Skip to main content
sharethis
  • 'iLaw' อัพเดทผลเลือก สว. 67 ระดับประเทศ กลุ่ม 17 ภาคประชาสังคม 'อังคณา' และ 'ประภาส' ได้เป็นว่าที่ สว. ส่วน 'นุชนารถ' และ 'ธัชพงษ์' นักกิจกรรมการเมือง ได้เป็นสำรอง

  • 'อังคณา' เผยผิดหวังกับระบบเลือกพิสดาร คนธรรมดาเป็น สว.ไม่ง่าย กลับกัน คนมีเส้นสายได้เปรียบ 'ทนายษิทรา' ได้สำรองอันดับ 4 กลุ่ม 17 เชื่อมีกระบวนการจัดตั้งแน่นอน

 

27 มิ.ย. 2567 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ได้อัพเดทผลการเลือก สมาชิกวุฒิสภา (สว.) บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ‘X’ เมื่อเวลาประมาณ 4.28 น. ระบุว่า กลุ่ม 17 หรือกลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ มีภาคประชาชนได้รับเลือกเป็นว่าที่ สว. 2 คน ประกอบด้วย 1. อังคณา นีละไพจิตร 2. ประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชาวนาชาวไร่ ขณะที่ภาคประชาสังคมที่ได้เป็นสำรอง 2 ราย ได้แก่ 1. ธัชพงษ์ แกดำ นักกิจกรรมการเมือง และ 2. นุชนารถ แท่นทอง สมาชิกสลัม 4 ภาค

 

 

‘ษิทรา’ เผยได้สำรองอันดับ 4 ดีใจได้คะแนนบริสุทธิ์ ยันมีกระบวนการจัดตั้ง

ยูทูบ The reporters ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (27 มิ.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 4.15 น. ที่อิมแพคฟอรั่ม ฮอลล์ 4 เมืองทองธานี ซึ่งเป็นสถานที่จัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภาปี 2567 ระดับประเทศ ษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ และผู้สมัคร สว.67 กลุ่ม 17 ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ หลังเสร็จสิ้นการนับคะแนน ระบุว่า เขาได้เป็นสำรองอันดับที่ 4 เจ้าตัวดีใจที่ได้รับคะแนนที่บริสุทธิ์ ไม่ได้มาจากการจัดตั้ง

ษิทรา ระบุถึงปัญหาการเลือก สว.67 ระดับประเทศนั้น เขาเชื่อว่ามีการจัดตั้งกันเยอะมาก ถ้าเกิดสังเกตดีๆ กลุ่มนี้มีคนใส่ชุดเหมือนกันหมดเลยเหมือนกับตัวการ์ตูนอนิเมชัน ‘มินเนียน’ และประวัติใน สว.3 ระบุเพียงว่าเป็น ‘อสม.’ แค่นี้ ประโยคสั้นๆ แต่คะแนนนำ NGO และตัวเขา และษิทรา เชื่อว่ากลุ่มนี้น่าจะได้เป็น สว.เกินครึ่งถึง 70 เปอร์เซ็นต์

“เขาจะพกโพยและใส่ชุดเหมือนกัน เวลามาก็มากันเป็นทีม พรรคการเมืองพรรคหนึ่งอยู่เบื้องหลังจัดคนมา ขนาดอดีตนายกฯ ยังตก ได้คะแนนไม่ถึง 5 คะแนน เขาเองก็เกือบเอาตัวไม่รอด” ษิทรา กล่าว

'อังคณา' ผิดหวังระบบเลือก สว. คนธรรมดาเป็น สว.ไม่ง่าย

ด้านอังคณา นีละไพจิตร ภาคประชาสังคม ให้สัมภาษณ์กับสื่อ โดยเธอได้เป็นว่าที่ สว. กลุ่ม 17 เธอระบุว่า ภาคประชาสังคมได้ผ่านเข้ามา 4 คน โดยได้ตำแหน่งทั้งเป็น สว. และสำรอง แต่ส่วนตัวผิดหวังกับระบบการเลือกตั้ง เพราะตนมาด้วยแบบความมุ่งมั่นตั้งใจ แต่เห็นบางคนได้คะแนนสูงลิ่ว ขณะที่ภาคประชาชนที่เข้ามาและกระจายอยู่กลุ่มต่างๆ มีน้อยมากที่จะเข้ามาได้

เบื้องต้น อังคณา ระบุว่า การดำเนินการควรเป็นไปด้วยความโปร่งใส และการจัดเลือกตั้งด้วยวิธีพิสดารนี้ เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม แต่เอาเข้าจริง ภาคประชาสังคมได้เข้ามากลุ่มท้ายๆ และมันพิสูจน์แล้วว่าคนที่ไม่ได้มีเส้นสายเข้ามาเป็น สว.ไม่ง่าย

“รัฐธรรมนูญที่เขียนว่าให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม แต่ที่จริงมันมีปัญหาอุปสรรคที่จะทำให้คนธรรมดาอย่างเราเข้ามาเป็นวุฒิสมาชิกได้” อังคณา กล่าว 

ส่วนกรณีที่มีการบล็อกโหวตนั้น อังคณา ระบุว่า สามารถสังเกตที่ผลคะแนนได้ เนื่องจากบางคนคะแนนสูงขึ้นไปเลย และคะแนนสูงเกาะกลุ่ม

"เราคุยกันในหมู่ภาคประชาสังคมเหมือนกันว่าเราพร้อมที่จะเข้ามาทำงาน แต่เรามาเจอกับวิธีการในการที่จะเข้ามาของบางกลุ่ม มันกลายเป็นเรื่องที่ว่าพื้นที่นี้มีการจองไว้สำหรับคนบางคน และในส่วนของภาคประชาสังคมได้มาน้อยมาก" อังคณา กล่าว และระบุว่าในกลุ่มที่ 17 มีทุกแบบ มีคนทำอาชีพ อสม. นักธุรกิจ และอื่นๆ และมีการเขียนคุณสมบัติใน สว. 3 แค่บรรทัดเดียวก็ได้เข้ามาเป็น สว. รอบสุดท้ายได้ ขณะที่เพื่อนที่ทำงานหนักกลับตกรอบไป

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net