สำรวจ 'คนจนเมือง' ที่เปลี่ยนไปท่ามกลางนโยบายพัฒนาที่ไม่รองรับพวกเขา

เปิดงานวิจัย 'คนจนเมือง’ 5 พื้นที่ กรุงเทพฯ ปริมณฑล-เชียงใหม่-ขอนแก่น-ชลบุรี-สงขลา พบปัญหาพัฒนาเมืองไม่สอดคล้องกับคนจนเมือง นักวิชาการเสนอคำว่า 'ผู้ประกอบการรายย่อยในภาคการผลิตไม่เป็นทางการ' แทน คนจนเมือง สร้างการอยู่ร่วมเสมอหน้า

24 ก.ค. 2563 เมื่อวันที่ 18ก.ค. ที่ผ่านมามีการประชุมนำเสนอความก้าวหน้าโครงการวิจัย “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” ที่โรงแรม อมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต โดย 7 นักวิจัย ที่ได้รับการสนับสนุนโดยฝ่ายมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว.

การนำเสนอความก้าวหน้าโครงการวิจัย ทั้ง 5 พื้นที่ ได้แก่ คนจนเมืองยุค 2020 “อ่าน” ความหมายจากการวิจัยเชิงปริมาณ พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดย บุญเลิศ วิเศษปรีชา ม.ธรรมศาสตร์ และ ประภาส ปิ่นตบแต่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พลวัตคนจนและชุมชนเมืองในสังคมที่เปลี่ยนแปลง: กรณีศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล ม.เชียงใหม่, การเปลี่ยนแปลงกลางกระแสธารการพัฒนาของคนจนเมืองอีสาน โดย ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ ม.ขอนแก่น, คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง ในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย โดย ธนิต โตอดิเทพย์ ม.บูรพา, การเปลี่ยนไปของคนจนเมืองสงขลาในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง โดย ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดี ม.ทักษิณ และสังเคราะห์ภาพรวมโดย อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ม.เชียงใหม่

 

*ประชาไทเรียบเรียงจากเฟสบุ๊คแฟนเพจ The Active และ เอกสารประกอบการประชุมนําเสนอความก้าวหน้าโครงการวิจัย “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กําลังเปลี่ยนแปลง”

 

เสนอใช้ 'ผู้ประกอบการรายย่อยในภาคการผลิตไม่เป็นทางการ' แทน คนจนเมือง สร้างการอยู่ร่วมเสมอหน้า

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะประธานโครงการวิจัย “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” ระบุว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนจนเมืองในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการต่อสู้เพื่ออยู่รอดของคนสลัม คนในชุมชนแออัด และคนจนเมืองในปัจจุบันได้สร้างแบบแผนของการทำมาหากิน หรือการผลิตของคนตัวเล็กตัวน้อยในภาคการผลิตที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ภาคการผลิตไม่เป็นทางการ” อาจจะเรียกได้ว่าเป็นคุณลักษณะใหม่ของคนจนเมืองในปัจจุบัน ที่ได้พลวัตดำเนินมาอย่างเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ (Spontaneous Process) ว่าพวกเขาไม่ใช่เพียงแค่ "คนจนเมือง" หากแต่พวกเขาคือหรือเป็น "ผู้ประกอบการรายย่อยในภาคการผลิตไม่เป็นทางการ"

 

ประภาส ปิ่นตกแต่ง และบุญเลิศ วิเศษปรีชา ได้เขียนไว้ในรายงานร่วมกันในโครงการนี้ว่า

“เราสามารถพบเห็นคนในชุมชนแออัดหลายคนที่สามารถเก็บสะสมเงินออมและยกสถานะทางเศรษฐกิจของตนเอง เช่น จากแผงลอยค้าขายเป็นร้านค้า จากแรงงานรับจ้างเป็นผู้รับเหมาขับรถกระบะ ฯลฯ ภาพของคนรุ่นใหม่ที่เกิดและเติบโตในชุมชนแออัดทว่าสามารถเรียนจบระดับอุดมศึกษา จึงเป็นภาพที่เห็นได้ไม่ยาก นอกจากนี้ อาชีพของคนในชุมชนแออัด ที่เคยกล่าวกันว่าเป็นแรงงานนอกระบบ เช่น แม่ค้าหาบแร่ คนงานก่อสร้าง คนเก็บของเก่า ฯลฯ แต่ปัจจุบัน มีชาวชุมชนแออัดไม่น้อยที่ทํางานในระบบแต่อยู่ในภาคบริการ เช่น พนักงานทําความสะอาด และพนักงานรักษาความปลอดภัย ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทําให้ต้องมีการทบทวนคําอธิบายที่ว่า ชาวชุมชนแออัดเป็น “คนจนเมืองในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ” โดยพิจารณาพลวัต ความซับซ้อน และความหลากหลายของคนในชุมชนมากยิ่งขึ้น มากกว่านั้น ยังมีคนจนเมืองกลุ่มอื่น ๆ ที่ยังไม่มีผู้ศึกษาทําความเข้าใจอีกจํานวนมาก เช่น คนจนเมืองที่เช่าที่อยู่อาศัยราคาถูกและคุณภาพต่าง ฯลฯ”

ธนพฤกษ์ที่ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของคนจนเมืองขอนแก่นก็พบเห็นคุณลักษณะใหม่นี้และได้เขียนไว้ความว่า

"เมื่อพิจารณาถึงอาชีพของคนจนเมืองในพื้นที่เมืองขอนแก่นข้างต้น เราจะเห็นว่าแม้คนจนเมืองจะมีอาชีพที่มีความหลากหลาย และมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความสามารถและทักษะการประกอบอาชีพเพื่อความอยู่รอดของตนเองและครัวเรือน แต่มีความน่าสนใจประการหนึ่งคือ การเกิดขึ้นของ “ผู้ประกอบการ” (entrepreneurs) ที่ส่วนใหญ่ผันตัวจากแรงงานหาเช้ากินค่ําในชุมชน และบางส่วนเป็นคนย้ายถิ่นเข้ามาจากชนบท แต่ก็สามารถยกระดับตัวเองสู่การประกอบการค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชุมชน โดยกลุ่มผู้ประกอบการนี้มีสูงถึงเกือบหนึ่งในสามของกลุ่มตัวอย่าง โดยลักษณะของการประกอบการ ก็ขึ้นอยู่กับทําเลที่ตั้งของสถานประกอบการ"

อรรถจักร์กล่าวว่า การนำเสนอคุณลักษณะใหม่ของ "คนจนเมือง" เป็น "ผู้ประกอบการรายย่อยในภาคการผลิตไม่เป็นทางการ" ไม่ใช่เพียงแค่การพบคุณลักษณะใหม่เท่านั้น หากแต่การเปลี่ยนความหมายของคนจนเมืองให้สอดกล้องกับความเป็นจริงมากขึ้นนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งซึ่งก็คือคำตอบต่อคำถามที่ว่า ทำไมจึงต้องให้ความหมายหรือให้คุณลักษณะใหม่แก่ "คนจนเมือง"

การจัดระบบความสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งซ้อนทับแนบแน่นกับระบบความสัมพันธ์ทางอำนาจ ที่จัดลำดับชั้นของผู้คนในพื้นที่เมือง ส่วนหนึ่งได้กระทำผ่านการใส่ "รหัสหมาย" (encode) ให้ฝังเเน่น (embedded) ในการรับรู้ของผู้คน การเกิดขึ้นของคำว่า "สลัม" "คนในสลัม" เป็นรหัสหมายรุ่นแรก ๆ

คนจนเมืองรุ่นแรกอยู่ชั้นล่างสุดของสังคมเมือง การรวมกลุ่มต่อรองของคนจนเมืองรุ่นแรกประกอบกับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่นักการเมืองต้องการเสียง เป็นกลุ่มก้อนได้ทำให้เกิดรหัสหมายชุดใหม่ขึ้นมาได้แก่ "ชุมชน" "คนในชุมชน" ต่อมาเมื่อเกิดการกระจายตัวของคนจนเมืองออกไปไม่ได้อยู่อย่างจำกัดในพื้นที่สลัมหรือชุมชนแออัด ก็ได้เกิดรหัสหมายใหม่ได้แก่ "คนจนเมือง" ซึ่งไม่ได้มีพื้นที่เป็นหลักในการพิจารณาอีกต่อไป

แม้ว่า "คนจนเมือง" จะเป็นรหัสหมายที่เป็นเสมือนการยอมรับการดำรงอยู่ของคนจนเมือง แต่ไม่ได้เป็นการยอมรับความเท่าเทียมกัน และมีความหมายทางความรู้สึกที่ทำให้คนกลุ่มอื่นในเมือง "สงสารเห็นใจ" และอาจจะ "โน้มกาย" ลงมาช่วยหลือเป็นครั้งคราว รัฐบาลและกลไกรัฐท้องถิ่นก็จะปฏิบัติต่อคนจนเมืองในเชิงสังคมสงเคราะห์เท่านั้น

ในความเป็นจริง การดำรงอยู่ของคนจนเมืองในภาคการผลิตไม่เป็นทางการ คือ การหล่อเลี้ยง
เมืองหรือคนในเมืองมาโดยตลอด หากพิจารณาวงจรชีวิตใน 24 ชั่วโมงของเมือง คนจนเมืองทั้งหลายคือผู้ที่ทำให้ชีวิตของเมืองเคลื่อนไปได้ และทำให้คนอื่น ๆ สามารถใช้ชีวิตที่สะดวกสบายและสามารถจะสะสมทุนได้เพิ่มมากขึ้น การดำรงชีวิตเพื่อหล่อเลี้ยงเมืองของคนจนเมือง จึงมีความหมายและความสำคัญอย่างยิ่ง ของการดำรงอยู่ของเมืองและชีวิตของคนในเมือง

การ "ถอดรหัสหมาย" (Decoding) จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นที่จะต้องกระทำเพื่อที่จะทำให้เกิดการรับรู้ถึงความเป็นจริง หรืออย่างน้อยก็ทำให้เห็นตระหนักถึงความหมายความสำคัญของคนจนเมือง 

อรรถจักร์มองว่า การให้ความหมายของคนจนเมืองว่าเป็น "ผู้ประกอบการรายย่อยในภาคการผลิตไม่เป็นทางการ" จึงน่าจะทำให้สังคมสามารถที่จะมองเห็นการดำรงอยู่อย่างมีความหมายของคนจนเมืองและอาจจะนำไปสู่การแผ้วทาง (pave the way) ไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างเสมอหน้า เสมอภาค และยุติธรรมการ"ถอดรหัสหมาย" นี้ จะทำให้ผู้คนกลุ่มอื่นในสังคมมองเห็นความหมายและความสำคัญของคนจนเมือง และจะเอื้ออำนวยให้เกิดโอกาสของการสร้างเมืองที่ยุติธรรม (Just City) ขึ้นมาได้เพราะจะทำให้คนกลุ่มอื่น ๆ ในเมืองมองเห็นถึง "สิทธิในการมีส่วนกำหนดความเปลี่ยนแปลงของเมือง" (Right to the City)

 

คนจนเมือง: ใช้รถไฟฟ้า-ใต้ดิน เพียง 3.7% เมื่อการพัฒนาเมืองไม่สอดคล้องกับความต้องการ

ถอดความหมายการสำรวจ “คนจนเมือง” ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดย ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการประชุมนำเสนอความก้าวหน้าโครงการวิจัย “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” 

การศึกษาพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จาก 2 นักวิชาการ เป็นการขยายพรมแดนการศึกษาคนจนรูปแบบใหม่ ที่อยู่นอกสลัมหรือชุมชนแออัด เพื่ออธิบายว่าคนจนเมืองมองชีวิตพวกเขาสัมพันธ์กับโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมการเมืองอย่างไร การขาดความเข้าใจในโลกทัศน์ ทัศนคติ และวิถีชีวิตของคนจนเมืองทําให้การออกแบบนโยบายเมืองมักเป็นไปโดยไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนจนเมือง หรือบางครั้งสร้างผลกระทบต่อพวกเขาทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น นโยบายบ้านเอื้ออาทร (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านประชารัฐ) ที่หวังจะรองรับที่อยู่อาศัยให้คนจนเมือง แต่กลับไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนจนเมือง ทําให้การเคหะแห่งชาติต้องประสบปัญหาหนี้สินเป็นจํานวนมาก

โดยทําการสํารวจคนจนเมือง 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้อยู่อาศัยในชุมชนเก่าที่เช่าหรือเคยเช่าที่ดินถูกต้องตามกฎหมาย ผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัดที่ปลูกสร้างบ้านเรือนบนที่ดินที่ไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ผู้เช่าที่อยู่อาศัยราคาถูก และคนจนเมืองที่อาศัยอยู่ในโครงการบ้านมั่นคงจากการสำรวจ 747 คน 3 จังหวัด คือ ปทุมธานี สมุทรปราการ และนนทบุรี ในช่วงอายุตั้งแต่ 18-50 ปี ขึ้นไป สถานะความเป็นอยู่ของคนจนเมืองในปี พ.ศ. 2563 หรือยุค ค.ศ. 2020 ดีกว่าคนจนเมืองในยุคก่อนหน้านี้ ชี้วัดจากรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น เป็น 29,772.57 บาทต่อเดือน แต่ตัวเลขนี้ ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานทางรายได้ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล 

ระดับการศึกษา คนรุ่นใหม่มีการศึกษาสูงขึ้น กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 58.1 มีการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาหรือต่ำกว่าระดับประถมศึกษา คนรุ่นอายุ 18-30 ปี มีการศึกษาสูงกว่ากลุ่มที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป

การประกอบอาชีพ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ยังมีอาชีพไม่เป็นทางการสูง แต่มีการเปลี่ยนถ่ายจากภาคไม่เป็นทางการ มาสู่ภาคทางการมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงอายุ 18-30 ปี และข้อมูลที่่น่าสนใจ คือ คนรุ่นใหม่มีสมาร์ตโฟนและเข้าอินเทอร์เน็ต แต่หากเปรียบเทียบกับคนที่มีอายุ ยังถือว่าคนจนเมืองเข้าถึงน้อยมาก สอดคล้องกับนโยบายของรัฐว่าการลงทะเบียน ทั้งชิม ช้อป ใช้ และ แจกเงินเยียวยา 5,000 บาท คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึง 

ความสัมพันธ์กับการใช้ชีวิตในเมืองชี้วัดจากการเดินทาง การเดินทางของคนจนเมืองกลุ่มใหญ่ที่สุดยังใช้เวลาไม่ต่างจากเมื่อ 35 ปีที่แล้ว คือ ไม่เกิน 30นาทีต่อเที่ยว ขณะที่สื่อ 'ลงทุนแมน' รายงานว่าคนกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทาง 96 นาทีต่อวัน เป็นเวลาอยู่บนท้องถนน 72 นาที และใช้เวลาหาที่จอดรถอีก24 นาที จึงถือว่าคนจนเมืองได้เปรียบการเดินทางมากกว่าคนที่อาศัยตามชานเมือง ส่วนใหญ่เดินทางด้วยรถจักรยานยนต์มากที่สุด รองลงมาคือเดิน เพราะคนจนเมืองเลือกทำงานใกล้บ้าน หาบเร่แผงลอย เช่นเดียวกัน ขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยไม่ตอบโจทย์ ใช้รถไฟฟ้าใต้ดินน้อย เพียงร้อยละ 3.7กลุ่มคนที่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากที่สุด คือ คนที่อาศัยในเมืองรอบนอก เช่น ผู้รับเหมา  

“แม้แต่คนจนยังใช้รถ ขสมก. น้อย แปลว่าถ้าเขาต้องเดินทางไกล ๆ ขสมก. ไม่ตอบโจทย์ เพราะรถติดมาก ร้อนมาก รอนานมาก รอนานเป็นชั่วโมง ๆ นี่คือสิ่งที่พวกเขาบอก ถ้าใครมีกำลัง มอเตอร์ไซค์กลายเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ชีวิตเขามากกว่า ส่วนรถไฟฟ้าใต้ดินไม่ต้องพูดถึง คนจนเมืองใช้รถไฟฟ้า รถใต้ดิน เพียง 3.7 เปอร์เซ็น อย่างผมลงชุมชนแห่งหนึ่งใกล้ ๆ รถไฟฟ้าใต้ดิน ตัวเลขชี้ว่า รถไฟฟ้าอยู่หน้าบ้านเขา แปลว่า ที่รัฐบาลลงทุนเป็นแสนล้าน แทบไม่ได้ใช้เลย” บุญเลิศกล่าว

ค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัยเปรียบเทียบกับรายได้ พบว่า สัดส่วนต่อค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยต่ำมาก เพียงร้อยละ 12 ชุมชนแออัดจะได้เปรียบกว่าคนที่อยู่บ้านมั่นคง และชุมชนเช่า คนเช่าที่อยู่อาศัย คือ คนที่เข้ามาในเมืองทีหลัง มาเพื่อเก็บเงิน แล้วกลับต่างจังหวัด จึงไม่คิดถึงการมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง แต่คนที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป จะมีความต้องการที่อยู่อาศัยที่เดิมมากกว่า เพราะอาชีพและการเป็นแรงงานนอกระบบสัมพันธ์กับที่อยู่อาศัย แต่คนรุ่นใหม่ต้องการอยู่ข้างนอกมากกว่า เพราะได้รับความกดดันจากวิถีที่เปลี่ยนไป เช่น การมียานพาหนะแต่ไร้ที่จอดรถ เป็นต้น 

“คนจนเมืองไม่ใช่คนที่หากินไปวัน ๆ อีกแล้ว คนจนเมืองแสวงหาที่อยู่อาศัยใกล้เมือง และไม่ใช่เรื่องบังเอิญ” บุญเลิศกล่าว

งานวิจัยยังชี้ว่า พวกเขาเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มีส่วนร่วมทางการเมืองไม่ได้ต่างจากคนทั่วไป สัมพันธ์ตามมิติทางการเมืองที่เปลี่ยนไป และคนจนเมือง ไม่ได้ต้องการแค่มีชีวิตในเมือง แต่ต้องการมีส่วนร่วมด้วย ต้องการนโยบายการพัฒนาเมืองที่ตอบสนองต่อความต้องการของพวกเขา แต่นโยบายเหล่านี้มักถูกมองข้าม เพราะคนจนขาดสิทธิที่จะมีส่วนกําหนดชีวิตของเมือง ดังนั้นวิถีของเมืองควรที่ข้ามพ้นไปจากตรรกะของทุนนิยม หรือคือ การใช้พื้นที่ของเมืองไม่ควรถูกกําหนดบนฐานของต้นทุนและกําไร แต่ควรคํานึงถึงการอยู่ร่วมกันของสังคม

 

คนจนเชียงใหม่: ผลกระทบการเป็นเมืองมรดกโลก ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อรสนิยมของชนชั้นกลาง

สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยระบุว่า คนจนเมืองเชียงใหม่ได้รับผลกระทบ จากการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองท่องเที่ยว รัฐบาลเคยประกาศให้เชียงใหม่เป็น 'นครที่สุดของความสง่างามทางวัฒนธรรม' ในขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นกลับพาดหัวว่า 'สลัมคนจนเชียงใหม่ เมืองสวรรค์ของคนรวย’

งานวิจัยระบุว่า หากพิจารณาจากลักษณะเด่นของกลุ่มคนจนและชุมชนเมืองอาจจําแนกได้เป็นกลุ่มสําคัญ ๆ กล่าวคือ กลุ่มคนที่ดํารงชีวิตอยู่มาอย่างเนิ่นนานหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือมีสถานะเป็น “คนเมือง” กลุ่มแรงงานชาติพันธุ์ซึ่งอาจมีพื้นเพต่างถิ่น แต่ได้อพยพโยกย้ายมามีวิถีชีวิตในเขตเมือง (รวมถึงการเป็นลูกหลานจากคนกลุ่มนี้) และกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาใช้ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในเชียงใหม่ภายใต้การเติบโตและขยายตัวของระบบเศรษฐกิจการค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

งานวิจัยรายงานสถิติ เชียงใหม่มีฐานเศรษฐกิจที่สัมพันธ์กันกับภาคบริการ ท่องเที่ยว คิดเป็น 67% ของจีดีพี รองลงมา คือ ภาคการเกษตร 22% และภาคอุตสาหกรรม 10% โดยปี 2540 มีนักท่องเที่ยว 3 ล้านคน อีก 20 ปีต่อมาในปี 2560 นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านคน มีมูลค่ามากกว่า 9 หมื่นล้านบาท

ปี 2540 โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐมีลักษณะการสร้างศูนย์ประชุม หรือสวนราชพฤกษ์พืชสวนโลก ต่อมาช่วงปี 2550 มีแผนพัฒนาที่ส่งผลต่อการใช้ประโยชน์ที่ดิน นั่นคือการกำหนดเมืองมรดกโลก เป็นการเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับรสนิยมของชนชั้นกลาง รัฐบาลมีการจำกัดการใช้พื้นที่เพื่อความสวยงาม และการท่องเที่ยว นอกจากนี้ปี 2560 เกิดโครงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่มีแผนทำระบบรถไฟฟ้ารางเบา โดยมีระบบรองและระบบเสริมคือ รถเมล์ แม้ยังไม่เกิดผลกระทบแต่ทำให้เกิดข้อกังวลว่า ระดับแรก คือ การใช้พื้นที่ของโครงการที่มักจะเป็นที่อยู่อาศัยของคนจน อันส่งผลให้มีการผลักดันกลุ่มคนดังกล่าวออกจากพื้นที่ ระดับที่สอง คือ ข้อจํากัดในการเข้าถึงขนส่งมวลชนประเภทนี้ของคนจน เนื่องจากระบบขนส่งประเภทนี้มักมีราคาค่อนข้างสูง โดยกลุ่มคนที่จะได้ประโยชน์ก็มักจะเป็นคนชั้นกลางขึ้นไป

ข้อค้นพบของงานวิจัย คือ หนึ่ง-คนจนและชุมชนเมืองในเชียงใหม่สัมพันธ์ระบบเศรษฐกิจภาคบริการอย่างมาก เฉพาะอย่างยิ่งในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สร้างความมั่งคั่งให้กับระบบเศรษฐกิจในภาพรวม ดังนั้น เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยวจึงนํามาซึ่งผลกระทบที่รุนแรง ทั้ง โควิด-19 และปัญหาฝุ่นควัน

สอง-ก่อนหน้าทศวรรษ 2530 ชุมชนของคนจนเมืองยังมีลักษณะที่เป็นชุมชนขนาดใหญ่ในพื้นที่ในเขตเมือง มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น มีการรวมกลุ่มและการรวมตัวค่อนข้างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจํากัดทางด้านพื้นที่และการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่เข้มข้นมากขึ้น ทําให้การบุกเบิกพื้นที่ว่างในเขตเป็นไปได้ยากลําบากมากขึ้น ในช่วงสองทศวรรษหลัง ที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองมีลักษณะที่มีขนาดเล็กและกระจายตัวออกไปในพื้นที่ต่าง ๆ และมักเป็นกรณีของการเช่าห้องพัก/เช่าบ้าน ซึ่งมีทั้งกรณีเลือกพื้นที่ที่อยู่ร่วมกัน เช่น ชุมชนไทใหญ่ สันลมจอย-โป่งน้อย กับอีกแบบคือเลือกที่พักที่กระจัดกระจายโดยไม่ต้องสัมพันธ์กับกลุ่มหรือเครือข่ายของตน เช่น กรณีของบุคคลที่ทํางานในกลุ่มอาชีพต่าง ๆ มักเช่าห้องพัก/บ้านพัก ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขหรือความสะดวก และกลุ่มนี้ก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนัก

สาม-หากปราศจากคนจนเมืองแล้วจังหวัดเชียงใหม่ก็ยากที่จะสามารถเป็นเมืองหลักทางด้านการท่องเที่ยวได้ดังที่เป็นอยู่ ธุรกิจจํานวนมากล้วนต้องอาศัยกําลังแรงงานของคนจนเมืองเป็นส่วนหนึ่ง แต่กลุ่มคนจนเมืองกลับไม่ได้ถูกตระหนักถึงในฐานะของผู้ที่มีส่วนร่วมในการสร้างความมั่งคั่งให้เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้

สี่-ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สะท้อนให้เห็นถึงระบบการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมแรงงานต่างชาติ แรงงานต่างชาติเป็นจํานวนน้อยมากที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมแม้จะเป็นการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานก็ตาม อีกทั้งความยากลําบากในทางพฤตินัยในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับภายใต้สถานการณ์วิกฤตไวรัสโควิด-19 อันเนื่องมาจากปัญหาไม่ชัดเจนของหน่วยงานที่รับผิดชอบและความล่าช้าในการดําเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมีแรงงานต่างด้าวเป็นจํานวนมาก

ห้า-การผลักดันให้เชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลก หรือการผลักดันให้มีการจัดทําระบบขนส่งมวลชนระบบราง จะเป็นการดําเนินการที่สร้างผลกระทบกับคนจนและชุมชนเมืองอย่างสําคัญ นอกจากไม่ได้คํานึงคนจนและชุมชนเมืองก็ยังเป็นการพัฒนาเมืองที่มุ่งกีดกันและผลักดันให้คนจนเมืองต้องประสบความยากลําบากมากยิ่งขึ้น

 

คนจนเมืองขอนแก่น: เด่นเรื่องมีส่วนร่วมทางการเมือง เรียกร้องสิทธิที่อยู่อาศัย

การเปลี่ยนแปลงกลางกระแสธารการพัฒนาของคนจนเมืองอีสาน โดย ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อธิบายคนจนเมืองขอนแก่น ผ่านลักษณะของที่อยู่อาศัยที่ทำกิน ซึ่งได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 506 คน ผ่าน 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนโนนหนองวัดริมราง ชุมชนพรสวรรค์ ชุมชนหลักเมือง และชุมชนหนองแวงใหม่ โดยการเปลี่ยนแปลงของชุมชนแออัดและคนจนเมืองภาคอีสาน แบ่งเป็น 5 หัวข้อ ได้แก่

หนึ่ง-การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของชุมชนแออัดในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น พบว่าเป็นชุมชนเก่าชั้นกลางมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 40.5 รองลงมา คือ ชุมชนแออัดชั้นใน-ชุมชนเก่าชั้นใน และบ้านเช่า/ห้องเช่าชั้นใน คิดเป็นร้อยละ 12.1 และ 11. 7 ตามลำดับ พื้นที่ดั้งเดิมของเมืองขอนแก่นในอดีตเป็นชุมชนชนบทโบราณที่มีอายุมากกว่า 100 ปี 

สอง-การเปลี่ยนแปลงของอาชีพคนจนเมืองขอนแก่น มีทักษะการประกอบอาชีพเพื่อความอยู่รอดของตนเองและครัวเรือน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการที่ส่วนใหญ่ผันตัวจากแรงงานหาเช้ากินค่ำในชุมชน มาสู่การยกระดับเป็นผู้ประกอบการการค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชุมชน โดยสูงถึงเกือบ1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่าง

"การประกอบการขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่ในพื้นที่ชั้นในของเมือง การเรียกร้องสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง ของคนจนเมืองของแก่น จึงเกี่ยวข้องกับเรื่องการเข้าถึงที่ดิน หรือสิทธิในการอยู่อาศัย ในแหล่งทำเลที่เหมาะสมของการประกอบการการของพวกเขา” ธนพฤกษ์กล่าว

สาม-การแสวงหาสิทธิความเป็นเจ้าของ “บ้าน” กับการลงหลักปักฐานในนครใหญ่ การเกิดขึ้นของชุมชนแออัดในเมืองขอนแก่น ผู้คนมาอาศัยอยู่ริมทางรถไฟ จับจองพื้นที่สร้างเพิงพัก เป็นแรงงานคอยเติมเชื้อฟื้น ไล่หมูขึ้นรถไฟ ตั้งแต่การพัฒนาเมืองปี 2523 การขยายเมืองตัวเติบโต ดึงดูดแรงงานมาก และเกิดการขยายตัวเป็นชุมชนแออัดที่เข้ามาแสวงหาการเป็นส่วนหนึ่งของเมือง ทัศนะเดิม คือ มาทำงานแล้วจะกลับออกไป แต่ตอนนี้เขามาเพื่อลงหลักปักฐาน สะท้อนจากข้อมูลว่าคนจนเมือง แสวงหาความเป็นสิทธิในการครอบครองที่อยู่อาศัย มากกว่าครึ่งเป็นเจ้าของบ้านและที่ดินโดยผ่อนชำระหมดแล้ว ร้อยละ 10 ที่เป็นเจ้าของตัวบ้านโดยที่ดินเช่าถูกกฎหมาย ที่อยู่ อาศัยเกือบร้อยละ 80 เป็นบ้านพักอาศัยที่ค่อนข้างมั่นคงถาวร เป็นบ้านที่มีการตกแต่ง และบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ 

“การลงหลักปักฐาน ของคนจนเมืองขอนแก่น มุ่งสร้างความชอบธรรมและสิทธิที่จะอยู่อาศัยอย่างถูกต้องด้วยการขอทำสัญญาเช่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย” ธนพฤกษ์กล่าว

สี่-รูปแบบความสัมพันธ์กับเมือง: ชนชั้นที่ถูกแบ่งแยกด้วยต้นทุนทางเศรษฐกิจ การใช้ประโยชน์จากเมืองที่สัมพันธ์ในแง่การใช้ชีวิตประจำวัน คนจนเมืองสามารถเข้าถึงกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้ต้นทุนสูง เช่น การอกกำลังกาย ซื้อสินค้า บันเทิง พักผ่อนหย่อนใจ ขณะที่กิจกรรมที่ต้องใช้ต้นทุนสูง คนจนเมืองมีโอกาสน้อยซึ่งมักเกี่ยวข้องกับสุนทรียภาพ การค้นหาความรู้ ดูการแข่งขันกีฬา กรณีนี้สะท้อนว่าคนจนเมืองกำลังต่อต้านชุดวาทกรรม ที่สร้างความหวังใหม่ ๆ ให้แก่ผู้คน จากการสร้างเมืองอัจฉริยะในอนาคต 

ห้า-การมีส่วนร่วมทางการเมือง ถือเป็นจุดแข็งของคนจนเมืองอีสาน มีการใช้สิทธิเลือกตั้งสูง ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ร้อยละ 97.6 และ 72.5 ตามลำดับ และข้อเรียกร้องของคนจนเมืองมากกว่าครึ่งต้องการให้คนจนเช่าที่อยู่อาศัยราคาถูกแต่มั่นคง สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อการมีที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องใหญ่ของคนจนเมือง 

คนจนเมืองชล: แม้จะมีรายได้เฉลี่ยสูง แต่ไม่พอรายจ่าย เพราะเมืองไม่รองรับ

ธนิต โตอดิเทพย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ทีมนักวิจัยที่ศึกษาคนจนเมืองที่เปลี่ยนในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง ในพื้นที่ภาคตะวันออก ระบุถึงขอบเขตการศึกษาใน 3 พื้นที่คือ 1) บางแสน 2) แหลมฉบัง และ 3) พัทยา ทำให้พบว่าคนจนเมืองชลบุรี มีคุณลักษณะที่ต่างกันแม้อยู่ในจังหวัดเดียวกัน

ธนิตกล่าวว่า ช่วงปี 2530 - 2550 แรงงานกลุ่มแรก ที่เคลื่อนย้ายเข้ามาในจังหวัดชลบุรี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานไร่อ้อย จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ต้องมาหาเงินเพื่อใช้หนี้สิน ออกมาช่วงวัฒนธรรมการท่องเที่ยวเริ่มได้รับความนิยม และแรงงานภาคกลางทั้งจังหวัดนครปฐมและอยุธยา เริ่มเคลื่อนย้ายเข้ามาทำมาหากินเปิดแผงร้านขนาดเล็กรับนักท่องเที่ยว

จากการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว เมืองแหลมฉบังถูกพัฒนาให้เป็นเมืองอุตสาหกรรม ช่วงปี 2530 มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจำนวนมากซึ่ง 80% เป็นแรงงานต่างถิ่น และแรงงานกลุ่มนี้กลายเป็นประชากรแฝงที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมฐานล่างที่ได้ค่าจ้างต่ำ แต่ต้องมีชีวิตอยู่ในเมือง ที่มีค่าใช้จ่ายสูง เพราะเมืองไม่ได้รองรับกลุ่มคนจนเมือง ยกตัวอย่างเช่น การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่แน่นอน จึงจำเป็นต้องมีรถส่วนตัว 

ขณะเดียวกันในเมืองอุตสาหกรรมยังมีชาวบ้านดั้งเดิมที่ถูกเวนคืนที่ดิน หลายสิบปีผ่านไปใช้เงินจนหมดตัว แล้วผันตัวมาเป็นแรงงานชั้นล่าง นับเป็นกลุ่มที่ล้มเหลวในเมืองอุตสาหกรรม 

ขณะที่เมืองท่องเที่ยวอย่างพัทยา ปรากฏว่านักท่องเที่ยวกว่า 90% เป็นชาวต่างชาติ จึงมีการเคลื่อนย้ายผู้คนมาขายของและจ้างงานเกิดเป็นชุมชนแออัด

ในภาพรวมคนจนเมืองจังหวัดชลบุรีมีรายได้ภาคครัวเรือนต่อครัวเรือนสูงถึง 27,000 บาท โดยมีรายได้ต่อหัวอยู่ที่ 9,100 บาท แต่กลับมีต้นทุนการใช้ชีวิตที่สูง มีสัดส่วนรายได้ไม่เพียงพอต่อการเก็บออม โดย 50% มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ทำให้มีปัญหาหนี้สินสูญ ปัญหานี้เกิดจากการออกแบบเมืองที่ไม่รองรับกลุ่มคนจนเมือง แต่ถูกออกแบบไปเพื่อรองรับกลุ่มนายทุนและชนชั้นบนซึ่งมีจำนวนน้อยสุดในสังคม

 

คนจนเมืองสงขลา: ยกระดับจากผลิตแบบยังชีพ มาสู่ผู้ประกอบการที่สะสมทุนโดยใช้เทคโนโลยี

ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ ตั้งข้อสังเกตเบื้องต้น จากข้อมูลเชิงปริมาณ คนจนเมืองสงขลามีที่อยู่อาศัยได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง ความมั่นคงในที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อมได้รับการพัฒนามากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการต่อสู้อย่างเข้มข้น ทำให้สถานะชุมชนได้รับการยอมรับมากขึ้น เปลี่ยนจากผู้บุกรุกเป็นผู้เช่า ชาวบ้านจึงมีความมั่นใจในการสร้างที่อยู่อาศัยให้มั่นคงมากขึ้น ฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น จึงปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม และส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายของภาครัฐ บทบาทขององค์กรพัฒนาชุมชน ในการสนับสนุนต่อการเปลี่ยนลักษณะทางกายภาพ

“การพบผู้ประกอบการรายเล็กน้อย ไม่ใช่เรื่องใหม่ของคนจนเมือง แต่การประกอบการของคนจนเมือง ถูกยกระดับจากผลิตแบบยังชีพ มาสู่ผู้ประกอบการที่สะสมทุน โดยใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ จึงยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจมากขึ้น” ณฐพงศ์กล่าว

ณฐพงศ์ระบุว่า การเปลี่ยนทางกายภาพ ทำให้ชุมชนแบบเดิมคลายตัว กลายเป็นชุมชนที่กระชับความสัมพันธ์เครือข่ายมากขึ้น ค่อย ๆ ถักทอขึ้น อันเนื่องมาจากการประกอบเศรษฐกิจ ความเป็นเพื่อนและเครือข่ายทางเศรษฐกิจทั้งนอกและในชุมชนมากขึ้น และการเปลี่ยนทางเศรษฐกิจทำให้ชุมชนมีทางเลือก แม้มีคนกลุ่มหนึ่งที่ยังก้าวข้ามไม่ได้ แต่คนที่ก้าวข้ามได้ มีความหลากหลายมากขึ้น 

นอกจากนี้มีการประกอบอาชีพอิสระอย่างเป็นไม่เป็นทางการในละแวกชุมชนตัวเอง การสั่งสมประสบการณ์ชีวิต ความเชี่ยวชาญในสนาม พอกพูนขึ้น และเมื่อเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ก็สามารถเชื่อมต่อชุมชนกับโลกได้ ก็สามารถมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ ทำให้เกิดการยกระดับ เลื่อนสถานะ ขยับสถานะทางสังคม เทียมหน้าเทียมตามากขึ้น คนเหล่านี้อยากเข้าไปที่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง เรียกร้องให้รัฐท้องถิ่นจัดสรรที่อยู่อาศัย เรียกร้องสิทธิในการกำหนดเมือง เห็นว่าการพัฒนาเมืองมรดกโลก มีประโยชน์ แต่ในแง่ความรู้สึกในความเป็นจริงยังเข้าไม่ถึงมากนัก

"จะทำอย่างไรให้ขยายไข่แดงเมืองมรดกโลก ขยายขอบเขตให้การเป็นเมืองมรดก ที่พวกเขาสามารถประกอบการในพื้นที่ไข่แดงได้ ได้ประโยชน์จากการเป็นเมืองมรดกโลก ปรารถนาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา มีส่วนร่วมของการพัฒนามากขึ้น" ณํฐพงศ์กล่าว

 

ข้อวิจารณ์: คนจนมีหลายระดับและหลากหลาย คนจนบางคนไม่สามารถขยับขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการได้

สมสุข บุญญะบัญชา ประธานมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย (ACHR) หนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ร่วมให้ความเห็นต่อโครงการวิจัยฯ ระบุว่า พลวัตของการพัฒนาในช่วงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เกิดการพัฒนาเมืองด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งทำให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้น มีการไล่คนจนเมืองออกนอกเมือง ทำให้เกิดคนจนเมืองขึ้นจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่นการสร้างรถไฟรางคู่ นับหมื่นครอบครัวถูกไล่ที่เวนคืน จะเห็นได้ว่าการผลักดันให้คนให้กลายเป็นคนจนเมือง ยังคงมีอยู่ตลอดเวลา การพัฒนาเศรษฐกิจตามทฤษฎีน้ำซึมบ่อทราย ขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ แล้วจะทำให้เกิดการกระจายผลประโยชน์อย่างคนชั้นล่าง ก็ไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นได้จริง  

“จากข้อค้นพบจากในงานวิจัยว่า คนจนมีรายได้ดีขึ้น อันนี้เป็นคำถามสำคัญ คือ อะไรทำให้รายได้ของพวกเขาดีขึ้น จะเป็นเรื่องของการเข้าถึงการศึกษาหรือไม่ หรือจะเป็นเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือว่ามีองค์กรภาคเอกชนช่วยต่อรองให้เข้าถึงนโยบายสวัสดิการ ซึ่งตรงนี้ หากงานวิจัยสามารถตอบได้จะเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ยังไม่เคยมีในภูมิภาคเอเชีย” สมสุขกล่าว

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นในงานวิจัย กล่าวว่า คนจนคืออะไรยังไม่เห็นในงานวิจัย แต่ดูเหมือนว่าจะจัดคนจนในรูปแบบของพื้นที่อยู่อาศัย จึงควรต้องมีการนิยามให้ชัดในงานวิจัย ซึ่งน่าจะยาก เพราะคนจนแตกต่างกันมาก

พิชญ์เห็นว่า อีกหัวข้อหนึ่งที่ควรจะทำเพิ่ม ก็คือการก่ออาชญากรรมในชุมชน อาจเป็นสาเหตุให้ต้องถูกไล่รื้อจริงหรือไม่ ยกตัวอย่างเหตุผลของการรื้อป้อมมหากาฬ เพราะอ้างเรื่องของการก่ออาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ในงานวิจัยนี้จะเห็นได้ชัดว่าพูดถึงเรื่องคนจนเป็นเรื่องโรแมนติกเหมือนเขียนนิยายใช้ภาษาสวยงาม เราจำเป็นจะต้องมีท่าทีพิเศษเพื่อกล่าวถึงคนจนเพื่อให้เกิดการยอมรับหรือไม่ 

"อันที่จริง ทุกคนมีมิติของความเปราะบาง โครงการบางโครงการก็ทำให้คนจนไปได้เลย หรือวิกฤตโควิดเข้ามา ก็ทำให้หลายคนจนลงไป ความยากจนไม่จำเป็นต้องอยู่ในสลัม แต่คือความเปราะบางที่เข้าไม่ถึงทรัพยากร" พิชญ์กล่าว

พิชญ์ตั้งคำถามต่อว่า ที่อยากรู้คือ คนจนที่ลงไปสำรวจเขาเรียกตัวเองว่าคนจนหรือไม่ และอยากดูต่อว่าที่ว่าคนจนมีเงินเพิ่มขึ้น เขามีหนี้สินซับซ้อนขึ้นตามไปด้วยหรือไม่ เพราะมันมีทฤษฎีเรื่องเงินไหลกลับเข้าทุนนิยม 

"เราอาจจะไม่สามารถมองคนจนในมิติเดียวว่า ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา เพราะการพัฒนาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น จริง ๆ คนจนเป็นเหตุของการพัฒนา ไม่ใช่เพียงแค่ผลกระทบของการพัฒนา แต่คนเป็นเงื่อนไขของการพัฒนาด้วย" พิชญ์กล่าว

ขณะที่ นลินี ตันธุวนิตย์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นโครงการวิจัยกล่าวว่า การเปลี่ยนนิยามคนจนเมืองไปเป็น ผู้ประกอบการรายย่อยภาคการผลิตแบบไม่เป็นทางการ อาจเป็นกับดักที่ทำให้นโยบายกลุ่มคนจน ไปไม่ถูกทาง เพราะจริง ๆ ไม่ควรเหมารวม เนื่องจากคนจนมีหลายระดับและมีความหลากหลาย คนจนบางคนก็ไม่สามารถขยับขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการได้ แต่เห็นด้วยที่ต้องมีความเคลื่อนไหวทางสังคม ให้สาธารณะได้ตระหนักถึงความสำคัญของคนจนเมือง งานวิจัยนี้ควรแสดงให้เห็นความหลากหลายของคนจนมากกว่านี้

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท