รมว.ต่างประเทศ ชี้ EU ขอสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 200 คน มากเกินไป ไม่จำเป็น

ดอน ปรมัตถ์วินัย เชื่อไทยพึ่งพาตัวเองได้ EU ขอสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 200 มากเกินไป ไม่จำเป็น ย้ำไม่ไม่ใช่เป็นเทศที่มีปัญหา อวดการลงประชามติปี 59 ก็ทำได้ไม่มีปัญหาอะไร แถมต่างชาติยังชื่นชม

9 พ.ย. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ระบุสหภาพยุโรป (EU) ต้องการจะส่งผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งเข้ามาในไทย 200 คนว่า ทราบว่าทางอียูได้แจ้งเรื่องดังกล่าวมายังกระทรวงการต่างประเทศเช่นกัน ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่ กกต. จะพิจารณา แต่ในฐานะที่เคยมีประสบการณ์ในการดูการเลือกตั้งในต่างประเทศเห็นว่าบ้านเมืองที่มีการเลือกตั้ง และไม่มีใครมาขอสังเกตการณ์เป็นบ้านเมืองที่ไม่มีปัญหา มีความสงบเรียบร้อย สามารถดำเนินกิจการของตนเองได้ โดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย

ดอน กล่าวต่อว่า  ไทยสามารถพึ่งพาตัวเองได้ เพราะไทยเป็นประเทศที่มีทุนเดิมที่ดีในแง่การจัดการเลือกตั้ง ซึ่งในการจัดการลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 ก็เหมือน กับการเลือกตั้งลักษณะหนึ่ง ก็ประสบผลสำเร็จด้วยดี และได้รับเสียงชื่นชมจากหลายประเทศที่มาดูเสียด้วยซ้ำ จึงมั่นใจในความสามารถของไทยในการจัดการเลือกตั้งว่าไม่ได้มีประเด็นปัญหาอะไร

ดอน กล่าวว่า ในส่วนของต่างประเทศ ไม่ได้ตั้งแง่ต่อต้านหรือปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง เพราะสถานทูตของประเทศต่างๆ ในประเทศไทยที่สนใจสามารถส่งผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งได้อยู่แล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นการดำเนินการที่ทำได้ตามกฏหมาย และไม่มีข้อห้าม ถือเป็นภารกิจอีกประการหนึ่งของเจ้าหน้าที่ในสถานทูตเสียด้วยซ้ำ แต่การส่งคณะเข้ามาสังเกตการณ์เป็นเรื่องที่ไม่มีความจำเป็น ยิ่งตัวเลขมากถึงหลัก 200 ยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่ปกตินัก

นายดอน กล่าวต่อว่า ส่วนตัวเห็นว่าผู้ตรวจสอบที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ที่สุดคือคนไทยด้วยกันเอง เพราะจะเข้าใจกระบวนการทั้งหมดที่กำลังเกิดขึ้น ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญปี 2560 มีบทบัญญัติในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งก่อนหน้า ระหว่าง และหลังการเลือกตั้ง ดังนั้นคนไทยสามารถแสดงเจตจำนงที่จะเข้ามาช่วย กกต. ในการตรวจสอบการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมถึงภาคประชาสังคมและองค์กรอิสระของไทยก็น่าจะพิจารณาเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการเมืองไทย และอาจจะขยายผลโดยการเชิญผู้แทนสถานทูตแต่ละแห่งในไทยเข้ามาอยู่ในกระบวนการเดียวกันด้วย

"สิ่งที่พูดมาจากมุมมองว่าการดำเนินการเช่นไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด โดยที่ไม่มีผลข้างเคียงว่าเราเป็นประเทศที่มีปัญหาจึงต้องส่งคนเป็นร้อยเข้ามาดูการเลือกตั้งของไทยซึ่งเป็นเรื่องภายในประเทศไทย" ดอน กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า เท่าที่ทราบขณะนี้นอกจากอียูแล้วยังไม่ได้รับรายงานว่ามีประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศใดแสดงความจำนงค์ที่จะเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศไทยเพิ่มเติม ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าจะมีการประสานโดยตรงไปยัง กกต. โดยพื้นฐานเป็นเอกสิทธิที่ กกต. จะปรึกษากับหน่วยงานใด แต่เชื่อว่าคงจะมีการหารือกับหลายฝ่าย เพราะสิ่งที่เรากำลังพูดถึงคืออนาคตของประเทศไทยหลังจากนี้ เพื่อให้ไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างสง่าผ่าเผย หากเราดูแลการเลือกตั้งกันได้เองก็จะทำให้เกิดความชื่นชมศรัทธาต่อประเทศไทยและคนไทยด้วย

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติ่มว่า ก่อนหน้านี้  ดอน ได้แสดงความคิดเห็นในลักษณะดังกล่าวไปแล้ว จากครั้งนั้นทำให้ สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย โต้แย้งว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในไทยที่กำลังอยู่ในสภาาวะไม่ปกติภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร ยังคงมีการปิดกั้นเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ความไม่ปกติเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องให้นานาชาติมาร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งของไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท