Skip to main content
sharethis

วงเสวนารวบรวมข้อมูล นำเสนอว่าประชาชนได้อะไรบ้างใน 5 ปีภายใต้ สนช. สภานิติบัญญัติแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ชี้ ได้สภาสูงวัย งบกลาโหมเพิ่ม กฎหมาย 380 ฉบับที่ผ่านรวดเร็ว มุบมิบกฎหมายที่กระทบตัวเอง กระบวนการรับฟังความเห็นมีปัญหา กฎหมายสภาแต่งตั้งเอื้อนายทุน ทำลายสิ่งแวดล้อม ละเมิดสิทธิ ขยายอำนาจรัฐ แนะ แก้ไขกฎหมายหลังเลือกตั้งผ่านทุกช่องทาง

ซ้ายไปขวา: ประภาส ปิ่นตบแต่ง ณัชปกร นามเมือง สฤณี อาชวานันทกุล เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง สุรชัย ตรงงาม สมชาย ปรีชาศิลปกุล

9 ก.พ. 2562 เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (7 ก.พ.2562) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการจัดงานเสวนา “ก้าวสู่ปีที่ห้า “สภาแต่งตั้ง” ประชาชนได้อะไร?” จัดขึ้นโดยองค์กรภาคประชาชนและนักวิชาการ ภายใต้ความร่วมมือของมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมายคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การเสวนามี รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ สุรชัย ตรงงาม มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เป็นวิทยากร และมี รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ณัชปกร กล่าวว่า ตลอดเกือบห้าปีที่ผ่านมาไทยมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. ซึ่งเรียกได้เต็มปากว่าเป็นสภาทหาร เพราะสัดส่วนของสภา ร้อยละ 58 หรือจำนวนมากเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร อดีตทหาร เข้ามานั่งในสภา ส่วนต่อมาเป็นข้าราชการประจำร้อยละ  26 ภาคธุรกิจร้อยละ 8 ข้าราชการตำรวจร้อยละ 5 และอื่นๆ อย่างนักวิชาการหรือภาคประชาสังคมอีกร้อยละ 3 สนช. มีผู้สูงอายุจำนวนมาก สมาชิกที่มีอายุน้อยสุดคือ 51 ปี แก่สุดคือ 92 ปี มีเพศกำเนิดที่เป็นเพศชาย 238 คน หญิง 12 คน สมาชิกที่อายุเลยวัยเกษียณ หรือ 60 มี 185 คน คิดเป็นร้อยละ 75

เจ้าหน้าที่จากไอลอว์ตั้งสมมติฐานว่าคนอายุเกิน 60 ปีมักมีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม ดังนั้นกฎหมายที่ออกมาก็จะมีความเป็นอนุรักษ์นิยม ซึ่งข้อเท็จจริงก็เป็นเช่นนั้น กฎหมายที่ออกมาหลายฉบับไม่เข้าใจในสิทธิเสรีภาพ บริบทโลกปัจจุบัน สะท้อนภาวะความเป็นรัฐราชการ สภาราชการ

สมาชิก สนช. มีความใกล้ชิดกับ คสช. มีเครือญาติของสมาชิก คสช. อยู่ใน สนช. อย่างครอบครัววงษ์สุวรรณ จันทร์โอชา สีตบุตร จาตุศรีพิทักษ์ นาควานิช รุดดิษฐ์ และครอบรัวเกิดผล เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสมาชิก คสช. บางคนอยู่ในรัฐบาล คสช. และเป็น สนช. พอเปลี่ยนตำแหน่งก็เอาญาติของตัวเองมานั่งแทน

ห้าปีที่ผ่านมา สนช. รับกฎหมายไว้พิจารณา 504 ฉบับรับหลักการ 460 ฉบับ และตลอดห้าปี สนช. ผ่านกฎหมายในวาระสามไปแล้ว 380 ฉบับ เรียกได้ว่าการออกกฎหมายในยุคนี้ไม่ต่างกับโรงงานอุตสาหกรรม ตกปีละเกือบร้อยฉบับ เดือนหนึ่งพิจารณาเกือบสิบฉบับ สัปดาห์หนึ่งก็มีออกกฎหมายหลายฉบับโดยเฉลี่ย เมื่อเทียบกับสภาปกติ การพิจารณากฎหมายที่รวดเร็วขนาดนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัวแต่ สนช. กลับมองเป็นความภูมิใจ

ณัชปกรกล่าวต่อไปว่า หลายครั้งที่ สนช. ผ่านกฎหมายสามวาะรรวด ตามปกติแล้วคือวาระหนึ่ง ขั้นหลักการ จากนั้นตั้งคณะกรรมการมาพิจารณากฎหมาย จากนั้นค่อยลงความเห็นชอบในวาระสาม แต่หลายครั้ง สนช. พยายามพิจารณากฎหมายสามวาระรวด และหลายกฎหมายก็มีความน่าสนใจ เช่น พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม คืองบประมาณที่ผ่านแต่เดิมนั้นไม่พอ ก็เลยออกเพิ่ม สนช. ใช้เวลาสี่ชั่วโมงในการโอนเงินเพิ่มให้รัฐบาล 1.5 แสนล้านบาท เป็นเรื่องน่าตกใจที่เงินภาษีประชาชนจำนวน 1.5 แสนล้านบาทผ่านการพิจารณาแค่สี่ชั่วโมงครึ่ง และงบดังกล่าวนั้น จำนวนมากถูกเอาไปเป็นงบกลาง คืองบประมาณที่รัฐบาลจะใช้ได้อย่างอิสระ นอกจากนั้น งบประมาณของกระทรวงกลาโหมเพิ่มทุกปีตั้งแต่ปี 2557 หนึ่งในคนที่เห็นชอบงบประมาณกลาโหมก็คือผู้บัญชาการทหารบก คนใช้เงินมาขอเงินตัวเอง และเห็นชอบการใช้เงินของตัวเอง นี่คือสิ่งที่เป็นอยู่

เจ้าหน้าที่ไอลอว์เพิ่มเติมว่า แม้แต่กฎหมายที่เสียงแตกมากที่สุดสามอันดับยังมีสมาชิกเห็นด้วยอย่างน้อยร้อยละ 91 สะท้อนว่า สนช. แทบจะไม่ขัดแย้งในการออกกฎหมายเลย เถียงกันน้อยมาก ในส่วนกฎหมายที่ผ่านช้าก็มี จากการวบรวมพบว่ามี พ.ร.บ. อย่างน้อย 6 ฉบับที่ใช้เวลาพิจารณานานมาก หนึ่งในนั้นคือ ร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยตั้งสมมติฐานว่าที่พิจารณานาน เพราะว่าสมาชิก สนช. 247 คนถือครองที่ดินรวมกันจำนวนมาก ถึง 9.8 พันล้านบาท เฉลี่ยคนละ 42 ล้านบาท รายงานเรื่องการถือครองที่ดินของสมาชิก สนช. ที่มีในขั้นกรรมาธิการก็ไม่มีการเปิดเผยสู่สาธารณะ จึงทำให้มองได้ว่า สนช. อาจได้รับผลกระทบหากร่างฯ ดังกล่าวผ่าน และยังมีร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับส่วนรวม ที่ให้เจ้าหน้าที่รัฐที่พ้นตำแหน่งไม่เกินสองปี ห้ามดำรงตำแหน่งธุรกิจเอกชน ซึ่ง สนช. นั้นเต็มไปด้วยข้าราชการ ถ้ากฎหมายนี้ออกมาก็จะกระทบกับบรรดาข้าราชการเกษียณที่ไปนั่งทำงานในสภา จึงทำให้พิจารณานาน

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สนช. ผ่านกฎหมายอย่างน้อยสามฉบับที่เอื้อให้กับ คสช. พรบชุมนุมสาธารณะ 2558 พรบ ประชามติ 2559 พรบ.การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ. ประชามติห้ามการรณรงค์ที่ให้ข้อมูลบิดเบือน ซึ่งเราจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรคือบิดเบือน ทำให้การรณรงค์และลงคะแนนเสียงประชามติรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 ไม่เป็นธรรม แม้ปัจจุบันมีการยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 แล้ว แต่ยังมีกฎหมาย พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะที่มากำกับประชาชน เช่น ถ้าอยากชุมนุม ก็ต้องไปแจ้งล่วงหน้า 24 ชม. ล่าสุดมีการมานั่งวัดเสียงกันว่าเกิน 70 เดซิเบลหรือไม่ อย่างการชุมนุมคนอยากเลือกตั้งในเดือน ม.ค. ที่ราชประสงค์ ที่มีมลพิษทางเสียงอยู่แล้ว เวลาวัดเสียงจะมั่นใจอย่างไรว่าจะถูกต้อง

ต่อกรณีที่ สนช. ออกมาแถลงว่ามีการตั้งกระทู้ถามรัฐบาล คสช. ถึง 87 กระทู้นั้น ณัชปกรกล่าวว่า ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่อยู่ในตำแหน่งนานสองปีครึ่ง มีการตั้งกระทู้ถาม 1,557 กระทู้ ในขณะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรถูกตั้งกระทู้ถาม 352 กระทู้

ตลอดห้าปีที่ผ่านมา สนช. เห็นชอบแต่งตั้งบุคคลไปแล้วไม่น้อยกว่า 60 ตำแหน่ง และปัดตกบางตำแหน่ง อย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แต่แต่งตั้งคนให้ คสช. ไปล้วไม่น้อยกว่า 13 องค์กร ตามอำนาจในการแต่งตั้งสมาชิกในองค์กรอิสระ

นอกจากนั้น ณัชปกรยังกล่าวว่า สนช. ได้ต่ออายุให้ คสช. อยู่ในอำนาจนานขึ้นถึงห้าครั้ง โดยยกตัวอย่างล่าสุดคือการเลื่อนเลือกตั้งเมื่อพิจารณพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (พรป.ส.ส.) ปกติกฎหมายโดยทั่วไปกำหนดเวลาบังคับใช้ แต่ถ้ากฎหมายเลือกตั้ง สส. บังคับใช้เร็วก็จะเลือกตั้งเร็ว ปรากฏว่า สนช. แก้กฎหมายขยายเวลาประกาศบังคับใช้หลังลงราชกิจจานุเบกษาไป 90 วัน ขยายเวลาให้ คสช. อยู่ในอำนาจอีกสามเดือน มีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายลูกสองฉบับ (พรป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พรป.การได้มาซึ่ง สว.) กินเวลาให้ คสช. อยู่ในอำนาจนานไปอีก ทั้งยังเป็นคนรับรองการออกคำถามพ่วงในประชามติ ให้ สว. ที่แต่งตั้งจาก คสช. เลือกนายกฯ ได้ เป็นกลไกสำคัญให้ คสช. สืบอำนาจไปได้อีกหลังเลือกตั้ง

ณัชปกรทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันเหลือประชุมของ สนช. อีกประมาณ 11 ครั้ง ยังเหลือกฎหมายค้างท่ออีก 71 ฉบับ ตอนนี้โฟกัสสังคมกำลังอยู่ที่การเลือกตั้ง ปกติถ้าเป็นช่วงเลือกตั้ง สภาจะถูกยุบ ไม่มีอำนาจพิจารณากฎหมาย แต่ในยุค คสช. สนช. ยังมีอำนาจพิจารณากฎหมายต่อไปเรื่อยๆ ที่พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ออกมาบอกว่าใจกว้าง จะหยุดการทำงานเจ็ดวันก่อนเลือกตั้ง แต่เอาจริงๆ สภาปกตินั้นไม่ทำงานตั้งแต่ยุบสภาแล้ว มันจึงไม่ใช่ความใจกว้างอะไร แต่เป็นระบบที่ไม่ปกติที่มีการเลือกตั้งแล้วสภายังออกกฎหมายได้

กระบวนการรับฟังความเห็นมีปัญหา กฎหมายสภาแต่งตั้งเอื้อนายทุน ทำลายสิ่งแวดล้อม

เพ็ญโฉม นำเสนอเรื่องวาระซ่อนเร้นในร่าง พ.ร.บ.โรงงานฉบับที่อยู่ในการพิจารณาของ สนช. เธอพบว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาที่ห้า กฎหมายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและพลังงานที่มีจำนวนแปดคน มีเจ็ดคนที่มาจากภาคเอกชน อีกหนึ่งคนเป็นผู้พิพากษา พอร่าง พ.ร.บ.โรงงานฯ ผ่านชั้นกฤษฎีกามา มีบางมาตราถูกตัดหายไป อย่างเช่นมาตรา 8 (9) ตัดเรื่องกองทุนการเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากผู้ประกอบกิจการ และยังยกเลิกอายุของใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ที่เดิมให้มีการต่ออายุทุกห้าปี ซึ่งทำให้การตรวจสอบสภาพโรงงานเพื่อประกอบการพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตหายไปด้วย กรณีนี้ เธอและ EnLaw ยื่นหนังสือคัดค้านไปที่ สนช. และรัฐบาล ที่ต้องยื่นรัฐบาลเพราะ สนช. ติดต่อมาว่าเป็นรัฐบาลที่ส่งคำสั่งให้ สนช. ให้ผ่านร่างฯ ดังกล่าวโดยเร็ว  

สฤณีกล่าวว่า ได้ติดตามชุดกฎหมายดิจิทัลอย่าง พ.ร.บ. การกระทำความผิดบนคอมพิวเตอร์ พ.ร.บ. ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และ พ.ร.บ. การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พบว่าในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นนั้นให้เวลาแลกเปลี่ยนความเห็นน้อย ในชุดกฎหมายดิจิทัล ที่ผ่านมามีความพยายามส่งความเห็นไปยังช่องทางต่างๆ แต่ไม่เห็นมีช่วงที่เอกสารโต้แย้งเหล่านั้นเข้าไปอยู่ในกระบวนการพิจารณาตรงนั้น หากเป็นกระบวนการปกติก็ควรมีการนำเสนอข้อคิดเห็นเหล่านั้นในชั้นต่างๆ แต่ไม่เห็นการทำงานลักษณะนี้ ประชาชนติดตามยาก ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 77 ที่ให้มีการรับฟังความเห็นก่อนพิจารณากฎหมายก็มีจริง แต่ว่ามีปัญหาเมื่อใช้งาน จริงอยู่ว่าเราสามารถดาวน์โหลดข้อกฎหมายจากเว็บไซต์และพิมพ์ข้อคิดเห็น แต่ยังไม่มีหลักประกันว่าความเห็นที่พิมพ์เข้าไปจะนำไปรับฟังจริงๆ

สฤนีกล่าวว่า กฎหมายที่เธอเห็นว่า สนช. ออกมาได้ดีนั้นไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับประชาชนโดยตรง เป็นเรื่องค่อนข้างเฉพาะกิจ เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน กฎหมายประมง ซึ่งที่มาที่ไปของการออกกฎหมายเหล่านี้มาจากการกดดันทางการค้า เป็นความจำเป็นในการค้าขายที่ต้องทำตามมาตรฐานสากล ส่วนที่มีปัญหาคือกฎหมายที่เกี่ยวพันระหว่างความมั่นคงและสิทธิ เสรีภาพของประชาชน อย่างเช่น พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่มีความพยายามครอบคลุมการแสดงออกออนไลน์ ทั้งๆ ที่เจตนาจริงๆ ควรให้ความสนใจกับระบบคอมพิวเตอร์ กับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์

อธิบาย สนช. ว่าเป็นกองเชียร์ คสช. กฎหมายละเมิดสิทธิ ขยายอำนาจรัฐ แนะ แก้ไขกฎหมายหลังเลือกตั้งผ่านทุกช่องทาง

 

สุรชัยกล่าวว่า ประชาชนมีสิทธิในการตรวจสอบ เพิกถอนกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมอยู่สี่วิธี ดังนี้

  1. ยกเลิก ปรับปรุงกฎหมายโดยรัฐบาล บริหาร คสช.ออกเองก็แก้เอง
  2. ฝ่ายนิติบัญญัติแก้ด้วยการมี ส.ส. เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 20 คน
  3. เข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน เสนอร่าง พรบ ใช้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน เข้าชื่อเสนอกฎหมาตามหมวด 3 สิทธิเสรีภาพ และ 5 หน้าที่ของรัฐ อย่างที่ไอลอว์ ให้ร่วมเข้าชื่อยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช. ที่ละเมิดสิทธิ เสรีภาพประชาชน
  4. ประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 212 แต่ต้องฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม หรือศาลปกครอง เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายที่พิจารณาขัดกับรัฐธรรมนูญ คือต้องมีปัญหาก่อนแล้วต้องไปฟ้อง หรืออีกกรณีหนึ่งคือฟ้องในฐานะผู้ได้รับความเสียหายตามมาตรา 213 หากถูกละเมิดสิทธิ เสรีภาพ ไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่ก่อนการฟ้องคดี ผู้ร้องต้องดำเนินการยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อพิจารณาก่อน ให้ถึงที่สุดแล้วจึงถึงศาลรัฐธรรมนูญ

สุรชัยเรียกร้องให้ คสช. และ สนช. ยุติการพิจารณาร่างกฎหมายปัจจุบัน เรียกร้องพรรคการเมือง รัฐบาลหลังเลือกตั้ง ทบทวนกฎหมายจาก สนช. ที่ควรยกเลิกหรือแก้ไข ถ้าไม่มีความคืบหน้า ประชาชนควรรวมตัวเข้าชื่อหนึ่งหมื่นรายชื่อ เสนอกฎหมาย ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมาย สนช. ไปจนถึงการฟ้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมาย สนช.

สมชายกล่าวว่า ทำไมต้องเชื่อในสิ่งที่ฝ่ายนิติบัญญัติเขียนขึ้นมา ในภาวะเสรีปกติก็ตอบในเชิงหลักการได้ว่าอย่างน้อยคนออกกฎหมายก็มีความสัมพันธ์โยงใยกับเรา การเลือกตั้งจึงสำคัญเพราะทำให้เกิดภาพสะท้อนของความหลากหลายของผู้แทนที่มาจากหลายแห่ง หลายชนชั้น ความขัดแย้งจึงเกิดเป็นเรื่องปกติ การผ่านกฎหมายที่ไม่ขัดแย้งเลยตลอดเป็นเรื่องไม่ปกติ แต่ในสังคมไทยตอนนี้มีภาวะอำนาจนิติบัญญัตินอกระบบ ไม่มีความชอบธรรม หลังรัฐประหารมีการแต่งตั้งองค์กรนิติบัญญัติเถื่อนขึ้น ในอดีต อย่างน้อยๆ ย้อนหลังถึง 2520 กว่าๆ คือ 40 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมีองค์กรนิติบัญญัติประเภทนี้ที่ทำงานขยันขันแข็งขนาดนี้ ปี 2534 2549 ก็ไม่นาน แต่ชุดนี้ สนช. ทำงานอย่างยาวนาน รวมถึงมีผลงานเป็นจำนวนมาก

สมชายมีอธิบายภาพรวมของ ที่มาของสมาชิก สนช. ลักษณะกฎหมาย และการทำงาน ดังนี้ ที่มาของ สนช. ว่า คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของสมาชิก สนช. คือเชียร์ หรือชอบ คสช. สมาชิกจึงมาจากราชการ ทหาร เอกชนและอื่นๆ นิดหน่อย เหมือนเป็นหางเครื่อง หรือจัดเวทีในวงลูกทุ่ง เป็นที่รวมรัฐราชการรวมศูนย์ คร่ำครึ หมายถึงอยู่ในโลกที่โบราณมาก แล้วเป็นโลกของรัฐราชการเป็นหลัก

ลักษณะกฎหมาย เน้นการขยายอำนาจรัฐ หนุนธุรกิจอุตสาหกรรมซึ่งไปทำลายสิ่งแวดล้อม จำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน เอื้อประโยชน์เครือข่าย อย่างการขึ้นย้อนหลังศาล องค์กรอิสระ อัยการ ตั้งแต่ปี 2557 ขึ้นเบี้ยประชุมให้ศาลทั้งที่เป็นหน้าที่ปกติ

ลักษณะการทำงาน สมาชิก สนช. ทำในสิ่งที่พวกเขาเคยประณาม เช่น ผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่โปร่งใส พอเป็น สนช. ก็ทำสิ่งที่เคยก่นประณาม เช่น การรับเงินเดือนหลายทางทั้งโดยตำแหน่งราชการและ สนช. อย่างอธิการบดีมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ก็ถูกเชิญไปเป็น สนช. กัน นอกจากนั้น การผ่านกฎหมายจำนวนมากถึง 380 ฉบับ หากอนาคตมีรัฐบาลเลือกตั้งและกลไกปกติ จะต้องใช้เวลาแก้ไขกฎหมายเหล่านี้นานขนาดไหน

สมชายเสนอว่า สนช. ควรหยุดทำงานได้แล้ว ควรมีการทวงคืนทรัพย์สินประชาชนที่ สนช. ได้ไปโดยไม่ชอบ เช่น เป็นข้าราชการจะรับเงินสองตำแหน่งได้อย่างไร หลังการเลือกตั้งคงไม่ปล่อยให้วายร้ายหลับสบาย ไม่เช่นนั้นในอนาคตหากมีสภาเช่นนี้ก็จะมีการแห่แหนไปเป็นกันอีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net