Skip to main content
sharethis

“สมชาย” มองบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญกับการยุบพรรคการเมือง ก่อนนัดอ่านคำวินิจฉัยคดี “ยุบก้าวไกล” ในวันพรุ่งนี้ รวมถึงชนชั้นนำไทยจัดวางก้าวไกลไว้ส่วนไหนในระบบการเมืองไทย สมชายคาดหวังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะไม่สร้างบาดแผลและความบอบช้ำให้กับสังคมไทย

 

6 ส.ค. 2567 ก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะนัดอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลในวันพรุ่งนี้ (7 ส.ค. 2567) ประชาไทชวน สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มามองบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญกับการยุบพรรคการเมือง

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

 

อาจารย์คิดว่าครั้งนี้ชนชั้นนำไทยจะจัดวางพรรคก้าวไกลไว้ในส่วนไหนของระบบการเมืองไทย

สมชาย : ผมเข้าใจว่าถ้าเกิดคำวินิจฉัยออกมาน่าจะสะท้อนให้เห็นได้ว่าชนชั้นนำคิดยังไงกับพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก ที่ผ่านมาเมื่อไหร่ที่พรรคการเมืองสะท้อนความเห็นหรือความต้องการของคนจำนวนมาก มันจะสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของคนชั้นนำ ถ้าถอยกลับไปไม่ใช่แค่พรรคอนาคตใหม่ แต่พรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักไทย ก็ถูกยุบในตอนที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเป็นจำนวนมาก การเลือกตั้งก็มีผลกระทบต่อสถานะและบทบาทของชนชั้นนำไทยพอสมควร

กรณีของพรรคอนาคตใหม่สืบเนื่องมาจนถึงพรรคก้าวไกล ผมคิดว่าที่ผ่านมาชนชั้นนำไทยใช้วิธีการ “ทุบพรรคการเมือง” ที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก แต่ถ้าสรุปบทเรียนก็จะพบว่า การกระทำเช่นนี้ไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรเลย ทำให้เห็นได้ว่าการยุบพรรคการเมืองโดยอำนาจของชนชั้นนำหรืออำนาจตามกฎหมาย เป็นไปได้ยากที่จะสกัดกั้นพรรคการเมือง พอยุบพรรคอนาคตใหม่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือพรรคก้าวไกลที่เหมือนได้แรงส่งอย่างดี

“มาถึงนาทีนี้ผมคิดว่าชนชั้นนำไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ควรจะต้องตระหนักเสียทีว่า วิธีการยุบพรรคแบบนี้มันไม่ได้ช่วยทำให้การเมืองไทยขยับไปข้างหน้า ไม่ช่วยคลี่คลายปัญหาทางการเมืองที่อยู่ในสังคมไทยมามากกว่า 10 ปีลงแต่อย่างใด แล้วผมคิดว่ามันจะยิ่งทำให้ชนชั้นนำไทยจะจนตรอกมากขึ้นในอนาคต” สมชาย กล่าว

ถ้าข้ามคำถามที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะยุบหรือไม่ยุบพรรคก้าวไกลไปเลย อาจารย์มีความเชื่อมั่นไหมว่าศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จะตัดสินคดียุบพรรคก้าวไกลตามหลักของกฎหมาย

สมชาย : ผมก็ไม่รู้ว่าศาลรัฐธรรมนูจะตัดสินอย่างไร อันนี้ตอบไม่ได้จริงๆ เพราะว่าที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญสร้างความพิศวงงงงวยให้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง แต่สำหรับกรณีที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 7 ส.ค. นี้ ความเห็นผมเป็นแบบนี้ถ้ายึดกันโดยหลักวิชาทางกฎหมาย หลักวิชาทางด้านรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะยุบพรรคก้าวไกล แทบหาคำอธิบายที่ถูกต้องในหลักการทางกฎหมายไม่ได้เลย เพื่อมารองรับการยุบพรรคก้าวไกล

มีข้อถกเถียงอย่างน้อย 3 กลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกัน เรื่องที่หนึ่งคือตัวผู้ร้องได้ร้องมาอย่างถูกต้องหรือไม่ เรื่องที่สองการกระทำของพรรคก้าวไกลเข้าข่ายที่จะถูกยุบพรรคหรือไม่ และสุดท้ายผู้ตัดสินคดีหรือศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการรับเรื่องไว้หรือไม่ เรื่องที่หนึ่งกับเรื่องที่สามในแง่หนึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทางเทคนิคกฎหมายอยู่พอสมควร แต่เรื่องที่เป็นหัวใจสำคัญอยู่ที่การกระทำที่สมาชิกหรือคนในพรรคก้าวไกลทำสามารถนำไปสู่การยุบพรรคได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาอย่างมากในการวินิจฉัย และเป็นเรื่องที่ควรจะต้องได้รับการถกเถียงกัน

ผมคิดว่าการที่ กกต. ยื่นเรื่องยุบพรรคก้าวไกลเข้ามาสืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 คือกรณีที่มีการยื่นแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นการกระทำที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามความเห็นผมคำวินิจฉัยนี้เป็นปัญหาอย่างมาก

“ตามหลักการพื้นฐานทางรัฐธรรมนูญฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่เสนอกฎหมาย แก้กฎหมาย เลิกกฎหมาย แล้วสิ่งที่สส. พรรคก้าวไกลทำก็คือการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาตราเดียวในประมวลกฎหมายซึ่งมีลำดับเท่ากับพระราชบัญญัติ โทษทีเถอะ ถ้าคุณไม่ให้ สส. แก้กฎหมายแล้วคุณจะให้เขาทำแมวอะไรเหรอ ก็มันหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ แล้วถามหน่อยว่ามีใคร บทบัญญัติมาตราไหนเขียนห้ามไว้ว่าห้ามแก้ไข ม.112” สมชาย อธิบาย

ตอนปี 2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินก็มีการแก้ไขกฎหมาย หมายความว่า ม.112 ไม่ใช่พระไตรปิฎก ไม่ใช่คัมภีร์ไบเบิลที่แตะต้องไม่ได้ หากฝ่ายนิติบัญญัติต้องการแก้ไขกฎหมาย แต่ศาลรัฐธรรมนูญไปตีความว่าการแก้ไข ม.112  มีเท่ากับเป็นการความพยายามที่จะมุ่งหมายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ผมคิดว่าเป็นการตีความที่เป็นปัญหาอย่างมาก

“ในความเห็นผมคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ด้วยความเคารพนะครับ นี่คือ “ต้นไม้พิษ” แปลว่าอะไร แปลว่าถ้าเรายอมรับคำวินิจฉัยนี้ แล้วปล่อยให้มีคำวินิจฉัยมีผลสืบเนื่องต่อไป ผมคิดว่ามันจะออกดอกออกผลที่เป็นพิษ โดยเฉพาะยิ่งต่อระบอบประชาธิปไตยของไทย คำวินิจฉัยที่ 3/2567 ถูกเอามาโยงกับการยื่นยุบพรรคในครั้งนี้” สมชาย กล่าว

ในความเห็นผมข้อสรุปหรือความเห็นที่ยื่นคำร้องจาก กกต. ที่อ้างอิงถึงคำวินิจฉัยที่ 3/2567 และพฤติกรรมต่างๆ เช่น การไปประกันตัว,ไปร่วมชุมนุม, ไปแสดงความเห็นเพื่อแก้ไข ม.112 ผมคิดว่าอันนี้ไม่ได้มีน้ำหนักว่าเป็นการล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด และ กกต. ในฐานะคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องตอบให้ได้ว่าตอนที่พรรคก้าวไกลเขียนนโยบายก่อนหาเสียงคณะกรรมการการเลือกตั้งได้อ่านดูหรือไม่ กกต. ย่อมต้องรู้อยู่แล้วถึงนโยบายนี้ แต่พอพรรคก้าวไกลออกไปหาเสียงกลับกลายมาเป็นถูกตั้งข้อกล่าวหาในภายหลังเช่นนี้ ผมคิดว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งได้คะแนนความโปร่งใสระดับดี และปีนี้ดียิ่งขึ้นกว่าปีที่แล้วต้องตอบคำถามนี้ “ผมคิดว่าค่อนข้างเลอะเทอะในการยื่นคำร้องครั้งนี้”

“ถ้าหากยังปล่อยให้การยุบพรรคการเมืองด้วยวิธีการแบบนี้ผนวกกับต้นไม้พิษของคำวินิจฉัยที่ 3/2657 ผมคิดว่าพิษของมันจะแพร่กระจายไปในสังคมไทย ซึ่งต่อไปจะทำให้พรรคการเมืองกลายเป็นสิ่งที่ง่อนแง่นอย่างมาก พร้อมจะล้มเมื่อไหร่ก็ล้มได้ มีข้อหาอะไรที่พร้อมจะยัดเยียดก็ยัดเยียดไป แล้วก็ล้มมันด้วยอำนาจทางกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรม ผมคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการทางกฎหมาย ขัดกับหลักรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรงมาก” สมชาย กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

บทบาทหน้าที่ในการตัดสินคดียุบพรรคการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญ อาจารย์มองว่ามันจะกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งของชนชั้นนำไทยในการรักษาอำนาจในระบบการเมืองไทยที่ตัวเองต้องการไว้ต่อไปหรือไม่ ไม่ต้องรัฐประหารแล้วก็ได้ แต่ถ้าพรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกไม่ถูกใจชนชั้นนำ ก็ใช้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค

สมชาย : ถ้ามองเรื่องนี้ผมคิดว่า เราต้องไม่มองแค่เฉพาะเหตุการณ์ในครั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2549 ความขัดแย้งในเมืองไทยในสองทศวรรษที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญที่ถือกำเนิดมาด้วยความคาดหวังว่าจะเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เข้ามาทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับการคุ้มครอง ทำให้ระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าได้อย่างเข้มแข็ง แต่เราจะพบว่าศาลรัฐธรรมนูญที่เคยถูกคาดหวังว่าจะเป็นตุลาการภิวัตน์ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น มองง่ายๆ เวลาผู้คนคาดเดาผลของคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ คนส่วนใหญ่คาดเดาจากหลักการทางกฎหมายหรือเปล่า ผมคิดว่าเราคาดเดาผลคำตัดสินจากการดูว่าพรรคการเมืองที่ถูกร้องมาเป็นใคร พรรคไหน ส่งผลกระทบต่อสถานะของชนชั้นนำตามจารีตมากน้อยขนาดไหน

“คนจำนวนมากไม่ได้คาดเดาคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจากหลักการทางกฎหมาย แปลว่าเขาเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ใช้หลักวิชาที่ตรงไปตรงมามากเท่าไหร่ อันนี้จริงไม่จริงผมไม่รู้ แต่ผมคิดว่าคนจำนวนมากคาดเดาแบบนั้นรวมทั้งผมด้วย” สมชาย กล่าว

ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถทำให้ผู้คนเชื่อและวางใจได้ว่าตนเองกำลังตัดสินอยู่บนหลักการทางกฎหมาย ในแง่หนึ่งจะเป็นปัญหาต่อตัวสถาบันศาลรัฐธรรมนูญในระยะยาว ตอนนี้ศาลรัฐธรรมนูญห่างไกลจากการเป็นองค์กรที่จะเข้ามาทำให้ประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้ เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น รวมไปถึงการกำกับตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญโดยประชาชนเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากเช่นกันในสังคมไทย

การเมืองไทยทุกวันนี้เหมือนเราหนีไม่พ้นก้าวไกล ไม่พ้นอนาคตใหม่ ยิ่งมีการเลือกตั้งมากเท่าใด ยิ่งเห็นว่าประชาชนเลือกฝ่ายประชาธิปไตยเป็นเสียงข้างมาก ถ้าเกิดเกิดการยุบพรรคก้าวไกลจริงๆ เราก็คาดหมายได้ว่าจะมีการตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาแทน แล้วแบบนี้ชนชั้นนำไทยจะขยับต่อไปอย่างไร ณ จุดนี้

สมชาย : อย่างแรกผมคิดว่าชนชั้นนำไทยควรตระหนักว่าวิธีการแบบนี้ไม่ได้ผล การยุบพรรคไม่ได้ผลหรอก ชนชั้นนำไทยควรจะต้องกระโดดลงมาแข่งในระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมาอาจจะทำให้ชนชั้นนำรู้สึกตระหนก ถ้าเป็นแบบนี้ก้าวไกลจะยึดการเลือกตั้งได้ทั้งหมด แต่ผมไม่คิดว่าจะเป็นแบบนั้นด้วยซ้ำ ในบางภูมิภาคพรรคก้าวไกลก็ไม่ได้พื้นที่ รวมถึงการเมืองระดับท้องถิ่นก้าวไกลก็ยังไม่ได้มีพลังมากพอ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าชนชั้นนำและพรรคที่เห็นพ้องกับอุดมการณ์แบบดั้งเดิม ก็ควรกระโดดลงมาในสนามการเลือกตั้ง

ใครที่คิดว่ามีนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไม่ว่าจะในแนวทางอนุรักษ์นิยมก็ควรจะลงมาแข่ง หลายประเทศเขาก็ทำกัน ในยุโรปก็มีพรรคอนุรักษ์นิยม พรรคที่เห็นด้วยกับอุดมการณ์แบบอนุรักษ์นิยม อันนี้จะเป็นผลดีมากกว่า แล้วผมคิดว่าถ้าเกิดเล่นกันในกติกาแบบนี้ ในแง่หนึ่งจะทำให้พรรคอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมต้องปรับตัวเป็นพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มีปัญญา อย่างน้อยๆ ก็มากกว่าแบบที่เป็นอยู่

ในปัจจุบันนี้เราจะพบว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทยไม่ค่อยมีปัญญามากเท่าไหร่ หมายความว่าเวลาเลือกตั้งก็จะออกมาพร้อมกับนโยบายรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และนโยบายแจกเงิน วนๆ อยู่แบบนี้ ซึ่งผมคิดว่าพรรคอนุรักษ์นิยมมีปัญญาได้มากกว่านี้ เราน่าจะเห็นพ้องร่วมกันว่านโยบายเหล่านี้จะไม่ทำให้สังคมไทยขยับไปข้างหน้าได้

เอาเข้าจริงผมคิดว่าตอนนี้สังคมไทยต้องการฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มีปัญญาและความสามารถไม่น้อยไปกว่าการมีพรรคก้าวไกล

“การที่เราไม่มีฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มีปัญญา ทำให้จะเกิดภาวะแบบนี้ คิดอะไรไม่ออกก็ยุบพรรคไป ส่วนพวกเราก็เสนอนโยบายลด แลก แจก แถมอย่างเดียว ไม่พัฒนาระบบเศรษฐกิจอะไรเลย ฉะนั้นถามผมต้องทำให้ทั้งหมดเข้ามาอยู่ในกติกาของระบอบประชาธิปไตย ผ่านระบบการเลือกตั้งที่เท่าเทียม ผมคิดว่าเราจะเห็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่จำเป็นต้องพัฒนาสติปัญญาและความสามารถมากขึ้น แต่ทุกวันนี้ผมคิดว่าเราไม่เห็นสิ่งนี้ เพราะในแง่หนึ่งคือเราขาดฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มีปัญญาพอที่จะนำพาสังคมไทยไปได้” สมชาย กล่าว

สุดท้ายในฐานะที่อาจารย์เป็นคนในวงการกฎหมาย อาจารย์มีอะไรอยากฝากถึงศาลรัฐธรรมนูญบ้าง ก่อนการตัดสินคดียุบพรรคก้าวไกลจะเกิดขึ้น

สมชาย : ที่ผ่านมาผมก็ไม่ค่อยคาดหวังกับศาลรัฐธรรมนูญมากเท่าไหร่ เพราะว่าหลายครั้งก็เคยคาดหวัง แต่ก็พบว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็สามารถจะทำให้อ้าปากค้างได้เสมอ

“ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีความปรารถนาดีต่อสังคมไทยจริงๆ ควรจะต้องใช้สิ่งที่เรียกว่า หลักวิชาและความรู้ในการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ผมไม่ได้เรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องไปยืนอยู่ข้างพรรคก้าวไกล ผมคิดว่าไม่จำเป็น ไม่จำเป็นต้องไปยืนอยู่ข้างพรรคก้าวไกล แต่การที่คำวินิจฉัยในครั้งนี้จะทำให้ผู้คนยอมรับ ควรต้องวางอยู่บนหลักวิชาทางกฎหมาย และรวมถึงการตัดสินที่สอดคล้องกับหลักรัฐธรรมนูญที่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผมคิดว่าอันนี้คือสิ่งที่ควรทำ” สมชาย กล่าว

ถ้าคำตัดสินออกมาและเป็นคำตัดสินที่ไร้ซึ่งเหตุผล ผมคิดว่าคำตัดสินนี้จะเป็นคำตัดสินที่ทำร้ายสังคมไทยไปอีกนาน ทำร้ายคนที่เป็นลูกหลาน ซึ่งรวมถึงลูกหลานของบรรดาคนที่ตัดสินคดีด้วย ผมคิดว่าสังคมไทยได้ผ่านสถานการณ์ที่ย่ำแย่มามากพอสมควรแล้ว ถึงเวลาที่ควรต้องพยายามผลักให้สังคมไทยกลับไปสู่การถกเถียงกันในระบอบประชาธิปไตยจริงๆ

เรื่องบางเรื่องไม่ใช่เรื่องของการใช้กฎหมายเข้าไปตัดสิน ประเด็นสำคัญคือ ม.112 ผมคิดว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ แต่เมื่อมีฝ่ายนิติบัญญัติเสนอให้มีการถกเถียงกัน ก็ควรจะถกเถียงกันได้ ไม่ใช่การปิดปากว่าใครที่บังอาจแตะต้อง ม.112 ก็จะถูกยุบพรรคไป อันนี้เป็นการกระทำที่เป็นปัญหาอย่างมาก

“ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินได้ แต่ควรมีหลักวิชา สติปัญญา และความสามารถ อย่าสร้างบาดแผลและความบอบช้ำให้กับสังคมไทย รวมถึงแวดวงวิชานิติศาสตร์ไทยอีกเลย ผมคิดว่าน่าจะหยุดได้แล้วการกระทำในลักษณะเช่นนั้น” สมชาย กล่าว

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net