Skip to main content
sharethis

งานศึกษาของ UNDP เกี่ยวกับผู้ต้องขังหลากหลายทางเพศในเรือนจำไทย พบยังเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพพื้นฐานบางด้าน ชายข้ามเพศหรือทอมถูกมองเป็นตัวปัญหามากกว่าหญิงข้ามเพศหรือกะเทย ทั้งกฎหมายไทยยังมีแค่เพศชายและหญิง ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ

  • ผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศยังเข้าไม่ถึงความต้องการและบริการพื้นฐานบางด้าน เช่น ยังเข้าไม่ถึงฮอร์โมนและผ้ารัดหน้าอก
  • ผู้ต้องขังหญิงข้ามเพศได้รับการยอมรับมากกว่าผู้ต้องขังชายข้ามเพศที่ถูกมองว่าเป็นตัวปัญหา
  • กฎหมายไทยยังแบ่งเพศเพียง 2 เพศทำให้การจัดการดูแลผู้ต้องขังหลากหลายทางเพศมีอุปสรรค


ที่มาของภาพประกอบ: กิตติยา อรอินทร์

เป็นที่รับรู้ว่าเรือนจำไทยปัจจุบันรองรับผู้ต้องขังเกินกว่าศักยภาพของสถานที่จะรับได้ พูดง่ายๆ คืออยู่ในสภาพคนล้นคุก ตัวเลขผู้ต้องขังในเรือนจำ ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2561 มีทั้งสิ้น 350,184 คน ความล้นเกินก็เป็นปัญหาโดยตัวมันเองอยู่แล้ว ทว่า ในความล้นเกินกลับยังซุกรายละเอียดไว้อีกหลายประเด็น
ไม่ว่าจะเรียกด้วยศัพท์แสงแบบใด อาชญากร นักโทษ หรือคนคุก เมื่อมองจากภายนอก ผู้ต้องขังก็คือผู้ต้องขัง และไม่มีอะไรมากมายไปกว่านั้น ในความเป็นจริง ผู้ต้องขังกว่า 3 แสนคนต่างก็มีรายละเอียดเฉพาะในแต่ละกลุ่ม ในกลุ่มผู้ต้องขังหลากหลายทางเพศก็เช่นกัน คนกลุ่มนี้มีความต้องการพื้นฐานและปัญหาที่พบเผชิญแตกต่างจากผู้ต้องขังกลุ่มอื่น

ในงานศึกษา ‘การประเมินสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับการควบคุมดูแลผู้ต้องขังข้ามเพศในเรือนจําตัวอย่างในประเทศไทย’ ซึ่งนำเสนอโดยสุภาณี พงษ์เรืองพันธุ์ เจ้าหน้าทีโครงการด้านธรรมาภิบาล สิทธิมนุษยชนและความหลากหลายทางเพศ สํานักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจําประเทศไทย (UNDP Thailand) ในงานประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติเพื่อเสริมสร้างความตระหนักเกี่ยวกับวิถีทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ และการแสดงออกทางเพศในเรือนจำเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาบอกเล่ารายละเอียดถึงสิ่งที่ผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญเมื่ออยู่ในเรือนจำ
เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพพื้นฐาน

งานศึกษาชิ้นนี้เริ่มศึกษาในปี 2559 เพื่อประเมินการบริหารจัดการและการดูแลผู้ต้องขังที่เป็นบุคคลข้ามเพศในเรือนจํา ประกอบด้วยผู้หญิงข้ามเพศซึ่งหมายถึงกะเทยและสาวประเภทสอง และผู้ชายข้ามเพศหรือทอม ซึ่งเวลานั้นมีผู้ต้องขังทั่วประเทศ 322,000 คน ในจํานวนนี้เป็นผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศจํานวน 2,945 คน (ตัวเลข ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2561 ผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศมีจำนวน 4,362 คน) โดยทำการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่างในเรือนจํากลางเชียงใหม่ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ และเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร

สุภาณี กล่าวว่า ปัจจุบัน เรือนจำไทยยังไม่มีการแบ่งแดนเฉพาะผู้ต้องขังข้ามเพศ แต่มีการแยกห้องนอนเพื่อป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศโดยผู้ต้องขังอื่น แต่กลุ่มตัวอย่างจากเรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ แสดงความเห็นว่าไม่ต้องการถูกขังแยกจากผู้ต้องขังทั่วไป เพราะการอยู่ร่วมกันสามารถช่วยเหลือกันและกันได้
ในด้านการเข้าถึงความต้องการและบริการพื้นฐาน ผู้ต้องขังกลุ่มนี้ยังเข้าไม่ถึงฮอร์โมนและผ้ารัดหน้าอก ซึ่งนับเป็นปัญหาสําคัญประการหนึ่ง สุภาณีกล่าวว่า

“เดิมเคยได้รับ พอไม่ได้รับ ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นคือน้ำหนักเพิ่ม เกิดผลข้างเคียง เช่น น้ำหนักเพิ่ม อารมณ์แปรปรวน รูปร่างเปลี่ยน และผมร่วง ซึ่งส่งผลกระทบกับสุขภาพของผู้ต้องขังหญิงข้ามเพศโดยตรง ส่วนในกรณีผู้ต้องขังชายข้ามเพศ การไม่ให้ใช้ผ้ารัดหน้าอกก่อให้เกิดความอับอายและการสูญเสียความมั่นใจ”

ทั้งนี้เป็นเพราะข้อกําหนดของเรือนจําแบ่งเพศตามหญิงและชายเท่านั้น ฮอร์โมนและยาคุมกําเนิดจึงไม่ถือว่ามีความจําเป็นสําหรับผู้ที่มีเพศชายโดยกําเนิด

นอกจากนี้ การเข้าถึงถุงยางอนามัยและเจลหล่อลื่น พบว่าผู้ต้องขังหญิงข้ามเพศในเรือนจําที่เชียงใหม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ทั้งสองได้จากอาสาสมัครด้านสุขภาพ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ขณะที่ผู้ต้องขังในเรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ ไม่สามารถเข้าถึงได้

ชายข้ามเพศถูกมองเป็นตัวปัญหา

สุภาณีกล่าวอีกว่า แม้ทางเรือนจำจะอนุญาตให้ผู้ต้องขังข้ามเพศสามารถแสดงอัตลักษณ์ทางเพศได้อย่างเปิดเผย ซึ่งสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับการกําหนดใจตนเอง แต่ก็มีผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศหลายคนที่ไม่กล้าเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศ เพราะห่วงเรื่องความปลอดภัยและกลัวการถูกเลือกปฏิบัติ

“ผู้ต้องขังหญิงข้ามเพศหลายรายถูกล่วงละเมิดทางเพศ เช่น จับหน้าอก จูบ กอด บังคับให้มีเพศสัมพันธ์ หรือ โดนรังแก วิธีแก้ปัญหาของเขาคือเขาต้องหาแฟนในเรือนจําเพื่อให้ความคุ้มครองจากการถูกล่วงละเมิดเหล่านี้”

ขณะเดียวกันมุมมองของเจ้าหน้าที่เรือนจําและผู้ต้องขังทั่วไปที่มีต่อผู้ต้องขังข้ามเพศก็มีความแตกต่างระหว่างหญิงข้ามเพศและชายข้ามเพศ

“ผู้ต้องขังหญิงข้ามเพศได้รับการยอมรับมากกว่าผู้ต้องขังชายข้ามเพศ ผู้คุมมองผู้ต้องขังชายข้ามเพศมองว่าเป็นตัวสร้างปัญหา ผู้ต้องขังหญิงข้ามเพศได้รับมอบหมายให้ทํางานเบาและส่วนใหญ่จะได้รับเลือกเป็นผู้ช่วยผู้คุม ต่างจากผู้ต้องขังชายข้ามเพศซึ่งมักถูกมองว่ามีศักยภาพต่ำกว่า จึงไม่ได้รับมอบหมายบทบาทหรืองานอย่างการเป็นผู้ช่วยผู้คุม”

ผู้ต้องขังชายข้ามเพศยังถูกผู้คุมใช้วาจาไม่เหมาะสมเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศของพวกเขาและพบคู่รักได้เฉพาะช่วงเสาร์อาทิตย์ในพื้นที่ที่กําหนดให้

“ผู้คุมหลายคนยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับความลื่นไหลในอัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศ ซึ่งก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” สุภาณีกล่าว

กฎหมายยังมีแค่หญิงกับชาย

ในส่วนของกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องขังข้ามเพศ พบว่าประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะสำหรับการบริหารจัดการและดูแลผู้ต้องขังข้ามเพศ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ยังคงกําหนดให้แยกผู้ต้องขังตามเพศกําเนิด แม้จะมีความพยายามแยกผู้ต้องขังข้ามเพศในเรือนจําเฉพาะ แต่เนื่องจากไม่สอดคล้องกับกฎหมายไทยจึงต้องยกเลิก เพราะกฎหมายยังไม่รับรองสถานะของคนข้ามเพศ

ด้านเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเองก็ยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและยังติดกับมุมมองความคิดแบบหญิงชาย ซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อผู้ต้องขังข้ามเพศในหลายมิติตังแต่สภาพความเป็นอยู่จนถึงด้านความปลอดภัย และแม้ว่า พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 จะมีข้อกําหนดเพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ต้องขัง แต่ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาอื่นๆ ของผู้ต้องขังข้ามเพศ เช่น ประเด็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ด้านสุขภาพหรือการพัฒนาตัวเอง เป็นต้น

“อคติต่อและความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับผู้ทีมีความหลากหลายทางเพศเป็นสาเหตุสําคัญให้พวกเขาตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศและการถูกเลือกปฏิบัติในเรือนจํา” สุภาณี กล่าว

ทางออกสู่ความเท่าเทียม

งานศึกษานี้จึงมีข้อเสนอแนะ 4 ประการ เพื่อยกระดับการจัดการดูแลผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศในเรือนจำคือ

1.ควรจัดอบรมเกี่ยวกับหลักการสิทธิมนุษยชนและความหลากหลายทางเพศแก่เจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศให้ทุกคนในเรือนจํา

2.ควรส่งเสริมหลักการ ‘กําหนดใจตนเอง’ ของผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อไม่ให้รู้สึกกลัวที่จะแสดงอัตลักษณ์ของตน

3.ควรให้ผู้ต้องขังทุกกลุ่มได้มีส่วนร่วมในการหาวิธีแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศในเรือนจํา

4.ควรให้ผู้ต้องขังหญิงข้ามเพศสามารถเข้าถึงฮอร์โมนและบริการสุขภาพด้านอนามัยเจริญพันธุ์ได้เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้ต้องขัง อีกทั้งควรให้ผู้ต้องขังชายข้ามเพศมีโอกาสใช้ผ้ารัดหน้าอก เพื่อสร้างความมั่นใจและลดการพูดวิจารณ์ร่างกายของผู้ต้องขังชายข้ามเพศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net