นักวิเคราะห์แนะสหรัฐฯ ปรับนโยบายสร้างความร่วมมือสู้จีนแผ่อิทธิพลด้วย 'อำนาจอ่อน'

นอกจากทวีปแอฟริกาแล้ว สื่อต่างประเทศยังจับตามองกรณีที่จีนพยายามแผ่อิทธิพลด้วย "อำนาจอ่อน" เข้าไปในแถบทวีปละตินอเมริกา มีนักวิเคราะห์มองว่าเป็นการฉวยโอกาสในช่วงที่ประเทศอย่างเวเนซุเอลากำลังประสบปัญหาวิกฤตจากเผด็จการ นักวิชาการก็มีข้อเสนอให้สหรัฐฯ ควรปรับเปลี่ยนยุทธวิธีและเข้าไปมีบทบาทในเชิงสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศทั้งเอเชียและละตินอเมริกาบ้าง พร้อมทั้งวิพากษ์แนวทางของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เอาแต่เน้นใช้งบประมาณไปกับ "อำนาจแข็ง" อย่างการทหาร


ที่มาภาพประกอบ: Iecs (Creative Commons Attribution 3.0 Unported)

8 ก.ย. 2561 ในขณะที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ใช้ถ้อยคำแบบชวนทะเลาะเบาะแว้งเกี่ยวกับเรื่องสงครามการค้ากับจีนโดยพูดในทำนองว่าจีนเป็น "อำนาจที่มาท้าทายสถานภาพเดิมของมหาอำนาจในปัจจุบัน" (a revisionist power) แต่เรื่องนี้ ทอม ฮาร์เปอร์ นักวิจัยด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งเซอร์เรย์ก็มองว่ามันเป็นความเข้าใจผิดในเรื่องเป้าหมายนโยบายการต่างประเทศของจีน 

สำหรับโลกตะวันตกแล้วมักจะมองนโยบายการต่างประเทศของจีนไปในสองรูปแบบ รูปแบบแรกคือคิดไปเองว่าจีนแค่เอาเงินไปโปรยให้รัฐบาลที่คอร์รัปชันเฉยๆ โดยไม่ได้มีเป้าหมายอะไร เช่น กรณีการให้เงินกู้ยืมกับเวเนซุเอลา พวกเขามองว่าเรื่องนี้เหมือนเป็นการพยายามจ้างวานเฉยๆ รูปแบบที่สองคือมองว่าจีนเป็น มหาอำนาจใหม่ที่ตั้งตนจะมาท้าทายความเป็นผู้นำมหาอำนาจของสหรัฐฯ โดยมองว่าจีนจะเอาแต่เน้นสร้างขุมกำลังกองทัพ ซึ่งรัฐบาลทรัมป์อ้างเรื่องนี้มาเพิ่มงบประมาณที่เป็น "อำนาจแข็ง" ให้กับพวกเขาเอง

แต่ฮาร์เปอร์ก็ระบุว่าเรื่องนี้ละเลยการมองเป้าหมายที่แท้จริงของจีน คือการใช้ "อำนาจอ่อน" กับนโยบายต่างประเทศแบบที่พวกเขาเคยใช้มาแล้วกับกลุ่มประเทศแอฟริกา โดยพยายามดึงดูดให้ชาวแอฟริกันเข้าไปศึกษาต่อในจีนและให้ประเทศแอฟริกานำแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบจีนไปใช้

นอกจากนี้จีนยังอาศัยประสบการณ์ร่วมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศกำลังพัฒนาไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดแนวคิดแบบปลดปล่อยชาติจากเจ้าอาณานิคมดั้งเดิม รวมถึงมีความฉับไวในการหาประโยชน์จากความผิดพลาดของรัฐบาลทรัมป์ เช่น ในช่วงที่สหรัฐฯ คว่ำบาตรอิหร่านจนทำให้บริษัทตะวันตกไม่กล้าไปทำธุรกิจร่วมด้วยในอิหร่าน จีนก็ได้ฐานที่มั่นอุตสาหกรรมน้ำมันในอิหร่านเอาไว้แล้ว

ในบทความของฮาร์เปอร์ระบุว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับสหรัฐฯ คือการที่สหรัฐฯ จะมีอิทธิพลต่อละตินอเมริกาน้อยลงหลังจากที่ในปี 2560 ปานามายอมรับความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่แสดงให้เห็นอิทธิพลของจีนในภูมิภาคละตินอเมริกา

ในปี 2560 ยังเคยมีบทความจากนิตยสาร Foreign Policy ที่ระบุถึงการที่จีนยื่นมือเข้าไปให้เวเนซุเอลากู้ยืมทางการเงินโดยไม่มีเงื่อนไขผูกมัด บทความระบุว่าในฐานะที่จีนเป็นประเทศที่ไม่สนใจสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมอย่างจีนไม่ได้ทำไปเพื่อแสดงเป็นคนมีน้ำใจดีงาม แต่เป็นการที่จีนเข้าไปพยายามเปิดตลาดส่งออกใหม่และหาทางเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของประเทศเป้าหมายที่ให้กู้ยืม ในกรณีของเวเนซุเอลาคือแหล่งน่ำมัน

จีนเน้นให้เวเนซุเอลากู้ยืมในช่วงระหว่างปี 2550-2557 มากถึง 63 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 53 ที่ให้กู้ยืมในภูมิภาคละตินอเมริกา โดยที่จีนทำข้อตกลงให้พวกเขาจ่ายให้จีนกลับเป็นน้ำมันแทน ฟังดูเผินๆ เหมือนจะเป็นข้อตกลงที่ดีสำหรับเวเนซุเอลาที่เป็นหนี้มากอย่างน่าเป้นห่วงในช่วงยุคนั้น แต่ทว่าราคาน้ำมันที่ต่ำลงในต้นปี 2559 ทำให้เวเนซุเอลาต้องจ่ายให้จีนหนักกว่าเดิม

นอกจากนี้เวเนซุเอลายังตัดสินใจปรับราคาน้ำมันในคลังของตัวเองเป็นมูลค่าเงินหยวนแทนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จนถูกเรียกว่าเป็น "ปิโตรหยวน" ซึ่งเรื่องนี้ฮาร์เปอร์มองว่าสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของจีนที่แผ่ขยายขึ้นเรื่อยๆ และมีศักยภาพในการท้าทายสหรัฐฯ ในแนวทางอื่นนอกเหนือจากการท้าทายช่วงชิงความเป็นมหาอำนาจแบบเดิมๆ โดยที่ปิโตรหยวนนี้ได้รับการสนับสนุนจากสื่อรัสเซียอย่างรัสเซียทูเดย์ที่สะท้อนว่ารัสเซียก็กำลังพิจารณาหันมาใช้ "ปิโตรหยวน" แทน "ปิโตรดอลลาร์"  เพื่อโดดเดี่ยวสหรัฐฯ ในทางเศรษฐกิจ ซึ่งการพยายามโต้ตอบแบบของทรัมป์ด้วยการเพิ่มกำลังทหารนับเป็นการตีความยุทธศาสตร์จีนผิดไปและอาจจะทำให้สหรัฐฯ สูญเสียอำนาจนำทางเศรษฐกิจได้

โจเซฟ นาย นักวิชาการรัฐศาสตร์จากฮาร์วาร์ดผู้ประดิษฐ์คำว่า "อำนาจอ่อน" (soft power) ขึ้นมาก็เคยเตือนสหรัฐฯ ว่าสหรัฐฯ กำลังทำลาย "อำนาจอ่อน" ของตัวเองที่มีประสิทธิภาพเสมอมา โดยที่อำนาจอ่อนหมายถึงการใช้แรงดึงดูดใจหรือการโน้มน้าวเพื่อให้อีกฝ่ายทำตามแทนการใช้กำลัง แต่ในตอนนี้จากการสำรวจของศูนย์วิจัยพิวที่ทำการสำรวจประชากรจาก 134 ประเทศระบุผลว่ามีร้อยละ 30 ของกลุ่มตัวอย่างที่มีทัศนคติทางบวกกับสหรัฐฯ ซึ่งมีสัดส่วนเทียบเท่ากับจีน

ในบทความของ Foreign Policy ระบุว่า การแทรกตัวเข้ามามีอิทธิพลโดยจีนทั้งในละตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย นั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะความล้มเหลวที่รัฐบาลโอบามาไม่สามารถเชื่อมต่อนโยบาย "แกนกลางแห่งเอเชีย" ด้วยอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันได้ ขณะที่ประเทศเอเชียหลายประเทศทั้งแอบพูดกันและพูดอย่างเปิดเผยว่าต้องการให้สหรัฐฯ เข้ามาจัดการเชิงสร้างความร่วมมือในภูมิภาคแทนที่จะปล่อยให้จีนมีอำนาจนำอยู่ฝ่ายเดียว แต่ทว่าถ้าให้ต้องเลือกระหว่างทำสัญญากับจีนในแบบเสี่ยงๆ กับไม่มีข้อตกลงอะไรเลยกับตะวันตกผู้นำจำนวนมากมักจะเลือกอย่างแรก

ทั้งนี้อำนาจของจีนยังส่งผลเลวร้ายต่อประเทศที่เป็นหนี้พวกเขาไม่เพียงแค่เรื่องอิทธิพล แต่ในกรณีแบบเวเนซุเอลา นิโคลา มาดูโร เป็นผู้นำที่ทำให้เศรษฐกิจเสียหายเพราะเขาได้รับการเกื้อหนุนจากเงินกู้ยืมจีนที่มีเครดิตไม่สิ้นสุด โครงการ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" ของจีนที่ทำกับอีกหลายประเทศก็สร้างความกังวลว่าจะทำให้เกิดปัญหาเผด็จการที่สร้างภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจพยายามหันเข้าหาจีนเพื่อหวังสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจจากโครงการขายฝันโดยไม่สนใจผลกระทบระยะยาวหรือไม่

เรียบเรียงจาก

Beijing’s gains in Latin America leave US foreign policy toward China in need of a rethink, Tom Harper, The Conversation, 04-09-2018
http://theconversation.com/beijings-gains-in-latin-america-leave-us-foreign-policy-toward-china-in-need-of-a-rethink-91989

Venezuela’s Road to Disaster Is Littered With Chinese Cash, Foreign Policy, 06-06-2017
https://foreignpolicy.com/2017/06/06/venezuelas-road-to-disaster-is-littered-with-chinese-cash/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท