรุปของความสัมพันธ์นี้คือตำรวจที่มาล่อซื้อคนนั้นเป็นคนสอบปากคำเธอเอง พนักงานคนนั้นบอกว่าเธอเข้าใจ การล่อซื้อก็ต้องมีการมาตีสนิท เธอแค่รู้สึกอายแทนตำรวจคนนั้นมากกว่า 

“เวลาตำรวจมาล่อซื้อ เขาก็จะทำทีตีสนิทกับเจ้าของร้าน หรือพนักงาน มาบ่อยๆ แต่ถ้ามาคุยเฉยๆแต่ไม่ซื้อมันก็แปลก เคยคุยกับน้องคนหนึ่งที่เขารู้สึกกับตำรวจที่มาล่อซื้อเกินกว่าคำว่าลูกค้า สุดท้ายตำรวจคนนั้นเป็นคนสอบปากคำน้องเขาเอง เขาก็นั่งอยู่กับตำรวจคนอื่น น้องเขาก็ไม่ได้รู้สึกโกรธอะไรแต่แค่รู้สึกอายแทนตำรวจคนนั้นมากกว่าที่ต้องเล่ารายละเอียดทุกอย่างให้คนอื่นรับรู้ด้วย” เจนกล่าว

 “ส่วย” และความสัมพันธ์แบบลับเฉพาะที่ขวางกั้นสวัสดิการ

แน่นอนว่าเมื่อผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐอย่างตำรวจก็ต้องมีหน้าที่จับกุมโสเภณีด้วยวิธีที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการบุกทลายซ่อง หรือการล่อซื้อ แต่ในบางครั้ง ความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจบางกลุ่มและโสเภณีก็เป็นไปในทิศทางที่ ”เบี่ยงออก” ไปจากกฎหมายในเมื่อประเทศไทยยังไม่บัญญัติให้การค้าประเวณีเป็นเรื่องถูกกฎหมาย กระบวนการต่างๆไม่ว่าจะเป็นการทำงานของผู้ขายบริการ หรือภาครัฐ โดยเฉพาะตำรวจ จึงยังมีลักษณะ “ลับเฉพาะ” ตำรวจเป็นความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและการค้าประเวณีที่มีอยู่จริงและชัดเจนที่สุด เพื่อที่ตั้งสถานประกอบการได้ การจ่ายส่วยให้ตำรวจบางกลุ่มในพื้นที่เป็นสิ่งจำเป็น หรือหากเป็นผู้ขายบริการทางเพศตามแหล่งสาธารณะต่างๆ ผู้ขายบริการต้องหักรายได้ตัวเองส่วนหนึ่งให้ตำรวจเช่นกัน การที่ตำรวจนั่งรอโสเภณีขายบริการทางเพศแล้วนำเงินมาให้ แม้จะเพียง 50 บาท ถือเป็นเรื่องปกติมาก

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขายบริการทางเพศกับตำรวจมีความไม่มั่นคงแน่นอน ตำรวจบางทีก็บุกจับสถานประกอบการที่ตัวเองได้รับส่วยอยู่ดีหากถึงเวลาที่ต้องทำผลงาน และถึงแม้ว่าทางร้านจะจ่ายส่วยให้กับตำรวจแล้ว แต่บางครั้งตำรวจก็เรียกส่วยจากพนักงานเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการจับแบบ “หลอกๆ” ทั้งเบลและเจนเผยถึงกลวิธีการทำผลงานของตำรวจบางคน ซึ่งจะเป็นตำรวจที่ได้รับส่วยอยู่แล้ว คือ ตำรวจจะเข้ามาคุยกับทางสถานประกอบการว่าต้องการทำผลงาน  จึงขอพนักงานขายบริการในร้านหนึ่งหรือสองคนไปลงชื่อ ถ่ายรูป เก็บประวัติ แล้วทางตำรวจจะปล่อยกลับไป หากในละแวกของเบลพนักงานบริการจะต้องเสียค่าปรับคนละ 200 บาทอีกด้วย โดยจะมาทุกๆ 4 เดือนเป็นฤดูการทำผลงาน ส่วนในละแวกของเจนตำรวจที่ต้องการทำผลงานจะมาช่วงต้นปี มิถุนายน และช่วงตุลาคม โดยพนักงานในร้านจะมีการเรียงลำดับตามคิวไปเรื่อยๆ

ไม่ใช่ผู้แพ้ แต่ก็ต้องดูแลกันเอง

ทัศนคติในสังคมไทยที่มองว่าผู้ขายบริการทางเพศขัดกับหลักศีลธรรมอันดี เบลจึงไม่คิดว่าการมีสวัสดิการจะเป็นความจริงขึ้นมาได้ โดยเห็นได้จากการมีบริการต่างๆในปัจจุบันนี้อยู่แล้วที่พนักงานรัฐดูถูก และใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ นอกจากนี้ยังมีเรื่องความตกลงใจของสถานประกอบการด้วย ว่าจะยอมรับตอบตกลงข้อเสนอของภาครัฐว่าต้องการให้ถูกกฎหมายหรือไม่ หากผลประโยชน์ไม่ลงตัว เบลก็มองว่าทางร้านคาราโอเกะที่เบลทำอยู่ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำให้ถูกกฎหมาย เบลยังเผยอีกว่าหากมีลูกค้าสร้างความวุ่นวาย เราก็สามารถแจ้งตำรวจที่ทางสถานประกอบการจ่ายส่วยให้มาจัดการได้ แต่เนื่องจากว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ลับเฉพาะ ไม่เป็นทางการ คุณภาพในการช่วยเหลือสถานประกอบการและพนักงานถึงไม่ดีนัก หากเกิดเหตุอะไรก็ต้องช่วยกันเองไปก่อนกับสถานประกอบการแถวๆนั้น

ในส่วนของเจนเองก็เช่นกัน ที่พนักงานบริการต้องเอาตัวรอดกันเองเมื่อเจอลูกค้าที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ใช้ความรุนแรง หรือ เมา  การไม่มีสวัสดิการทำให้ทุกปัญหาที่สถานประกอบการและพนักงานขายบริการต้องเจอ ไร้ซึ่งการชดเชยหรือเยียวยา เบลกล่าวว่าตอนนี้ตนเองก็เป็นอาสาสมัครมูลนิธิที่ช่วยเหลือผู้หญิงและผู้ขายบริการทางเพศอยู่ โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือเช่นเรื่องการให้การรักษาพยาบาล หรือเป็นที่ปรึกษาปัญหาในการทำงาน ในเมื่อทั้งระบบของทางภาครัฐ และทัศนคติในสังคมไทยบีบบังคับให้เป็นการค้าบริการทางเพศเป็นเรื่องลับเฉพาะแบบนี้ สวัสดิการไม่มีทางเกิดขึ้นได้แน่นอน ซึ่งพวกเธอเหล่านั้นก็ต้องได้แต่ดูแลกันเองไป 

“ไม่ต้องถูกกฎหมายหรอก แต่อย่าผิดกฎหมายเลย”

เบลคิดว่าการที่โสเภณีจะได้รับสวัสดิการแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในประเทศไทย แม้แต่ทำให้ถูกกฎหมายยังยาก เบลกล่าวว่าด้วยเหตุผลที่นอกจากจะไม่มีใครอยากจดทะเบียนป่าวประกาศว่าตนเองเป็นผู้ขายบริการทางเพศแล้ว สถานประกอบการทุกวันนี้ถึงแม้จะไม่พอใจที่ต้องจ่ายส่วย แต่หากภาครัฐต้องการให้ถูกกฎหมายแต่เก็บภาษี หรือค่าธรรมเนียมต่างๆ (หรือส่วยแบบถูกกฎหมาย) ในราคาที่สูงเกินไป สถานประกอบการก็ไม่เห็นว่าจะมีความคุ้มค่าและได้ประโยชน์อะไรจากการทำให้ถูกกฎหมาย ความสัมพันธ์แบบลับเฉพาะจึงต้องดำเนินต่อไป คุณภาพชีวิตของผู้ขายบริการจริงๆจึงต้องลับเฉพาะตามไปด้วย

เจนแสดงความเห็นว่าไม่ต้องทำให้ถูกกฎหมายก็ได้ แต่ควรยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เพื่อให้การซื้อขายบริการทางเพศเป็นเรื่องส่วนตัวที่เป็นไปอย่างสมัครใจทั้งสองฝ่าย หากตรากฎหมายแล้วทำให้สร้างเงื่อนไขเพิ่ม เกิดความไม่เท่าเทียมและเลือกปฏิบัติ ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงปัญหาการค้าประเวณีในสังคมไทยมากกว่าเดิม สิ่งที่เจนต้องการมีเพียงแค่ความเท่าเทียมกันทางกฎหมายเฉกเช่นแรงงานอาชีพอื่นๆ มีสวัสดิการแรงงานที่ไม่มีการเลือกปฎิบัติ มีกระบวนการคุ้มครองตามกฎหมายตามสิทธิพลเมืองทั่วไป  “พี่รู้สึกว่าเราไม่เท่าเทียมกันกับคนในสังคม เขามุ่งที่จะปกป้องคนในสังคม แต่ไม่ได้ปกป้องพวกเรา”

ด้วยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน และการไม่มีสวัสดิการแรงงานขั้นพื้นฐานอย่างเช่นอาชีพอื่นๆทำให้พวกเธอมีชีวิตที่ยากลำบาก แต่การบัญญัติให้เป็นกฎหมายนั้นก็อาจจะเป็นการสร้างเงื่อนไขให้พวกเธอมีข้อจำกัดในการทำงานทางอ้อมเช่นกัน ซึ่งก็ถือเป็นการเลือกปฏิบัติในอีกแง่หนึ่งเฉกเช่นเดียวกันกับการบัญญัติให้ผิดกฎหมาย ยกตัวอย่างในประเทศสิงคโปร์ที่การค้าประเวณีถูกกฎหมาย แต่มีเงื่อนไขต่างๆที่กำหนดเป็นข้อลงโทษ เช่นห้ามโฆษณาเรื่องเพศ  ห้ามใช้สถานที่สาธารณะในการค้าประเวณี นอกจากนี้ผู้ขายบริการทางเพศยังต้องผ่านการตรวจสุขภาพและได้รับ “บัตรเหลือง”  (Health Card) โดยต้องทำงานให้สถานประกอบการตามที่ระบุไว้ในบัตรเหลืองเท่านั้น เช่น หากต้องการที่พักอาศัยที่สถานประกอบการจัดหาให้ จะต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน 150 ครั้ง  และเมื่อออกไปข้างนอกจะต้องกลับมาทำงานให้ตรงเวลา หากมาสายก็จะถูกหักเงินทุก 5 นาที เป็นเงิน 50 เหรียญสิงคโปร์ (ค่าขายบริการครั้งละ 50 เหรียญสิงคโปร์ หรือ 1,285 บาท)

จะเห็นได้ว่าการบัญญัติให้การค้าประเวณีเป็นเรื่องถูกกฎหมาย แต่ตัวกฎหมายเองกลับมีเงื่อนไข และบทลงโทษที่สร้างความลำบากให้กับการใช้ชีวิต และไม่เท่าเทียมกับอาชีพอื่นๆ ที่ไม่มีข้อบังคับที่สร้างความลำบากให้กับการทำงาน ในทางกลับกัน แรงงานอาชีพอื่นไม่มีบทลงโทษที่บัญญัติขึ้นโดยเฉพาะให้กับอาชีพนั้นๆ และไม่มีแม้แต่พระราชบัญญัติที่ประกาศว่าเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าตราบใดที่คุณค่าความเป็นคนของผู้ขายบริการทางเพศยังไม่เท่าเทียมกับคนทั่วไปในสังคม การเลือกปฏิบัติก็เกิดขึ้นได้ทั้งในรูปแบบที่ผิดกฎหมาย และถูกกฎหมาย ที่เอาสวัสดิการ เช่นการตรวจโรค หรือสิทธิพื้นฐาน มาบังคับใช้เป็นกฎเกณฑ์จนทำร้ายตัวผู้ขายบริการเอง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net