Skip to main content
sharethis

เนื่องในวันสตรีสากล ประชาไท ชวนดูหนังที่สร้างจากชีวิตจริงจากทุกมุมโลกในการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางเพศและสิทธิฯ ตำแหน่งแห่งที่ของตนเอง ตั้งแต่ศิลปินแนวป็อปอาร์ตสุดเฟมินิสต์จากญี่ปุ่น พี่เลี้ยงเด็กที่เดินถ่ายภาพไปตามถนนในเมืองชิคาโกและทั่วโลกรวมทั้งไทย  หญิงคนที่ 2 ผู้ได้เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสหรัฐฯ กับการต่อสู้กับการเลือกปฎิบัติทางเพศ หญิงจากชนบทของอินเดียและการต่อสู้เพื่อก้าวข้ามทัศนคติที่มองว่าประจำเดือนเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ การตั้งโรงงานผลิตผ้าอนามัยเพื่อลดภาระทางการเงินและปัญหาสุขอนามัย

หญิงนักปกป้องสิทธิเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพผู้ที่รอดตายจากการถูกตาลีบันยิงหัว  ผู้หญิง 2 คน หนึ่งหญิงข้ามเพศคนแรกของโลกที่เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศและประสบความสำเร็จ กับการต่อสู้เพื่อจะเป็นผู้หญิง และภรรยาของเธอผู้อยู่เคียงข้างสามีในการต่อสู้เพื่อให้ได้เป็นตัวเอง ผู้หญิงชาวแอฟริกันอเมริกันที่ทำงานให้กับองค์การนาซ่าในช่วงทศวรรษที่ 1960 กับการต่อสู้เพื่อก้าวข้ามอคติทางเพศและเชื้อชาติในที่ทำงาน 28 เด็กสาวที่ต้องมาสวมบทบาทเป็นไอดอลภายใต้ชื่อ BNK48 จนถึงเรื่องราวของภรรยา ‘บิลลี่’ พอละจี รักจงเจริญ กับการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิฯ เมื่อสามีหายตัวไปที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หลังถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานซึ่งระบุว่าเนื่องจากบิลลี่ "ครอบครองซึ่งน้ำผึ้งป่าอย่างผิดกฎหมาย"

Kusama: Infinity (2018)

Heather Lenz

ภาพยนตร์สารคดีเล่าเรื่อง ‘คูซามะ ยาโยอิ’ ศิลปินแนวป็อปอาร์ตสุดเฟมินิสต์ และยังเป็นศิลปินอาวองต์-การ์ดแถวหน้าของญี่ปุ่น หรือที่เราอาจรู้จักกันในชื่อ ‘คุณป้าลายจุด’ หลายคนอาจคุ้นตากับผลงานฟักทองลายจุด ภาพวาดลายจุดไร้ที่สิ้นสุด หรือห้องกระจกที่เล่นกับการสะท้อนของวัตถุและแสงไฟที่ต่อเนื่องกันไปแบบไม่รู้จบ

คูซามะเกิดที่เมืองมัตสึโมโตะในประเทศญี่ปุ่น เธอหลงใหลการวาดรูปลายจุดตั้งแต่เด็ก และสร้างสรรค์งานศิลปะที่แหวกขนบเดิมของบ้านเกิด เธอจึงตัดสินใจไปแสวงโชคที่ดินแดนเสรีอย่างอเมริกา แต่โชคก็ดูจะไม่เข้าข้างเธอเท่าไหร่นัก เมื่อผลงานสุดแหวกแนวของเธอหลายชิ้นไม่ได้เป็นที่รู้จัก แต่ศิลปินชายที่มีชื่อเสียงกลับเอาแนวคิดของเธอไปจัดแสดงงานจนประสบความสำเร็จล้นหลามแทน

นอกจากนี้เธอยังมีส่วนในการประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนามด้วยการทำ Art Performance เปลือยกายและวาดลายจุดลงบนตัว ซึ่งทำให้เธอถูกตำรวจควบคุมตัว จนกระทั่งเรื่องนี้ข้ามทะเลไปเป็นข่าวดังที่ญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นพากันต่อว่าว่าเธอทำให้ญี่ปุ่นเสื่อมเสีย โรงเรียนที่เธอเคยเรียนปลดชื่อเธออกจากทำเนียบศิษย์เก่า หลังจากนั้นคูซามะพยายามฆ่าตัวตาย

คูซามะหอบใจและกายช้ำๆ ของเธอกลับไปที่ญี่ปุ่น พยายามสร้างงานศิลปะอีกหลายชิ้นแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เธอกลายเป็นคนไข้ในโรงพยาบาลจิตเวช แต่อาจด้วยสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เธอได้ทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดก็เริ่มมีคนเห็นความเปล่งประกายที่ไม่เหมือนใครในงานของเธอ จนผลงานของเธอโด่งดังไปทั่วโลก เธอกลายเป็นศิลปินหญิงที่ยังมีชีวิตอยู่ที่ขายผลงานได้เงินมากที่สุดในโลก จนกระทั่งเมืองมัตสึโมโตะ เมืองบ้านเกิดของเธอตัดสินใจจัดแสดงงานของเธออย่างถาวรไว้ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะของเมือง

Finding Vivian Maier (2013)

John Maloof และ Charlie Siskel

สารคดีความยาวหนึ่งชั่วโมงครึ่งเล่าเรื่องราวการค้นพบผลงานภาพถ่ายของวิเวียน ไมเออร์ พี่เลี้ยงเด็กที่เดินถ่ายภาพไปตามถนนในเมืองชิคาโก และความพยายามของจอห์น มาลูฟ ผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้ ที่จะค้นหาว่าวิเวียนเป็นใคร

จอห์นสัมภาษณ์ผู้คนที่เคยรู้จักเธอ จากปากคำพวกเขา วิเวียนเป็นผู้หญิงที่แปลกประหลาดและรักความเป็นส่วนตัว ในบ้านหลังหนึ่งที่เธอเคยทำงานอยู่ วิเวียนขอเจ้าของบ้านติดล๊อกตัวใหญ่บนประตูห้องของเธอ เธอไม่ชอบบอกชื่อของตนกับผู้อื่น ไม่มีใครรู้ว่าเธอเป็นใคร มาจากไหน มีพื้นเพอย่างไร ใบเกิดของเธอระบุว่าเธอเกิดที่นิวยอร์ก แต่คนที่เคยรู้จักเธอกลับคิดว่าเธอเกิดที่ยุโรปเพราะสำเนียงพูดของเธอ ทะเบียนราษฎร์บอกว่าแม่ของเธอเป็นชาวฝรั่งเศส แต่นอกจากนั้นมีข้อมูลเกี่ยวกับเธอที่ถูกบันทึกไว้น้อยมาก

แทบไม่มีใครรู้เลยว่าวิเวียนถ่ายภาพ ไม่มีใครเคยเห็นงานของเธอจนจอห์นพบฟิล์มภาพถ่ายของเธอในงานประมูล

ภาพถ่ายของเธอมักเป็นภาพผู้คนธรรมดาบนท้องถนน ภาพเงาขอเธอเองที่สะท้อนในกระจกและบานหน้าต่าง หนังสั้นที่ถ่ายภาพถนนที่เธอเดินผ่าน ไม่เพียงเท่านั้นยังมีภาพถ่ายจากการเดินทางไปประเทศต่างๆ ในช่วงทศวรรษที่ 1950 รวมถึงภาพจากการเดินทางมาประเทศไทย ภาพถ่ายเหล่านี้คือภาพสะท้อนจากชีวิตของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่คงถูกกลืนหายไปในหน้าประวัติศาสตร์ถ้าไม่ใช่เพราะงานภาพถ่ายของเธอ

On the Basis of Sex (2019)

Mimi Leder

ภาพยนตร์สร้างจากชีวิตจริงของ รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ค ผู้หญิงคนที่สองที่ได้เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสหรัฐฯ กับการต่อสู้กับการเลือกปฎิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ

หนังเล่าเรื่องชีวิตของรูธตั้งแต่เป็นนักศึกษา จนถึงชีวิตการทำงานช่วงแรก โดยเฉพาะคดีของชาร์ลส์ มอริทซ์ ซึ่งไม่ได้รับสิทธิขอลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุในบ้าน เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ขอลดหย่อนได้เฉพาะผู้ดูแลที่เป็นหญิง ผู้ที่หย่าแล้วหรือเป็นม่าย หรือผู้ชายที่ภรรยาไม่สามารถทำหน้าที่ผู้ดูแลได้เท่านั้น ซึ่งชาร์ลส์ที่ไม่เคยแต่งงานแต่ต้องดูแลแม่ที่สูงอายุแล้วไม่สามารถได้รับสิทธินี้ตามกฏหมาย รูธและสามีจึงจะอุทธรณ์ต่อศาลสูงและขอให้มีการแก้กฏหมายให้สิทธินี้ครอบคลุมถึงผู้ชาย เนื่องจากการที่ผู้ชายไม่สามารถได้สิทธินี้ถือเป็นการเลือกปฎิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ รวมถึงจะใช้โอกาสนี้ท้าทายกฏหมายที่เหมารวมว่าผู้ชายทำงานนอกบ้าน และผู้หญิงทำหน้าที่ดูแลบ้าน ซึ่งเธอคิดว่าถ้ามอริตซ์ชนะคดีนี้ คดีของเขาจะกลายเป็นคดีตัวอย่างไว้อ้างอิงในกรณีที่ผู้หญิงถูกเลือกปฏิบัติและต้องการฟ้องร้อง

ในศาล เมื่อเธอถูกกล่าวหาว่าต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมแบบสุดโต่ง รูธกล่าวว่า “เราไม่ได้กำลังขอให้คุณเปลี่ยนประเทศนี้ การเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นแล้วโดยไม่ต้องให้ศาลที่ไหนมาอนุญาต”

ต่อมา รูธกลายเป็นผู้ก่อตั้งโครงการสิทธิสตรีของสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน ซึ่งผลักดันให้มีการแก้กฏหมายที่เลืกปฎิบัติด้วยเหตุแห่งเพศจำนวนมาก และต่อมาเธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในผู้พิพากษาศาลสูงสหรัฐฯ ซึ่งเธอยังคงดำรงตำแหน่งนี้จนถึงปัจจุบัน

He Named Me Malala (2015)

Davis Guggenheim

มาลาลา ยูซาฟไซ เป็นใคร

เป็นนักกิจกรรมเพื่อสิทธิในการศึกษาของเด็กหญิงและผู้หญิง เป็นนักปกป้องสิทธิที่รอดชีวิตจากการถูกตาลีบันยิงที่ศีรษะ เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เป็นพี่สาวของน้องชาย เป็นลูกสาวของพ่อแม่ เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง

สารคดีเรื่องนี้นำเสนอภาพของมาลาลาไม่เพียงแค่ในฐานะนักกิจกรรม แต่ในฐานะเด็กวัยรุ่นธรรมดาคนหนึ่งที่ยังต้องไปโรงเรียน เครียดเรื่องสอบ กรี๊ดดารา และล้อเล่นกับน้องชาย นอกจากนี้ยังนำเสนอภาพความสัมพันธ์ระหว่างมาลาลากับพ่อของเธอ และบทบาทของไซอุดดิน ยูซาฟไซในฐานะพ่อผู้อยู่เบื้องหลัง คอยสนับสนุนบทบาทในฐานะนักกิจกรรมของลูกสาวจากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน

ตอนหนึ่งในสารคดี ผู้ถ่ายทำถามมาลาลาว่า คุณคิดว่าคุณจะเป็นใครถ้าคุณเป็นเด็กผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง มาลาลาตอบว่า “ฉันเป็นเด็กผู้หญิงธรรมดา แต่ถ้าฉันมีพ่อที่เหมือนพ่อคนอื่น และมีแม่ที่เหมือนแม่คนอื่น ตอนนี้ฉันคงจะมีลูกแล้วสองคน”

ปัจจุบันมาลาลาและครอบครัวใช้ชีวิตอยู่ในสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2017 เธอเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในหลักสูตรปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ และยังคงเดินทางทำงานเพื่อเรียกร้องสิทธิให้เด็กหญิงและผู้หญิงที่ไม่มีสิทธิเข้าถึงการศึกษาต่อไป

The Danish Girl (2015)

Tom Hooper

ภาพยนตร์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตจริงของผู้หญิงสองคน คือ ลิลี่ อิลเซ เอลวีนส์ หรือลิลี่ เอลเบ ผู้หญิงข้ามเพศคนแรกของโลกที่เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศและประสบความสำเร็จ กับการต่อสู้เพื่อจะเป็นผู้หญิง และเกอร์ด้า เวเกเนอร์ ภรรยา กับบทบาทผู้อยู่เคียงข้างสามีในการต่อสู้เพื่อให้ได้เป็นตัวเอง

ลิลี่ เอลเบ เดิมชื่อ ไอนาร์ เวเกเนอร์ เป็นจิตรกรชาวเดนมาร์ก ไอนาร์แต่งงานกับเกอร์ด้า ซึ่งเป็นจิตรกรเช่นกัน ไอนาร์พบว่าเขาชอบแต่งตัวเป็นผู้หญิงเมื่อภรรยาขอให้เขาสวมถุงน่องและรองเท้าผู้หญิงเพื่อเป็นแบบวาดรูป และเกอร์ด้าชวนเขาแต่งตัวเป็นผู้หญิงออกงานโดยแนะนำตัวกับคนอื่นว่าเป็นญาติของไอนาร์ ต่อมา ไอนาร์ตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดเพื่อข้ามเพศ และเปลี่ยนชื่อเป็นลิลี่ โดยเกอร์ด้าเองก็สนับสนุน เมื่อไอนาร์บอกแพทย์ว่า เขาเชื่อว่าตัวเขาเป็นผู้หญิง เกอร์ด้ากล่าวว่า “ฉันเองก็เชื่ออย่างนั้น”

ในตอนหนึ่งในภาพยนตร์ ไอนาร์กล่าวว่า “ความคิดของผมเป็นความคิดของลิลี่ ความฝันของผมเป็นความฝันของเธอ” ดังนั้น การต่อสู้ของลิลี่และเกอร์ด้า จึงเป็นการต่อสู้เพื่อให้ลิลี่ได้เป็นตัวเองโดยสมบูรณ์

Hidden Figures (2016)

Theodore Melfi

ภาพยนตร์สร้างจากเรื่องจริงของแคเธอรีน จี. จอห์นสัน โดโรธี วอห์น และแมรี่ แจ็คสัน ผู้หญิงชาวแอฟริกันอเมริกันที่ทำงานให้กับองค์การนาซ่าในช่วงทศวรรษที่ 1960 กับการต่อสู้เพื่อก้าวข้ามอคติทางเพศและเชื้อชาติที่พวกเธอต้องพบเจอในที่ทำงาน

ในยุคงสงครามเย็นที่สหรัฐอเมริกาแข่งขันการพัฒนาด้านอวกาศกับสหภาพโซเวียตและแรงกดดันทั้งหมดตกมาอยู่ที่องค์การนาซ่าในการส่งมนุษย์ขึ้นไปในอวกาศให้ได้ แคทเธอรีนทำงานเป็นคณิตกรผู้คำนวณเส้นทางบิน โดโรธีเป็นหัวหน้าฝ่ายคณิตกรผู้บุกเบิกด้านคอมพิวเตอร์ และแมรี่อยากเป็นวิศวกร ในยุคที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์และการคำนวณทั้งหมดต้องทำด้วยมือ พวกเธอคือทีมเบื้องหลังที่ทำให้โครงการส่งกระสวยอวกาศสำเร็จไปได้ด้วยดี

เมื่อได้รับคำปฎิเสธไม่ให้เข้าร่วมในโครงการฝึกสอนวิศวกรของนาซ่า แมรี่บอกว่า “ทุกครั้งที่พวกเรามีโอกาสได้ก้าวหน้า พวกเขาก็ย้ายเส้นชัย” ผู้หญิงทั้งสามคนไม่เพียงต้องเผชิญกับการเหยียดสีผิวในอเมริกายุคที่ยังมีการแบ่งแยกสีผิวอย่างชัดเจนถึงขนาดว่าห้องน้ำก็ใช้ร่วมกันไม่ได้เท่านั้น แต่ยังต้องเผชิญกับอคติทางเพศในการทำงานในวงการวิทยาศาสตร์ที่บุคลากรส่วนมากเป็นผู้ชายอีกด้วย ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของกลุ่มคนที่ต้องเผชิญกับการเลือกปฎิบัติ ทั้งด้วยเหตุแห่งเพศและเชื้อชาติ และต้องต่อสู้เพื่อให้มีที่ยืนในที่ทำงาน และเพื่อให้ความสามารถของตนได้เป็นที่ยอมรับ

ต่อมา คณิตกรในองค์การนาซ่าถูกแทนที่ด้วยคอมพิวเตอร์ แคเธอรีนถูกย้ายไปทำงานในฝ่ายวิเคราะห์และการคำนวณ โดโรธีทำงานในฝ่ายโปรแกรมมิ่ง ส่วนแมรี่กลับไปเรียนต่อและได้รับปริญญาในสาขาวิศกรรมศาสตร์ และกลับมาทำงานเป็นวิศวกรนาซ่า ในปี 2015 แคเธอรีนได้รับเหรียญอิสรภาพประธานาธิบดี และในปี 2016 องค์การนาซ่าได้ตั้งชื่ออาคารในศูนย์วิจัยแลงลีย์ว่า อาคารการคำนวณแคเธอรีน จี. จอห์นสัน เพื่อเป็นเกียรติแด่เธอ

Girls Don’t Cry (2018)

นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

หนังสารคดีที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของเด็กวันรุ่นทั้ง 28 คน ที่ต้องมาสวมบทบาทเป็นไอดอลภายใต้ชื่อ BNK48 สารคดีเริ่มเล่าตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการก้าวเข้ามาในวง ชีวิตที่ต้องดำเนินไปภายใต้กฎกติกาของการเป็นไอดอล ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในวงที่เป็นทั้งเพื่อน พี่ น้อง แต่ต้องมาแข่งขันกันเพื่อช่วงชิงพื้นที่ตำแหน่งตัวหลักในเพลงหรือเรียกว่า 'เซมบัตสึ'

เมื่อพื้นที่มีจำกัดก็ย่อมมีคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง หนังสารคดีเปิดพื้นที่ให้สมาชิกหลายสถานะได้แสดงมุมมอง ทัศนคติ ความรู้สึกของตนเองที่มีต่อสมาชิกกันเอง ระบบกติกาในวงได้อย่างน่าสนใจ และเห็นมิติของความเป็นมนุษย์มากขึ้น แต่เมื่อเราถอยหลังออกมามองจากมุมคนดูเห็นการแข่งขันของสมาชิกในวงที่มีทั้งผู้แพ้ผู้ชนะ แต่สุดท้ายแล้วทุกคนก็ต้องอยู่ภายใต้กฎกติกาของวงที่มีผู้ใหญ่ในค่ายคอยตัดสิน โดยอ้างอิงจากความนิยม และขึ้นอยู่กับมูลค่าทางการตลาด หนังสารคดีจบลงแต่ชีวิตของพวกเธอก็ดำเนินต่อไป

The Purple Kingdom (2016)

พิมพกา โตวิระ

ภาพยนตร์สั้นความยาวประมาณ 30 นาทีเรื่องนี้เล่าถึงชีวิตของผู้หญิงสองคนตัดสลับกันหลังจากที่คนรักของพวกเธอหายตัวไป เธอยังใช้ชีวิตประจำวัน และพยายามตามหาคนรักของพวกเธอเท่าที่ทำได้

หนังได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริงของ ‘มึนอ’ พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของ ‘บิลลี่’ พอละจี รักจงเจริญที่หายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557 ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หลังถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานซึ่งระบุว่าเนื่องจากบิลลี่ “ครอบครองซึ่งน้ำผึ้งป่าอย่างผิดกฎหมาย” และได้ปล่อยตัวเขาไปในวันนั้น แต่มีพยานหลักฐานสนับสนุนว่าบิลลี่ตกเป็นเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยเชื่อว่าเหตุของการหายตัวน่าจะเพราะอยู่ในช่วงที่เดินทางจากบ้านโป่งลึก ไปยังตัวอำเภอเพื่อเตรียมข้อมูลคดีชาวบ้านฟ้องหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในเวลานั้นจากเหตุเผาบ้านกะเหรี่ยงและทรัพย์สินของชาวบ้านในเขตอุทยานแห่งชาติระหว่างปี 2553 และ 2554

ผ่านไป 4 ปี ดีเอสไอเพิ่งรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษและได้ทำการสอบสวนอีกครั้ง มึนอยังคงมีความหวังว่าคดีจะคืบหน้าในสักวัน

Period. End of Sentence. (2018)

Rayka Zehtabchi

สารคดีความยาวสามสิบนาทีที่ได้รับรางวัลออสการ์สาขาสารคดีสั้นประจำปี 2019 ว่าด้วยเรื่องของผู้หญิงในชนบทของอินเดียและการต่อสู้เพื่อก้าวข้ามทัศนคติที่มองว่าประจำเดือนเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ และการตั้งโรงงานผลิตผ้าอนามัยเพื่อลดภาระทางการเงินและปัญหาสุขอนามัย

การมีประจำเดือนเป็นเรื่องปกติของชีวิตผู้หญิง แต่เป็นเรื่องที่พูดถึงไม่ได้ นอกจากนี้ ทัศนคติที่มองว่าประจำเดือนเป็นของต่ำยังเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของผู้หญิง ในหมู่บ้านหนึ่ง หญิงสาวที่ถูกสัมภาษณ์บอกว่าพวกเธอเข้าวัดไม่ได้ในระหว่างที่มีประจำเดือน และผู้หญิงอีกคนที่ถูกสัมภาษณ์ในสารคดีบอกว่า เธอเรียนหนังสือจนถึงชั้นมัธยมต้น และลาออกจากโรงเรียนเพราะเธอมีประจำเดือนและการหาที่เปลี่ยนเศษผ้าที่ใช้แทนผ้าอนามัยนั้นยากมาก จึงถือได้ว่าไม่เพียงแค่ทัศนคติของสังคมเท่านั้นที่เป็นปัญหา แต่การไม่สามารถจัดการกับการมีประจำเดือนนั้นก็เป็นปัญหาเช่นกัน

การตั้งโรงงานผลิตผ้าอนามัยจึงไม่เพียงแต่เป็นการแก้ปัญหาด้านสุขอนามัยเท่านั้น แต่ยังให้โอกาสผู้หญิงได้เป็นอิสระ ใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้น ทำให้พวกเธอได้มีงานทำ และมีรายได้เป็นของตัวเอง

ผู้หญิงที่ตั้งโรงงานผลิตผ้าอนามัยกล่าวว่า พวกเธอตั้งชื่อยี่ห้อผ้าอนามัยว่า “ฟลาย” เพราะ “ตอนนี้เราอยากให้ผู้หญิงโบยบินไป”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net