Skip to main content
sharethis


ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศรัฐบาลรักษาการของไทย (แฟ้มภาพ)

17 มิ.ย. 2566 สืบเนื่องจากสื่อต่างประเทศรายงานว่านายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศรัฐบาลรักษาการของไทย ได้ทำหนังสือเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศพม่าและสมาชิกอาเซียนมาเข้าร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการในวันอาทิตย์ (18 มิ.ย.) นี้ เพื่อหารือแผนสร้างสันติภาพในพม่านั้น

ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยแจ้งข่าวต่อกรณีนี้ว่า นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการที่มีข่าวว่านายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย ทำหนังสือเชิญประเทศในอาเซียนมาประชุมอย่างไม่เป็นทางการเรื่องพม่าที่ไทย แต่อินโดนีเซียซึ่งเป็นประธานอาเซียนไม่ตอบรับมาร่วมประชุมอ้างว่าอาเซียนกำลังดำเนินการอยู่นั้น เรื่องนี้ตนแปลกใจอยู่เหมือนกันว่าประเด็นเมียนมาพึ่งมีการหารือในการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือนที่ผ่านมาไม่ใช่หรือ 

นอกจากนั้น ไทยพึ่งมีการเลือกตั้ง และประชาชนเลือกพรรคฝ่ายค้านเดิมท่วมท้น รัฐบาลเดิมที่เป็นรัฐบาลรักษาการ ควรรอให้รัฐบาลใหม่เข้ามาดำเนินการแก้ประเด็นเรื่องเมียนมา ซึ่งรัฐบาลใหม่น่าจะมีท่าทีที่แตกต่างจากรัฐบาลนี้ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาผู้อพยพ ปัญหาสิทธิมนุษยชน ปัญหาชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน ปัญหากระบวนการประชาธิปไตยในพม่า เป็นต้น ที่ผ่านมาการดำเนินงานด้านต่างประเทศของรัฐบาลนี้ถูกวิจารณ์ค่อนข้างมากว่าอ่อนแอ ไม่มีประสิทธิภาพและไม่ประสบความสำเร็จในการผลักดันการแก้ปัญหาเรื่องพม่า ถ้าอยู่มาแปดปีแก้ไม่ได้ ตอนนี้เป็นรัฐบาลรักษาการคงไม่มีอำนาจต่อรองมากพอที่จะขับเคลื่อนการแก้ปัญหาได้ อีกทั้งตามข่าวอินโดนีเซียซึ่งเป็นประธานอาเซียนไม่มาร่วมประชุมด้วย โอกาสสำเร็จคงน้อย

นายนพดล กล่าวต่อว่ารัฐบาลใหม่ที่พรรคเพื่อไทยร่วมอยู่ด้วยมีความชอบธรรมที่มาจากการเลือกตั้ง และตัวผู้นำใหม่ จะสามารถกอบกู้เกียรติภูมิของไทยและสร้างโอกาสไทยในเวทีโลก เปิดตลาดใหม่ๆให้สินค้าไทย และจะให้ความสำคัญประเด็นเมียนมาในลำดับต้นๆ ของงานด้านต่างประเทศ ไทยและอาเซียนมีผลประโยชน์ร่วมกันในพม่าและการดำเนินการในกรอบอาเซียนจะมีพลังมากกว่าการดำเนินการของประเทศหนึ่งประเทศใด เราต้องผลักดันฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนต่อไป การเรียกร้องให้หยุดใช้ความรุนแรงในเมียนมา การเจรจาสันติภาพระหว่างฝ่ายต่างๆ และการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมควรต้องเกิดขึ้น เพราะสันติภาพและประชาธิปไตยในเมียนมานั้นสำคัญต่อการแก้ปัญาต่างๆที่กระทบต่อประเทศไทยและอาเซียน

“ปัญหาพม่ายืดเยื้อมานาน ยากที่รัฐบาลรักษาการจะแก้ได้ เชื่อมั่นว่ารัฐบาลใหม่ นโยบายใหม่ ผู้นำใหม่ จะทำให้สถานะประเทศไทยดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การแก้ไขปัญหาพม่าประสบความสำเร็จได้”

 มติชนออนไลน์ รายงานว่านายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้ทวีตแสดงความคิดเห็นกรณีดังกล่าวว่า รัฐบาลรักษาการไม่พึงแต่งตั้งแยกย้ายข้าราชการระดับสูง ไม่พึงอนุมัติงบประมาณใหม่ๆ โดยเฉพาะงบผูกพันไป เขาจึงห้ามทำสิ่งเหล่านี้ การดำเนินนโยบายต่างประเทศในเรื่องสำคัญมีผลดีหรือร้ายยิ่งกว่าการอนุมัติงบประมาณหรือการแต่งตั้งข้าราชการเสียอีก รัฐบาลรักษาการจึงยิ่งไม่ควรทำ

รัฐบาลทหารพม่ามาจากการยึดอำนาจ และได้สังหารประชาชนไปอย่างโหดเหี้ยม ถูกประณามไปทั่วโลก ไม่จำเป็นยิ่งยวดจริงๆ รัฐบาลไทยไม่ควรเชิญมาประเทศไทย ยิ่งไปทำอะไรที่ไม่สอดคล้องกับประเทศในอาเซียนด้วยกันยิ่งไม่ควรทำ ถึงขนาดอินโดนีเซีย ประธานอาเซียนไม่มานี่ รัฐบาลรักษาการของไทยต้องทบทวนตัวเองแล้ว

การดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างที่กำลังทำอยู่นี้เป็นเรื่องที่ผูกพันไปข้างหน้า เป็นผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย เป็นภาระของคนไทยทั้งประเทศ รัฐบาลรักษาการจึงไม่ควรทำไปอย่างไร้ความรับผิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศควรจะรู้ขนบธรรมเนียมในเรื่องนี้ดีกว่าใคร แต่กลับไม่รู้แม้แต่มารยาทเบื้องต้นได้อย่างไร

ด้านนายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนในวันนี้ (17 มิ.ย.) ว่าการที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะจัดประชุมอาเซียนหารือประเด็นพม่า หรือ Track 1.5 ที่พัทยา ประเทศไทย ในวันที่ 18-19 มิ.ย.นี้นั้น ผมเห็นว่า การที่รัฐบาลริเริ่มกระทำเรื่องดังกล่าวในช่วงที่เป็นรัฐบาลรักษาการเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เนื่องจากจะกระทบกับนโยบายต่างประเทศที่ผูกพันกับไทยในอนาคต ซึ่งรัฐบาลในอนาคตอาจมีนโยบายต่างประเทศไม่เหมือนกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย ก็ได้ และนักการทูตส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยกับการทำงานที่ไม่ประสบความสำเร็จในการต่างประเทศที่ผ่านมา และทำให้ภาพลักษณ์ทางการทูตไทยตกต่ำในรอบหลายปี นายดอน ปรมัตถ์วินัย จึงควรยุติบทบาทใดๆ ในช่วงรักษาการโดยทันที

โดยเฉพาะท่าทีต่อความขัดแย้งในพม่า ที่ดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยมีผลประโยชน์ทับซ้อนในหลายเรื่องที่ผูกพันกับผู้บัญชาการทหารพม่า ทำให้มีท่าทีที่พยายามสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าของพล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย มาโดยตลอด และแต่งตั้งคนสนิทติดต่อธุระโดยตรงแทนวิถีทางการทูตที่สมควร และการแก้ไขปัญหาพม่าเป็นบทบาทที่อาเซียนกำลังดำเนินการแม้จะไม่มีความคืบหน้า เพราะที่ผ่านมาจัดมากี่ครั้งแล้วยังไม่เห็นความก้าวหน้าที่จะช่วยสนับสนุนการลดการใช้ความรุนแรง การแก้ ปัญหาโดยสันติวิธีและหยุดสงครามภายใน

การประชุม Track 1.5 ที่รวมรัฐมนตรีอาเซียนและฝ่ายวิชาการของกระทรวงมีกำหนดการประชุมครั้งที่ 3 ที่ลาว แต่นายดอนกลับช่วงชิงสถานการณ์ในช่วงนี้จัดที่ไทยแทน ประเทศไทยสามารถมีบทบาทที่ก้าวหน้าได้ แต่การกระทำของรัฐบาลรักษาการนี้กำลังมีบทบาทที่ถอยหลัง เพราะเชิญชวนรัฐมนตรีทหารพม่ามาด้วย ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลทหารพม่า แทนที่จะผลักดันให้ชนกลุ่มน้อยและรัฐบาลพลัดถิ่นของพม่าร่วมหารือด้วยเพื่อสันติภาพ การกระทำนี้เป็นการส่งสัญญาณการยอมรับรัฐบาลทหารพม่าโดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้บรรดาประเทศอาเซียนอื่นปฏิเสธกันทันที เพราะรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแตกแถวจากสิ่งที่อาเซียนตกลงหลักการกันไว้ และพยายามสร้างการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในอาเซียนโดยตรง

เป็นที่หน้าละอายที่การต่างประเทศของไทยถูกดูแคลนในยุคนี้ ตามที่มีจดหมายจากรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประเทศประธานอาเซียน ที่เหมือนตบหน้านายนายดอน ปรมัตถ์วินัย โดยตรงว่ากระทำการไม่เหมาะสมในเรื่องนี้ รวมถึงจดหมายจากรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ที่ปฏิเสธไม่มาและบอกว่า มึนงงกับความเห็นของนายดอนที่ยืนยันไม่มีเสียงคัดค้านอย่างชัดเจนต่อข้อเสนอแนะของรัฐสมาชิกอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42 เมื่อเดือนที่แล้วว่าถึงเวลาแล้วที่อาเซียนจะต้องกลับมามีส่วนร่วมกับรัฐบาลพม่าอย่างเต็มที่ในระดับผู้นำอีกครั้ง เพราะในความเป็นจริง ผู้นำหลายคน รวมทั้งนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์คัดค้านข้อเสนอแนะให้เข้าร่วมกับสภาบริหารแห่งรัฐพม่า (SAC) เนื่องจากขาดความคืบหน้าที่สำคัญและรัฐบาลทหารพม่าไม่เคารพหลักการคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ 5 ข้อ

การประชุมใดๆ ก็ตามที่จัดขึ้นภายใต้ร่มของอาเซียน ทั้งที่เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ ควรยืนยันและปฏิบัติตามหลักการร่วมกันอย่างเคร่งครัด จุดยืนของอาเซียนต่อพม่าขึ้นอยู่กับฉันทามติ 5 ประการ ที่รัฐบาลพม่าจะยอมรับหรือไม่ และไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน ควรให้เกียรติกับประชาชนชาวพม่าที่กำลังต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่าในวันนี้ด้วย และหากพวกเขาเป็นรัฐบาลในวันหน้า รัฐบาลไทยในวันนี้จะมองหน้าเขาได้อย่างไร นี่คือการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ผิดพลาดอย่างมหันต์เพราะไม่เคารพหลักการพื้นฐานที่สำคัญ โดยเฉพาะหลักการสิทธิมนุษยชนสากล


กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม โพสต์เฟสบุ๊ค ระบุว่าหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่ต้องทำ คือการประตูมนุษยธรรม Humanitarian Corridor ต่อสถานการณ์ความรุนแรงในพม่า

ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 หลังจากการปฏิวัติโดยทหารพม่า โค่นล้มระบอบประชาธิปไตยในเมียนมา ตามด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง โดยการเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ ที่ออกมาเรียกร้องอำนาจของประชาชนคืนจากปลายกระบอกปืนด้วยการเคลื่อนไหวแบบอารยขัดขืน (civil disobedient movement—CDM) รอบประเทศ

ผมยังจำได้ระหว่างปฏิบัติหน้าที่กับ UNHCR ในเมืองพะอัน รัฐกระเหรี่ยง ในช่วงเวลาดังกล่าว การเข่นฆ่าประชาขนแบบไม่เลือกปฏิบัติทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและการผลัดถิ่นภายในประเทศจำนวนหลายแสนคน และลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อย่างบังคลาเทศ อินเดีย จีน และไทยอีกรวมจำนวนเป็นหมื่นกว่าคน แต่การปฏิบัติของทหารพม่าต่อประชาชนเมียนมาเน้นการปราบแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน “ประท้วง = จับ ขัง ฆ่า” การค้นหากลุ่มผู้ต่อต้านในบ้านเรือนทั่วประเทศยามวิกาล เกิดขึ้นอย่างไม่ลดละ ฯลฯ

ช่วงนั้นรัฐบาลไทยโดยการนำของพลเอกประยุทธ์ ทำอะไร?? ข้าวสารหลายร้อยกระสอบเตรียมขนไปให้ทหารพม่าวางเรียงรายที่ อ.แม่สามแลบ จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อไปสนับสนุนการปฏิบัติการณ์ทางทหารให้ทหารพม่าถูกเปิดโปงโดยสื่อไทย จนต้องส่งข้าวสารคืน ผู้ลี้ภัยที่หนีตายทั้งลูกเล็กเด็กแดง คนป่วยมีสายน้ำเกลือระโยงระยาง รวมทั้งคนชราและสตรี ลี้ภัยข้ามมายังฝั่งไทย ได้รับการดูแล 1 คืนแล้วผลักดันกลับ เพราะทางราชการไทยประเมินแล้วว่าสถานการณ์ฝั่งพม่าดีขึ้นแล้ว ทั้งๆ ที่ยังมีระเบิดจากเครื่องบินขับไล่พม่าทิ้งระเบิดไปยังพื้นที่พะพูน รัฐกระเหรี่ยงอย่างไม่หยุดหย่อน การกวาดล้างและจับกุมผู้ลี้ภัยมาไทยเพราะหนีตายและชี้แจงว่าผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ และผลักดันกลับโดยส่งมอบให้ทหารพม่า ฯลฯ 

จริงเหรอ รัฐบาลรักษาการอยากเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาในเมียนมา ?? คุณดูบ้างหรือไม่ว่าคุณทำอะไรไว้ก่อนหน้านี้ นี่ยังไม่รวมถึงความพยายามรักษาความสัมพันธ์กับผู้สถาปนาอำนาจรัฐโดยกำลังทหาร อย่างทหารพม่า กับผู้นำรัฐบาลไทย เพราะกลัวสูญเสียความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสองประเทศ โดยปราศจากการระลึกถึงการเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่สูญเสียชีวิตนับหมื่นคนในเมียนมาว่าความสัมพันธ์เลือดนี้ ไม่ควรจะถูกสร้างอีกต่อไป 

จากกรณีมีรายงานข่าวว่า นายดอน ปรมัตถุวินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัฐบาลรักษาการของไทย เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาและสมาชิกอาเซียน มาเข้าร่วมประชุมอย่างไม่เป็นทางการในวันอาทิตย์ ที่ 18 มิถุนายนนี้ เพื่อหารือแผนสร้างสันติภาพในเมียนมานั้น

สมควรที่ถูกอินโดนีเซียปฏิเสธการเข้าร่วมการเชิญที่ดูมีเลศนัยนี้จากรัฐบาลรักษาการของไทย ผมมีโอกาสได้เข้าพบท่าน Special Envoy ของอินโดนีเซียต่ออาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ และมีโอกาสแลกเปลี่ยนทัศนะ ในฐานะผู้เคยทำงานในเมียนมาในช่วงวิกฤตดังกล่าว และเสนอแนวทางการแก้ไขที่น่าจะเป็นไปได้

จากการพูดคุยกับท่าน Special Envoy ผมมีความเชื่อมั่นมากขึ้นกับฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน (5 Point Concensus) เพราะท่านได้ให้คำยืนยันว่าจะเร่งดำเนินกาเดินทางเข้าเมียนมาให้ได้เพื่อเริ่มบทสนทนาโดยเร็ว โดยมีอาเซียนเป็นตัวจักรหลักในการแก้ไขปัญหา และผมได้รบกวนให้ท่านพิจารณาเรื่องรากเหง้าแห่งปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงเป็นประเด็นสำคัญหนึ่งในการพูดคุยด้วย

ข้อเสนอของผมเรื่องนำประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาเป็นกลุ่มสนทนาหลักอีกกลุ่มหนึ่งต่อการกดดันเมียนมานั้น ได้รับการตอบรับว่าอาเซียนก็ได้เริ่มต้นด้านนี้แล้ว และหากมีโอกาสจะได้มาแชร์ข้อมูลกันมากขึ้น

ข้อเสนอสุดท้ายของผมในเรื่อง cross-border interventions ต่อผู้ผลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมาหลักเกือบสามแสนคนที่อยู่ใกล้บริเวณชายแดนไทย โดยผ่านการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านชายแดนไทย นั้น ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และท่าน Special Envoy ได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นนี้มาก ผมได้เรียนไปว่า UN ไม่สามารถทำได้อย่างเป็นทางการ เนื่องจากติดขัดด้านกระบวนการที่ต้องขอการอนุมัติจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ดังนั้น การใช้ประเทศไทยที่มีชายแดนติดกันถึง 2,401 กม. จะช่วยเหลือสถานการณ์ฉุกเฉินต่อผู้ต้องการได้รับความช่วยเหลือในสถานการณ์มนุษยธรรมได้อย่างดี

อาเซียนต้องรับบทบาทหลักในการจัดการกับปัญหาในเมียนมาอย่างแน่นอน แต่ไทยต้องชิงสถานการณ์ที่เราจะมีรัฐบาลของประชาชนที่เป็นประชาธิปไตยนำในการเป็นผู้นำต่อการบริหารจัดการสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนในเมียนมาโดยเร็ว โดยใช้ภูมิรัฐศาสตร์ที่เรามี และไทยจะสามารถชิงการเป็นผู้นำในเวทีโลกได้อย่างสง่างามต่อไป

ทำไมรัฐบาลรักษาการ จึงอยากจะมาอยากมีบทบาทในช่วงนี้เพื่อ !! ทั้งๆที่ผ่านมาไม่เคยแสดงบทบาทผู้นำที่ไทย ต้องทำคือการเปิด ประตูมนุษยธรรม Humanitarian Corridor ต่อสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมา ให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับผู้หนีภัยการสู้รบชายแดนเมียนมา-ไทย ที่ยังคงถูกประหัตประหารจากรัฐบาลเมียนมา ซึ่งล่าสุดอพยพมายังไทยและได้รับการช่วยเหลือกว่า 3,000 คน และสถานการณ์ยังไม่มีแนวโน้มจะยุติลง เหมาะสมแล้วหรือไม่ที่รัฐบาลรักษาการจะทำแบบนี้

Thailand For Burma ชี้ต้องยกเลอกเชิญตัวแทนรัฐบาลทหารพม่า

ด้านกลุ่ม Thailand For Burma ออกแถลงการณ์ประเทศไทยต้องยกเลิกแผนที่จะเชิญตัวแทนกลุ่มตัวอาชญากรรัฐบาลทหาร มาที่กรุงเทพฯ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net