คุยกับ 2 คิวเรเตอร์งาน 'ไข่แมว x กะลาแลนด์' ดุลยภาพของศิลปะ-ล้อเลียน-วิจารณ์

งาน ‘Khai Maew X: Kalaland’ หรือ ‘ไข่แมว x กะลาแลนด์’ คือนิทรรศการศิลปะครั้งแรกของ ‘ไข่แมว’ เพจการ์ตูนล้อการเมืองชื่อดังที่มีคนติดตามเกิน 300,000 คนในเพจเฟสบุ๊ก ด้วยลายเส้นล้อเลียนบุคคลและสถานการณ์การเมืองอย่างคมคายมีอารมณ์ขันเป็นเอกลักษณ์ด้วยการ์ตูนแก๊ก 4 ช่องจบไร้คำพูด

ซ้าย บัณฑิต, ขวา ลลิตา

แต่กว่าจะออกมาเป็นนิทรรศการได้ นอกจากตัวศิลปินไข่แมวที่ประชาไทสัมภาษณ์ไปก่อนหน้านี้แล้ว ยังมี 2 คิวเรเตอร์ผู้อยู่เบื้องหลังการจัดนิทรรศการ ตั้งแต่ขั้นริเริ่มไอเดีย วางคอนเซปต์ ร่วมคิดงาน ร่วมเลือกผลงาน นั้นคือ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ประชาไทชวนคิวเรเตอร์ทั้งสองคนคุยถึงจุดเริ่มต้น ไอเดีย คอนเซปต์ของงาน และคำถามคาใจว่า นอกจากเป็นการ์ตูนล้อเลียนการเมืองที่มีอิทธิพลสูงต่อสังคมโดยเฉพาะโลกโซเชียล การนำไข่แมวออกมาสู่งานนิทรรศการนั้นช่วยสร้างอิมแพคอะไรเพิ่มเติม และลายเส้นน่าเอ็นดูแบบนี้จะทำให้ภาพลักษณ์ของเผด็จการดูน่ารักไปรึเปล่า  


 

มาเป็นคิวเรเตอร์ไข่แมวได้อย่างไร แล้วคอนเซปต์และไอเดียคืออะไร?

บัณฑิต: โปรเจคนี้คิดกันมานานแล้วกับ อ.ลลิตา ผมทำงานเป็นคิวเรเตอร์ให้กับศิลปินหลายคน แต่ก็ไม่ทำเป็นประจำ เพียงแต่รอบหลายปีนี้สถานการณ์การเมืองเปลี่ยนแปลง ในฐานะที่เป็นนักรัฐศาสตร์และคนที่สนใจเรื่องศิลปะ ตัวงานศิลปะของไข่แมวซึ่งเป็นการ์ตูนนั้นมีศักยภาพของการเล่าเรื่องสิ่งที่สัมพันธ์กับการเมืองร่วมสมัย ไข่แมวมีองค์ประกอบบางอย่างที่ทำให้คนหัวเราะได้ ทำให้คนฉุกคิดได้

มีช่วงที่เขาหายไปช่วงหนึ่ง ตอนนั้นก็ขาดการติดต่อ พอเขากลับมาเราก็ได้คุยกันอีกครั้ง ใช้เวลาคุยและพัฒนากันพอสมควร ทั้งคอนเซปต์งาน สถานที่ จะแสดงยังไง มีภาพปริ้นท์ มีหุ่น มีภาพเพ้นท์ใหญ่ มีตุ๊กตา ค่อยๆ พัฒนากันมาตามลำดับ

อันหนึ่งที่ไข่แมวมีคืออารมณ์ขัน เลยทำให้งานมันออกมาสนุก มีของที่ระลึกที่ให้แฟนๆ ไข่แมวได้สัมผัสจริงๆ ไม่ใช่อยู่แค่ในโลกไซเบอร์

ในฐานที่เป็นคิวเรเตอร์ผมคิดว่ามีหลายประเด็นที่ชวนให้คนดูคิดต่อได้ เป็นการดึงเอาบริบทของไข่แมวที่อยู่ในโซเชียลมีเดียออกมาอยู่ในแกลลอรี่ ให้มันมีคุณค่าใหม่ทางศิลปะ

คอนเซปต์กะลาแลนด์ก็ตรงตัว ประตูข้างหน้าทุกคนก็จะเจอกะลาใหญ่ครอบอยู่ การถูกครอบด้วยกะลามันก็มีความหมายว่าเพดานความคิด เพดานการแสดงออกมันถูกจำกัดด้วยอะไรบางอย่าง

ลลิตา: เราเป็นแฟนคลับ เราชอบงานไข่แมว เราชอบความคมคายของเขา มีโอกาสได้รู้จักศิลปินเป็นการส่วนตัว เราก็คุยกับอ.บัณฑิตว่าอยากทำนิทรรศการ เอางานของไข่แมวขึ้นมา เพราะเขาก็เปิดเพจมา 3-4 ปีแล้ว แต่ไข่แมวก็ยังไม่มีนิทรรศการของตัวเอง เราต้องยอมรับว่าไข่แมวมีส่วนในการขับเคลื่อนสังคม เป็นศิลปินที่มีอิมแพคต่อวิถีชีวิตของคนในสังคม คนบางกลุ่ม ค่อนข้างมาก

แล้วตัวศิลปินเองเขาก็เป็นคนทำฟิกเกอร์พวกนี้ขายอยู่แล้ว แล้วเราก็คิดกันว่าอยากให้คอนเซปต์มันมีความสนุกสนาน มีความป๊อป มีความเป็นการ์ตูน ซึ่งคนในรุ่นอายุ 20-30 ปี ก็โตมากับวัฒนธรรมการอ่านการ์ตูน ทั้งญี่ปุ่นทั้งอเมริกา

ไอเดียก็คือทำให้งานไข่แมวเป็นศิลปะ และมีความเป็นการเมืองระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันเราก็ทรีตมันว่าเป็นงานศิลปะที่เข้าถึงได้ง่าย เมสเซจบางอันก็แรง แต่ด้วยความน่ารักมุ้งมิ้งของเขามันก็ทำให้งานไข่แมวเข้าถึงคนทุกกลุ่มได้

มันถึงเวลาแล้วที่งานของไข่แมวจะถูกทรีตเป็นงานศิลปะ มาอยู่ในแกลลอรี่ศิลปะอย่างจริงจัง แล้วโดยปกติเราจะเห็นงานไข่แมวทางออนไลน์ แต่พอมันปริ้นต์ออกมา เราจะเห็นงานศิลปะที่สวย

หมายความว่าถ้าไข่แมวอยู่ในแค่โลกโซเชียลจะไม่มีความเป็นศิลปะที่สมบูรณ์?

ลลิตา: ใช่ เวลาเราอยู่ในโลกออนไลน์ คนไม่ค่อยคิดว่าเขาเป็นศิลปิน คิดว่าเขาเป็นเซเลปออนไลน์ เหมือนเพจดังๆ อื่นๆ แต่พอเราเอาไข่แมวออกมาจากออนไลน์ เราจะเห็นตัวตนความเป็นศิลปินของเขาที่เพจอื่นๆ ในเฟสบุ๊กไม่ได้เป็นแบบนี้ เรามองว่ามันคือส่วนหนึ่งของการ์ตูนล้อการเมืองที่คนไทยเสพกันมาหลายสิบปี เพียงแต่ในบริบทสังคมปัจจุบัน การ์ตูนการเมืองแบบเดิมมันไม่เวิร์คแล้ว มันไม่ทำให้คนรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับการเมือง

ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

บัณฑิต: อาจพูดได้ว่างานไข่แมวเป็นป๊อปคัลเจอร์ ในโซเชียลมีเดียไข่แมวมีชีวิตทั้งเชิงการเมือง สังคม วัฒนธรรม คนฟอลโล่วหลายแสน แต่ชีวิตของไข่แมวนอกโซเชียลมีเดียก็เป็นการทดลองของพวกเราว่าจะเวิร์คไหม การให้คนได้สัมผัสกับไข่แมวในโลกจริง ไม่ได้มีแค่การ์ตูนสี่ช่อง แต่มีภาพเพ้นท์ขนาดใหญ่ มีหุ่น มีตุ๊กตา ของที่ระลึกที่คนซื้อได้ สัมผัสได้จริง ก็เป็นสิ่งที่อยากทดลองทำ

แล้วชีวิตทางสังคมการเมืองของไข่แมวนั้นมีพื้นที่และช่วงเวลาของเขา ถ้าเลยช่วงเวลานี้ สถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยน ไข่แมวก็อาจจะขยับไปอยู่อีกจุดหนึ่งก็ได้ ตอนนี้จึงอยากให้เขามีพื้นที่นอกโซเชียล แล้วเพจไข่แมวตอนนี้ก็เป็นนอนคอมเมอร์เชียล คือไม่ใช่การพาณิชย์ มีอิสระทางคอนเทนต์ เป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างดุลยภาคระหว่างศิลปะ การล้อเลียน การตั้งคำถาม และเป็นตัวแทนในการวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการ

ไข่แมวในมุมของคุณ?

บัณฑิต: ผมคิดว่าตัวไข่แมวเขาอยากจะออกมาสื่อสารบางอย่าง เพียงแต่เขาออกมาในฐานะมนุษย์ไม่ได้ เขายังต้องการเป็นคนที่ไม่เปิดเผยชื่อ อยากอยู่ในโซเชียลมีเดีย อยากเล่าอยากทำงานที่เขารัก ไข่แมวในด้านหนึ่งก็คือคนที่อยากจะใช้ชีวิตปกติแบบพวกเรานี่แหละ เพียงแต่ประเด็นที่เขาเลือกซึ่งเป็นประเด็นเรื่องความเห็นต่างทางการเมืองในท่ามกลางอำนาจที่ยังไม่เป็นของพลเมือง ก็ทำให้ไข่แมวต้องอยู่ในความเป็นโนบอดี้ เป็นแอนอนิมัส สำหรับผมมองว่าในเชิงการ์ตูนการเมือง การวิพากษ์สังคม ไข่แมวก็น่าจะเป็นอันดับต้นๆของประเทศไทย

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ลลิตา: เขาเป็นศิลปินคนหนึ่งที่รักการทำงานศิลปะในแบบที่เขาถนัด และเป็นคนที่เนิร์ดเรื่องการ์ตูนมาก เป็นพหูสูตรคนหนึ่ง เติมโตมากับวัฒนธรรมการอ่านการ์ตูน เราอาจจะคุยงานกับเขาเป็นหลัก ด้านอื่นอาจจะไม่ได้รู้จักเขามาก แต่เรามองว่าเขาเป็นศิลปินร่วมสมัยที่สำคัญมากคนหนึ่งในไทย

การนำเผด็จการมาล้อเลียนทำให้ดูน่ารัก มองอีกมุมหนึ่งมันคือการทำให้เขาไม่น่ากลัวและส่งผลดีต่อเขาแทนหรือไม่?

ลลิตา : สิ่งเดียวที่น่ารักของการ์ตูนลุงตู่คือรูปลักษณ์น่ารัก แต่ถ้าเราดูแมสเซสหรืออ่านสิ่งที่เขาพยายามจะสื่อ เราจะรู้เลยว่ามันมีแมสเซสที่โหดสัส แข็งกร้าว และวิพากษ์วิจารณ์ตัวผู้นำอย่างเผ็ดร้อน แต่การทำให้ท่านผู้นำเอย แจ๊คแม้วเอย กลายเป็นการ์ตูนที่น่ารักมันมีประโยชน์อยู่อย่างคือ เวลาคนเริ่มเสพการ์ตูนไข่แมวเขาจะมีอิมเพรสชั่นที่ เฮ้ย มันดูน่ารัก มันดูเข้าถึงได้ง่าย ในขณะที่ถ้าเป็นลายเส้นของนักวาดการ์ตูนสมัยเก่า เด็กๆ ปัจจุบันก็ไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว นั่นก็เป็นจุดแข็งของเขาอีกอย่างหนึ่ง

บัณฑิต: ผมคิดว่ามันเป็นศิลปะในการนำเสนอ เป็นเทคนิคการนำเสนอที่ทำให้การ์ตูนไข่แมวไม่โดนระดมด่า หรือโดนปิดเพจ หรือการแทรกแซงก็อาจจะน้อยกว่าเพจอื่นที่ตั้งขึ้นมาเพื่อต้านรัฐบาล

ผมคิดว่าในยุคนี้เราไม่สามารถบอกได้ว่านี่คือดำนี่คือขาวได้เต็มที่ตลอดเวลา การสร้างคอมม่อนกราวน์ระหว่างกลุ่มสีเสื้อ กลุ่มอุดมการณ์ทางการเมือง ที่ทำให้มาถึงจุดที่ทุกคนฟอลโล่วไข่แมวได้ โดยไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองถูกและอีกฝั่งผิดอยู่ตลอด

ไข่แมวได้กระตุกตั้งคำถามเรา แน่นอนว่าโน้มเอียงไปทางวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้ประเทศเราปกครองด้วยเผด็จการรูปแบบหนึ่ง ที่มีคนประสบผลสะเทือนจากเผด็จการในรอบสี่ปีที่ผ่านมา แต่เราจะเห็นว่าสี่ปีที่ผ่านมาก็มีคนจำนวนไม่น้อยยังสนับสนุนเขาอยู่ การดำรงอยู่ของไข่แมวก็คือการดำรงอยู่ของเสียงสะท้อนและการวิพากษ์วิจารณ์รูปแบบหนึ่งด้วยเทคนนิคการล้อเลียน ซึ่งเผด็จการทุกชาติก็ถูกล้อเลียนหมด ไม่ใช่เรื่องแปลก จุดสำคัญคือมันสร้างบาลานซ์ สร้างความสามารถในการวิจารณ์ได้

อันนี้คือสาเหตุหนึ่งที่ผมมองไข่แมวไม่ใช่แค่การ์ตูนนิสต์ในโลกโซเชียลมีเดีย เขาคือศิลปินคนหนึ่ง เขามีความแยบยลในการนำเสนอ เขามีคอนเซปต์บางอย่างที่เขาต้องการส่งผ่านออกไป แล้วเสน่ห์ของมันก็คือการตีความ

การทำให้เผด็จการดูน่ารัก ในทางกลับกันทำให้กลุ่มผู้ชมก็มากขึ้น คนที่ไม่ชอบเผด็จการก็หัวเราะได้ในหลายๆ แก๊ก นั่นคือความสำเร็จของเขา โดยไม่ได้ข้ามไปสู่การด่าแบบไร้สติ นี่คือสิ่งที่ปรากฎในงานไข่แมวแทบทุกชิ้น และหลายคนก็ต้องไปดูว่ารูปนี้แจ๊คแม้วอยู่ตรงไหน อันนี้ก็เป็นเสน่ห์

ถ้าคุณจะวิจารณ์อย่างเดียว ใช้ความรุนแรงอย่างเดียว คุณอาจจะไม่มีชีวิตรอดให้ทำงานต่อก็ได้ รูปลักษณ์แบบนี้ทำให้เข้าถึงกลุ่มคนได้หลากหลาย อยู่ในจุดที่แชร์กันได้ แต่ถ้ามุ่งสร้างความเป็นอื่นให้กับอีกฝ่าย มันก็ยิ่งผลักทำให้ทุกอย่างวิจารณ์ไม่ได้

มาสคอตขนาดเท่าคนจริง

กะลายักษ์ระหว่างการติดตั้งผลงาน

Khai Maew X : Kalaland

งานผลงานศิลปะครั้งแรกของไข่แมว การ์ตูนนิสต์ชื่อดังที่มีบทบาทในการวิจารณ์สังคมการเมืองและวัฒธรรมไทยในความเงียบสี่ช่องที่มีทั้งความน่ารัก น่าชังและอารมณ์ขันแบบสายดาร์ค

7-22 พ.ย. 61 ที่ ARTIST+RUN

ติดต่อสอบถามผู้จัดงาน บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ 

โทร 0994545955

รายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติม : Khai Maew X : Kalaland

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท