อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์: “ความรู้” ของสังคมไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดำเนินมาเนิ่นนานได้ตกผลึกขึ้นจนกลายเป็นกรอบหลักในการรับรู้และให้ความหมายต่อความสัมพันธ์ทางสังคมของสังคมนั้นๆ อันนำมาซึ่งกรอบของ "การรับรู้/การยอมรับ” ความหมายที่คงที่ของชุดความสัมพันธ์ทางสังคมชุดนั้นของสังคม

“การรับรู้/การยอมรับ” ระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของคนไทยในสังคมไทยชุดหนึ่งได้ถุก “ฝัง” (embedded) ไว้ในระบอบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมไทย “การรับรู้/การยอมรับ” ชุดความสัมพันธ์ทางสังคมนี้ได้ถูกทำให้เป็นเสมือน “ความจริงแท้” ที่ไม่มีวันแปรเปลี่ยนไปได้

“การรับรู้/การยอมรับ” ชุดนี้ได้แพร่/กระจาย/เข้าไปสู่ศาสตร์ต่างๆ ที่เข้ามาจากตะวันตกและเข้าไปมีส่วนปะทะประสานจนฝังแน่นลงไปจนกลายเป็นแกนหลักของ “ความรู้” และมีผลอย่างมากในการสร้างการซึมซับการรับรู้ต่อเนื่องมาจนกลายความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เป็นความรู้หรือชุดการอธิบายความสัมพันธ์ทางสังคมนี้เป็นความจริงแท้แน่นอนของสังคมไทย

 ที่สำคัญ “ความรู้” เกี่ยวกับสังคมไทยและความสัมพันธ์ทางสังคมของคนไทยชุดนี้ที่ถูกฝังแน่นในการรับรู้ของสังคมนี้มีผลทำให้สังคมไทยไม่สามารถปรับเปลี่ยนหรือสร้างการเคลื่อนย้ายทางสังคมใดๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างการจัดการความสัมพันธ์ทางสังคมที่เหมาะสมและงดงามได้ อาจจะเรียก “การรับรู้/การยอมรับ” นี้ได้ว่าเป็น "วัฒนธรรม” ที่เป็นเสมือนสายใยแห่งความหมายที่ทำให้ผู้คนในสังคมได้ตระหนักและดำรงอยู่ภายในสายใยแห่งความหมายนี้ หากแต่ในที่นี้จะขอแยกความหมายของ "การรับรู้/การยอมรับ” ออกมาเพื่อที่จะทำให้เห็นได้ว่าพื้นฐานของสายใยของความหมายก็คือการรับรู้/การยอมรับ ซึ่งหากจะคิดคำนึงถึงการทำให้ระบบวัฒนธรรมแปรเปลี่ยนไปได้บ้าง ก็จำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจ "การรับรู้/การยอมรับ” ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรม และการศึกษาส่วนของวัฒนธรรมที่ดำเนินมานี้ต้องศึกษาอย่างเป็นประวัติศาสตร์ [2]

แกนหลักของการรับรู้/การยอมรับที่เชื่อมต่อเข้ากับ “ความรู้” เกี่ยวกับสังคมไทยและความสัมพันธ์ทางสังคมของคนไทยวางอยู่บนฐานความคิดสองประการได้แก่กระบวนการการจัดความสัมพันธ์เชิงลำดับชั้นของอำนาจ (Hierarchicalization of Power) และ กระบวนการทำให้ชะตากรรมของคนเป็นเรื่องของปัจเจกชน (Individualization of human destiny)

 

กระบวนการการจัดความสัมพันธ์เชิงลำดับชั้นของอำนาจ (The Hierarchicalization of Power)

กระบวนการนี้เป็นส่วนผสานกันระหว่างความคิดของการจัดตั้งทางสังคมการเมืองในสังคมจารีตและการปรับเปลี่ยนบางส่วนเพื่อประยุกต์เข้าสู่โลกสังคมสมัยใหม่ กล่าวคือ รัฐจารีตไทยได้สร้างระบบลำดับชั้นทางสังคมการเมืองผ่านระบบไพร่และระบบศักดินา ต่อมาเมือต้องเผชิญกับความรู้ชุดใหม่จากตะวันตก ชนชั้นนำได้ปรับเปลี่ยนความหมายของลำดับชั้นมาสู่ระบบ “วรรณะ” แบบเน้น "ชาติกำเนิด” ที่เน้นอำนาจสูงต่ำมาจากสายตระกูลและเชื่อมโยงสายตระกูลกับอำนาจ ซึ่งถุกสร้างให้มีที่มาจากการดำเนินพันธกิจของการเป็น "ผู้กระทำการ” ให้สังคมก้าวหน้าตลอดมา[3] การปรับเปลี่ยนนี้ก็เพื่อให้เกิดการยอมรับในอำนาจในนามของ “ความจงรักภักดี” ซึ่งก็คือ การยอมรับอย่างดุษฎีในความสัมพันธฺเชิงลำดับชั้นของอำนาจ

 

ประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ วรรณคดี และความรู้อื่นๆในสาขาสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์ที่ถูก “คัดสรร” มาสอนกันในสถาบันการศึกษาระดับสูงล้วนแล้วแต่ทำหน้าที่จรรโลงความรู้สึกให้แก่ผู้เรียนว่าลำดับชั้นของอำนาจนี้คือความจริงแท้ของสังคม

ช่วงเวลาที่สำคัญมากในประวัติศาสตร์สังคมไทย ได้แก่ ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา การสร้างและขยายความรู้/ความรู้สึกถึงความสัมพันธ์เชิงลำดับชั้นของอำนาจได้ดำเนินขยายออกไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น ครอบคลุมปริมณฑลทั้งทางกายภาพและทางจิตใจของผู้คน ภายใต้เงื่อนไขของการขยายความรู้/ความรู้สึกในระบบความสัมพันธ์ทางสังคมเช่นนี้ จึงทำให้การดำรงอยู่ของสถานนะความเหนือกว่าของอำนาจจึงไม่เคยถูกตั้งคำถามว่ามีความชอบธรรมอย่างไร เพียงใด ในระบอบอารมณ์ความรู้สึกของสังคมไทย "อำนาจ” จึงลอยอยู่เหนือสังคมและจะต้องไม่ถูกกระทบจากสิ่งอื่นใด

การประกอบสร้างสถาปนาอำนาจที่เหนือกว่าในลำดับชั้นของความสัมพันธ์ทางสังคมให้กลายเป็น “ความจริงแท้” ของสังคม เกิดขึ้นอย่างหนักแน่นมากขึ้นด้วยการเข้าไปสุ่การศึกษาวิชาการทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในแต่ละช่วงเวลา แม้กระทั่งนักวิชาการไทยศึกษาชาวต่างประเทศเองเมื่อเริ่มต้นศึกษาสังคมไทยก็จะเห็น “ความจริงแท้” เช่นนี้ไปด้วย

กระบวนการทำให้ชะตากรรมของคนเป็นเรื่องของปัจเจกชน (Individualization of human destiny)

กระบวนการทำให้ชะตากรรมของคนเป็นเรื่องของปัจเจกชนเป็นฐานทางความคิดความรู้สึกที่สำคัญในการจรรโลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมไทย และมีผลซึมซับอยู่ในระบบคิดของคนไทยโดยรวม ซึ่งมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน

ภายหลังจากที่โลกภูมิแบบไตรภูมิที่เคยเป็น “บริบท” ทางสังคมกำกับชะตาชีวิตของผู้คนในสังคมได้เสื่อมสลายลง จึงได้ทำให้เกิดการสร้างการควบคุมผู้คนด้วยอำนาจรัฐลักษณะใหม่ พร้อมกับสร้างการ “ควบคุม” จิตใจผู้คนในสังคมสมัยใหม่ด้วยการทำให้ปัจเจกชนแต่ละคนต้องมีส่วนรับผิดชอบส่วนตัวของตัวเอง

การแยกทาง “โลก” และ "ธรรม” ออกจากกันของศาสนาพุทธเถรวาทของไทย อันเป็นการแยกทางโลกออกมาจากทางธรรมก็เพื่อให้อำนาจรัฐสมัยใหม่จัดการดูแลชีวิตทางโลกของราษฎร และการแยก “ธรรม” ออกมานั้นเป็นการปรับให้ “ธรรม” เข้ามาดูแลชีวิตทางจิตใจของปัจเจกชนเท่านั้น

การแยกทางโลกออกจากทางธรรมนี้จึงเห็นได้ชัดว่าในการจัดการทางด้านจิตใจของศาสนาจึงไม่มี “สังคม” ไม่มี “บริบท” ใน “ธรรม” สมัยใหม่ เพราะมิติต่างๆของ "สังคม” เป็นเรื่องของรัฐที่จะเป็นกลไกจัดการไม่ใช่เรื่องของศาสนาอีกต่อไป ศาสนาจึงลดลงมาเหลือเพียงการตอบปัญหาในส่วนเสี้ยวของจิตใจของปัจเจกบุคคลเท่านั้น

ที่สำคัญกระบวนการการลดทอนให้ความเชื่อทางศาสนาเหลือเพียงการตอบปัญหาจิตใจของปัจเจกบุคคลนี้ได้เปิดทางให้แก่ "โหราศาสตร์แบบปัจเจกชน” ได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งคัมภีร์”โหราศาสตร์แบบปัจเจกชน” ทั้งหมดมีต้นเค้ามาจากคัมภีร์ของชนชั้นทั้งสิ้น จึงไม่น่าแปลกใขที่การขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางก็เพราะความรู้แบบโหราศาสตร์นี้สามารถถูกใช้ให้เป็นประโยชน์ทั้งในทางด้านที่ชนชั้นนำนำมาใช้เพื่อคัดเลือก/เลือกสรรผู้คนในการร่วมทำงาน  และในทางด้านที่ทำให้เกิดการสร้างการควบคุมด้วยความรู้สึก “สยบยอม” ต่ออำนาจที่เหนือกว่าตน เพราะชะตากรรมของตนในฐานะปัจเจกชนนั้นถูกกำหนดมาแล้วตามคัมภีร์โหราศาสตร์แบบปัจเจกชน

กระบวนการทำให้ชะตากรรมของคนเป็นเรื่องของปัจเจกชนจึงฝังลึกในระบอบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในสังคมไทย และถูกทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องจริงแท้ และเป็นเรื่องความจริงแท้ที่จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้ หากทุกคนยอมรับในชะตากรรมที่ถูกกำหนดมาแล้ว กรอบความคิดในวรรณกรรม "กฏแห่งกรรม” ของ ท.เลียงพิบูลย์ถุกผลิตซ้ำและดัดแปลงใหม่ไปในหลายลักษณะ เช่น กลุ่มที่เชื่อเรื่องการแก้กรรม(ของปัจเจกชน) เป็นต้น

กระบวนการทำให้ชะตากรรมของคนเป็นเรื่องของปัจเจกชนนี้ขยายและแพร่เข้าไปสู่ศาสตร์ความรู้สมัยใหม่ที่ศึกษาเกี่ยวกับผู้คน เช่น จิตวิทยาไทยที่ยังก้าวไม่พ้นจิตวิทยาปัจเจกชนแบบซิกมันด์ ฟอรยด์ ก็หยิบมาปรับใช้อย่างกว้างขวาง (การอธิบายสาเหตุการฆ่าตัวตายของกรมสุขภาพจิตก็เน้นจากปัจจัยส่วนบุคคล) การศึกษาเกี่ยวกับปัญหาของสังคมก็จะโยนปัญหาลงบนบ่าของปัจเจกชน หรือ ความยากจนข่นแค้นก็เกิดเพราะปัจเจกชนคนนั้นเหลวไหลในการดำเนินชีวิต รวมไปถึงการอธิบายเด็กวัยรุ่นกวนเมืองก็เกิดเพราะคบเพื่อนเลวหรือรับวัฒนธรรมตะวันตก

กระบวนการทำให้ชะตากรรมของคนเป็นเรื่องของปัจเจกชนทำให้สังคมไทยมองไม่เห็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมที่กำกับและกำหนดชะตาชีวิตของผู้คน ความเมตตาของคนในสังคมไทยซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่ก็เป็นความเมตตาที่พร้อมจะมอบให้คนผู้ทุกข์ยากเป็นคนๆไป ไม่ใช่การเกิด “ความเข้าใจ/เห็นใจเชิงสังคม” (Social Empathy) ที่จะชักนำให้เกิดการปรับ/แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

กระบวนการทำให้ชะตากรรมของคนเป็นเรื่องของปัจเจกชน จึงเป็นชุดความรู้ที่จรรโลงและสอดประสานเป็นเนื้อเดียวกันกับความรู้ในเรื่องกระบวนการการจัดความสัมพันธ์เชิงลำดับชั้นของอำนาจ มาอย่างยาวนาน แม้ว่าจะมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมสำคัญๆหลายครั้งในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 การปฏิวัติโดยคนรุ่นใหม่ ตุลาคม 2516 การต่อต้านการเข้าสู่อำนาจของทหาร 2535 และการเคลื่อนไหวการเมืองในสองทศวรรษหลัง แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะลดทอนความเข้มแข็งมั่นคงของความรู้สองชุดนี้ได้

ความรู้สองชุดที่ถูกสถาปนาให้เป็น “ความจริงแท้” (absolute truth) เป็นความรู้ที่ขวางกั้นหนทางเดินของสังคมไทยที่จะต้องก้าวไปสู่โลกทางเศรษฐกิจ/สังคมใหม่ที่ผู้คนทุกคนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในสังคมการเมืองอย่างเสมอภาคกันมากที่สุด เพราะหากสังคมไม่เปิดให้คนทุกคนมีส่วนร่วมในการทำเพื่อสังคมก็ทำให้ทุกคนดำรงอยู่เพียงรอการให้ "ความหวัง” จากชนชั้นสูงเท่านั้น ซึ่งไม่มีทางที่จะขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าได้

การรัฐประหารครั้งล่าสุดอันนำมาซึ่งการครองอำนาจของกลุ่มนายทหารและเครือข่ายชนชั้นนำในช่วงเวลาแปดปีที่ผ่านมา เป็นความพยายามของชนชั้นนำที่สามัคคีกันในการจะ “ค้ำยัน” ความรู้สองชุดนี้ให้มีปฏิบัติการอย่างเป็นจริงและเข้มข้นขึ้น แต่เนื่องจากไม่มีความสามารถพอที่จะเข้าใจทั้งชุดความรู้และไม่มีความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคม แต่ดันทุรังเข็นความรู้สองชุดนี้แบบมองไม่เห็นความแปรเปลี่ยนอะไรเลย จึงไม่แปลกใจที่สังคมไทยเผชิญหน้ากับสภาวะถดถอยในทุกๆด้านทุกๆมิติ

ความรู้ทางวิทยาศาสตร์บอกเราว่าไม่มีระบบอะไรที่ครอบคลุมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ สังคมมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าชนชั้นนำพยายามที่จะจรรโลงและค้ำยันความรู้ทั้งสองชุดนี้ไว้ให้มั่นคงสถาพร แต่ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดคนกลุ่มใหม่ๆขึ้นมาในสังคมอย่างหลากหลาย กลุ่มคนที่หลากหลายนี้ก็ได้สร้างความหมายใหม่ในการรับรู้ “ความเป็นจริง” ของสังคมที่มีพลังมากขึ้น

การศึกษา "ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม” ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาด้วยแนวคิดใด ก็ล้วนแล้วแต่พลิกกลับความคิดหลักของสังคมไทย การศึกษาที่สำคัญชิ้นหนึ่ง ได้แก่ การศึกษาการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจนของประภาส ปิ่นตบแต่ง ก็ทำให้เห็นถึงการสร้างความคิดเรื่อง “ความเสมอหน้า” บนโต๊ะเจรจาระหว่างชาวบ้านกับนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นการศึกษาที่ถือได้ว่าเป็นต้นฉบับของการศึกษาขบวนการการเคลื่อนไหวของประชาชนคนธรรมดา และมีผลต่อการรับรู้ของผู้คนในสังคมไทยไม่น้อย

ความรู้ที่ประภาส ปิ่นตบแต่ง ได้สร้างขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดมาไม่เพียงแต่เป็นความรู้ที่อยู่ในกระบวนการการเรียนการสอนเท่านั้น หากแต่เป็นความรู้ที่ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยมองเห็นสายสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างชีวิตและความเป็นจริงทางสังคมลักษณะใหม่ อันส่งผลต่อเนื่องมาสู่การเคลื่อนไหวของคนรุ่น "ทะลุ” ทุกสรรพสิ่ง ที่ได้ทำให้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยมองเห็นสังคมในสายตาที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

การเคลื่อนไหวทางสังคมที่เกิดขึ้นได้ทำให้สังคมไทยจำเป็นต้องทบทวนฐานทางความคิดของสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็น “ความรู้” เป็น “ความจริง” ในทุกๆ เรื่อง เพราะหากเราคงยังยึดมั่นกับ “ความจริง” ที่ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ก็จะทำให้สังคมไทยมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงและมองอนาคตไม่เห็นอย่างแน่นอน  โอกาสที่สังคมไทยจะพ้นจากกับดักทางความรู้นี้ได้ก็มีแต่การร่วมกันสร้าง "ความรู้” "ความจริง” ชุดใหม่ที่จะผนึกเราทั้งหลายได้ร่วมกันผลักดันสังคมไทยให้ก้าวพ้นปลัก/บ่วงของชุดความรู้ที่ขัดขวางทางเดินที่ควรจะเป็นของสังคมไทย

 

อ้างอิง

[1] บทความในวาระโอกาสการเกษียณอายุราชการของอาจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง

[2] อคิน ระพัฒน์,วัฒนธรรมคือความหมาย: ทฤษฎีและวิธีการของคลิฟฟอร์ด เกียร์ซ, กรุงเทพฯ:ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร (องค์กรมหาชน) 2551.หน้า 75.

[3] อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์,การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทย ตั้งแต่รัชการที่ 4 ถึงพุทธศักราช 2475.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมมติ 2564.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท