Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากเอกสารของบริษัท ซีเค พาวเวอร์ ที่เผยแพร่ให้สื่อมวลชนในการไปดูเขื่อนไซยะบุรี ระหว่างวันที่ 21-23 กรกฎาคม 2562มีจำนวน 8 หน้า นับเป็นเอกสารที่แปลก ตรงที่ไม่มีการระบุชื่อเรื่องเอกสาร แต่เมื่ออ่านแล้วก็เข้าใจได้ว่า บริษัทฯต้องการบอกว่า เขื่อนไซยะบุรี เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าแบบน้ำไหลเข้าเท่ากับน้ำไหลออก ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับสถานการณ์น้ำโขงแห้งในภาคอีสานของไทย สาเหตุมาจาก เขื่อนจีนปล่อยน้ำมาน้อยประกอบกับปริมาณฝนที่ตกน้อยในรอบ 100 ปี พร้อมด้วยชุดข้อมูลอ้างอิงเรื่องน้ำโขง, น้ำฝน

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในเอกสารทั้ง 8 หน้า ไม่ได้มีข้อมูลตัวเลขอัตราการไหลของน้ำโขง ที่ระบุให้เห็นอย่างปราศจากข้อสงสัยว่า น้ำโขงไหลเข้าเท่ากับน้ำโขงไหลออกและมีข้อมูลหลายประการในเอกสารนี้ที่มีมุมมองในด้านที่แตกต่างออกไป ดังที่จะได้กล่าวถึงต่อไปนี้

น้ำโขงมาจากไหน?

เอกสารฉบับนี้ ยอมรับโดยดุษฎีว่ามองจากจุดยืนบนสันเขื่อนไซยะบุรีว่า น้ำโขงไม่ได้มาจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังยอมรับด้วยว่า “น้ำโขงที่มาจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนในจีนที่ส่งผลกระทบมากที่สุด” ในจุดยืนเดียวกันกับคนที่แก่งคุดคู้ อ.เชียงคาน จ.เลย หรือที่หาดจอมมณี อ.เมือง จ.หนองคาย ก็ย่อมมองว่า “น้ำโขงที่มาจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนในจีนและเขื่อนไซยะบุรีที่ส่งผลกระทบมากที่สุด” ได้เช่นกัน เพราะเป็นเขื่อนที่อยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด  สาระสำคัญคือ บริษัทฯได้ยอมรับว่า “เขื่อน” เป็นปัจจัยสำคัญของการระบายน้ำมากหรือน้อย ซึ่งเขื่อนไซยะบุรีก็ไม่ได้มีข้อยกเว้นแต่อย่างใด

Natural Flow: แล้งจริงหรือต้องดูข้อมูลปริมาณน้ำไหลประกอบด้วย?

บริษัทฯ ได้ใช้ข้อมูลเปรียบเทียบอัตราการไหลของน้ำเฉลี่ยรายเดือนของปี 2548-2562 และเน้นเปรียบเทียบของปี 2555 ถึง 2562 เพื่อยืนยันว่ามีปริมาณน้ำโขงที่ไหลมาจากเชียงแสนในปริมาณที่น้อย อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อความใด ๆ ที่ระบุว่า ถึงจะมีปริมาณน้ำโขงไหลมาน้อย เขื่อนก็ไม่ได้เก็บกักไว้ และประการสำคัญ การใช้ค่าเฉลี่ยรายเดือนของอัตราการไหลสูงสุด ต่ำสุด และค่ากลางนั้น ดูเหมือนจะเป็นวิชาการ แต่เราไม่สามารถเอาตัวเลขค่าเฉลี่ยรายเดือนนี้ มาเปรียบเทียบแบบวันต่อวัน ในแบบที่บริษัทฯพยายามบอกว่า น้ำไหลเข้าเท่ากับน้ำไหลออก เพราะมันไม่ได้เป็นเหตุผลอะไรเชื่อมโยงกันเลย

Discharge from Upstream Reservoir Type Dam in China: เขื่อนจากจีนมีผลจริงไหมกับปริมาณ Flow และจีนกักน้ำจริงๆหรือไม่?

ยังไม่มี scientific data อะไรที่รองรับการกล่าวอ้างว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีปล่อยน้ำออกเท่ากับปริมาณน้ำที่เข้ามา และโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ไม่ได้มีผลก่อให้เกิดความแห้งแล้ง เนื่องจากข้อมูลที่ใช้อ้างอิงคือ อัตราการไหลของน้ำโขงที่เชียงแสน นำมาเทียบกับสถานีวัดระดับน้ำของเขื่อนไซยะบุรี ตรงนี้มีเรื่องที่ต้องพิจารณาสำคัญ 2 กรณี คือ

1. ความถูกต้องของข้อมูลอัตราการไหลของน้ำโขงที่เชียงแสน ในช่วงที่เขื่อนจินฮงลดการระบายน้ำระหว่าง 5-15 กรกฎาคม ข้อมูลจากกราฟของบริษัทฯ ระบุอัตราการไหลของน้ำโขงอยู่ประมาณ 1,400 – 1,100 ลูกบากศ์เมตรต่อวินาที(ลบ.ม./ว) ซึ่งข้อเท็จจริงเขื่อนจินฮงระบายน้ำในช่วงเวงลาเดียวกันในอัตรา 4 – 575.2 ลบ.ม./ว ส่วนต่างของอัตราการไหลที่มากกว่าเท่าตัว คือน้ำที่มาจากไหน ในสภาพที่แม่น้ำสาขาก็ไม่มีน้ำ เพราะอยู่ในสภาวะแห้งแล้งในรอบ 100 ปี อย่างไรก็ตามเว็ปไซด์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลอัตราการไหลของทุกสถานีวัดระดับน้ำมานานหลายปีแล้ว คงมีเพียงข้อมูลระดับน้ำโขงเท่านั้นที่เผยแพร่แบบเรียลไทม์ ดังนั้นจึงมีคำถามทั้งส่วนต่างของอัตราการไหลที่เกินจริง และไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลอัตราการไหลจาก MRC ได้

2. ข้อมูลอัตราการไหลของน้ำโขงที่เขื่อนไซยะบุรี ไม่ได้มีการเผยแพร่ทางสาธารณะมาก่อนหน้านี้ จึงมีปัญหาในเรื่องความถูกต้องโปร่งใสของข้อมูล ดังนั้นการนำข้อมูลนี้ออกมาใช้ จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ของบริษัทฯเท่านั้น โดยปราศจากกลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ประเด็นต่อมาคือ การกล่าวอ้างว่า “เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีปราศจากโครงสร้างในการกักเก็บน้ำ” เพื่อให้สอดคล้องกับการอ้างว่า “มวลน้ำที่เข้ามาทั้งหมดจึงผ่านโรงไฟฟ้าในปริมาณมวลน้ำที่เท่าเดิม” นั้น เราพบข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องโดยตรง ที่ชี้ให้เห็นว่าเขื่อนไซยะบุรีมีโครงสร้างในการกักเก็บน้ำ จากรายงานการศึกษา MRCSEAFORHYDROPOWERONTHEMEKONGMAINSTREAM [1] ได้ระบุข้อมูลปริมาณการเก็บกักน้ำตาย และน้ำใช้งานของเขื่อนไซยะบุรีไว้เท่ากับ 514.05 และ 211.97 ล้านลูกบากศ์เมตรตามลำดับ ข้อมูลนี้เป็นสิ่งบ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่า เขื่อนไซยะบุรีมีโครงสร้างกักเก็บน้ำ จึงสามารถกักเก็บปริมาณน้ำตายและปริมาณน้ำใช้งานไว้ได้



“Run of River” : The Design of Xayaburi Hydropower Plant?

นอกจากจะกล่าวย้ำ อ้างในเรื่องเขื่อนที่มีน้ำไหลเข้าเท่ากับน้ำไหลออกแล้ว การระบุว่าเขื่อนไซยะบุรีได้ “ดำเนินการออกแบบโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตาม Preliminary DesignGuidance for Proposed Mainstream Dams in the Lower Mekong Basin (PDG 2009) ของ MRC” นั้น MRC มีหน้าที่เพียงการทำความเห็นเชิงเทคนิคต่อโครงการเขื่อน ในช่วงการดำเนินการตาม ระเบียบปฏิบัติเรืองการแจ้ง การปรึกษาหารือ ล่วงหน้า และข้อตกลง (PNPCA)เท่านั้น และหลังจากนั้นแล้ว MRC ไม่มีอำนาจหน้าที่ใด ๆ ในการกำกับดูแลในช่วงการก่อสร้าง และหากกระบวนการออกแบบมีความรอบคอบรัดกุมเป็นไปตาม PDG 2009 จริง บริษัทฯ คงไม่จำเป็นต้องเพิ่มเงินลงทุนปรับปรุงโครงสร้างของเขื่อนอีกกว่า 19,000 ล้านบาท

In Flow = Out Flow?

“มวลน้ำเข้ามาเท่าไหร่ ไหลออกไปด้วยมวลน้ำเท่าเดิม” ไม่ใช่เป็นข้อความเท็จหรือความจริงโดยสมบูรณ์ แต่เป็นข้อความที่ขึ้นกับ “เงื่อนไขของการบริหารจัดการน้ำ ไม่ใช่ขึ้นกับแบบของเขื่อน” (แบบของเขื่อนอาจจะตอบสนองได้) และ “การบริหารจัดการน้ำ ของเขื่อนไซยะบุรี” เป็นเรื่องภายในระหว่างบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในการสั่งเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในแต่ละวัน บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ รวมทั้งยังไม่มีระบบข้อมูลระดับน้ำออนไลน์แบบเรียลไทม์ แม้แต่ใน 10 สถานีวัดระดับน้ำที่บริษัทฯกล่าวอ้าง ก็ยังไม่ปรากฏข้อมูลนี้บนเว็ปของบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์จนถึงวันนี้

สถานกาณ์น้ำโขงแห้งลงผิดปกติท้ายเขื่อนไซยะบุรี จะมีเขื่อนไซยะบุรีเป็นสาเหตุร่วมด้วยหรือไม่นั้น จำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลระดับน้ำแบบเรียลไทม์ของ MRC (MRC ไม่แสดงข้อมูล อัตราการไหล ซึ่งมีความสำคัญ) ของสถานีวัดระดับน้ำเชียงแสน หลวงพระบาง และเชียงคาน โดยถือว่า

  • สถานีเชียงแสน คือปริมาณน้ำที่มาจากจีน และทั้งหมดจะไหลลงไปยังหลวงพระบาง
  • สถานีหลวงพระบาง อยู่ห่างจากเขื่อนไซยะบุรีด้านเหนือน้ำขึ้นมาประมาณ 90 กิโลเมตร แม่น้ำโขงที่เมืองหลวงพระบางยังอยู่ในเขตพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ดังนั้น ระดับน้ำโขงที่นี่ (โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งหรือช่วงที่มีน้ำน้อย) จะสะท้อนว่ามีการเก็บกักที่เขื่อนไซยะบุรีหรือไม่
  • สถานีเชียงคาน อยู่ใต้เขื่อนลงมาประมาณ 200 กิโลเมตร ระดับน้ำที่เชียงคานจะต้องสอดคล้องกับระดับน้ำที่เชียงแสน และหลวงพระบาง หากเขื่อนไซยะบุรีไม่ได้กักเก็บน้ำไว้


หากไม่มีเขื่อนไซยะบุรี ระดับน้ำที่หลวงพระบางและเชียงแสน จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน


ระดับน้ำที่ต้องสอดคล้องกันเมื่อวัดจากสถานีวัดระดับน้ำทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน

การตรวจสอบในระหว่างวันที่ 5-15 กรกฎาคม ที่เขื่อนจินฮงลดการระบายน้ำพบว่า

  • สถานีเชียงแสน ในวันที่ 6-16 กรกฎาคม ระดับน้ำได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับ 35เมตร ลงมาที่ระดับ 1.92เมตร ลดลง 0.43 เมตร
  • สถานีหลวงพระบาง ในวันที่ 6-16 กรกฎาคม ระดับน้ำได้เพิ่มขึ้น 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกในวันที่ 7 ที่ระดับ 91 เมตรก่อนจะลดลงที่ระดับ 6.23 เมตรในวันที่ 13 กรกฎาคม (ลดลง 1.68 เมตร)และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 17 กรกฎาคม ที่ระดับ 7.09 เมตร (เพิ่มขึ้น 0.86 เมตร)
  • สถานีเชียงคาน ในวันที่ 6-16 กรกฎาคม ระดับน้ำวันที่ 6 เท่ากับ 87 เมตร และเพิ่มขึ้นที่ระดับ 5.47 เมตรในวันที่ 9 กรกฎาคม (เพิ่มขึ้น 0.6 เมตร)จากนั้นได้ลดลงอย่างต่อเนื่องลงมาที่ระดับ 3.7 เมตร จนถึงวันที่ 17 กรกฎาคม (ลดลง 1.77 เมตร)


สถานีวัดระดับน้ำเชียงแสน


สถานีวัดระดับน้ำหลวงพระบาง

สถานีวัดระดับน้ำเชียงคาน

ในสภาวะที่มีน้ำน้อยเช่นนี้ หากไม่มีเขื่อนไซยะบุรี ระดับน้ำที่หลวงพระบาง และเชียงแสน จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันโดยจะมีช่วงเวลาเหลื่อมกันประมาณ 1-2 วัน สำหรับระยะเวลาการไหลของน้ำโขง แต่ในช่วงที่เขื่อนจินฮงลดการระบายน้ำ ซึ่งระดับน้ำที่สถานีเชียงแสนได้ลดลงอย่างต่อเนื่องนั้น ระดับน้ำที่หลวงพระบางกลับเพิ่มขึ้นถึง 2 ครั้ง โดยไม่มีอิทธิพลของฝนหรือเขื่อนอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง และระดับน้ำที่เชียงคานได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม ซึ่งไม่สอดคล้องกับระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นที่สถานีหลวงพระบาง ดังนั้นการที่ระดับน้ำที่หลวงพระบางเพิ่มขึ้น ทั้งที่ระดับน้ำที่เชียงแสนและเชียงคานลดลงนั้น ปฎิเสธไม่ได้ว่าเป็นอิทธิพลจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนไซยะบุรี ที่ไม่ได้เป็นไปตาม “มวลน้ำเข้ามาเท่าไหร่ ไหลออกไปด้วยมวลน้ำเท่าเดิม” ดังที่ปรากฏในเอกสารของบริษัทฯ

จนถึงวันนี้ ยังไม่มีข้อมูลหรือกลไกใด ๆ เพื่อการตรวจวัดอัตราการไหลของแม่น้ำโขงที่จะสะท้อนให้เห็นว่า น้ำไหลเข้าเท่ากับน้ำไหลในแต่ละวัน ข้อมูลเชิงประจักษ์และข้อมูลแวดล้อมทั้งหมดในขณะนี้ ขัดแย้งโดยตรงกับข้อกล่าวอ้างของบริษัทฯ ประชาชนในลุ่มน้ำโขง ต้องสามารถเข้าถึงข้อมูล ดูน้ำโขงกันทีละหยด ให้ปราศจากข้อสงสัย ซึ่งหาไม่ได้เอกสาร 8 หน้าที่ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรเลยเช่นนี้.

 

อ้างอิง:
[1] INCEPTION REPORT VOLII MAINSTREAM PROJECT PROFILE SUMMARIES 23 OCTOBER 2009(หน้า 24) http://www.mrcmekong.org/assets/Publications/Consultations/SEA-Hydropower/IRVOL2final.pdf

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: The Mekong Butterfly

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net