Skip to main content
sharethis

มาครง ประกาศยุบสภาฯ และให้มีการเลือกตั้งใหม่ หลังแพ้พรรคขวาจัดของ มารีน เลอเปน ในสนามเลือกตั้งสภายุโรป นักวิเคราะห์ร่วมประเมิน ทำไมยุบสภาฯ ขณะเสียเปรียบตอนเลือกตั้ง

 

10 มิ.ย. 2567 เว็บไซต์ ‘ไทยพีบีเอส’ รายงานวันนี้ (10 มิ.ย.) เอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ประกาศยุบสภา และจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ โดยรอบแรกในวันที่ 30 มิ.ย. 2567 และเลือกตั้งรอบ 2 ในวันที่ 7 ก.ค. 2567 ซึ่งท่าทีดังกล่าวเกิดขึ้น หลังการสำรวจหน้าคูหาการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรป โดยกลุ่มการเมืองขวาจัด หรือพรรคเนชันนัลแรลลี (National Rally - RN) นำโดย มารีน เลอเปน (Marine Le Pen) ได้คะแนนนำโด่ง ทิ้งห่างพรรคเรอเนซองส์ สายกลางของมาครง กว่าเท่าตัว

สำหรับผลการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปอย่างไม่เป็นทางการ พรรคเรอเนซองส์ของมาครง ได้คะแนนเพียง 15.2 เปอร์เซ็นต์ สวนทางกับพรรคของเลอเปน คว้าไปถึง 31.5 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ นี่ไม่ได้เป็นกระแสที่เกิดขึ้นเฉพาะในฝรั่งเศส แต่อีกหลายประเทศเผชิญสถานการณ์ในลักษณะเดียวกัน โดยผลสำรวจหน้าคูหาชี้ว่าประชาชนส่วนมากหันไปเลือกกลุ่มการเมืองขวาจัดเพื่อเข้าไปเป็นตัวแทนในสภายุโรปการเลือกตั้งสภายุโรป

โอลัฟ ช็อลทซ์ (Olaf Scholz) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เผชิญความท้าทายไม่ต่างกัน หลังผลคะแนนชี้ว่าพรรคโซเชียลเดโมแครต (Social Democrats) เสียคะแนนให้พรรคอัลเทอเนทีฟ ฟอร์ เยอรมนี (Alternative for Germany หรือ AfD) พรรคขวาจัดที่มาแรงในเยอรมนี เช่นกัน

ขั้วการเมืองขวาจัด คว้าที่นั่งสภายุโรปเพิ่ม

ภาพรวมเบื้องต้นพบว่า ขั้วการเมืองขวากลางยังครองเสียงข้างมากในสภายุโรปต่อไป โดยน่าจะได้ 189 ที่นั่ง จากทั้งหมด 720 ที่นั่งในสภายุโรป แต่กรณีแนวร่วมการเมืองฝ่ายขวาได้ที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้น อาจทำให้การออกนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะในประเด็นความมั่นคงเกิดความล่าช้า และชะงักงันมากขึ้นในอนาคต

สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรป จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-9 มิ.ย. 2567 ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศ มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 373 ล้านคน ผลการเลือกตั้งจะชี้ชะตาการออกนโยบายทั้งเชิงสิ่งแวดล้อม และการรับผู้อพยพ รวมถึงแนวทางความร่วมมือระหว่างรัฐว่าจะออกมาในรูปแบบของการร่วมมือกันมากขึ้น หรือจะพัฒนาไปสู่แนวทางที่แต่ละประเทศให้ความสำคัญกับแนวคิดชาตินิยมมากขึ้น

ล่าสุด อาเล็กซันเดอร์ เดอ โกร (Alexander De Croo) นายกรัฐมนตรีเบลเยียม ประกาศลาออกหลังผลการเลือกตั้งเบื้องต้นชี้ว่า พรรคการเมืองขวาจัดได้คะแนนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งประชาชนในเบลเยียมไม่ได้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเฉพาะสมาชิกรัฐสภายุโรป แต่ยังลงคะแนนเลือกตั้งผู้แทนในระดับท้องถิ่น และระดับชาติ

ยุบทำไมทั้งที่รู้ว่า 'อาจแพ้'

เว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ อ้างอิงรายงานของรอยเตอร์ส ซึ่งตั้งคำถามว่าทำไมมาครง อยากรีบให้มีการเลือกตั้งใหม่ ทั้งที่พรรคตัวเองอาจแพ้การเลือกตั้ง ทีนีโอ (Teneo) บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจและการสื่อสาร ตั้งข้อสังเกตว่า มาครงเรียกร้องการเลือกตั้งที่เขาอาจแพ้ เพราะเป้าหมายสูงสุดของเขาอาจเป็นการเลื่อนชัยชนะของพรรค RN ของเลอเปน มาให้เร็วขึ้น เพื่อเผยให้เห็นว่า พรรค RN ยังขาดประสบการณ์ในการเป็นรัฐบาล และทำให้ RN พ่ายแพ้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2570 (ค.ศ. 2027)

สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งยุโรป (ECFR) กล่าวถึงการคำนวณการเลือกตั้งของมาครงในแถลงการณ์ว่า เป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น และมีความเสี่ยง

"เขาพยายามที่จะมีชีวิตที่สอง และหลีกเลี่ยงสถานะเป็ดง่อย แต่มันก็อาจนำไปสู่การบริหารรัฐบาลร่วมกัน (Cohabitation) ของมาครง-เลอเปน" ECFR ระบุ

ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศส มี สส.จากพรรคเรอเนซองส์ของมาครง จำนวน 169 คน จากทั้งหมด 577 คน ส่วนพรรค RN มี 88 คน หาก RN เป็นเสียงข้างมากในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น มาครง จะยังคงมีอำนาจในการกำกับดูแลโดยตรงด้านการป้องกันประเทศ และนโยบายต่างประเทศ แต่เขาจะสูญเสียอำนาจในการกำหนดวาระประเทศตั้งแต่นโยบายด้านเศรษฐกิจไปจนถึงความมั่นคง หากพรรค RN สามารถชนะการเลือกตั้ง และเข้าสู่ช่วง Cohabitation หรือช่วงที่ประธานาธิบดีไม่ได้มาจากพรรคที่ได้เสียงข้างมากในสภาฯ

สำหรับยุค ‘โคแฮบิเทชัน’  (Cohabitation) หรือช่วงที่ประธานาธิบดีอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ประธานาธิบดีจะต้องตั้งนายกรัฐมนตรีที่ได้รับเสียงข้างมากจากสภาฯ และนายกรัฐมนตรีของพรรคเสียงข้างมาก จะกลายเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดในประเทศของฝรั่งเศส 

ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายในช่วงปี 2540-2545 ที่ประธานาธิบดี ฌากส์ ชีรัก (Jacques Chirac) มีเสียง สส.น้อยกว่า และมีอำนาจรองจากนายกรัฐมนตรี ลียอแนล ฌ็อสแป็ง (Lionel Jospin)

ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการด้านกฎหมาย ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก เผยว่า กรณีของฝรั่งเศสนั้น มาครง จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจนถึงปี 2570 แม้ว่าจะเป็นคนประกาศยุบสภาฯ ส่วนในสภาฯ จะต้องมีการเลือกตั้งอีกครั้ง ซึ่งมีโอกาสที่พรรคขวาจัดจะได้เสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ และได้เป็นนายกรัฐมนตรี

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net