‘ดอน’ ชวนตัวแทนกองทัพพม่า-ชาติอาเซียน ประชุมแบบไม่เป็นทางการที่ กทม.

สื่อทางการพม่า รายงาน ‘ดอน’ รมว.กต.ไทย เชิญตัวแทนต่างประเทศกองทัพพม่า-ชาติสมาชิกอาเซียน ร่วมประชุมแบบไม่เป็นทางการที่ กทม.วานนี้ (22 ธ.ค.) หารือวิกฤตการเมือง-อาจมีการเสนอจำกัดการโดดเดี่ยวกองทัพพม่า ด้านสมาชิกอาเซียนฝั่งคาบสมุทรไม่เข้าร่วม ด้านตัวแทนกองทัพพม่า กล่าวหาฝั่ง NUG ขัดขวางความพยายามฟื้นฟูสันติภาพ-ปชต.

การหารืออย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างตัวแทนกองทัพพม่า และดอน ปรมัติวินัย รองนายกฯ และ รมว.กต. (ที่มา: นสพ.ออนไลน์ GNLM)

23 ธ.ค. 2565 หนังสือพิมพ์ออนไลน์ ‘โกลบอลนิวส์ไลท์ออฟเมียนมา’ หรือ GNLM ซึ่งเป็นสื่อทางการเมียนมา ฉบับวันที่ 23 ธ.ค. 2565 หน้า 4 รายงานว่า ดอน ปรมัติวินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แห่งราชอาณาจักรไทย (รมว.กต.ไทย) ชวน 'วันนาหม่องลวิน' รัฐมนตรีต่างประเทศ ที่แต่งตั้งโดยกองทัพพม่า เข้าร่วมการประชุมหารือแบบไม่เป็นทางการ (Informal Consultation) ณ กรุงเทพฯ เมื่อ 22 ธ.ค. 2565 

นอกจากวันนาหม่องลวิน มีรัฐมนตรีสหภาพพม่าคนอื่นๆ ที่เข้าร่วมประชุมหารือด้วย ได้แก่ กานซอ รมต.กระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ โกโกหล่าย รมต.ความร่วมมือนานาชาติ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่นๆ 

ด้านเว็บไซต์ 'นิเคอิเอเชีย' รายงานประเด็นนี้ว่า การประชุมแบบไม่เป็นทางการจัดขึ้น เพื่อหารือเรื่องสถานการณ์วิกฤตการเมืองเมียนมา และนอกจากตัวแทนจากกองทัพพม่าแล้ว ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ กัมพูชา เวียดนาม ลาว และกัมพูชา 

นิเคอิเอเชีย ระบุว่า ไทย กัมพูชา เวียดนาม และลาว ต่างเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกับประเทศเมียนมา และมีท่าทีที่ประนีประนอมต่อกองทัพ แม้ว่าทหารพม่าทำรัฐประหาร เมื่อ ก.พ. 2564

มีรายงานด้วยว่า มีการเชิญ 5 ประเทศสมาชิกอาเซียน จากฝั่งคาบสมุทร ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และบรูไน เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย แต่ไม่มีใครมาเข้าร่วม

เมื่อ เม.ย. 2564 อาเซียน จัดประชุมผู้นำสูงสุด สมัยพิเศษ โดยครั้งนั้น พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า เข้าร่วมประชุมด้วย การประชุมมีจุดมุ่งหมายเพื่อหารือการแก้ไขวิกฤตการเมืองในประเทศเมียนมา หลังกองทัพทำรัฐประหาร และมีการลงนาม ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’ เพื่อแก้ไขวิกฤตเมียนมา โดยหนึ่งในนั้นมีการเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงโดยทันที 

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมา กองทัพพม่ามีความคืบหน้าต่อการดำเนินตามฉันทามติเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และเมื่อ ต.ค.ในปีเดียวกัน อาเซียนปิดกั้นไม่ให้ตัวแทนของกองทัพพม่าเข้าร่วมประชุมสำคัญๆ อีกด้วย

ปีหน้ากองทัพพม่าอาจต้องเผชิญกระแสต่อต้านจากอาเซียนที่หนักหน่วงยิ่งขึ้น เพราะ อินโดนีเซียที่มีจุดยืนแข็งกร้าวต่อกองทัพพม่า และเรียกร้องให้ทางกองทัพปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อที่เคยตกลงไว้มาโดยตลอด กำลังจะเป็นประธานหมุนเวียนของอาเซียนถัดจากกัมพูชา 

สำหรับในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเสนอการจำกัดการโดดเดี่ยวของกองทัพพม่า แต่ในเวลาเดียวกัน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีความกังวลว่า การเชิญตัวแทนจากกองทัพพม่าเข้าร่วมประชุม อาจลดทอนการกดดันจากนานาชาติต่อกองทัพพม่า

ทางการมาเลเซีย ระบุวานนี้ (22 ธ.ค.) ว่า มาเลเซีย ‘ยินดี’ กับมติจากสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เมื่อวันก่อน โดยเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงในเมียนมา และฟื้นคืนระบอบประชาธิปไตย

ทั้งนี้ อาเซียน ดำเนินตามหลักการฉันทามติ และไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิกมาโดยตลอด แต่ความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนต่อท่าทีสถานการณ์เมียนมา ทำให้องค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาคไม่สามารถตอบสนองต่อวิกฤตการเมืองพม่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ อาเซียน ตกลงที่จะกำหนดเส้นตายให้กองทัพพม่า ดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ ในประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมื่อ ต.ค. 2565 แต่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมในการประชุมระดับผู้นำสูงสุดในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา 

สื่อทางการพม่ารายงานกองทัพพม่ายันทำตามฉันทามติ 5 ข้อ

หนังสือพิมพ์ออนไลน์ 'โกลบอลนิวส์ไลท์ออฟเมียนมา' ฉบับเดียวกัน รายงานประเด็นที่ทางการพม่าหารือกับ รมว.กต.ไทย ด้วยว่า ระหว่างการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ ตัวแทนจากกองทัพพม่าได้แลกเปลี่ยนมุมมองความร่วมมือระหว่างอาเซียน และกองทัพพม่า เพื่อดำเนินตามฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อแก้ไขวิกฤตการเมืองในเมียนมา จัดเตรียมข้อมูลที่ ‘ถูกต้อง’ สะท้อนสถานการณ์ในพม่าที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ และย้ำจุดยืนของกองทัพ ปฏิบัติตาม “การทบทวน และการตัดสินใจปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของผู้นำอาเซียน” 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ตัวแทนฝั่งกองทัพพม่า อธิบายถึงความพยายามของกองทัพพม่าในการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ หรือ EAOs การประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียว ประสบความสำเร็จในการยับยั้งการแพร่ระบาดโคโรนาไวรัส 2019 และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ประชุมพรรคการเมือง การเตรียมการของคณะกรรมการการเลือกตั้งสหภาพ เพื่อการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมในการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ นอกจากนี้ ตัวแทนของพม่า ยังอธิบายเรื่องความคืบหน้าการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมา 

กล่าวหาฝ่ายต่อต้านเป็นตัวการขัดขวางสันติภาพ-ปชต.

นอกจากนี้ ตัวแทนกองทัพพม่า อธิบายว่า กิจกรรมการก่อการร้ายซึ่งทำโดยองค์กรนอกกฎหมาย และองค์กรก่อการร้าย ชื่อว่า ‘รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ ‘สมาชิกของกลุ่มคณะกรรมการตัวแทนสภาผู้แทนราษฎร หรือ CRPH’ และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน ขัดขวางความพยายามของกอทัพพม่าในการฟื้นฟูสันติภาพและประชาธิปไตยในเมียนมา 

ตัวแทนพม่า กล่าวหาว่า การก่อการร้ายของฝ่ายต่อต้านทำให้ผู้บริสุทธิ์จำนวนมากต้องเสียชีวิต มีการทำลายอาคารราชการ และโครงสร้างพื้นฐานหลายแห่ง เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ถนน สะพาน ตลาด ธนาคาร และยานพาหนะขนส่ง

ตัวแทนกองทัพพม่า กล่าวย้ำว่า ฝ่ายต่อต้านละเมิดกฎหมายสากลหลายข้อ รวมถึง กฎหมายด้านมนุษยธรรมสากล และอนุสัญญาเจนีวา พร้อมเรียกร้องให้อาเซียนประมาณกลุ่มก่อการร้าย NUG และ PDF และขัดขวางการสนับสนุนทางด้านศีลธรรม วัตถุ และการเงิน ต่อองค์กรก่อการร้ายเหล่านี้ 

นอกจากการประชุมอย่างเป็นทา่งการ กองทัพพม่า และประเทศไทย แลกเปลี่ยนมุมมองความร่วมมือทวิภาคีด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในอนาคต

ทั้งนี้ ตัวแทนกองทัพพม่า เดินทางกลับประเทศแล้วเมื่อเย็นวานนี้ (22 ธ.ค.) ท่ามกลางการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่รัฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท