Skip to main content
sharethis

นักการเมืองและเอ็นจีโอร่วมวงถก 'เพื่อไทย' วางแนวทางการสร้างสวัสดิการเพื่อสตรี ชูสิทธิลาคลอด 180 วัน คนงานชายลาได้ และสิทธิลาปวดประจำเดือน เพื่อไม่ให้แรงงานหญิงต้องใช้วันลาป่วย 

13 มี.ค.2566 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องในวันสตรีสากล พรรคเพื่อไทยจัดงานเสวนา “แนวทางการสร้างสวัสดิการเพื่อสตรี” ด้วยแนวคิด “เพื่อไทย เพื่อผู้หญิงไทยทุกคน” นำโดย ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย เพ็ญพิสุทธิ์ จิตโสภณ ผู้ประสงค์ลงสมัคร ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย จะเด็ด เชาว์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ณชเล บุญญาภิสมภาร รองประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประธานมูลนิธิซิสเตอร์ และชวิศา เฉิน ผู้ก่อตั้ง แบรนด์ WENDAYS ผ้าอนามัยออร์แกนิค และอนุกรรมการ สมาคมเพศวิทยาคลินิกและเวชศาสตร์ทางเพศ (ประเทศไทย) โดยมีชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลาย พรรคเพื่อไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ

เสวนาครั้งนี้เป็นการร่วมหารือกับภาคประชาสังคมและผู้ประกอบการธุรกิจในการสร้างสวัสดิการเพื่อผู้หญิง เช่น 1 ตำบล 1 ศูนย์เลี้ยงเด็ก เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน สนับสนุนให้ผู้หญิงทำงานนอกบ้าน อย่างสบายใจ ไม่ต้องฝากลูกหลานไว้กับปู่ย่าตายาย เพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับผู้สูงอายุ

ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กล่าวถึงสวัสดิการว่า คือการสร้างความเสมอภาคเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม เพราะแต่ละคนมีความแตกต่างกันในการเข้าถึงโอกาส เราจะต้องออกแบบ การเข้าถึงโอกาสที่สอดคล้องกับทุกคน เช่นที่พรรคเพื่อไทย มีนโยบายวัคซีน HPV เริ่มฉีดให้เด็กที่มีอายุ 9 - 11 ปี และในระดับช่วงอายุอื่นจะมีการตรวจเพื่อหาโรค และฉีดยั้บยังการเกิดโรค เพื่อให้อัตราการเสียชีวิตลดลงจาก 11 ต่อ 1 แสน เหลือ 4 ต่อ 1 แสน อีกทั้งรัฐต้องสนับสนุนให้ครอบครัวมีเวลาเพื่ออยู่ร่วมกันได้มากขึ้น สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับครอบครัว เพื่อเพิ่มศักยภาพครอบครัว 

เพ็ญพิสุทธิ์ จิตโสภณ กล่าวว่า จากการสำรวจ หญิงออสเตรเลียที่มีลูกหนึ่งคนมีรายได้น้อยกว่าผู้หญิงที่ไม่มีลูก 5% หากมีลูกสองคนขึ้นไป รายได้จะลดลงเป็น 9% ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ก็เช่นกัน ประเทศไทยเองผู้หญิงก็เผชิญสถานการณ์นี้เช่นกัน รัฐต้องไม่ปล่อยให้ผู้หญิงต้องเลือกระหว่างการผลิตทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ กับการการผลิตประชากร เช่น การมีศูนย์เลี้ยงเด็ก 1 แห่ง ต่อ 1 ตำบล สนับสนุนให้มีกองทุนพัฒนาสตรี สนับสนุนคนในพื้นที่ต่าง ๆ ให้ผู้หญิงมีอิสระ ความเสมอภาค เข้มแข็ง และควรขยายให้มีกองทุนสำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยวด้วย ซึ่งจะเป็นสนับสนุนผู้หญิงในมิติต่างๆ 

ณชเล บุญญาภิสมภารกล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศไทยไม่เอื้อต่อการเลี้ยงดูบุตร ด้วยสภาวะการทางสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ พี่เข้าไปทำงานที่คลินิกชุมชน ประเทศอเมริกาไม่ใช่ทุกอย่างดี มีข้อดีข้อเสียปะปนกันไป รัฐที่อเมริกาให้การสนับสนุน มีการเปิดเผยก้าวไกล ให้ประกันสุขภาพในรัฐสามารถเอาไปใช้บริการข้ามเพศได้ทั้งหมด ประกันสุขภาพจ่ายทั้งหมด แต่ในไทยการข้ามเพศต้องเสียเงินเองทั้งหมด และรัฐไม่สนับสนุนสวัสดิการ ประกันเลย คนข้ามเพศถูกเลือกปฏิบัติทำให้มีรายได้น้อย คนที่เข้าไปสมัครงาน 70% โดนปฏิเสธหมด เมื่อถูกปฏิเสธก็ไม่สามารถหาเงินมาดูแลตัวเองได้ แต่รัฐสามารถดูแลได้เพราะมีประกัน ในแผนการคุ้มครองประกันจ่ายให้ทุกอย่างในโปรโมชั่น เพราะเล็งเห็นว่ามีความสำคัญต่อสุขภาพ ความปลอดภัย ทำให้ร่างกายตรงกับเพศสำนึก ตามกระบวนการซึ่งสวัสดิการสามารถสนับสนุนส่วนนี้ได้ ทุกครั้งที่ให้บริการคนไข้ ต้องเขียนจดหมายให้คนไข้เพื่อให้เอาจดหมายนี้เป็นหลักฐานในการเบิกจ่ายกับประกัน มีข้อความว่า กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญเพื่อให้กระบวนการดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง การข้ามเพศใช้เวลาในการรักษาตัว นายจ้างควรมอบทางเลือกในการข้ามเพศให้สามารถพักรักษาตัวได้ ให้ได้มาซึ่งสวัสดิการ ควรมีระยะเวลาพักฟื้นให้เหมาะกับเคสการผ่าตัด ซึ่งของผู้ชายข้ามเพศใช้เวลามากกว่าในการรักษาเพราะมีความซับซ้อนมากกว่า สวัสดิการไม่ควรมีครั้งเดียวจบ ควรมีสวัสดิการนี้ทุกปีให้ต่อเนื่องในการทำศัลยกรรมระยะยาว กระบวนการข้ามเพศกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพ ค่าใช้จ่ายต่างๆจะเยอะกว่าคนในกรุงเทพ เป็นค่าใช้จ่ายทางอ้อมของการข้ามเพศ ในบริษัทบางที่ให้เงิน หรือให้ระยะเวลาในการพักฟื้น ส่วนใหญ่เลือกต้องลาออกเพื่อไปผ่าตัดเพราะไม่มีสวัสดิการข้ามเพศรองรับ การข้ามเพศมีค่าใช้จ่ายสูง แล้วการลาออกจากงานทำให้ขาดรายได้ ยิ่งเกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ  เราต้องเปลี่ยนระบบวัฒนธรรมสังคม การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดความยั่งยืน เปลี่ยนระบบที่ใช้ไม่ได้แต่ควรปรับตัวผ่านตามยุคสมัย บุคคลทุกเพศ ทุกวัย มีสุขภาพกายใจ ที่ดี เปลี่ยนความคิดให้คนทุกคนเท่ากันหมด เริ่มจากการทำเรื่องยากๆ สังคมถึงเปลี่ยนและให้การยอมรับ

ชานันท์ กล่าวว่า แก้กฎหมายแรงงานเพื่อขยายวันลาคลอดเป็น 180 วัน ตามข้อกำหนดของ WHO และให้แรงงานชายสามารถลาเลี้ยงลูกไปเลี้ยงลูกได้ เพื่อไม่ผลักภาระการเลี้ยงลูกให้กับผู้หญิงเท่านั้น รวมทั้งให้มีวันลาปวดประจำเดือน 2 วันต่อเดือน เพื่อไม่ให้แรงงานหญิงต้องใช้วันลาป่วย เพราะการมีประจำเดือนไม่ใช่ความเจ็บป่วย และวันลาในการข้ามเพศ จะเห็นได้ว่า เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้อนุมัติให้พนักงานที่ต้องการผ่าตัดแปลงเพศ สามารถลางานได้ 30 วัน เพื่อความเท่าเทียมและการยอมรับความแตกต่าง ตั้งแต่ปี 2565  ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าดีใจที่ภาคเอกชนได้พัฒนาสิทธิและสวัสดิการแล้ว ภาครัฐต้องพัฒนาบ้าง 

จะเด็ด เชาว์วิไล กล่าวว่า สตรีที่เป็นประจำเดือนต้องลาป่วยปวดท้อง ไม่ใช่ความป่วยแต่เป็นธรรมชาติ ผู้หญิงที่ยากจน ทำงานในโรงงานประสบปัญหา การลาคลอด 180 วันซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของสากล ขับเคลื่อนให้ทุกเพศสามารถดูแลลูกได้ ผู้ชายสามารถเลี้ยงลูกได้ต้องมีสวัสดิการที่รวมเรื่องครอบครัว ศูนย์เลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน เงินสวัสดิการเด็กถ้วนหน้า ลาคลอด ลาเลี้ยงลูก ประเด็นนี้ต้องไปร่วมกับนโยบายอื่น มีแนวโน้วว่าจะไปทางไหน ในอินโดนีเซียมีสวัสดิการลาปวดประจำเดือน ทำให้นโยบายนี้ตอบโจทย์กับทุกเพศ กฎหมายคุ้มครองแรงงานมีจุดอ่อน ทั้งสัญญาจัดจ้างที่ชัดเจน เช่น พนักงานนวด พนักงานทำความสะอาดมีระบบดูแลทำให้ไม่เข้าถึงสัญญา กฎหมาย ต้องแก้ตัวกฎหมาย แรงงานถูกคุกคามทางเพศ โดยโครงสร้างชายเป็นใหญ่ นโยบายนี้ควรให้ประกันสังคมช่วยรับผิดชอบด้วย เพื่อให้ทุนขนาดเล็ก SMEs จะได้ดูแลคนงานต่อไปได้ บริษัทสามารถปรับตัวได้ทั้งลูกจ้างและนายจ้าง และสนับสนุนให้มีกองทุนช่วยเหลือเรื่องคดีจากการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว หรือให้แก้เป็นคดีความรุนแรงในครอบครัวเป็นคดีทางอาญา ปฏิรูปกองทุนประกันสังคม เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาของผู้ประกอบการ ถ้าจะเปลี่ยนต้องเปลี่ยนที่โครงสร้างชายเป็นใหญ่ 

ทางด้านผู้ประกอบการ ชวิศา เฉิน กล่าวว่า การสนับสนุนสวัสดิการผ้าอนามัยฟรีจากภาครัฐอยู่ที่วิธีการว่าจะมอบให้อย่างไรไม่ให้กระทบต่อบริษัท และผู้ประกอบการ ถ้าภาครัฐสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหญ่ ผู้ประกอบการรายย่อยจะได้รับผลกระทบหนัก ตัองทำให้ผู้ประกอบการได้รายได้เท่าเทียมกันมากขึ้น และนโยบายการลาคลอด ลาปวดประจำเดือน กระทบต่อผู้ประกอบการแน่นอน แต่ขึ้นอยู่กับบริษัท นายจ้าง อุตสาหกรรม ซึ่งประเทศไทยมีอุตสาหกรรมที่ใช้คนงานเยอะ ตัองเริ่มจากการพัฒนาผู้ประกอบการ ให้มีการใช้เทคโนโลยี สร้างคุณค่า ธุรกิจอุตสาหกรรมรองรับกับนโยบายนี้ เช่นธุรกิจการท่องเที่ยว การโรงแรม จะเป็นปัญหาใหญ่ ต้องถกรับฟังจากผู้ประกอบการ ควรจะมีข้อบังคับวิธีการปรับใช้ร่วมกันระหว่างพรรคและบริษัท ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง วันลาอาจจะเป็นอุปสรรคของผู้ประกอบการในการคัดสรรพนักงานเข้าทำงาน จึงต้องผลักดันให้ work from home ได้ ให้ได้อยู่ดูแลเลี้ยงลูก ให้รัฐบาลผลักดันเศรษฐกิจให้ดีก่อนผลักดันกฎหมาย     

ชานันท์ กล่าวย้ำว่า สวัสดิการคือพื้นฐานสำหรับประชาชนว่าเมื่อคุณล้มจะมีฐานมีฟูกมารองรับ ไม่ให้ชีวิตคุณตกต่ำลง และสวัสดิการต้องไม่ใช่เพียงแค่ประกันไม่ให้ชีวิตตกต่ำไปกว่าที่เป็นอยู่  แต่ต้องยกระดับมาตรฐานเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่นเดียวกับกฎหมายแรงงาน ที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องโอบอุ้มให้ความสำคัญแรงงานลูกจ้างมากกว่านายจ้าง ในเรื่องของสิทธิและสวัสดิการ กฎหมายแรงงานจึงต้องกำหนดหลักการหรือสิทธิประโยชน์ที่เน้นตัวลูกจ้างและแรงงานเป็นสำคัญ ความเป็นธรรมจึงจะเกิดขึ้น ไม่ใช่มุ่งให้ประโยชน์แก่ลูกจ้างและนายจ้างไปพร้อม ๆ กัน โดยไม่สนใจความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันแต่แรกระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง ไม่ได้คำนึงว่า แรงงานและลูกจ้างไม่ได้มีสถานะเทียบเท่านายจ้าง เป็นกลุ่มที่มีอำนาจต่ำกว่า รวมทั้งอำนาจในการต่อรอง ตามโครงสร้างระบบทุนนิยม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net