Skip to main content
sharethis

ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ ชวนหาเรื่องกับวิชาประวัติศาสตร์ ใน 2 ความหมาย หนึ่ง-ประวัติศาสตร์ที่สนุกต้องมี story และสอง-ต้องกวนน้ำให้ขุ่นโดยไม่ปล่อยให้ประวัติศาสตร์ชุดใดมีอำนาจมากเกินไป เช่นอุดมการณ์ราชาชาตินิยมในสังคมไทยที่กลายเป็น myth 

  • ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เพียงการศึกษาอดีต แต่ยังหมายถึงอุดมการณ์และหมายถึงการอธิบายความเปลี่ยนแปลง
  • ประวัติศาสตร์ที่สนุกจะต้องมี story
  • การหาเรื่องกับประวัติศาสตร์คือการกวนน้ำให้ขุ่น โดยไม่ปล่อยให้ประวัติศาสตร์ชุดใดมีอำนาจมากเกินไป
  • ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมเป็นอุดมการณ์ที่แทบจะกลายเป็นศาสนาของโลกวิสัยชนิดหนึ่ง เป็น myth ที่มีไว้เพื่อตอกย้ำความเชื่อ อุดมการณ์ และบรรทัดฐานทางศีลธรรมชุดหนึ่ง

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ ‘จะ 'หาเรื่อง' กับประวัติศาสตร์อย่างไร?’ โดยมีธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์จากคณะประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา เป็นผู้บรรยาย เนื้อหาของการบรรยายมีดังนี้

ประวัติศาสตร์คืออะไร?

เรามักเข้าใจว่าประวัติศาสตร์หมายถึงอดีต นักเรียนประวัติศาสตร์จะรู้ดีขึ้นนิดหนึ่งว่าประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องหมายถึงอดีต แต่หมายถึงงานศึกษาเกี่ยวกับอดีต ผมเริ่มต้นใน 2 หน้าแรก (ของหนังสือ ‘ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย: ว่าด้วยประวัติศาสตร์นอกขนบและวิธีวิทยาทางเลือก’) ว่าไม่ใช่แค่ 2 ความหมายนี้ ผมคิดว่าประวัติศาสตร์มีความหมายที่ 3 ที่ 4 และอาจจะห้าหกเจ็ดด้วย

ความหมายที่ 3 คือเป็นอุดมการณ์ เป็น ideology ประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่อดีต ไม่ใช่แค่การศึกษา แต่เป็น ideology ที่ผูกพันกับความรู้ที่เกี่ยวกับอดีต สองสามอย่างนี้ไม่ได้แยกขาดจากกัน มันผูกพันกันหมด การบอกว่าประวัติศาสตร์หมายถึงอดีต ไม่ผิดเสียทีเดียว แต่ไม่ครอบคลุมหมด แล้วปัญหาของประวัติศาสตร์ที่เราต้องหาเรื่องมักจะเป็นประวัติศาสตร์ประเภทนี้ คือประวัติศาสตร์ในแง่วิชาการ เราต้องหาเรื่องแย้งกันไป เถียงกันไป มีความก้าวหน้าทางวิชาการไป จะเรียกว่าหาเรื่องหรือไม่ก็ได้ แต่ประวัติศาสตร์ในแง่อุดมการณ์นี่ตัวร้าย หมายถึงว่ามันอาจจะส่งผลดีมากหรืออาจฆ่าคนก็ได้ การหาเรื่องคือการเช็คแอนด์บาลานซ์ในทางปัญญา ต้องอย่าให้ประวัติศาสตร์เวอร์ชั่นใดเวอร์ชั่นหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป มันน่ากลัวมาก ไม่ว่าจะเวอร์ชั่นราชาชาตินิยม เวอร์ชั่นเผด็จการ หรือเวอร์ชั่น Radical (ฝ่ายต่อต้านอย่างถึงราก) อย่าให้เวอร์ชั่นไหนมีอำนาจมากเกินไป

วิธีที่จะไม่ให้เวอร์ชั่นไหนมีอำนาจมากเกินไปคือให้หลายๆ เวอร์ชั่นมันดำรงอยู่ในสังคมจะดีที่สุด ประวัติศาสตร์เวอร์ชั่นที่มีสิทธิอันตรายและที่อันตรายไปเรียบร้อยแล้ว เราต้องรู้จักหาเรื่องด้วยการเปิดให้มีหลายๆ เวอร์ชั่น เปิดให้มีการคิดได้หลายๆ แบบ

เราบอกว่าประวัติศาสตร์หมายถึงอดีตก็ไม่ผิดเสียทีเดียว แต่ก็ไม่ถูกนัก ถ้าคุณคุยกับอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อาจารย์นิธิจะพูดตลอดเวลาว่าประวัติศาสตร์ไม่ได้เพียงแค่หมายถึงอดีต คิดดูนะครับ ประวัติศาสตร์หมายถึงอดีตกับประวัติศาสตร์หมายถึงการเปลี่ยนแปลง อาจารย์นิธิจะพูดตลอดเวลาว่าประวัติศาสตร์หมายถึงการเปลี่ยนแปลง

ประวัติศาสตร์คือการศึกษาความเปลี่ยนแปลง

เวลาเราศึกษาประวัติศาสตร์ เราไม่ได้ศึกษาอดีต เราศึกษาการเปลี่ยนแปลง หมายถึงถ้าเราศึกษาอดีต ต้องการรู้ static unit (หน่วยแบบคงที่) หนึ่ง ต้องการรู้เหตุการณ์ รู้จักคนคนหนึ่ง ก็เพราะเราต้องการเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับ static unit นั้น แต่การศึกษาประวัติศาสตร์ เช่นวัดวัดหนึ่งที่หยุดนิ่งกับที่ไม่ใช่การศึกษาประวัติศาสตร์ในแบบวิชาการ เราต้องการรู้ความเปลี่ยนแปลง คุณจึงเห็นนักประวัติศาสตร์หลายๆ คนไม่ได้พูดเรื่องอดีตที่หยุดนิ่ง เราอธิบายความเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่นักประวัติศาสตร์อาชีพในความหมายว่ามีคนจ่ายเงินเดือนให้เรามีชีวิตอยู่ได้ เราสนใจจะอธิบายความเปลี่ยนแปลง ในแง่นี้นักประวัติศาสตร์จึงมีสิทธิจะ conservative (อนุรักษนิยม) มีสิทธิจะก้าวหน้า สนใจเศรษฐกิจหรือการเมือง อันนี้แล้วแต่ความสนใจ แต่จุดร่วมพื้นฐานที่สุดของคนทำงานประวัติศาสตร์อย่างเป็นอาชีพคือเราอธิบายความเปลี่ยนแปลง

เวลาคุณเอานักประวัติศาสตร์มาเป็นมัคคุเทศก์ก็พอทำได้ แต่เอาเข้าจริงนั่นไม่ใช่อาชีพทางวิชาการ พูดให้เที่ยงตรงที่สุด เราไม่ได้ศึกษา unit (หน่วย) ในอดีตอย่างลอยๆ เราศึกษาความเปลี่ยนแปลง ความแตกต่างตรงนี้สำคัญ เพราะเวลาศึกษาอดีต unit หนึ่งที่หยุดอยู่กับที่เรามักต้องพรรณนาความให้รอบด้าน แต่การศึกษาความเปลี่ยนแปลงคือเราศึกษาปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้หมายความว่าประวัติศาสตร์มีความวิเศษกว่า ผมว่าไม่หรอก ศาสตร์แต่ละศาสตร์ก็มีความเด่นในแง่ของตัวเอง แต่สำหรับประวัติศาสตร์มีความเด่นในแง่การอธิบายสังคม ณ จุดหนึ่งๆ โดยอธิบายว่ามันเปลี่ยนแปลงมาอย่างไรจนถึงจุดนั้น

การที่บอกว่าประวัติศาสตร์คือการเปลี่ยนแปลงเป็นหัวใจสำคัญร่วมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์สกุลไหน สำนักไหน เป็นเรื่องพื้นฐานที่สุด แต่เรื่องพื้นฐานที่สุดนี้บางทีคนก็ไม่เข้าใจ เช่น ใช้เราเป็นแค่นักเล่านิทาน ผมไม่ได้ปฏิเสธ สนุกดี แต่สิ่งที่เราสนใจมากกว่าในทางปัญญาคือการฝึกฝนและอธิบายการเปลี่ยนแปลง เวลาคนมีอำนาจในสังคมไล่ให้เราไปเรียนประวัติศาสตร์ เขาไม่ได้ไล่ให้เราไปเรียนความเปลี่ยนแปลง เขาไล่ให้เราไปเรียนความรู้ที่ static คำอธิบายที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ นี่สะท้อนความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์แบบง่ายๆ และค่อนข้างผิด ถ้าเขาไล่ไปเรียนประวัติศาสตร์จริงๆ โดยเข้าใจว่าประวัติศาสตร์หมายถึงความรู้ที่ฝึกฝนให้คนรู้จักอธิบายการเปลี่ยนแปลง ผมจะแฮปปี้มากเลย ขอบคุณ ผบ.ทบ. และอีกหลายคน ถ้าเขาหมายถึงอย่างนั้น

ประวัติศาสตร์ตั้งคำถามตลอดเวลา

พอเราต้องอธิบายความเปลี่ยนแปลง คุณสมบัติที่เหมือนกับศาสตร์อื่นๆ ทั้งหลายก็คือทำให้เรารู้จักคิด สำหรับประวัติศาสตร์ผมมีความลำเอียงนิดหน่อยเพราะเป็นสิ่งที่เราชื่นชอบ ถ้าประวัติศาสตร์จะมีสิ่งที่พิเศษสำหรับผมก็คือประวัติศาสตร์เปิดประตูให้ผมคิดแบบไม่หยุด ในวิชาประวัติศาสตร์ตั้งแต่ผมเรียนจนสามสิบสี่สิบปีต่อมา ประวัติศาสตร์มีความคุ้นเคยกับการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองมาก ไม่เกี่ยวกับลัทธิวิจารณ์ตนเองของเหมาอิสม์ ไม่เกี่ยวกับการหาเรื่อง ประวัติศาสตร์วิจารณ์ตัวเองตลอดเวลา ไม่ว่าจะค่ายไหน ความรู้ที่เราเสนอนั้นไม่สมบูรณ์ มันถูกตั้งคำถามได้ สำหรับประวัติศาสตร์มันสร้างอยู่ในตัวมันเองว่าต้องเกิดการสงสัย ต้องเกิดการโค่นความรู้ความคิดที่มีอยู่ แล้วเขยิบต่อไป

เพราะฉะนั้นการไล่ไปเรียนประวัติศาสตร์ ถ้าทำให้เรารู้จักคิดมากขึ้น ขอบคุณครับ ผบ.ทบ. แต่ถ้าเพียงแค่ให้เรารักชาติมากขึ้น อันนั้นไม่ใช่ประวัติศาสตร์แบบที่เรียนกันอยู่ที่นี่ ไม่ใช่เด็ดขาด ประวัติศาสตร์ไม่มีหน้าที่ทำให้ใครรักชาติมากขึ้นหรือน้อยลง ประวัติศาสตร์ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการก่อผลประโยชน์ให้ประเทศชาติหรือทำลายผลประโยชน์ของประเทศชาติ แปลว่าทำได้ทั้งนั้น แล้วแต่ความพอใจของคน แต่โดยการแสวงหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ไม่เกี่ยว ออกหัวออกก้อยได้ทั้งนั้น ถ้าผู้มีอำนาจไล่ให้ไปเรียนประวัติศาสตร์ซึ่งดูเหมือนว่าต้องการให้เกิดความรักชาติมากขึ้น อันนั้นก็ยุ่ง ประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่ทำให้รู้จักคิดไม่หยุด เพราะฉะนั้นจุดมุ่งหมายที่ต้องการให้รักชาติมากขึ้น มันแสนจะตรงข้ามและเป็นอันตรายกับการแสวงหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ หรือพูดกลับกัน ในความเห็นผม การแสวงหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ต้องยืนหยัดมั่นคงว่าไม่เกี่ยวกับความรักชาติ รวมถึงทำให้คนรักชาติน้อยลงก็ไม่เห็นจะผิดตรงไหน

ประวัติศาสตร์ทำให้เรารู้จักตั้งคำถาม อันนี้ทุกวิชาเหมือนกัน แต่วิชาประวัติศาสตร์มันมีการสร้างมาในตัวที่ทำให้นักประวัติศาสตร์สงสัยตัวเองอยู่เรื่อย สมัยผมเรียน อาจารย์จำนวนหนึ่งจะ critical มาก อาจารย์จำนวนหนึ่งจะเล่า บอก จด ความสุขอย่างหนึ่งของการเป็นนักวิชาการประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เพื่อนผมมี conservative ด้วย แทบจะทุกคนจะเป็น skeptic (ขี้ระแวง) คือสงสัยไปๆ แล้วไม่ต้องดูถูกกัน พอสุดท้ายไม่มีใครสงสัยก็มาสงสัยตัวเอง ชอบล้อตัวเองเป็นประจำ นักประวัติศาสตร์และความรู้ประวัติศาสตร์ต้องเป็นอย่างนั้น

ประวัติศาสตร์ต่างจากสังคมศาสตร์อื่นอย่างไร เอาอย่างง่ายๆ ในความหมายที่ว่าเป็นแท่งๆ เช่น ต่างจากรัฐศาสตร์อย่างไร นักรัฐศาสตร์มักจะพยายามพิสูจน์ทฤษฎีของเขาโดยเอาเคสสารพัดมาพิสูจน์ว่าทฤษฎีนั้นใช้ได้มากหรือน้อยแค่ไหน นักประวัติศาสตร์พยายามอธิบายหรือพิสูจน์เหตุการณ์หนึ่งๆ โดยเอาทฤษฎีสารพัดมาใช้

แฟ้มภาพ เพจ banrasdr photo

ประวัติศาสตร์ที่ไม่มี story ไม่สนุก

คำถามว่าจะหาเรื่องทำไม ผมตั้งหัวข้อเองว่าหาเรื่องกับประวัติศาสตร์ก็เพราะว่า ข้อ 1 ประวัติศาสตร์ที่ไม่มีเรื่อง ไม่สนุก จบ แค่นี้จริงๆ เวลาคนอ่านประวัติศาสตร์ที่ไม่มี story (การเล่าเรื่อง) สนุกที่ไหนล่ะ ประวัติศาสตร์ต้องการหาเรื่องในความหมายที่ตรงไปตรงมา ประวัติศาสตร์ต้องการ story ถามว่ามีประวัติศาสตร์ที่ไม่มี story หรือไม่ มีครับ แต่โดยทั่วไปประวัติศาสตร์มี story และโดยรสนิยมส่วนตัว ถ้าไม่มี story มันไม่สนุก

คือเราจะอธิบายความเปลี่ยนแปลงอะไรก็แล้วแต่ มักต้องเขียนให้เป็น story ที่จะอ่านได้ ถ้าประวัติศาสตร์เริ่มมาว่ากรณีนี้มีปัจจัยที่ทำให้เกิดหนึ่ง สอง สาม สี่ มันน่าเบื่อ นักประวัติศาสตร์ที่มักจะทำได้ดีกว่านั้นคือเล่าเรื่องนั้นๆ โดยประมวลเอาเหตุปัจจัยเหล่านั้นเข้ามาอย่างเงียบๆ นี่เป็นคำตอบแบบง่ายๆ ประการที่ 1 ว่าทำไมประวัติศาสตร์ต้องหาเรื่อง

เราคิดว่าเรื่องสำคัญหรือไม่ เอาเข้าจริงโลกสมัยใหม่เรามักนิยมการอธิบายเชิงระบบ การอธิบายด้วยเหตุผลเป็นระบบ เป็นข้อๆ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ไม่มีเหตุผลนะครับ คนโบราณวิธีคิด วิธีให้เหตุผล เขาอธิบายผ่าน story เราเห็นนิทานปรัมปราอย่าคิดว่าเขาเล่าสนุกๆ มันคือเครื่องมือในการคิดแบบสมัยโบราณ ทั้งโลกเหมือนกัน ก่อนที่จะเกิดระบบเหตุผลแบบคณิตศาสตร์ที่อธิบายหนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง

story มีความสำคัญกับคนมากเพราะเป็นคลังของตรรกะไว้ให้คนคิด นี่คือบทบาทของนิทานปรัมปราในอดีต ศีลธรรมทั้งหลายที่เราดูถูก ความสำคัญคือมันเป็นแกรมม่าในการคิด เพียงแต่ว่าในยุค enlightenment (ยุครู้แจ้ง)เราเลิกคิดแบบนั้นแล้ว เรารู้จักตรรกะ คิดเป็นนามธรรม มนุษย์เปลี่ยนโหมดการคิด

สำหรับประวัติศาสตร์และวรรณคดี เรายังนิยมการสื่อสารให้คนรู้จักคิดด้วย story การสื่อสารด้วย story ก็มีอันตรายคือคนอาจจะอ่าน story ผิดได้ อันที่จริงอาจจะเป็นจุดแข็งของวิชาทางมนุษยศาสตร์ที่อนุญาตให้คนตีความหรืออ่านได้เกินหนึ่งอย่างแล้วแต่ผู้อ่าน ซึ่งจะแตกต่างจากทางสังคมศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ที่ต้องเที่ยงตรง ภาษาและ story ทางมนุษยศาสตร์ทำให้มนุษยศาสตร์มีความเที่ยงตรงน้อยลง คุณอาจจะบอกว่าเป็นโทษ แต่สำหรับคนทำงานทางมนุษยศาสตร์ ทางประวัติศาสตร์ ทางวรรณคดีหลายคนบอกว่าเป็นคุณ เราต้องรู้จักเรียนรู้ที่ไม่ใช่โหมดความคิดแค่สังเคราะห์ วิเคราะห์ เอาเข้าจริงโหมดการคิดของประวัติศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่สำคัญคือการตีความ

การตีความไม่เชิงการสังเคราะห์และวิเคราะห์ ในแง่นนี้ story จึงมีความสำคัญ เพราะเป็นโหมดของการสื่อสาร เป็นภาษาที่จะสื่อสารทางปัญญา เราใช้การเล่าเรื่องและการตีความบวกการสังเคราะห์ วิเคราะห์ก็แล้วแต่ แต่ส่วนใหญ่แล้วงานประวัติศาสตร์ที่ดีจะอยู่ภายใต้กรอบของการเล่าเรื่องเพื่อเปิดให้เกิดการตีความ

งานประวัติศาสตร์ที่ดีไม่ใช่หยุดแค่ความสามารถวิเคราะห์ ตีความ ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในกรณีหนึ่ง แต่ความปรารถนาของนักเรียนประวัติศาสตร์ อย่างน้อยสำหรับผมเอง คืออยากเล่าเรื่องดีๆ สักเรื่องหนึ่ง เล่าเรื่องดีๆ หมายความว่ายังไง คุณก็ต้องตีความเอา สำหรับผมหมายถึงเรื่องเล่าที่ชวนให้คิด ท้าทายเซลล์สมอง น่าตื่นเต้นที่จะร่วมคิด ร่วมสนทนาด้วย จนเกิดความพึงพอใจทางปัญญา การเล่าเรื่องให้ดีตามประสานักประวัติศาสตร์มิได้หมายถึงสำนวนโวหารอ่านสนุกเหมือนนิยาย เพราะถ้าอย่างนั้นคุณไปเขียนนิยายดีกว่า แล้วผมทำไม่เป็นเลย

แต่หมายถึงต้องมีสาระ มีการวิเคราะห์ตีความให้ได้อย่างน่าสนใจและน่าเชื่อ ต้องหนักแน่นทางแนวคิดทฤษฎีพอที่จะสร้างความคิดริเริ่มที่แปลกใหม่ได้ แต่ไม่ต้องอวดแนวคิดทฤษฎีจนเกะกะขัดหูขัดตา ปล่อยให้แนวคิดทฤษฎีเป็นที่รับรู้ได้ควบคู่ไปกับเรื่องเล่า ผมมีความตั้งใจที่จะไม่เริ่มจากทฤษฎี เพราะเกะกะขัดหูขัดตา ถามว่าเริ่มจากทฤษฎีได้หรือไม่ ได้สิ ก็แล้วแต่สไตล์คุณ แต่อย่าบอกว่าการไม่เริ่มจากทฤษฎี โดยเฉพาะกับนักประวัติศาสตร์ นักวรรณคดีเป็นเรื่องผิด การเล่าเรื่องที่ดีมันเหมาะสมกับคนอ่านที่มีสติปัญญาจะต้องคิด เราเจอแล้วๆ เราเล่นเกมตรงนี้และมีความเพลิดเพลินอยู่ด้วย คุณไม่ต้องตั้งทฤษฎีและพิสูจน์ในขัดหูขัดตา ผมกล้าท้าว่าการเขียนให้เป็น story ที่ผนวกคอนเซ็ปต์ ทฤษฎี การวิเคราะห์ต่างๆ ให้กลืนเข้าไป มันยากกว่า

การเล่าเรื่องที่ดีมักเป็นเรื่องเล็กๆ ที่ใส่ใจกับรายละเอียด เล่าความเปลี่ยนแปลงของกรณีรูปธรรมเล็กๆ ได้อย่างมีชีวิตชีวา แต่พลังของเรื่องที่ดีกลับอยู่ตรงที่ว่าเรื่องเล็กๆ ดังกล่าวเป็นอุปมาอุปไมยหรือเป็นอุปมานิทัศน์ คือสามารถฉายให้เห็นเรื่องอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะเรื่องที่ใหญ่โตกว่านั้นมาก หมายความว่าการเล่าเรื่องที่ดีควรสามารถทำให้คิดเรื่องที่ใหญ่กว่าได้ด้วย จึงจะเกิดเป็นความพอใจทางปัญญา เพราะการเล่าเรื่องเล็กๆ ที่ไม่สะท้อนให้เห็นเรื่องอื่นๆ ใดๆ เลย จะไม่ก่อให้เกิดความตื่นตาตื่นใจทางปัญญา แม้อาจจะเล่าได้น่าทึ่งในรายละเอียดก็ตาม พลังของเรื่องที่ดีจึงมักจะช่วยให้เราสามารถคิด จินตนาการ เลยพ้นไปจากกรณีรูปธรรมเฉพาะเจาะจง ไปสู่ความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่กว้างขึ้น นี่คือความหมายของเรื่องเล่าที่ดีของผม

ผมจะเทียบกับมานุษยวิทยาแล้วกัน มานุษยวิทยามีการทำงานได้ดี ไม่ดีในหลายระดับ 3 ระดับต่อไปนี้ที่ผมจะยกตัวอย่างให้ฟังถ้าทำพอใช้ได้คุณได้รับปริญญาเอกเหมือนกันได้ทั้งนั้น แต่มันจะต่างกันอยู่ ระดับที่ 1 สมมติผมไปศึกษาหมู่เล็กๆ แห่งหนึ่งอย่างละเอียด แล้วผมเอาทฤษฎีของมิสเตอร์เอ็กซ์มาใช้และบอกว่ามันประยุกต์ได้ ประยุกต์ไม่ได้ จบ ถามว่าเป็นความรู้ใหม่หรือไม่ อาจจะใหม่ก็ได้ เพราะหมู่บ้านนั้นไม่เคยมีใครในโลกศึกษามาก่อน ถามว่าให้ปริญญาเอกได้หรือไม่ ทำได้ดีก็ให้สิครับ เพราะเป็นความรู้ใหม่จริง

ระดับที่ 2 ผมศึกษาหมู่บ้านหนึ่งเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีมิสเตอร์เอ็กซ์และผมสามารถต่อยอดทฤษฎีนั้นไปได้ว่ามีจุดอ่อนตรงนั้น มีส่วนขยายตรงนั้น คนที่อ่านงานของผมแล้วอาจจะลืมเรื่องหมู่บ้านนั้นไป แต่กลับได้ความรู้ว่าทฤษฎีนั้นควรจะเอาไปใช้ในเงื่อนไขอย่างไร ใช้ได้และใช้ไม่ได้อย่างไรในกรณีอื่นๆ เกินกว่าหมู่บ้านนั้น อันนี้ยิ่งควรได้ปริญญาเอก

ระดับที่ 3 ผมศึกษาหมู่บ้านเล็กๆ หมู่บ้านเดียวแต่ทำให้ผมตั้งทฤษฎีใหม่ของตัวเองได้ที่คนอื่นเอาไปใช้ได้ด้วย อันนี้นอกจากควรได้รับปริญญาเอกแล้ว ยังควรได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ด้วย

นักประวัติศาสตร์ก็ในทำนองเดียวกัน เราเล่าเรื่องเล็กๆ แต่เรื่องเล็กๆ ที่ดีหรือไม่ดีขนาดไหน มันควรฉายให้เห็นเรื่องใหญ่ด้วย ถามว่าผมเอาเกณฑ์นี้มาใช้วัดความสามารถในการให้ปริญญานักเรียนประวัติศาสตร์ ก็อย่างที่บอก โดยทั่วไปเราจะบอกนักเรียนประวัติศาสตร์ว่าอย่าเพิ่งฝันถึงการทำงานระดับที่สร้างทฤษฎีใหม่ คุณเล่าเรื่องเล็กๆ โดยการใช้ความคิดของคนต่างๆ มาช่วยอธิบาย ผมก็ให้คุณปริญญาเอกได้แล้ว ทั้งหมดนี้เป็น range (แนว)ของการเล่าเรื่องที่ดีว่าเรื่องเล็กสัมพันธ์กับเรื่องใหญ่อย่างไร

ด้วยเหตุนี้ เมื่อผมกลับมาเมืองไทยใหม่ๆ ตอนนั้นผมโดนท้าทายจากอาจารย์ผู้ใหญ่ถามผมว่าทำไมถึงทำเรื่องเล็กๆ แค่เรื่องแผนที่เท่านั้น ผมว่าเขาไม่เก็ท ผมมีความสุขมากกับการทำงาน ผมก็เริ่มจาก proposal (ข้อเสนอ) เหมือนทุกคน พอทำๆ ไป เราเห็นเสน่ห์ของเรื่องเราที่เล็กลงเรื่อยๆ โดยที่ implication (นัย) ของมันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ฐานของการคิดเรื่องทำนองนี้ได้ต้องมาจากการเรียนรู้ ต้องอ่านเยอะ ต้องรู้กว่า คุณจึงจะจับได้ว่ากรณีไหนเป็นกรณีเฉพาะที่ฉายให้เห็นภาพใหญ่ได้ นอกเหนือจากนั้นเป็นเรื่องการเล่น หมายความว่าแทนที่จะอธิบายหนึ่งสองสามสี่ เราอยากเล่า story หาเรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่ง แล้วเล่าแต่ละจุดที่ฉายให้เห็นเรื่องใหญ่

ในแง่นี้งานเขียนทางประวัติศาสตร์ก็กึ่งๆ นิยายแล้ว เริ่มจะข้ามเส้นไปสู่นิยาย ไปสู่ศิลปะของการเขียนนิยาย ในกระบวนการคิดมันเป็นศิลปะอย่างหนึ่งว่าจะผูกเรื่องเล็กเรื่องใหญ่เข้าหากันอย่างไร การหาเรื่องแบบที่ 1 ในความหมายทั่วๆ ไปคือต้องรู้จักเล่าเรื่องที่ดี แต่จะทำได้มากน้อยแค่ไหนก็ว่ากันไป

การหาเรื่องคือการกวนน้ำให้ขุ่น

ส่วนการหาเรื่องแบบที่ 2 ประวัติศาสตร์เป็นความรู้ประหลาดตรงที่ทรงอำนาจเหนือผู้คนมาก แม้ว่าคนส่วนมากเห็นว่าน่าเบื่อ ไม่น่าเรียนรู้ และแทบไม่ต้องเรียนรู้เลยก็นึกว่าตนเองรู้ประวัติศาสตร์เป็นอย่างดีได้ ในห้องนี้มีกี่คนครับที่ตอนเรียนประวัติศาสตร์มัธยมแล้วชอบเหลือเกิน สมัยเราเรียนประถม มัธยม คงมีไม่กี่คนที่ชอบประวัติศาตสร์ เพราะเต็มไปด้วยรายละเอียด ไม่สนุก เต็มไปด้วยเรื่องราวเก่าๆ ที่ไม่เข้าใจว่าจะมีประโยชน์อะไรกับชีวิตปัจจุบัน แต่คุณครูก็ย้ำแล้วย้ำอีกว่าเป็นความรู้สำคัญเพื่อความภูมิใจในชาติของเรา แถมดูเหมือนจะเรียนแล้วเรียนอีก ลงรายละเอียดเรื่องเดิมๆ มากขึ้นเรื่อยๆ วิชาประวัติศาสตร์ดีอย่างเดียวคือเรียนไม่ยาก ท่องตะบันเข้าไปก็พอสอบได้

ครั้นโตเป็นผู้ใหญ่ คนส่วนมากก็ยังเห็นว่าเป็นวิชาคร่ำครึและไม่ช่วยทำให้เกิดรายได้หรือการงานที่รุ่งเรืองมั่นคงได้แต่อย่างใด แถมดูเหมือนว่าใครๆ ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ได้ ไม่เห็นต้องฝึกฝนร่ำเรียนสักเท่าไหร่เลย ตอนเป็นผู้ใหญ่นี่แหละที่เรามักเชื่อว่าเรารู้ประวัติศาสตร์ของชาติเราเป็นอย่างดี ยามใดที่มีความขัดแย้งสาธารณะที่เกี่ยวพันกับความรู้ทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคนชาติอื่นมาสะกิด แตะต้องประวัติศาสตร์ของชาติเราล่ะก็ ผู้ใหญ่ทั้งหลายจะแสดงตัวเป็นผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์กันเยอะแยะไปหมด ช่วยกันโต้แย้งคนชาติอื่นทั้งที่ตนเองก็ไม่เคยสนใจเรียนประวัติศาสตร์มาก่อนเลย

มันเป็นวิชาประหลาดทำนองนี้ คือยิ่งคนไม่เรียน ไม่สนใจเท่าไหร่ ยิ่งเป็นผู้รู้เท่านั้น พวกที่เรียนหนักรู้มากมักไม่รู้จริง เพราะมักจะวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง เรื่องนี้ผมไม่รู้นะ เรื่องนั้นผมไม่รู้นะ คนที่ไม่เรียนรู้หมดทุกเรื่อง ความประหลาดของประวัติศาสตร์อยู่ตรงนี้ ไม่น่าเรียน น่าเบื่อ แต่ทุกคนสามารถเป็นผู้รู้ดี สามารถสร้างให้คนมีอารมณ์ร่วม ภูมิใจจนน้ำตาไหลได้ รักชอบเกลียดชังได้เกี่ยวกับความขัดแย้งกับเรื่องในอดีตอย่างลึกซึ้ง อินกับประวัติศาสตร์เหลือเกินตราบเท่าที่อย่าไปเรียนมัน

เพราะประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมและแบบอื่นๆ ก็แล้วแต่ในประเทศอื่น แต่สำหรับประเทศไทยในความเห็นผมคือแบบราชาชาตินิยมที่แพร่หลายครอบงำสังคมไทยหรือเป็นขนบของความรู้ประวัติศาสตร์ปัจจุบัน มิใช่การไต่สวนค้นคว้าเพื่ออธิบายอดีตหรือปัจจุบัน หรืออธิบายการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบคอบ มิใช่ความรู้เพื่อไต่สวนเพื่อวุฒิภาวะทางปัญญา แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่ปลูกฝังความเชื่อและศรัทธาชุดหนึ่งที่ไม่พึงสงสัย ตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีก ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมเป็นอุดมการณ์ที่แทบจะกลายเป็นศาสนาของโลกวิสัยชนิดหนึ่ง มีความศักดิ์สิทธิ์ในระดับที่มีไว้ให้ชื่นชมดื่มด่ำ การละเมิดความเชื่อทางประวัติศาสตร์ประเภทนี้จึงเป็นอาชญากรรมทางความคิดที่สมควรถูกลงโทษอย่างรุนแรง ถึงขนาดเผาตำราประวัติศาสตร์ก็ได้ กรณีคุณหญิงโม ถึงขนาดที่รู้ใช่ไหมว่าทุกวันนี้กรุณาอย่าพูดเรื่องหมุด 2475 คุณมีสิทธิ์จะมีปัญหาได้

ภาพหมุดคณะราษฎร ซึ่งหมุดดังกล่าวเดิมอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และได้หายไปกว่า 2 ปี แล้ว

การละเมิดความเชื่อทางประวัติศาสตร์จึงเป็นอาชญากรรมที่สมควรถูกลงโทษอย่างรุนแรงทำนองเดียวกับการลบหลู่ทางศาสนา การค้นคว้าใหม่ๆ ที่มักส่งเสริมกันก็เป็นรายละเอียดหรือจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ ที่ประกอบกันเข้าเพื่อแสดงภาพรวมความยิ่งใหญ่ของชาติและบรรพบุรุษ โดยเฉพาะเจ้ากรุงเทพ ตามที่เรื่องเล่าแม่บทหรือ master narrative  (เรื่องเล่าหลัก)ได้สถาปนาไว้นานแล้ว ประวัติศาสตร์ตามขนบนี้เป็นมาตรฐานไว้ลงโทษ กีดกัน หรือผลักไสคำถามหรือความรู้ที่อาจบ่อนแซะความเชื่อหลักให้สงบเสียงหรือให้อยู่ตามขอบของความรู้ ในทางกลับกัน ละครหรือนิยายประวัติศาสตร์ในประเทศนี้จะได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญขนานใหญ่ ลงทุนกันเป็นสิบๆ ล้าน ถ้ามันตอกย้ำเรื่องเล่าหลักที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว

ถามเถอะฮะ คุณจำเป็นต้องดูด้วยเหรอ นเรศวร คุณถึงจะรู้เรื่อง ไม่จำเป็นเลย คุณไม่ทันดู ได้ยินแต่ชื่อ คุณก็รู้ตอนจบแล้ว แล้วไปดูทำไม เพราะประวัติศาสตร์และละครประเภทนี้ไม่ได้มีไว้ให้คุณคิด มีไว้ตอกย้ำว่าสิ่งที่คุณรู้อยู่แล้ว มันถูก ความรู้ที่เล่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งไม่ต้องฟังก็รู้ว่าหมายความว่าอย่างไร ภาษาอังกฤษเรียกว่า myth (นิทานปรัมปรา)

myth คำจำกัดความในทางวิชาการคือเรื่องเล่าที่เล่าซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนเดิม เพราะถ้าเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม เราชักไม่แน่ใจแล้วว่า myth นั้นมันถูกจริงหรือเปล่า แต่เล่าซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกระทั่งเรามั่นใจว่าเล่ากี่ทีมันก็เหมือนเดิม เราถึงมีความมั่นใจว่าความรู้นั้นถูกต้อง นี่คือประวัติศาสตร์ประเทศไทย มันไม่ได้มีไว้ให้คุณคิด ภาควิชาประวัติศาสตร์กรุณายุบไปเถอะ ถ้าประวัติศาสตร์หมายถึงการสร้าง myth ให้คนศรัทธา แล้วเมื่อไหร่ที่สร้างเรื่องพระนเรศวรให้ผิดแผกไป ยกตัวอย่างเช่นทำให้ช้างองค์นั้นขากะเผลกเลยชนช้างชนะ แค่นี้ก็เกิดการโวยวายกันจนประเทศแทบล่มจมแล้ว เพราะมันผิดจากแบบแผนที่รู้อยู่เดิม myth เท่านั้นแหละที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เล่าผิดแผกจากเรื่องเดิม

myth อนุญาตให้มีการสร้างสีสันได้ แต่โครงเรื่องและสาระของเรื่องต้องไม่เปลี่ยนแปลง เพราะไม่อย่างนั้นบรรทัดฐานทางศีลธรรมจะสะเทือนหมด myth มักมาคู่กับบรรทัดฐานทางศีลธรรม ทำนองเดียวกับประวัติศาสตร์บ้านเรา ยอมให้มีบุพเพสันนิวาสได้ แต่โครงเรื่องและสาระสำคัญของเรื่องเปลี่ยนไม่ได้ เพราะไม่อย่างนั้นบรรทัดฐานทางศีลธรรมสะเทือน ประวัติศาสตร์แบบ myth มีไว้ตอกย้ำความเชื่อ อุดมการณ์ และบรรทัดฐานทางศีลธรรม

บ้านเรายังเป็นอย่างนี้อยู่ ประวัติศาสตร์ที่ ผบ.ทบ. และผู้มีอำนาจหลายคนเรียกร้องให้คนไปเรียนมากขึ้นคือชนิดนี้ เขาเราไปเรียน myth ถ้าเป็นแบบนี้ยุบภาคประวัติศาสตร์ให้หมดทั้งประเทศเลย เสียตังค์ ถ้าจะไม่ยุบ ต้องอย่ามาเรียนประวัติศาสตร์แบบนี้ ต้องหาเรื่อง

อำนาจของประวัติศาสตร์ชนิดนี้มีมากเกินไป เราจึงต้องหาเรื่อง คือต้องเปิดประวัติศาสตร์ในความหมายอื่นๆ อย่าเหิมเกริมบอกว่าประวัติศาสตร์แบบของคุณหรือผมเป็นประวัติศาสตร์แบบที่ถูกที่สุด การหาเรื่องในแง่นี้จึงไม่ใช่การหาประวัติศาสตร์ที่ถูกที่สุด มันไม่มีหรอกครับ ประวัติศาสตร์ในลักษณะทั่วไปจึงไม่เคลมตัวเองว่าเป็นความรู้ที่ถูกที่สุด เมื่อรู้ถึงพักหนึ่ง คนคิดอีกแบบ คำถามอีกแบบ หลักฐานอีกแบบ มันก็ล้มสิ่งที่เราคิด การหาเรื่องจึงไม่ใช่การหาเรื่องที่ถูกที่สุด การหาเรื่องจึงหมายความว่ากวนน้ำให้ขุ่น ควรเป็นความภูมิใจของนักประวัติศาสตร์ที่จะกวนน้ำให้ขุ่น

ประวัติศาสตร์แบบกวนน้ำให้ขุ่นหมายความว่าท้าทายกับความคิดที่มีอยู่เพื่อให้เกิดการคิด จุดประสงค์ของวิชาประวัติศาสตร์สำหรับผม ง่ายนิดเดียว คือทำให้เซลล์สมองโต จบ ไม่มีจุดประสงค์อื่น เพราะเราเชื่อว่าเมื่อเซลล์สมองมันเติบโต เมื่อมันแอคทีฟตลอดเวลา คุณก็ไปคิดเรื่องอื่นได้เยอะแยะ

ประโยชน์อันที่ 2 ที่คำอธิบายทางประวัติศาสตร์ที่เราอุตส่าห์เรียนมาอาจจะช่วยให้เราเข้าใจความเปลี่ยนแปลงดีขึ้น ประโยคมูลฐานคือให้เซลล์สมองโต ซึ่งทุกสาขาวิชาควรจะเป็นอย่างนั้น

ประโยชน์ระดับถัดมาซึ่งก็สำคัญไม่แพ้กันสำหรับวิชาประวัติศาสตร์คือช่วยให้เข้าใจและอธิบายความเปลี่ยนแปลง รู้จักเอาปัจจัยต่างๆ มาสังเคราะห์และวิเคราะห์ แต่ทั้งหลายทั้งมวลเหล่านี้ก็เพื่อหาเรื่องในความหมายว่ากวนน้ำให้ขุ่น ในความหมายว่าอย่าให้ความรู้มันหยุดนิ่ง ตกตะกอน อย่าให้ความเชื่อและอุดมการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น มันหยุดนิ่ง ตกตะกอน เพราะอะไรก็แล้วแต่เมื่อหยุดนิ่งและมีอำนาจ อันนั้นน่ากลัว

บันทึก 6 ตุลาที่ผมเขียน เดือนตุลา เช้าวันพุธ ผมจบประโยคสุดท้ายของบันทึกชิ้นนั้นว่า ประวัติศาสตร์ช่างโหดร้ายเหลือเกิน เขียนไว้ 20 กว่าปีแล้ว มันอยู่ในใจผมตลอด โดยส่วนตัวผมหาเรื่องเพราะเห็นว่าประวัติศาสตร์มีอำนาจมากไป สำหรับผม ผมบอกได้ว่าผมเจอกับตัวเอง ประวัติศาสตร์ฆ่าคนได้ จงหาเรื่องกับประวัติศาสตร์ เพราะอย่ายอมให้ประวัติศาสตร์เวอร์ชั่นไหนมีอำนาจมากเกินไปทั้งสิ้น กวนน้ำให้ขุ่นในความหมายว่าคิดเข้าไป ท้าทายความคิดที่มีอยู่เข้าไป แน่นอน สิ่งที่ผมพูดอาจดูเหมือนเป็นส่วนต่อขยายจากสิ่งที่พูดกันในห้องเรียน เพราะสิ่งที่เราพูดกันในห้องเรียนว่าหลักฐานต้องแคร์อย่างนั้นอย่างนี้ ผมเลยส่วนพวกนี้ออกไป

ผมย้อนกลับมาก็ได้ การหาเรื่องทั้งหลายของงานประวัติศาสตร์ เราไม่ได้เขียนนิยาย ยังต่างกันอยู่ เชื่อไหมว่าไม่ใช่แต่เพียงหลักฐานเท่านั้นจึงจะสามารถสร้างเรื่องใหม่ๆ ได้ หลายครั้งหลักฐานเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด story ใหม่ได้ของเหตุการณ์เดียวกัน พูดอย่างนี้ไม่ได้บอกว่าให้สนใจหลักฐานน้อยลง แต่ที่สำคัญคือคุณเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนคำถาม และเมื่อพูดกับนักเรียนไทย ขอโทษนะครับ ถ้าดูถูกกันเกินไป ปัญหาของนักเรียนไทยเท่าที่ผมเจอ เรามักจะเน้นแค่ว่าการหาหลักฐานใหม่ๆ ปัญหาสำคัญมากคือคุณคิดกับมันไม่พอ ขอย้ำนะครับ ไม่ใช่คุณไปกระโดดหาทฤษฎีมาแล้วจะเป็นงานประวัติศาสตร์ที่ดี งานประวัติศาสตร์เป็นงานที่ลงติดดินอยู่กับหลักฐานอยู่ดี ประเด็นที่อยากจะบอกของการหาเรื่อง คอนเซ็ปต์ หรือหลักฐานก็คือว่าคนทำงานที่ไม่อยู่บนหลักฐานที่ grounded (มีหลักฐาน) พอ เล่นแต่ทฤษฎี เราก็ไม่เอา งานประวัติศาสตร์ที่ดีคือ good story คือ story ที่ grounded ที่ลงติดดินอยู่กับหลักฐาน

เปลี่ยนมุมมอง ตั้งคำถามใหม่

แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เราหาเรื่องได้ มาจากการที่เรารู้จักพลิกมุมคิด แทนที่จะโฟกัสที่นางนาก ก็ไปโฟกัสที่นายมากแทน ผมชอบมากนะหนังเรื่องนี้ เปลี่ยนนิดเดียวกลายเป็นคนละเรื่องเลย บางครั้งเปลี่ยนมุมมอง บางครั้งคอนเซ็ปต์ใหม่ และอีกอันหนึ่งที่สำคัญก็คือนักประวัติศาสตร์กล้าที่จะต้อนรับคำถามชนิดใหม่ๆ คำถามชนิดใหม่ๆ มาจากไหน คำถามชนิดใหม่ๆ มักมาจากปัจจุบัน คือปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปแล้ว เป็นโลกาภิวัตน์มากขึ้น เราเลยเพิ่งนึกออกว่าแต่โลกาภิวัตน์อาจจะมีมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว ก็เกิดคำถามว่าโลกาภิวัตน์ในสมัยก่อนมันมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร

ใบปิดหหนัง 'พี่มาก..พระโขนง' หนังปี 2556 กำกับ โดยบรรจง ปิสัญธนะกูล เขียนบท โดย นนตรา คุ้มวงศ์ (ภาพจาก wikipedia.org)

หรือปัจจุบัน กลับมาที่เรื่องส่วนตัวนิดหนึ่ง เรามักจะดุด่า ประณาม กระบวนการทางกฎหมาย ระบบตุลาการในเมืองระยะหลังกันมาก ในฐานะนักประวัติศาสตร์ผมสงสัย นี่คำถามเบสิกของนักประวัติศาสตร์เลย ระบบกฎหมายไทยเป็นมายังไง คือแทนที่ผมจะนั่งด่าศาล กฎหมายนี้ เนติบริการนั้น นักประวัติศาสตร์ถามว่าระบบกฎหมายไทยมันมีความเป็นมาอย่างไร มีส่วนไหมที่ประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการของกฎหมายไทยเป็นปัจจัยที่ทำให้นักกฎหมายเป็นอย่างนี้ ไม่ได้เป็นเพราะนายวิษณุ เครืองาม นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ หรือนายนู้นนายนี้ แต่คนเหล่านั้นเป็นคนซึ่งโลดแล่นอยู่ใต้ภาวะบางอย่างซึ่งตกทอดมาจากอดีต เป็นไปได้หรือไม่ พอเกิดคำถามขึ้น ผมมองย้อนกลับไปก็เจอว่างานศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายในบ้านเรายังเขียนภายใต้กรอบความคิดคนละชุดกับที่ผมสนใจ มันจึงไม่ตอบคำถามที่ผมสนใจเลย เช่น ยังเขียนอยู่ในกรอบของการปรับเปลี่ยนกฎหมายเพื่อกอบกู้เอกราช ผมไม่สนใจการกอบกู้เอกราช ผมสนใจว่าสถาบันต่างๆ มันมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

นี่ไง เกิดคำถามใหม่ กลับไปดูกรณีเดิม งานประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยด้วยเหตุนี้ก็มี คือเกิดคำถามใหม่ หลักฐานชุดเดิม ผมไปหอจดหมายเหตุผมก็อ่านเอกสารชุดเดิมที่อ่านกัน แต่กับคำถามใหม่ เราอาจจะประมวล วิเคราะห์ และตีความออกมาอีกแบบหนึ่ง

ประเด็นสุดท้ายก็คือในเล่มนี้ผมเสนอวิธีวิทยาจำนวนหนึ่ง มิได้แปลว่าวิธีวิทยาเหล่านี้ดีกว่า ไม่จำเป็น ผมบอกได้แต่ว่าในหัวข้อที่ผมหยิบมาศึกษาผมเจอว่ามันเหมาะกว่า และสอง ผมชอบ นั่นหมายถึงว่าคุณมีสิทธิ์ที่จะเป็นศิลปินของตัวเอง คุณชอบอย่างอื่น เอาเลยฮะ แน่นอนว่ามันถูกบังคับอยู่ว่าเหมาะกับกรณีนั้นๆ หรือไม่ เหมาะกับหัวข้อนั้นๆ หรือไม่ ถ้าไม่เหมาะ มันก็ไปไม่รอด แต่ไม่ได้หมายความว่ามีวิธีวิทยาชุดเดียวที่ใช้ได้กับคำถามหรือกรณีหนึ่ง ไม่จริง ถึงที่สุดแล้ว คุณชอบแบบไหน

ผมชอบ วิธีวิทยาที่อยู่ในเรื่องนี้มักจะเล่นกับเรื่องพล็อต มักจะเล่นกับเรื่อง special perspective (มุมมองพิเศษ)ผมเล่นกับเรื่องนี้จนเป็นความเคยชินของผมแล้ว จะวิเคราะห์เชิง space (พื้นที่) แม้กระทั่งมาวิเคราะห์ผมก็ใช้ space จับ โดยที่หัวข้อเรื่องนั้นไม่ใช่เรื่อง space เลย พูดง่ายๆ มองอะไรเป็นแนวราบ จุดแบ่ง รอยต่อ แม้มองชาติกับไม่ชาติก็เป็นรอยต่อ

หนังสือเล่มนี้นำเสนอวิธีวิทยาจำนวนหนึ่ง ซึ่งพวกคุณอาจจะใช้หรือไม่ใช้ ถ้าพวกคุณจะเรียนรู้ให้เข้าใจว่าก็ดี แต่ไม่ใช้เลย ผมคิดว่าไม่จำเป็น แต่ถ้าคุณอ่านและทำความเข้าใจ ผมเชื่อว่ามัน generate (ผลิต)เซลล์สมองพวกคุณ ก็กลับไปเรื่องพื้นฐานของประวัติศาสตร์อีกนั่นแหละ เราต้องการเรียนรู้คนที่ทำหลายๆ อย่างที่บางทีคิดต่างกัน ใช้วิธีวิทยาต่างกัน ถึงที่สุดคือให้เรารู้จักคิด แล้วก็เอามาเป็นของเราเอง อันนี้สำคัญ แล้วเราจึงจะวิเคราะห์อะไรต่างๆ ได้ตามที่เราต้องการ

โดยสรุปก็มีแค่นี้แหละ หาเรื่องเพราะประวัติศาสตร์ที่ดีควรจะมีเรื่อง หาเรื่องเพราะประวัติศาสตร์ที่ดีควรจะรู้จักกวนน้ำให้ขุ่น แต่ต้องเป็นการกวนน้ำให้ขุ่นอย่างมีคุณภาพ ผมหวังว่าผมพยายามพิสูจน์ตัวเองว่าทำงานประวัติศาสตร์อย่างมีความคิดทางการเมืองกับมีคุณภาพทางวิชาการ มันไม่ขัดกัน แต่มันมีสิทธิ์จะขัดกัน คุณต้องจัดการตัวเองแล้วกันว่าจะทำได้หรือไม่ได้

ตอนนี้ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เอาประวัติศาสตร์มาเรียนรู้เรื่องปัจจุบัน ผมทำตลอดเวลา หนังสือเล่มต่อไปของผมว่าด้วยเรื่องช่วงปี 1880-1930 คือการเปลี่ยนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ผมตั้งคำถามกับหัวข้อเหล่านั้นจากความสนใจปัจจุบันทั้งหมด แต่ผมไม่ศึกษาเรื่องใกล้ปัจจุบัน ขอย้อนไปสักร้อยปี มันไม่ใช่แค่มีบทเรียนเกี่ยวกับปัจจุบัน เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงอย่างที่มันเป็นในอดีต แล้วทำให้เรารู้จักคิดกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน บ่อยครั้งไม่ได้เกิดในแบบที่ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยจึงเอามาเป็นบทเรียนไม่ได้ ส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่บทเรียนตรงๆ แต่เรารู้จักคิดและอธิบายชุดหนึ่ง เราก็จะรู้จักคิดและอธิบายกับอีกชุดหนึ่งต่างหาก

จะหาเรื่องกับประวัติศาสตร์ เราเข้าใจความเปลี่ยนแปลง เราเข้าใจสังคมหนึ่งว่าไม่ได้มีคำตอบเดียว เราเกิดคำถามใหม่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ เราก็ควรจะกล้าว่าคำอธิบายประวัติศาสตร์เรื่องใดๆ ก็ตามสามารถอธิบาย สามารถหาเรื่องใหม่ได้เสมอ และกรุณาช่วยกันหาเรื่อง ไม่ใช่สถาปนาความยิ่งใหญ่ของเรื่องที่คุณเสนอ แต่เพื่อป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์เรื่องใดทั้งสิ้นมีอำนาจมากเกินไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net