นักเศรษฐศาสตร์ชี้นโยบายเร่งด่วนรัฐบาลใหม่ยังขาดการรับมือจาก Disruptive Technology

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ชี้นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ยังขาดมาตรการรับมือความท้าทายจาก Disruptive Technology จะมีธุรกิจจำนวนหนึ่งต้องเลิกกิจการจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีแบบพลิกผัน มีคนจำนวนไม่น้อยต้องถูกออกจากงานจากผลกระทบของ Disruptive Technology ควรมีมาตรการสร้างความปรองดองลดความขัดแย้งด้วยกระบวนการเจรจาหารือและการมีส่วนร่วม 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (แฟ้มภาพ)

21 ก.ค. 2562 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ประเมินนโยบายเร่งด่วน 12 ด้านภายใต้กรอบคิด 24 กรอบและนโยบายระยะยาวต่อเนื่อง ว่าโดยภาพรวมแล้ว นโยบายเร่งด่วนส่วนใหญ่ของรัฐบาลจะเป็นการสานต่อนโยบายของรัฐบาล คสช. และนำนโยบายบางส่วนของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลมารวมอยู่ด้วย นโยบายเร่งด่วนยังขาดมิติและขาดการมุ่งเป้าไปที่การรับมือความท้าทายจากการขยายวงของลัทธิกีดกันทางการค้าและสงครามทางการค้าโดยเฉพาะล่าสุดเกิดข้อพิพาททางการค้าระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ฝรั่งเศสกับสหรัฐฯ เป็นต้น 

นโยบายเร่งด่วนยังขาดมาตรการมองไปข้างหน้าในการรับมือความท้าทายจาก Disruptive Technology ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและตลาดแรงงานในระยะสั้นโดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในปีนี้และปีหน้า จะมีธุรกิจจำนวนหนึ่งต้องเลิกกิจการจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีแบบพลิกผันและพฤติกรรมผู้บริโภค จะมีคนจำนวนไม่น้อยต้องถูกออกจากงานจากผลกระทบของ Disruptive Technology ที่รัฐบาลใหม่ต้องมีมาตรการและนโยบายรองรับอย่างชัดเจน ต้องมีการส่งเสริมให้เกิดการแปรเปลี่ยนพลิกโฉมภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไทยและแรงงานไทย เกิด Business Transformation และ Labour Transformation และ เกิด Digital Transformation เพื่อให้สอดรับกับระบบเศรษฐกิจโลกที่เป็น Digital Economy มากขึ้นตามลำดับ 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ชี้ว่าควรมีมาตรการสร้างความปรองดองลดความขัดแย้งด้วยกระบวนการเจรจาหารือและการมีส่วนร่วม ควรมีมาตรการส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นและความเป็นธรรมเสมอภาคในกระบวนการยุติธรรม กำกับดูแลไม่ให้มีการใช้ “สถาบันหลัก” ของชาติมาเป็นเครื่องมือใส่ร้ายป้ายสีและการทำลายล้างกันทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำดังกล่าวต้องไม่เกิดจากบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ นโยบายและมาตรการดังกล่าวจะทำให้เกิดความมั่นคงต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และ ทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองอันเป็นพื้นฐานที่จำเป็นต่อภาคการลงทุน 

สงครามทางการค้าที่ขยายวงมากขึ้นและเริ่มส่งผลสั่นคลอนต่อระบบการค้าเสรีของโลกจะส่งผลอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย ภาคส่งออกหดตัว รัฐบาลจึงต้องมีนโยบายส่งเสริมให้เอกชนไทยลงทุนในประเทศเพิ่มเติม(แทนการออกไปลงทุนต่างประเทศ) เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว นโยบายเร่งด่วนควรดูแลผลกระทบจากภัยแล้งและน้ำท่วมที่มีต่อประชาชนฐานรากในภาคชนบทด้วย ส่วนนโยบายการต่อยอดและเพิ่มสวัสดิการต่างๆให้กับประชาชนเป็นนโยบายที่ดีและเป็นประโยชน์ แต่ต้องพัฒนาให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนนโยบายพักหนี้ต้องทำควบคู่กับการยกระดับรายได้และขยายโอกาส ลดอำนาจผูกขาดในระบบ เพิ่มการแข่งขันและเปิดกว้างเปิดพื้นที่ในการทำมาหากินของประชาชนและธุรกิจรายเล็กรายย่อยมากขึ้น 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่าอย่างไรก็ตามข้อเสนอนโยบายทางด้านสวัสดิการต่างๆ ไม่ว่าต่อยอดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เรียนฟรี สวัสดิการมารดาประชารัฐ หรือนโยบายประกันราคาพืชผลสินค้าเกษตรจะยังสามารถทำได้ในขณะนี้และอาจยังไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการคลังในอนาคตอันใกล้แต่จำเป็นต้องการปฏิรูประบบภาษีและระบบงบประมาณเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาวและประเทศไทยควรพัฒนาสู่ความเป็นระบบรัฐสวัสดิการในอนาคต การจะเกิดระบบรัฐสวัสดิการขึ้นได้ประเทศต้องเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและการเมือง ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ดีขึ้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจจะลดลงอย่างชัดเจน แต่ ประเทศที่ใช้ระบบรัฐสวัสดิการนั้นต้องมีสัดส่วนของรายได้ภาษีต่อจีดีพีไม่ต่ำกว่า 40-50% และมีรายจ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมต่อจีดีพี 25-30% ขึ้นไป ขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพี 15-18% เท่านั้น 

นอกจากนี้ไทยยังจำเป็นต้องปรับโครงสร้างงบประมาณโดยลดสัดส่วนของงบประจำลงด้วยการปรับปรุงระบบราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่ซ้ำซ้อนและสิ้นเปลือง เรียงลำดับความสำคัญโครงการต่างๆ ให้ดี ป้องกันการทุจริตรั่วไหลจากการใช้จ่ายเงินภาครัฐและป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียเงินสาธารณะจากการชดเชยค่าโง่ต่างๆ อันเป็นผลจากการดำเนินนโยบายหรือการทำสัญญาสัมปทานที่ไม่รอบคอบ ไม่รัดกุม หรือ เอื้อต่อเอกชนนักลงทุนโดยไม่สุจริต 
    
ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าสำหรับนโยบายระยะยาวนั้นควรยึดตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศซึ่งต้องทบทวนและจัดทำใหม่โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน นโยบายระยะยาวต้องเน้นไปที่พันธกิจ ภารกิจของรัฐบาลแบบบูรณาการและทำงานโดยสร้างเครือข่ายมากกว่าการทำงานตามนโยบายภายใต้อำนาจหน้าที่รายกระทรวง โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วในอีก 10-15 ปีข้างหน้า มีประชาธิปไตยที่มั่นคง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตเช่นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว โดยกระทรวงที่จะมีบทบาทสำคัญในการทำให้นโยบายระยะยาวและยุทธศาสตร์บรรลุเป้าหมาย คือ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง เป็นต้น สุดท้ายควรมีการกำหนดไว้ในนโยบายรัฐบาลว่า จะจัดให้มีการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและแก้ไขเนื้อหาในส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท