Skip to main content
sharethis

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์-อภ. เผยผลการตรวจวิเคราะห์กัญชาของกลาง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เจอยาฆ่าแมลงอันตราย สารปนเปื้อนโลหะหนัก เช่น ปรอท ตะกั่ว ไม่มีคุณภาพในการผลิตยา ด้าน อภ.ยังเดินหน้าวิจัยยารักษาโรคจากกัญชา เล็งปลูกในพื้นที่ควบคุม


ที่มาภาพประกอบ: Thomas Hawk (CC BY-NC 2.0)

เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2561 ที่ผ่านมา Thai PBS รายงานว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม (อภ.) แถลงผลตรวจ วิเคราะห์กัญชาของกลางเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งได้รับมอบวัตถุดิบกัญชาของกลางจากกองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) 100 กิโลกรัม เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ในโครงการวิจัยและพัฒนาสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์

โดยเมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้ส่งตัวอย่างวัตถุดิบกัญชาแห้ง 3 ตัวอย่าง มาตรวจที่ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2 แห่ง คือ ห้องปฏิบัติการสำนักยาและวัตถุเสพติด เพื่อทำการวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของยาฆ่าเชื้อรา difenoconazole และ propioconazole และห้องปฏิบัติการสำนักคุณภาพ และความปลอดภัยอาหาร เพื่อทำการวิเคราะห์ตรวจสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้าง 60 ชนิด ได้แก่ กลุ่มออร์กาโนคลอรีน กลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส กลุ่มสารสังเคราะห์ไพรีทรอยด์ และ กลุ่มคาร์บาเมต และโลหะหนักปนเปื้อน ได้แก่ ตะกั่ว ปรอท สารหนู และแคดเมียม

ผลการวิเคราะห์ ไม่พบการปนเปื้อนของยาฆ่าเชื้อรา แต่ตรวจพบสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช chlorpyrifos และ cypermethrin และตรวจพบโลหะหนัก ตะกั่ว ปรอท สารหนู และแคดเมียม ในตัวอย่างวัตถุดิบกัญชาแห้งทั้ง 3 ตัวอย่าง”

ต่อมาในวันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา องค์การเภสัชกรรมได้ส่งสารสกัดกัญชา 1 ตัวอย่าง เพื่อตรวจวิเคราะห์สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้าง และโลหะหนักผลการตรวจพบสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช chlorpyrifos และ cypermethrin และพบโลหะหนัก 2 ชนิด คือ ปรอท และสารหนู

“สรุปว่าวัตถุดิบกัญชาของกลางทุกตัวอย่าง มีคุณภาพไม่เพียงพอที่จะนำมาผลิตเป็นยาเพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วย”

อภ.เล็งปลูกกัญชาเพื่อผลิตยา

นพ.โอภาส กล่าวว่า จะสังเกตเห็นได้ว่าทุกตัวอย่างมียาฆ่าแมลง Chlorpyrifos ซึ่งเป็นที่นิยมของเกษตรกร หากร่างกายได้รับสาร Chlorpyrifos จะมีพิษต่อร่างกายมนุษย์ เช่น มีผลต่อพัฒนาการทางระบบประสาทในเด็ก มีผลต่อความผิดปกติ ทางอารมณ์ มีอาการคลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนอ่อนเพลีย กล้ามเนื้อหดตัว แน่นหน้าอก อาเจียน ท้องเดิน และระบบหายใจล้มเหลว เป็นต้น 

ด้าน ดร.ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวว่า การตรวจพบสารปนเปื้อน ถือเป็นเรื่องดีเพราะทำให้รู้ถึงคุณภาพของกัญชาของกลางที่จับกุมมาได้ว่ายังไม่ได้คุณภาพที่จะนำมาใช้สำหรับทำเป็นสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ ทั้งนี้ อภ.ปรับ 2 แนวทางคือจะคัดเลือกวัตถุดิบกัญชาของกลางจากบช.ปส.เพิ่มเติม

เบื้องต้นได้ประสานงานให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นผู้ตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนก่อน ที่จะรับวัตถุดิบกัญชาของกลางจาก บช.ปส.เพื่อให้ได้วัตถุดิบกัญชาของกลางที่มีคุณภาพ ไม่มีการปนเปื้อน และจะเร่งปลูกกัญชาในพื้นที่ของ อภ.โดยแนวทางนี้ จะดำเนินงานคู่ขนานพร้อมกัน เพื่อให้ได้สารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ ที่มีคุณภาพโดยเร็วสำหรับใช้ในการศึกษาวิจัยกับกลุ่มผู้ป่วย ในโครงการต่อไป 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net