Skip to main content
sharethis

ตกผลึกบทเรียนการเลือกตั้งกัมพูชาเมื่อ 29 ก.ค. ที่ผ่านมาจากคนที่ลงไปสังเกตการณ์เลือกตั้งที่ไม่มีฝ่ายค้าน สื่อถูกปิด รัฐบาลแก้กฎหมายให้ตัวเองเดินสะดวก องค์กรต่างชาติประณามเลือกตั้ง หวั่นประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชนกู่ไม่กลับเพราะรัฐธรรมนูญถูกแก้

  • การเลือกตั้งระดับชาติในกัมพูชาที่เพิ่งจบลงยังไม่ประกาศคะแนนจนกระทั่งราวกลางเดือนนี้
  • แต่พรรค CPP ก็ได้รับการลงคะแนนเสียงไปถึงร้อยละ 76.78 โดยพวกเขาคาดการณ์ว่าจะได้ที่นั่งครบ 125 ที่นั่งหรือเต็มสภาโดยไม่มีฝ่ายค้าน
  • การเลือกตั้งเกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศของความหวาดกลัว เจ้าหน้าที่รัฐและพรรครัฐบาลใช้ทุกอย่างที่มีเพื่อให้คนออกไปเลือกตั้ง
  • มีรายงานว่านายจ้างบังคับให้ลูกจ้างออกไปเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้นจะถูกไล่ออก พระพรรษาสูงกว่าบังคับให้พระพรรษาน้อยกว่าไปเลือกตั้ง
  • องค์กรต่างประเทศรายงานว่ามีการข่มขู่ คุกคามผู้คนเพื่อให้ไปเลือกตั้ง รวมถึงยื่นข้อเสนอเรื่องการเงินให้ด้วย เรียกว่าใช้ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็ง
  • องค์กรต่างประเทศกังวลว่าการเลือกตั้งเป็นเพียงหน้าฉากของประชาธิปไตยที่ตายลง เพราะรัฐธรรมนูญที่ถูกแก้หลายข้อนั้นจะลิดรอนระบอบการเมืองและสิทธิมนุษยชนของกัมพูชาในระยะยาว

จบลงแล้วสำหรับการเลือกตั้งกัมพูชาเมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา ด้วยชัยชนะของพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ของฮุนเซน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของกัมพูชาที่ครองอำนาจบริหารสูงสุดของกัมพูชามาแล้วทั้งสิ้น 33 ปี แบบไม่มีการพลิกโผใดๆ
 

ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาชนกัมพูชาไปลงคะแนนเลือกตั้งเมื่อวันที่ 29 ก.ค. อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งครั้งนี้ถูกวิจารณ์ว่าไม่เป็นไปอย่างเสรีเพราะมีการยุบพรรคฝ่ายค้านคู่แข่งอย่างพรรคสงเคราะห์ชาติ (ที่มา: Facebook/Samdech Hun Sen, Cambodian Prime Minister)

ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาหาเสียงวันสุดท้ายที่พนมเปญ เมื่อ 27 ก.ค. 2561 (ที่มา: Facebook/Samdech Hun Sen, Cambodian Prime Minister)

โดย ไทยรัฐรายงานว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งกัมพูชา (กกต.) จะยังไม่ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจนถึงกลางเดือน ส.ค. ทั้งนี้ ในเว็บไซต์ของ กกต. ได้ประกาศคะแนนดิบออกมาแล้ว โดยพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ได้คะแนนไปทั้งสิ้น 4,875,189 เสียง คิดเป็นร้อยละ 76.78 พรรคฟุนซินเปกที่นำโดยสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ ที่ประสบอุบัติเหตุรถชนจนได้มารักษาตัวที่กรุงเทพฯ ได้คะแนนไป 373,526 เสียง คิดเป็นร้อยละ 5.88 ตามมาด้วยพรรคสัมพันธ์เพื่อประชาธิปไตย (LDP) ได้ไป 308,292 เสียง คิดเป็นร้อยละ 4.86 แต่ทางพรรค CPP ก็ประกาศชัยชนะอย่างมั่นใจว่าพวกเขาได้ที่นั่งในสภาล่าง ‘ทุกที่นั่ง’ คือได้รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร 125 ที่นั่งเต็ม

หากเป็นเช่นนั้นจริงย่อมหมายความว่าพรรค CPP และฮุนเซนจะครองอำนาจต่อไปอีกอย่างน้อยห้าปีตามวาระ และมีกำลังมากกว่าเดิมเพราะสภาไม่มีฝ่ายค้านเลย  

การเลือกตั้งครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางสองสนามพลัง หนึ่งคือเสียงค่อนแคะ วิพากษ์วิจารณ์ของนานาชาติเรื่องความเสรีและยุติธรรมหรือที่เรียกว่า ‘ฟรีและแฟร์’ เพราะรัฐบาลพรรค CPP ยุบพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ไปเมื่อปีที่แล้ว ควบคุมการแสดงออกความเห็นทางการเมืองของประชาชน ปิดสื่ออิสระและมีการขอร้องแกมบังคับให้ประชาชนไปลงคะแนนเสียง ส่วนอีกด้านหนึ่งคือความพยายามในการทำให้การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับ รัฐบาลกัมพูชาและ กกต. ระบุว่ามีผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งที่มาจากในประเทศจำนวนกว่า 80,000 คนจาก 112 องค์กร และผู้สังเกตการณ์ฯ ต่างชาติจำนวนกว่า 342 คนจาก 42 ประเทศ องค์กรและสถานทูต (กล่าวจำนวนแบบรวมๆ)  และการสนับสนุนจากนานาประเทศ เช่นจีนและรัสเซีย เป็นต้น

แม้จะยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่าเก้าอี้ในสภาตัวไหนจะเป็นของใครบ้าง แต่การเลือกตั้งที่เพิ่งจบไปมีเหตุการณ์และกระบวนการหลายอย่างที่น่านำมาถอดบทเรียนในวันที่ประเทศไทยเองก็กำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้งที่ประชาชนไม่มีสิทธิ์จะรู้ว่ามันอยู่ที่ไหนและเมื่อไหร่

เลือกตั้งกัมพูชา 101: ใครเป็นใครในมหกรรมเข้าคูหาที่อาจไม่เสรี-ไม่แฟร์

เสียงจากคนลงพื้นที่เล่าแรงกดดันของชาวกัมพูชา

เป็นที่ทราบดีว่าการเลือกตั้งในกัมพูชาครั้งนี้เกิดขึ้นบนเงื่อนไขที่พรรครัฐบาลไม่มีคู่แข่งเนื่องจากพรรคฝ่ายค้าน CNRP ถูกยุบจากคำตัดสินของศาลฎีกาไปเมื่อเดือน พ.ย. 2560 คำพิพากษายังมีผลให้สมาชิกพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองถึง 5 ปี คำพิพากษาส่งผลให้สมาชิกพรรคจำนวนมากลี้ภัยไปต่างประเทศหรือเก็บตัวในประเทศอย่างเงียบๆ ศาลฎีกาได้อำนาจในการยุบพรรคจากการแก้กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2540 ที่ถูกแก้ไขเมื่อปี 2560 ให้ศาลฎีกามีอำนาจในการยุบพรรค

นอกจากนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งประกอบด้วยพรรค CPP เป็นเสียงข้างมากก็บัญญัติกฎหมายว่าด้วยองค์กรและศาล พ.ร.บ. ว่าด้วยผู้พิพากษาและอัยการ และกฎหมายว่าด้วยโครงสร้างและหน้าที่ของสภาคณะผู้พิพากษาสูงสุด โดยสาระสำคัญหนึ่งของกฎหมายเหล่านี้คือการเพิ่มบทบาทให้ รมว.กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงยุติธรรมมีส่วนในการกำหนดกลไกด้านการบริหาร งบประมาณฝ่ายตุลาการ พิจารณาโยกย้าย เลื่อนตำแหน่ง ปลดหรือดำเนินการทางวินัยต่างๆ กับตัวผู้พิพากษา ซึ่งเท่ากับว่าฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายตุลาการ

ในปี 2558 สภานิติบัญญัติยังออกกฎหมายบังคับให้เอ็นจีโอต้องจดทะเบียนกับรัฐบาล ให้อำนาจรัฐบาลในการปฏิเสธการจดทะเบียนได้ และยังให้ความหมายต่อหน้าที่ของเอ็นจีโอว่าต้องเป็นกลางต่อพรรคการเมืองทั้งหลาย

รัฐบาล CPP ยังได้ดำเนินการปิดสื่ออิสระที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเดือน ส.ค.- ก.ย. 2560 รัฐบาลกัมพูชาสั่งปิดหนังสือพิมพ์อิสระภาษาอังกฤษ เดอะแคมโบเดียเดลี โดยอ้างว่าสำนักข่าวไม่ได้จ่ายเงินภาษีมูลค่า 6.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 19 ล้านบาท แคมโบเดียเดลีเป็นหนึ่งในสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอยู่เรื่อยๆ รัฐบาลยังได้สั่งเพิกถอนใบอนุญาตแพร่ภาพกระจายเสียงของสำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย วอยซ์ออฟเดโมเครซีและวอยซ์ออฟอเมริกา ด้วยเหตุผลด้านภาษีและสถานะการจดทะเบียน เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา สื่อใหญ่อย่างพนมเปญโพสท์ถูกเทคโอเวอร์กิจการโดยนายทุนชาวมาเลเซียที่มีความสนิทสนมกับฮุนเซน

ฟิล โรเบิร์ตสัน รักษาการแทนผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลในงานแถลงข่าวกรณีประชาธิปไตยในการเลือกตั้งกัมพูชาในวันนี้ (24 ก.ค. 2561) ว่าปัจจุบันมีสถานีวิทยุ 32 แห่งถูกปิดไปแล้ว

ภาพของสภาที่มี ส.ส. จากพรรครัฐบาลเป็นเสียงข้างมากออกกฎหมายให้รัฐบาล CPP แหย่ขาไปมีบทบาทในฝ่ายตุลาการ ออกกฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ และให้อำนาจศาลให้ยุบพรรคการเมือง ที่ค่อยๆ ทำมาตั้งแต่ปี 2558 แม้จะพยายามไม่มองว่าจงใจเพียงใด ก็ยังแสดงให้เห็นว่าพรรครัฐบาลมีเจตนาที่จะสืบอำนาจผ่านการเลือกตั้งที่ตนเองตั้งใจเตะตัดขาคู่แข่งที่ใหญ่ที่สุดไป

ในวันเลือกตั้งจริง สภาวการณ์ในประเทศก็สะท้อนความอึดอัดของประชาชนอย่างชัดเจน เมื่อภาครัฐใช้กลไกที่ตัวเองมีบังคับให้คนไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

ฮุนเซน ทักทายกับผู้สังเกตการณ์ต่างประเทศ หลังการหาเสียงเมื่อ 27 ก.ค. 2561 ทั้งนี้ในรายงานของสเตรทไทม์ระบุว่าสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปปฏิเสธที่จะส่งผู้สังเกตการณ์ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ ในขณะที่มีสมาชิกพรรคการเมืองแนวขวาจัดและประชานิยมจากสหราชอาณาจักร อิตาลี เบลารุส และอินเดีย มาสังเกตการณ์การเลือกตั้งด้วย (ที่มา: ภาพจาก Apsara TV Cambodia)

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา มีการจัดเวทีหัวข้อ ‘หลังมรณกรรมของประชาธิปไตยในกัมพูชา - Post-Mortem for Cambodia Democracy’ ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondents' Club of Thailand - FCCT) โดยมีจอห์น คาวานอห์ ผู้อำนวยการประจำประเทศกัมพูชาของสถาบันประชาธิปไตยแห่งชาติ (NDI) ที่ถูกสั่งห้ามเข้าประเทศกัมพูชามาตั้งแต่ปี เซจิน คิม ผู้จัดการโครงการจาก FORUM-ASIA คาเรล เจียน อันโตนิโอ เจ้าหน้าที่โครงการด้านการรณรงค์จากเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL) ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการประจำทวีปเอเชียจากองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ และคิงส์ลี แอบบอท ที่ปรึกษาอาวุโสด้านกฎหมายจากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) เป็นแขกรับเชิญ โดยประเด็นที่น่าพูดถึงคือประสบการณ์ของพวกเขาบางคนที่ไปลงพื้นที่ในวันเลือกตั้งมา

คิงส์ลีย์กล่าวว่า ในวันเลือกตั้งตนหยิบหนังสือพิมพ์ที่โรงแรมอ่านหลังตื่นนอนก็พบแต่การเขียนถึงการเลือกตั้งว่าเป็นเจตนารมย์แห่งประชาธิปไตย มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ กกต. ได้พูดโทรโข่งให้คนไปออกเสียงเลือกตั้ง มีเจ้าหน้าที่รัฐและทหารขอดูนิ้วของประชาชนว่าได้ไปเลือกตั้งแล้วหรือยัง

คาริล หนึ่งในทีมสังเกตการณ์การเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการของ ANFREL กล่าวว่า เขาและทีมได้สังเกตการณ์การเลือกตั้งที่กรุงพนมเปญและพบว่ามีบรรยากาศของความอึดอัดด้านการแสดงความเห็น และความอึดอัดนั้นได้ทำให้ประชาชนเข้าสู่สภาวะยอมจำนนในวันเลือกตั้ง

“ในภาพรวมเราเห็นบรรยากาศของการยอมจำนวนของประชาชน พวกเขารู้สึกไม่มีทางออกจากสถานการณ์ที่พวกเขาเจอ เงื่อนไข (ที่เจอ) นั้นเข้มมากถึงขั้นว่าพวกเขาไม่สามารถพูดคุยว่าพวกเขาคิดเห็นกับการเมืองอย่างไร พวกเขาไม่สามารถปรากฏตัวหลังจากเลือกตั้งโดยไม่มีหมึกติดที่มือด้วยซ้ำ” คาริลกล่าว เขายังอ้างรายงานจากแหล่งข่าวด้วยว่ามีนายจ้างบังคับให้ลูกจ้างไปลงคะแนนเสียง ไม่เช่นนั้นจะถูกไล่ออก

คาริลกล่าวเพิ่มเติมว่า การมีบัตรเสียจำนวนถึงร้อยละเก้า หรือเกือบหกแสนคน เป็นจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อนที่มีบัตรเสียเพียงร้อยละหนึ่ง นับเป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถามว่าเกิดขึ้นเพื่อเป็นการประท้วงการเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้งเหล่าผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งที่ กกต. พยายามอ้างว่ามีผู้สังเกตการณ์ถึง 80,000 คนนั้นก็มีข้อสงสัยเรื่องความเป็นอิสระ เพราะครึ่งหนึ่งเป็นองค์กรที่สังกัดลูกชายของฮุนเซนและรองนายกฯ เมินสัมอัน

ฟิลเองก็ให้ความเห็นเหมือนกันว่าบัตรเสียจำนวนมากสะท้อนความพยายามประท้วงบางอย่าง และกล่าวว่ารัฐบาลพยายามใช้เครื่องมือทุกอย่างที่มีให้คนไปเลือกตั้ง มีรายงานว่ามีพระสงฆ์ที่พรรษาสูงกว่าสั่งให้พระสงฆ์ที่พรรษาน้อยกว่าไปเลือกตั้ง โดยเขาคาดว่าการรณรงค์ให้คนออกไปเลือกตั้งเป็นมาตรการโต้ตอบแคมเปญคว่ำบาตรการเลือกตั้งของฝั่งฝ่ายค้าน CNRP ที่ถูกยุบพรรคไป

องค์กรต่างชาติประณามเลือกตั้ง หวั่นประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชนกู่ไม่กลับเพราะรัฐธรรมนูญถูกแก้

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน หลักนิติรัฐและการเลือกตั้งเสรีต่างแสดงความกังวลกับการเลือกตั้งที่เพิ่งเกิดขึ้น ไม่เพียงแต่ในเรื่องพฤติการณ์การเลือกตั้งที่น่าอึดอัดใจและไม่ยุติธรรม แต่กลับหวั่นว่าลิเกเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งของวิกฤตด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา เนื่องจากรัฐธรรมนูญถูกพรรครัฐบาล CPP แก้ไขใจความในด้านที่ลิดรอนสิทธิ เสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตยลง

ข้อมูลการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนของเหล่านักปกป้องสิทธิในกัมพูชาจาก FORUM-ASIA รายงานว่า ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2559 - ก.ค. 2561 มีนักปกป้องสิทธิถูกคุกคามจำนวน 119 คนเท่าที่มีบันทึกไว้ ร้อยละ 60 กว่าของเหยื่อเป็นเอ็นจีโอและนักสิทธิด้านสิทธิที่ดินและสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 16 เป็นนักกิจกรรมรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย และมีการละเมิดสิทธิ เสรีภาพทั้งหมด 17 ชนิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำเองกว่าร้อยละ 75 จากการละเมิดทั้งหมด

คิงส์ลีย์แสดงความเห็นในแถลงการณ์จาก ICJ ว่าการใช้กฎหมายของรัฐบาลกัมพูชาในทางที่ผิดจะทำให้ประเทศชาติเสียหายในระยะยาว ระบุว่าจากการสังเกตการณ์สถานการณ์การเมืองและสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา พบว่าที่ผ่านมารัฐบาลฮุนเซนมีพฤติกรรมคุมเข้มพรรคฝ่ายค้านและประชาสังคมในช่วงก่อนเลือกตั้ง แล้วจึงผ่อนคลายลงหลังเลือกตั้งเมื่อ CPP ได้รับชัยชนะแล้ว แต่เลือกตั้งครั้งนี้ทำให้สมมติฐานข้างต้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อควบคุมประชาสังคม พรรคการเมือง และเพิ่มหน้าที่ของชาวกัมพูชาลงไปในรัฐธรรมนูญให้ “เชิดชูผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายคลุมเครือ และในทางปฏิบัติก็ปิดสื่อ ยุบพรรคการเมือง ฟ้องร้องผู้ผลิตภาพยนตร์และจับกุมหัวหน้าพรคฝ่ายค้าน กึม สุขขา ซึ่งหลายครั้งรัฐบาลก็กล่าวถึงการกระทำเหล่านี้ว่าเป็นสอดคล้องกับหลักนิติรัฐ

ที่ปรึกษาอาวุโสจาก ICJ จึงกังวลว่าการใช้กฎหมายเช่นนี้จะเป็นการขยายวิกฤติด้านสิทธิมนุษยชนและหลักนิติรัฐในกัมพูชาที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้นในอนาคตอันใกล้

ด้าน ANFREL ก็ออกแถลงการณ์ประณามการเลือกตั้งว่าองค์ประกอบต่างๆ ในการเลือกตั้งกัมพูชายังห่างไกลกับว่าประชาธิปไตยและไม่สามารถใช้เป็นมาตรวัดความสำเร็จของประชาธิปไตยได้เลย เนื่องจากมีการขู่ว่าคนที่ไม่ไปลงคะแนนเสียงจะถูกฟ้องร้องข้อหากบฏ ส่วน กกต. ก็ไม่ได้ทำงานอย่างเป็นอิสระจากรัฐบาล

“การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมอย่างแท้จริงคือการผสมผสานกันระหว่างกระบวนการการลงคะแนนเสียงที่เป็นระเบียบเรียบร้อย โปร่งใส และบรรยากาศทางการเมืองที่เปิดและเคารพซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานทางการเมืองและความเป็นพลเมือง เมื่อได้กระทำการเลือกตั้งอย่างเหมาะสม การเลือกตั้งจะทำให้ประชาชนเลือกเอาคนที่รับผิดชอบต่อการกระทำของพวกเขา อย่างไรก็ตาม ความรับผิดรับชอบก็ถูกบ่อนทำลายเมื่อสนามเลือกตั้งเอียงกะเทเร่ให้เข้าทางกับพรรครัฐบาลจนผู้ออกเสียงเลือกตั้งไม่เหลือตัวเลือกอื่นๆ ที่วางใจได้”

“แต่เมื่อมีรายงานทั้งหลายว่าด้วยเรื่องการถูกข่มขู่คุกคามและความกลัว รวมถึงเรื่องที่พรรครัฐบาลให้ข้อเสนอและแรงจูงใจทางการเงินแก่ผู้ลงคะแนนเสียง การเลือกตั้งครั้งนี้ก็ไม่ใช่โอกาสใดๆ กับชาวกัมพูชาที่จะมีส่วนร่วมในการอภิปรายทางการเมืองหรือการรณรงค์ใดๆ อย่างเข้มข้น ในทางกลับกัน ความรู้สึกยอมจำนนอย่างชัดเจนถูกแปรสภาพเป็นบัตรเสียจำนวนร้อยละเก้า ซึ่งมากกว่าจำนวนบัตรเสียในการเลือกตั้งระดับชาติในครั้งที่แล้วถึงหกเท่า”

“ในฐานะที่ (การเลือกตั้ง) เป็นหนทางเดียวที่รัฐบาลจะแสวงหาความชอบธรรม มันจึงถูกกลัวโดยรัฐบาลเผด็จการอย่างรัฐบาลฮุนเซน นั่นเป็นเหตุผลที่พวกเขามักจัดการเลือกตั้งที่ไม่ครอบคลุมทุกคนทั้งยังไม่มีบรรยากาศการเลือกตั้งในแบบที่มีความเป็นมนุษย์ ฉากการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในกัมพูชาที่เพิ่งมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (29 ก.ค. 2561) จึงเป็นเพียงสิ่งลวงที่เอามาบังประชาธิปไตยที่กำลังเน่าเฟะและตายจากไป”

ฟิลกล่าวว่า การเมืองกัมพูชาปัจจุบันไม่ได้มีจุดเริ่มต้นจากระบอบเผด็จการ แต่เกิดจากพันธสัญญาอันยิ่งใหญ่สมัยเปลี่ยนผ่านเมื่อปี 2534 ที่ภาคีต่างๆ ในกัมพูชาเซ็นสนธิสัญญาสันติภาพที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และเห็นชอบกับการจัดการเลือกตั้งภายใต้การดูแลขององค์การบริหารชั่วคราวแห่งสหประชาชาติในกัมพูชา (UNTAC) หลังจากระบอบเผด็จการเขมรแดงเสื่อมอำนาจลงและถูกโค่นล้ม แต่ตอนนี้ความฝันและสัญญาเหล่านั้นเหมือนจะถูกทำให้มอดลง จึงทิ้งท้ายไว้ว่าทำอย่างไรความฝันและสัญญาเหล่านั้นจะกลับมา

ไทยรัฐยังรายงานว่าทำเนียบขาวของสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวังต่อการเลือกตั้งดังกล่าว โดยระบุว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เสรีและไม่เป็นธรรม รวมทั้งไม่สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของประชาชนชาวกัมพูชา และสหรัฐจะออกมาตรการลงโทษต่อกัมพูชา ซึ่งรวมถึงการระงับการให้วีซ่าต่อเจ้าหน้าที่กัมพูชา

การแก้กฎหมายให้พรรครัฐบาลเดินสะดวกในสนามเลือกตั้ง ในขณะเดียวกันก็เตะตัดขาฝ่ายค้านและปิดปากของคนที่เห็นต่างในกัมพูชาจะเป็นบทเรียนอะไรให้กับการเมืองไทย ในขณะที่ระบบการเมืองที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงค่อยๆ ไหลจากจีนลงสู่ประเทศรายล้อมไทยทั้งลาว พม่า เวียดนาม และกัมพูชา ยิ่งทำให้นึกถึงทฤษฎีโดมิโนในสมัยสงครามเย็นยิ่งนัก แต่ในบริบทที่ไทยยังถูกปกครองด้วยรัฐบาลทหารก็ชัดเจนเหลือเกินว่าไทยไม่ใช่โดมิโนตัวสุดท้ายอีกต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net