Skip to main content
sharethis

รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ มองอนาคตการเมืองหลังเลือกตั้ง สถาบันการเมืองรัฐสภาอ่อนแอ สวนทางกับพลวัตการเมืองบนท้องถนนที่ใช้ได้ผลขึ้นและถูกฉวยใช้ทั้งฝ่ายเอาและไม่เอาประชาธิปไตยในยุคที่คนรับรู้ข้อมูลรวดเร็วผ่านทวิตเตอร์-ไลน์กรุปที่เหมือนโลกสองใบของคนสองรุ่นที่เปลี่ยนทัศนคติได้รายวัน แนะพรรคการเมืองรื้อฟื้นเครือข่ายฐานมวลชนท้องถิ่นอีกครั้ง

30 มี.ค. 2562 เมื่อวานนี้ (29 มี.ค.) รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมอภิปรายในเสวนาหัวข้อ "อนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง 24 มีนา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ จัดโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มธ. โดยวิเคราะห์อนาคตการเมืองไทยหลังเลือกตั้งผ่านการมองสถาบันทางการเมือง การเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองท้องถิ่น

นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยกล่าวว่าไม่ว่านาฬิกาจะถูกหมุนย้อนกลับไปอย่างไร มันก็จะยังเดินหน้าเสมอ ส่วนตัวก็เชื่อเช่นนั้น การเซ็ตซีโร่ของอนุรักษ์นิยมไทยก็ทำได้สำเร็จแล้วที่ทำให้ย้อนกลับไปได้ไกลสุดถึง 2531 คือการเห็นการจัดตั้งรัฐบาลที่วิ่งกันขาขวิด คนรุ่นอายุ 30 ต้นๆ แทบจะไม่เห็นการคาดเดาของการเป็นรัฐบาล การเป็นงูเห่าแล้ว แต่การเมืองลักษณะนี้น่าจะย้อนกลับไปไกลกว่าสมัยพฤษภาฯ ทมิฬ คำถามก็คือ เราเหลืออะไรที่จะทำให้กลับมาเดินไปข้างหน้าได้บ้าง จะขออธิบายในแง่มุมสถาบันการเมือง การเคลื่อนไหวทางสังคม หรือการเมืองว่าด้วยวาทกรรม และการเมืองในระดับชนบทนอก กทม.

หนึ่ง ปัจจุบันสถาบันทางการเมืองที่น่าจะเป็นกลางที่สุดในทางหลักการ แม้ไม่มีใครเคยคิดว่าเป็นกลางอย่าง กกต. ได้พังทลายไปแล้ว รัฐสภาก็ถูกทำให้อ่อนแอ มีศาลรัฐธรรมนูญที่อ้างรัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกไปนานแล้วมาวินิจฉัย และรัฐสภาที่จะต้องกลายเป็นสถาบันตัวแทนของประชาชนถูกทำให้อ่อนแอ ทำให้สถาบันทหารที่เข้มแข็งที่สุดเข้ามาแทรกแซงได้ง่ายขึ้น สถาบันที่ยังอยู่ที่ยังเป็นประชาธิปไตยก็คือพรรคการเมือง การประกาศจุดยืนของพรรคการเมือง การรอคอยลุงมิ่งหรืออนุทิน แสดงให้เห็นว่าพรรคการเมืองยังมีอำนาจต่อรอง อย่างน้อยหัวหน้าพรรคยังไปทำ MOU และยังไม่มีใครมาประท้วงหรือขัดแย้งรุนแรง

สอง ในประเด็นการเมืองเรื่องวาทกรรม การเคลื่อนไหวทางสังคม การเมืองที่สถาบันทางการเมืองอ่อนแอ การเมืองขานี้มักจะเข้มแข็งและมักถูกใช้ทั้งจากฝ่ายสนับสนุนและไม่สนับสนุนประชาธิปไตย หลังปี 2549 การเมืองถูกทำให้เป็นละครหลังข่าว เป็นเรื่องการต่อสู้ตบตีกัน หมายความว่าการเมืองถูกโยกจากสถาบันมาอยู่บนท้องนถนน จากหลักการเสียงข้างมากมาสู่วาทกรรมโจมตีกัน ถึงวันนี้คนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่อยู่ในวังวนวาทกรรมเดิม แต่ผลของภาพจากงานแต่งงานก็มีคนจำนวนมากที่เห็นภาพบาดตาบาดใจแล้วไปเลือก พปชร. และเหตุการณ์เมื่อ 8 ก.พ. ก็แสดงให้เห็นว่าการเมืองเรื่องวาทกรรม การเคลื่อนไหวทางสังคมยังมีบทบาทสูงอยู่ คำว่าเผาบ้านเผาเมืองหรือคนล้มเจ้าจึงมียังมีผล คนไม่กล้าเลือกธนาธรทั้งๆ ที่นโยบายของเขาตอบโจทย์ชนชั้นกลางในเมืองเพราะวาทกรรมล้มเจ้า การปลุกเร้าวาทกรรรมเหล่านี้โดยใช้สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือก่อนการรัฐประหาร 2557 จึงเป็นการเมืองที่ไม่ใช้สถาบันทางการเมือง มิหนำซ้ำยังเหยียบย่ำให้อ่อนแอไป การใช้วาทกรรมและการเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นดาบสองคม คลื่นลูกที่หนึ่งของโซเชียลมีเดีย คือคนที่ใช้อีเมล์หรือกรุปไลน์ซึ่งก็ยังจะเชื่อข่าวสารจากแหล่งดังกล่าว และจำนวนมากไปเลือก พปชร. เพราะเห็นภาพบาดใจอย่างแหวนเพชรสีชมพูหรือการชนแก้วไวน์

แต่ก็มีคลื่นลูกที่สองของการใช้สื่อออนไลน์คือทวิตเตอร์ เป็นกลุ่มคนที่ออกจากข่าวทีวีและสิ่งพิมพ์ที่กำลังตายสู่สังคมออนไลน์ เราเห็นคนถามกันว่าดูดีเบตของ The Standard หรือยัง เราติดแฮชแท็กเรื่องการเมืองทวิตเตอร์จนแซงขึ้นเป็นเทรนด์ของโลกได้ สะท้อนว่าเราตื่นตัวกันในทางการเมือง เป็นการใช้โลกของการสื่อสารเป็นการโต้กลับ จะต้องดูกันว่าโลกของไลน์กรุป จะหลุดมาดูทวิตเตอร์หรือสื่อออนไลน์ได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม การใช้วาทกรรม โซเชียลมีเดียเป็นเรื่องอ่อนไหว จะเล่นการเมืองแค่ระดับนี้ไม่ได้ เห็นธนาธรไปออกรายการของคนที่หล่อกว่า เขาชื่อว่าฌอน บูรณะหิรัญ แต่คนด่าเยอะ บอกว่ารู้งี้ไม่เลือกดีกว่า เพราะไม่ชอบชอน สื่อออนไลน์เป็นเรื่องอ่อนไหว มีการใช้เป็นเครื่องมือได้ง่าย ถ้าปล่อยภาพว่าธนาธรล้มเจ้าทีเดียวก็อาจมีผลในระดับวันต่อวัน

สาม ส่วนตัวยอมเสียค่าเครื่องบินไปดูการหาเสียงในภาคอีสานและก็พบว่ามีการแจกเงินกันอย่างโจ๋งครึ่ม มีการใช้ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมป์แบบย้อนยุคและผูกขาด ไม่สนใจว่าคู่แข่งจะไปฟ้อง กกตหรือจะเจอใบเหลือง ใบแดง ใบส้ม เพราะว่าใช้ประโยชน์จากกลไกของระบบราชการ การตั้งศูนย์ดำรงธรรมที่มาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชนบทกลับกลายเป็นที่ให้คนมาร้องเรียนเรื่องทุจริตและเรื่องของการเมืองฝ่ายตรงข้าม มีคดีนักการเมืองท้องถิ่นต่างๆ และผู้นำชุมชนที่อยู่ในองค์กรอิสระมากมาย กรณีเหล่านั้นเป็นตัวบีบและทำให้มีการยื่นข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธได้ พลังดูดในยุคนี้จึงไเป็นการต่อรองเรื่องคดีความ กรณีแบบนี้สร้างเครือข่ายที่ค่อนข้างมั่นคงขึ้นมา ประกอบกับบัตรคนจนที่แจกให้กับประชาชนและการโอนเงินให้ อสมม. เบี้ยคนชรา สิ่งเหล่านี้เป็นเครือข่ายที่คิดว่าจะไม่เห็นแล้วในช่วง 10 กว่าปีหลังที่มีการกระจายอำนาจเพราะว่ามันค่อยๆ อ่อนแอไปด้วยพลังของพรรคการเมือง พลังของนโยบายและระบบสมาชิกพรรค ที่ทำให้ผู้นำชุมชนเข้าใจว่านโยบายต่างๆ จะไปถึงหมู่บ้านได้อย่างไร ผู้นำชุมชนที่ทำหน้าที่ระดมคะแนนเสียงให้กับพรรคการเมืองก็คือเครือข่าย แน่นอนว่าในภาคใต้ ปชป. ก็ใช้กลไกพรรคการเมืองในภาวะที่พรรคการเมืองในฐานะความหวังเดียว ทำพันธมิตรกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อช่วยหาเสียงซึ่งกันและกัน เป็นกลไกที่จับต้องได้มากกว่าวาทกรรม กลไกพรรคการเมืองที่ถูกสลายไปนี้ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้นำท้องถิ่นเข้ามาอยู่ในกลไกของระบบอุมถัมป์ การเมืองในระดับชนบทจึงเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ และอาจจะเป็นคำตอบที่ พปชร. ได้คะแนนเยอะในภาคอีสาน สูสี แซง ปชป. หรือ ชทพ. แม้ไม่ชนะในระดับเขตก็ตาม

รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ (แฟ้มภาพ)

ท่ามกลางหายนะเหล่านี้ ความหวังที่มีคือพรรคการเมือง ไม่ว่าวันนี้เราจะวิเคราะห์ว่าวันนี้ พท. พ่ายแพ้ สื่อสารการเมืองผิดพลาด เดินหมากพลาด แต่คิดว่า พท. พยายามเป็นพรรคการเมืองในแง่การเป็นสถาบันทางการเมืองมากที่สุด คือยึดโยงเครือข่ายตัวเอง เราควรจะสนับสนุนความเป็นสถาบันของพรรคการเมืองและให้สู้ต่อไป อีกมุมหนึ่ง จะบอก อนค. ที่ใช้เงื่อนไขของโซเชียลมีเดียและความอ่อนแะของสถาบันพรรคการเมืองมานำเสนอสิ่งใหม่ผ่านวาทกรรมและการเคลื่อนไหวทางสังคมว่า สิ่งที่ต้องทำก็คือการสร้างพรรคที่ส่วนตัวคิดว่ายังไม่ได้สร้าง เพราะยังไม่เห็นเครือข่ายการระดมสมาชิกพรรค กลัวว่าถ้าใครสักคนถูกซื้อไปแล้วเป็นผลให้ผู้ลงคะแนนเลือก อนค. อกหักแล้วจะไม่เลือกอีกเลยทั้งๆ ที่ที่จริงอาจจะเน่าคนเดียว

เวียงรัตน์กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญคือกลไกการกระจายอำนาจ พรรคการเมืองต้องไม่ทิ้งกลไกชนชทเหล่านี้ พรรคใหญ่ต้องหากลยุทธ์ในการดึงกลับมาอย่าง ปชป. ในภาคใต้ และ พท. ในเหนือและอีสาน ทำให้มวลชนที่หลุดไปกลับมาอยู่ในเครือข่ายได้ การเมืองหลังทักษิณที่เข้ามาไม่ได้เปลี่ยนเพราะแบรนดิ้งของพรรคอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาด้วยว่าการสร้างเครือข่ายได้ประสบความสำเร็จ

ต่อคำถามเรื่องความสำคัญของกลุ่มทุนในฐานะเครือข่ายพรรคการเมือง เวียงรัฐตอบว่า การสร้างสถาบันทางการเมืองหลีกเลี่ยงกลุ่มทุนไม่ได้ กลไกสิบปีที่ผ่านมาทำให้กลุ่มทุนโตเร็ว โดยเฉพาะทุนผูกขาด โจทย์ก็คือจะทำอย่างไร พรรคการเมืองจะไม่จับมือกับกลุ่มทุนก็ว่ายากแล้ว คิดว่าต้องเล่นในเกมที่พอเป็นไปได้ พรรคที่บอกไม่ใช้เงินเลย ไม่จับมือกลุ่มทุนเลยจะทำยังไง กลุ่มทุนต้องเห็นว่าถ้าหากว่ากลุ่มทุนใหญ่ๆ ได้ประโยน์ทั้งสิ้นเมื่อคนมีฐานะดีขึ้น ท้ายที่สุดพรรคการเมืองก็ต้องเจรจาอยู่ดี และในระดับท้องถิ่น กลุ่มทุนก็มีความสำคัญเพราะเป็นทรัพยากรที่ทำให้พรรคการเมืองสามารถต่ออายุของตัวเองได้ หากการเมืองจะย้อนกลับไปในยุค 2530 ก็เลี่ยงไม่ได้เลยที่จะไม่จับมือกับกลุ่มทุน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net