Skip to main content
sharethis

 

“The struggle of man against power is the struggle of memory against forgetting”
Milan Kundera, The Book of Laughter and Forgetting

“การต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับอำนาจ คือ การต่อสู้ระหว่างความทรงจำกับการลืม”
มิลาน คุนเดรา, The Book of Laughter and Forgetting

เหตุใดเราจึงจำได้ว่ากรุงศรีอยุธยา เสียกรุงกี่ครั้ง วันไหน ปีไหน
เหตุใดเราจึงจำได้ว่าพระนเรศวรกู้เอกราชได้เมื่อใด สนทนากับพระมหาอุปราชาว่าอย่างไร
เหตุใดเราจึงจำได้ว่าพระศรีสุริโยทัยสิ้นพระชนม์อย่างไร
ทั้งๆ ที่เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว
แต่เหตุใดเรากลับจำไม่ได้ว่าเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดอะไรขึ้นบ้าง
และเหตุใดเรากลับจำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เกิดอะไรอีกบ้างต่อจากนั้น

ใครเป็นคนกำหนดว่าเราควรจำอะไร ไม่ควรจำอะไร

เหตุการณ์เมื่อย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อาจนับได้ว่าเป็นจุดแบ่งประวัติศาสตร์ไทยออกเป็น 2 ส่วน เป็นสมัยเก่าและสมัยใหม่ เป็นยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์และยุคประชาธิปไตย แต่เหตุการณ์ดังกล่าวกลับเลือนหายไปจากสารบบเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ตามที่สอนกันในวิชาสังคมศึกษา มรดกต่างๆ ที่คณะราษฎรทิ้งไว้ก็ค่อยๆ ถูกทุบทำลาย

ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา เสนอว่าประวัติศาสตร์ไทยมีแม่บทเป็นประวัติศาสตร์แบบ “ราชาชาตินิยม” เป็นเรื่องเล่าว่าด้วยการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์ โดยนำเอาเรื่องราวของวีรกษัตริย์ วีรสตรีทั้งหลายมาเรียงต่อกันจนดูเหมือนเป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่อง

ธงชัยเสนอว่า “ประวัติศาสตร์เข้าข้างตัวเองของเจ้ากรุงเทพฯ” ถูกสมาทานไปเป็นแม่บทของประวัติศาสตร์ไทย และคนรุ่นหลังรวมไปถึงนักประวัติศาสตร์ก็นำไปใช้อธิบายปรากฏการณ์มากมายในอดีตของสยาม

ประวัติศาสตร์แม่บทดังกล่าวไม่มีที่ทางให้กับความทรงจำที่ไม่อาจประนีประนอมกันได้กับอุดมการณ์ราชาชาตินิยม เช่นเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่กลายเป็นความทรงจำที่ไม่เป็นที่ต้องการ

ความทรงจำของเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็เช่นกัน

สงครามความทรงจำ

โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย สร้างขึ้นด้วยความประสงค์ของจอมพลป.พิบูลสงคราม ที่จะให้มีโรงละครแห่งชาติ เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2483 ก่อนจะถูกรื้อถอนในปี 2532 โดยคณะรัฐมนตรีรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อ้างเหตุผลว่าตัวอาคารศาลาเฉลิมไทยบดบังทัศนียภาพโลหะปราสาทและวัดราชนัดดารามวรวิหารที่อยู่ด้านหลัง (ภาพจาก บีบีซีไทย/หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ในบทความเรื่อง “จุดด่างดำบนพื้นที่ของหลวง: ศิลปะคณะราษฎรกับการเมืองของประวัติศาสตร์ศิลปะไทย” (“A Dark Spot on a Royal Space : The Art of the People’s Party and the Politics of Thai (Art) History”) ของ ธนาวิ โชติประดิษฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรเสนอว่ามีความพยายามที่จะทำลายชื่อเสียงของคณะราษฎรและมรดกทางวัฒนธรรมของคณะราษฎรมาตั้งแต่การล่มสลายของรัฐบาลหลังการปฏิวัติในพ.ศ. 2490 โดยยกตัวอย่างบทความของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐที่วิจารณ์คณะราษฎรว่าไร้รสนิยมและไม่มีความรักในศิลปะวัฒนธรรมไทย

ธนาวิเห็นว่านั่นเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการวิพากษ์วิจารณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองว่าเป็นการ “ชิงสุกก่อนห่าม” และวิจารณ์ทัศนศิลป์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่าเป็นของต่างด้าว ไร้รสนิยม นอกจากนี้คึกฤทธิ์ยังสนับสนุนให้รัฐบาลทำการกำจัดอาคารที่ “ไม่สวยงาม” และ “ไม่เหมาะสม” ในเขตเกาะรัตนโกสินทร์ให้หมดสิ้น

เขาสนับสนุนการทุบโรงหนังศาลาเฉลิมไทยบนถนนราชดำเนินเพื่อเปิดทางให้มองเห็นวัดราชนัดดาและโลหะปราสาทได้จากถนนราชดำเนิน หลังจากนั้นอาคารพาณิชย์อีกหลายแห่งบนถนนราชดำเนินก็ถูกเปลี่ยนไปเป็นอาคารนิทรรศรัตนโกสินทร์ จัดแสดงนิทรรศการว่าด้วยประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ภายใต้ราชวงศ์จักรี

ต่อมาปี 2550 มีการรื้อถอนกลุ่มอาคารศาลฎีกาเดิมที่สร้างในสมัยคณะราษฎร ธนาวิเห็นว่าการทุบทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมของคณะราษฎรแสดงให้เห็นถึงคตินิยมของเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของอำนาจ กล่าวให้ชัดกว่านั้น มันทำให้เห็นการกลับมาของระเบียบสังคมแบบกษัตริย์นิยมในภูมิทัศน์ของกรุงเทพมหานคร

ซ้าย: กลุ่มอาคารศาลฏีกาเดิม ขวา: ภาพแบบจำลองกลุ่มอาคารศาลฏีกาใหม่

ไม่เพียงแต่ความพยายามของรัฐที่จะสร้างความทรงจำและอุดมการณ์ทางวัฒนธรรมใหม่ผ่านการทำลายรูปเคารพ (iconoclasm) เท่านั้นที่ทำให้มรดกทางวัฒนธรรมของการเปลี่ยนแปลงการปกครองถูกกลบฝังอยู่ในหลุมลึกของอดีต แต่เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองยังถูกหลงลืมโดยนักประวัติศาสตร์ไทยอีกด้วย ธนาวิเสนอว่าการหายไปและกลับมาของศิลปะคณะราษฎรในการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะแสดงให้เห็นว่าการเมืองของสุนทรียศาสตร์และการทำงานวิชาการนั้นผูกโยงอย่างใกล้ชิดกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางการเมือง

เธอยังเสนออีกว่า นักประวัติศาสตร์ศิลปะไทยมักเน้นไปที่การศึกษาศิลปะสมัยเก่าและยุคโบราณซึ่งแสดงให้เห็นถึงความชาตินิยม กษัตริย์นิยมของการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะ ดังนั้น ศิลปะของคณะราษฎรซึ่งเป็นศิลปะสมัยใหม่จึงถูกมองว่าไม่มีความเป็นไทย ไม่เหมาะกับสังคมไทย นับได้ว่าเป็นการปราบปรามเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประวัติศาสตร์แม่บท

การสร้างประวัติศาสตร์แม่บท (master narrative) เป็นกระบวนการที่มักมีขั้นตอนการ ‘ลบแล้วเขียนใหม่’ อยู่ด้วย กระบวนการเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะไทยจึงกลายเป็นพื้นที่ของการต่อสู้ และไม่แปลกที่ศิลปะของการปฏิวัติจะสูญหายไปหรือถูกกดให้อยู่ในสถานะที่เป็นรอง เพราะเป็นเรื่องเล่าที่ตรงข้ามกับอุดมการณ์หลัก

ข้อเสนอของธนาวิคล้ายกับข้อเสนอของชาตรี ประกิตนนทการ ที่ว่ามีกระบวนการการลบความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรที่ “ดำเนินมาอย่างแนบเนียนตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาของรัฐไทย” เป็นกระบวนการทำลายความหมายของสถาปัตยกรรมต่างๆ นำไปสู่การลบเลือนคุณค่าและความหมายของสิ่งเหล่านั้น โครงการรื้อถอนกลุ่มศาลฎีกาก็เป็นผลมาจากกระบวนการนี้ด้วยเช่นกัน

การต่อสู้กันระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยนำไปสู่การแย่งชิงพื้นที่ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ผ่านกระบวนการทำลายรูปเคารพ (iconoclasm) สังเกตได้ว่า หลังการรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมามีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้น เช่น การรื้อกลุ่มอาคารศาลฎีกาเดิม การสร้างรัฐสภาใหม่ การล้อมรั้วสนามหลวง โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ไปจนถึงการหายไปของหมุดคณะราษฎรและอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ วงเวียนหลักสี่

ทางเท้าริมสนามหลวงฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยรั้วที่เห็นในภาพคือรั้วที่ล้อมรอบพื้นที่ท้องสนามหลวงในปัจจุบัน

ในหนังสือ “สถาปัตยกรรมไทยหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49” ชาตรีเสนอว่า การปลูกฝังอุดมการณ์จะมีประสิทธิภาพได้ก็ต่อเมื่ออุดมการณ์ถูกแสดงออกผ่านปฏิบัติการทางสังคมในลักษณะต่างๆ โดยมีวัตถุสิ่งของและสถาปัตยกรรมเป็นสื่อกลาง ดังนั้นการทำลายอุดมการณ์ใดๆ จึงต้องมีกระบวนการการทำลายวัตถุสิ่งของและสถาปัตยกรรมที่เป็นสื่อกลางในการส่งผ่านชุดอุดมการณ์นั้นๆ

เมื่อคณะราษฎร ‘ปักหมุด’ ฝังรากประชาธิปไตย

ก่อนจะไปถึงการทำลาย ขอกล่าวถึงการสร้างความทรงจำกันเสียก่อน หากยึดตามแนวคิดของชาตรีข้างต้น คณะราษฎรเองก็คงมีเป้าหมายสร้างสัญลักษณ์เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเช่นเดียวกัน

ธนาวิอธิบายเพิ่มเติมว่า รัฐสยามที่เป็นประชาธิปไตยไม่ได้เกิดขึ้นผ่านการใช้ภาษา เช่น การเลือกใช้คำในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 เพียงอย่างเดียว

“หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือความสุขความเจริญอย่างประเสริฐ ซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า ‘ศรีอาริยะ’ นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า”

แต่การก่อตั้งรัฐใหม่นี้จะต้องอาศัย “การแสดงในพื้นที่” ด้วย ดังนั้น การที่พระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 อันเป็นประกาศจัดตั้งระบอบใหม่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ด้านหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมอันเป็นพื้นที่อำนาจอธิปไตยของกษัตริย์ก็ถือเป็น “การแสดงในพื้นที่” เช่นกัน ไม่เพียงเท่านั้น ในวันที่ 10 ธันวาคม 2479 ยังได้มีการฝังหมุดคณะราษฎร ณ ตำแหน่งที่พระยาพหลฯ อ่านประกาศอีกด้วย

หมุดคณะราษฎรมีลักษณะเป็นหมุดทองเหลืองทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 28 ซม. ฝังอยู่ในพื้นระหว่างฐานของพระบรมรูปทรงม้าและประตูทางเข้าสนามเสือป่า จารึกข้อความว่า “24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” โดยประกอบพิธีฝังหมุดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2479 มีพระยาพหลฯ หัวหน้าคณะราษฎรในขณะนั้นเป็นผู้ประกอบพิธี

การปักหมุดของคณะราษฎรถือเป็นความพยายามในการประกาศอำนาจของอุดมการณ์ทางการเมืองของระบอบใหม่ในพื้นที่ของระบอบเก่า และยึดครองลานพระบรมรูปทรงม้าไปใช้ในฐานะสถานที่สำหรับรำลึกถึงการปฏิวัติ การกระทำนี้จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์ทางการเมืองของตัวลานพระบรมรูปทรงม้าซึ่งถือเป็นสถานที่ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามข้อเสนอของธนาวิ นอกจากนี้ลักษณะทางทัศนศิลป์ของหมุดคณะราษฎรก็แสดงให้เห็นถึงการแตกหักกับอดีต ผ่านการใช้ลายไทยตามขนบแต่ถูกผ่าครึ่ง และการเน้นย้ำคำว่า “เวลาย่ำรุ่ง” สื่อถึงการก้าวพ้นความมืดของระบอบเก่าเข้าสู่ยุคใหม่

ไม่เพียงแต่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองยังมีการสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญจำนวนมากกระจายตามจังหวัดต่างๆ บางแห่งสร้างขึ้นก่อนกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ ทั้งยังมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับจำลองแจกจ่ายไปตามจังหวัดต่างๆ อีกด้วย

พานรัฐธรรมนูญจำลองของจังหวัดเลยถูกเก็บอยู่ในตู้กระจกในห้องทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดเลย
(ภาพจากรัชนาท วานิชสมบัติ)

ศรัญญู เทพสงเคราะห์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ “ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร” ระบุว่า การสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในภาคอีสานสะท้อนภาพปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในท้องถิ่นกับระบอบการเมืองรูปแบบใหม่ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และเหตุที่อนุสาวรีย์ส่วนมากตั้งอยู่ในภาคอีสานเพราะเป็นพื้นที่ที่ผู้แทนราษฎรอีสานสมัยนั้นมีบทบาทโดดเด่น ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง

จากบันทึกบรรยากาศในหัวเมืองอีสาน เมื่อทราบข่าวการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พลเมืองอีสานให้ความสนใจไม่น้อยต่อสถานการณ์ในกรุงเทพฯ และมีความตระหนักรู้ถึงสถานภาพที่เปลี่ยนไปของตนเอง จากการเป็นราษฎรใต้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์มาเป็นผู้เสมอภาคกันถ้วนหน้า

เช่นในบันทึกของสิบโทสุพรรณ อนันตะโสภณ บรรยายความรู้สึกของพลเมืองในจังหวัดอุดรธานีช่วงวันที่ 24–27 มิถุนายน 2475 ว่า ราษฎรต่างฟังข่าวทางวิทยุอย่างล้นหลาม แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีความรู้เรื่องการปกครองแบบใหม่เท่าใดนัก ทราบเพียงคร่าวๆ ว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้อำนาจกฎหมาย ราษฎรมีสิทธิเสมอกัน เจ้าหน้าที่รัฐบาลเท่ากับเป็นลูกจ้างราษฎร มีหน้าที่ช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎร

เนื่องจากราษฎรเป็นจุดศูนย์กลางของการปกครองระบอบใหม่ ผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าราชการจึงต้องออกไปหาราษฎรในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจในการปกครองระบอบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลัก 6 ประการของคณะราษฎร และรัฐธรรมนูญ

ความพยายามในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับระบอบใหม่ยังมีอีกหลายช่องทาง เช่น ขุนพรมประศาสน์ (วรรณ พรหมสิกร) นายอำเภอในจังหวัดอุบลราชธานีได้เผยแพร่หนังสือคำกลอนภาษาอีสานเรื่อง “เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง คำกลอนภาษาไทยภาคอีสาน” ในเดือนตุลาคม 2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง 4 เดือน และเผยแพร่ “คำกลอนพากย์อีสานบรรยายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม” ในปี 2478 เพื่อช่วยคณะราษฎรเผยแพร่ความรู้

ปี 2476 เกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดช ภาคอีสานมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงมากทั้งในฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับคณะราษฎร ศรัญญูตั้งข้อสังเกตว่า แม้กองกำลังทหารจากหัวเมืองและฐานที่มั่นของฝ่ายกบฏจะมาจากภาคอีสาน เนื่องจากพระองค์เจ้าบวรเดชเคยดำรงตำแหน่งแม่ทัพที่นครราชสีมา แต่พลเมืองในภาคอีสานกลับสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

ที่ขอนแก่น ทั้งข้าราชการและพลเมืองได้จัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครต่อต้านฝ่ายกบฏเพื่อไม่ให้เข้ายึดเมืองขอนแก่นเป็นที่มั่นต่อต้านรัฐบาล ที่มหาสารคาม พระอรรถเปศลสรวดี (เจริญ ทรัพย์สาร) ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้ส่งตำรวจและลูกเสืออาสาออกไปช่วยป้องกันรักษาเมืองพร้อมจับกุมทหารฝ่ายกบฏที่พ่ายแพ้ฝ่ายรัฐบาลแล้วหนีมา

ปี 2477 หลังสิ้นสุดความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์กบฏบวรเดชและกบฏผีบุญ หลวงอังคณานุรักษ์ (สมถวิล เทพาคำ) ข้าหลวงประจำจังหวัดมหาสารคาม (ชื่อเรียกตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้น) จึงเห็นว่าประชาชนในพื้นที่จำนวนมากยังไม่เข้าใจการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ เพราะยังเชื่อคำทำนายของผู้นำกบฏผีบุญที่มักอ้างตนเป็นผู้วิเศษ หลวงอังคณานุรักษ์จึงพยายามทำให้ชาวมหาสารคามรู้จักระบอบใหม่มากขึ้นด้วยการเสนอให้กรมการจังหวัดสร้างอนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญ ตลอดจนจัดการประกวดกลอนลำและขบวนแห่รัฐธรรมนูญ สื่อสารเรื่องระบอบใหม่ในรูปแบบที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ อนุสาวรีย์แห่งนี้ถือเป็นอนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญปรากฏเป็นแห่งแรกในประเทศไทย

“ความน่าสนใจก็คือ มันไม่ได้เกิดจากความริเริ่มของกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ แต่เกิดมาจากความริเริ่มของข้าหลวงประจำจังหวัดร่วมมือกับข้าราชการประจำจังหวัด แล้วก็บรรดาพ่อค้า ประชาชน ร่วมกันลงขันสร้างแลนด์มาร์กขึ้นมา” ศรัญญูกล่าว

อนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญ จังหวัดมหาสารคาม ณ ตำแหน่งปัจจุบันที่เทศบาลเมืองมหาสารคาม

ส่วนในจังหวัดสมุทรสาคร มีการจัดพิมพ์หนังสือ “หลักหกประการ สารัตถ์สำคัญในรัฐธรรมนูญ สามปีในระบอบรัฐธรรมนูญ และ เตือนใจเพื่อน” ขุนสุคนธวิทศึกษากร ผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสาครพิมพ์แจกในงานฉลองรัฐธรรมนูญและงานฉลองอนุสสรณ์รัฐธรรมนูญ จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อ 10 ธันวาคม 2478

ในภาพรวมของอนุสาวรีย์ตามจังหวัดต่างๆ ที่ตั้งของมันมักอยู่ใจกลางเมืองและในพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนเข้าถึงได้ เช่น ที่มหาสารคามก็อยู่ที่ศาลากลางจังหวัดก่อนย้ายไปอยู่ในเทศบาลเมืองมหาสารคาม ที่สุรินทร์ก็อยู่ในบริเวณศาลากลางจังหวัด ที่บุรีรัมย์อยู่กลางวงเวียนใกล้ตลาดก่อนจะถูกทุบทำลาย ที่ร้อยเอ็ดอยู่ในสวนสาธารณะเกาะกลางบึงพลาญชัย

พื้นที่เหล่านี้เมื่อก่อนจะใช้จัดงานรื่นเริงหรือจัดกิจกรรม เช่น งานฉลองรัฐธรรมนูญหรืองานฉลองวันชาติ ซึ่งถือเป็นงานรื่นเริงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยคณะราษฎร เริ่มจัดครั้งแรกในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เมื่อครั้งประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร เริ่มที่กรุงเทพฯ ก่อนกระจายไปจังหวัดต่างๆ

ภายในงานมักมีการอัญเชิญรัฐธรรมนูญฉบับจำลองแห่ไปรอบเมืองก่อนจะนำมาประดิษฐานในโรงพิธี พร้อมจัดพิธีสมโภชและจัดกิจกรรมรื่นเริง กิจกรรมออกร้าน การประกวด มหรสพ และการออกสลากกินแบ่ง นอกจากนั้นยังมีการแสดงปาฐกถาของบุคคลสำคัญ เช่นข้าหลวงจังหวัด ผู้แทนราษฎร และผู้พิพากษาด้วย ศรัญญูเสนอว่า นี่คือความพยายามในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจสาระของรัฐธรรมนูญและการปกครองระบอบใหม่ให้แก่พลเมือง

เมื่อคณะราษฎรหมดอำนาจไป งานฉลองรัฐธรรมนูญก็ถูกลดความสำคัญและหายไป ปัจจุบันมีเพียงจังหวัดตรังแห่งเดียวที่ยังจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญอยู่ ส่วนในจังหวัดอื่นมันได้แปลงร่างเป็นงานกาชาดไปจนหมดแล้ว

สัญลักษณ์ของระบอบใหม่ไม่ได้ปรากฏเพียงในรูปแบบของอนุสาวรีย์ แต่ยังปรากฏอยู่ในที่อื่นอีกมากมาย เช่น หน้าบันวัดปงสนุก จังหวัดลำปาง หน้าปกสมุดของนักเรียน ตราประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตราเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด (ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นรูปศาลหลักเมือง) ตราเทศบาลเมืองบุรีรัมย์

ประทีป สุธาทองไทย อาจารย์ประจำภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อธิบายว่า

“พอมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มันคือการเปลี่ยนแปลงสัญลักษณ์ที่สำคัญของการปกครองด้วย พานรัฐธรรมนูญเป็นสัญลักษณ์ใหม่ที่รัฐบาลต้องการให้ชาวบ้านรู้จักว่าเรามีระบอบใหม่และมีสัญลักษณ์ใหม่แล้ว การจะทำให้สิ่งใหม่เป็นที่จดจำก็คือการนำสัญลักษณ์นั้นไปใช้หรือไปปรากฏตามที่ต่างๆ”

ส่วนการที่พานรัฐธรรมนูญไปปรากฏอยู่บนหน้าบันอุโบสถวัดต่างๆ นั้น ประทีปอธิบายว่าเป็นการตอบรับของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการแสดงออกว่าตนมีความทันสมัยและรับรู้เรื่องระบอบใหม่ อย่างไรก็ตาม ประทีปมองว่าการที่ภาพจำของประชาธิปไตยเป็นภาพพานรัฐธรรมนูญก็มีปัญหาในตัวเองเช่นกัน เนื่องจากภาพมักไม่นำไปสู่หลักการของระบอบประชาธิปไตย

“(พานรัฐธรรมนูญ)มันถูกใช้มาตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นสัญลักษณ์ที่คนส่วนใหญ่ยังจำได้ ปัญหาคือเวลาเรานึกถึงประชาธิปไตยแล้วเรามองภาพรัฐธรรมนูญ มันเหมือนกับนึกภาพแล้วจบ ไม่รู้ความหมายที่วิ่งไปต่อคืออะไร หลักการประชาธิปไตยคืออะไร มันไม่ได้นึกต่อได้จากการเห็นพานรัฐธรรมนูญ ผมเลยคิดว่ามันมีข้อจำกัดและเป็นปัญหาอยู่เหมือนกัน” ประทีปกล่าว

อ่านเพิ่มเติมที่ ตระเวนอีสาน ตามหาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตามรอยความทรงจำ(คณะ)ราษฎร

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จและทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2483
(ภาพจาก
ศิลปวัฒนธรรม

8 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในวันที่ 24 มิถุนายน 2483 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ที่นักประวัติศาสตร์อย่างนิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่าเป็นอนุสาวรีย์แห่งแรกที่พูดถึงประชาชนอย่างเป็นทางการ

หนังสือ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น” โดยมาลินี คุ้มสุภา ระบุว่า เคยมีการเสนอให้สร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นเกียรติแก่คณะราษฎรมาก่อนการริเริ่มสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วย เช่นข้อเสนอของหลวงพิชเยนทรโยธิน ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และยังมีกระทู้ถามในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 4/2481 ว่ารัฐบาลมีนโยบายจะทำอนุสาวรีย์ระลึกถึงผู้ก่อการและผู้ช่วยผู้ก่อการปฏิวัติการปกครองหรือไม่ แต่ข้อเสนอทั้งสองครั้งก็ได้รับการปฏิเสธจากรัฐบาลด้วยความกังวลว่าจะถูกครหาว่าไม่เหมาะสมหรือเป็นการทำประโยชน์ให้ตัวเองและพรรคพวก

มาลินีสันนิษฐานว่านี่น่าจะเป็นเหตุให้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่สร้างขึ้นในเวลาต่อมาต้องหลีกเลี่ยงการยกย่องเหล่าคณะราษฎรอย่างชัดเจนด้วยการใช้สัญลักษณ์แทนรูปปั้นบุคคล และใช้ชื่ออนุสาวรีย์ในลักษณะที่ไม่ผูกพันหรือเชิดชูคณะราษฎร รวมถึงไม่มีการจารึกนามของผู้ก่อการ 99 คนไว้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีการชี้แจงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2482 ว่าอนุสาวรีย์ที่จะมีการสร้างขึ้นไม่ใช่อนุสาวรีย์ที่ระลึกของคณะผู้ก่อการ แต่เป็นอนุสาวรีย์ที่ระลึกของระบอบประชาธิปไตย

มาลินีระบุว่าการริเริ่มสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเกิดขึ้นภายหลังการประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติอย่างเป็นทางการ ปี 2481 โดยรายงานการประชุมคณะกรรมการจัดงานวันชาติเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2481 ระบุว่ามีการเสนอ “...ให้จัดสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติเป็นพิเศษ สำหรับเป็นที่ระลึกในผลสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย และจัดทำพิธีเปิดในวันที่ 24 มิถุนายน” และให้ถือเอาอนุสาวรีย์แห่งนี้เป็น “แหล่งกลางของการฉลองวันชาติสืบไป”

ชาตรี เสนอว่า ถนนราชดำเนินในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเฉพาะถนนราชดำเนินกลางถูกแทนที่ความทรงจำแบบเดิมในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยความทรงจำใหม่ของคณะราษฎร มีสัญลักษณ์คือสถาปัตยกรรมแบบทันสมัย อันมีลักษณะเรียบง่าย และปฏิเสธฐานานุศักดิ์ในงานสถาปัตยกรรมเพื่อสื่อถึงนับแห่งความเสมอภาค มีการตัดต้นมะฮอกกานีที่ปลูกไว้ตั้งแต่สมัย ร. 5 ขยายถนน สร้างอาคารพาณิชย์ โรงแรม ศูนย์การค้า และท้ายสุดคืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งตั้งอยู่กลางถนนราชดำเนินกลาง บนตำแหน่งที่เคยเป็น 1 ใน 10 สถานที่ที่เคยถูกเสนอให้เป็นมีการสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตามข้อเสนอของชาตรี การปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนราชดำเนินกลางเป็นการขีดเส้นแบ่งระหว่าง “สยามเก่า” และ “สยามใหม่” และเป็นการแย่งชิงและต่อรองอำนาจกันระหว่างชนชั้นนำ ในช่วงเวลาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองสถาบันกษัตริย์ไม่มีพื้นที่ในการแสดงสัญลักษณ์ของตนเองออกสู่สาธารณะ พระราชพิธีต่างๆ ก็ถูกยกเลิกไป อาจเป็นเพราะช่วงนั้นกษัตริย์ประทับอยู่นอกประเทศเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่รัฐมีความเข้มแข็ง มีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย และมีอำนาจในการควบคุมพื้นที่สาธารณะ

ถอนรากประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ลักษณะนี้คงอยู่ได้เพียงประมาณ 15 ปี เนื่องจากคณะราษฎรหมดอำนาจไปหลังเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 และเกิดการรัฐประหาร 2490 พร้อมกับการกลับมาของพลังอนุรักษนิยมที่ต้องการรื้อฟื้นพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ให้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคม

เมื่ออำนาจเปลี่ยนมือก็มีผลต่อกระบวนการประกอบสร้างความทรงจำทางประวัติศาสตร์อย่างไม่ต้องสงสัย  มรดกทางวัฒนธรรมของคณะราษฎรกลายเป็นเสมือนรอยมลทินบนภูมิทัศน์ของเมืองและเป็นสิ่งที่ต้องถูกคัดทิ้ง เกิดการคุกคามมรดกทางวัฒนธรรมของคณะราษฎรเรื่อยมา รวมไปถึงการ “อุ้มหาย” อนุสาวรีย์ปราบกบฏและหมุดคณะราษฎรเมื่อไม่นานมานี้

อนุสาวรีย์ปราบกบฎหรืออนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญในพ.ศ. 2484

ชาตรีมองว่า กระบวนการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในทุกสังคม คือ กระบวนการประกอบสร้างความทรงจำเกี่ยวกับอดีตที่เต็มไปด้วยการ “เลือกสรร - คัดทิ้ง - แต่งเติม” เต็มไปด้วยการช่วงชิงอำนาจในการกำหนดว่าอะไรคือสิ่งที่สังคมควรอนุรักษ์หรือจดจำไว้ อะไรคือสิ่งที่สังคมควรทำลายหรือลืม ผู้ใดต้องการยึดกุมอำนาจรัฐหรืออำนาจนำทางสังคมจำเป็นต้องยึดกุมความทรงจำที่มีต่ออดีตไว้ให้ได้

ดังนั้น จึงมีสิ่งที่ชาตรีเรียกว่า “กฎบัตรรัตนโกสินทร์” (Rattanakosin Charter) หรือกฎบัตรการอนุรักษ์ฉบับวัฒนธรรมไทย ซึ่งมี “เพดาน” ที่ควบคุมแนวคิดการอนุรักษ์ในสังคมไทยไว้ได้โดยที่คนในสังคม “ไม่ใคร่จะตระหนักรู้” และครอบคลุมอยู่เหนือหลักการการอนุรักษ์สากลใดๆ ทั้งปวง ตั้งอยู่บนอุดมการณ์ราชาชาตินิยมและมีสาระสำคัญคือ อนุรักษ์เฉพาะมรดกวัฒนธรรมชั้นสูงภายใต้ระบอบราชาชาตินิยม มรดกทางวัฒนธรรมยุคคณะราษฎรซึ่งมีท่าทีต่อต้านและปฏิเสธอำนาจและบทบาทของสถาบันกษัตริย์จึงกลายเป็นสิ่งที่ต้องถูกคัดทิ้งไป

เขาเสนอว่าการรื้อและทำลายความทรงจำทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนมรดกทางวัฒนธรรมในยุคคณะราษฎรถือเป็น “ภารกิจหลัก” ของกฎบัตรรัตนโกสินทร์เลยทีเดียว

วันที่ 14 เมษายน 2560 มีรายงานว่าหมุดคณะราษฎรถูกรื้อถอนไปจากตำแหน่งที่ตั้ง โดยที่ปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อมูลว่าหมุดคณะราษฎรหายไปอยู่ที่ใด หรือถูกทำลายไปแล้วหรือไม่ (อ่านเพิ่มเติมที่ 2 ปี 2 เดือน การหายไปของหมุดคณะราษฎร)

คาดกันว่าหมุดคณะราษฎรน่าจะถูกรื้อถอนไปในช่วงระหว่างวันที่ 1–8 เมษายน 2560 แต่ไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัด และมันถูกแทนที่ด้วย “หมุดหน้าใส” ที่สลักข้อความว่า “ขอให้ประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดีในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องคำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง” ซึ่งตรงกับคาถาภาษิตในพระราชลัญจกรประจำเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ซึ่งรัชกาลที่ 5 ได้จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติยศในรัชกาลที่ 1

“หมุดหน้าใส” ที่ถูกนำมาแทนที่หมุดคณะราษฎร

เขตดุสิตยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้เปลี่ยนหมุด ส่วนกรมศิลปากรอ้างว่าหมุดไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากร อีกทั้งยังไม่นับเป็นโบราณวัตถุตามกฎหมาย “เนื่องจากไม่ถือเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ เพราะหมุดดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่งที่เคยมีการประกาศแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น”

นอกจากนี้ยังมีการควบคุมตัวผู้ที่ไปยื่นเรื่องร้องเรียนกับทางการโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร เช่นกรณีของศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และบุญสิน หยกทิพย์ ฝ่ายประสานงานชมรมธรรมาธิปไตยแห่งชาติ ขณะที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย  หรือ FCCT ได้รับหนังสือจากสถานีตำรวจนครบาลลุมพินีขอความร่วมมือให้งดการจัดงานเสวนาในหัวข้อ "ความทรงจำแห่งอภิวัฒน์ 2475 - ปริศนาหมุดคณะราษฎรหาย" (Memories of 1932 - The Mystery of Thailand's Missing Plague)

ต่อมากลางดึกของคืนวันที่ 28 ธันวาคม 2561 อนุสาวรีย์ปราบกบฏ หรือ อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ก็ถูกเคลื่อนย้ายไปจากตำแหน่งที่ตั้งที่กลางวงเวียนหลักสี่ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารควบคุมสถานการณ์ในระหว่างการเคลื่อนย้าย พร้อมกับกักตัวประชาชน ผู้สื่อข่าว นักกิจกรรม และนักวิชาการที่ไปสังเกตการณ์การย้ายอนุสาวรีย์ด้วย

การย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฏครั้งนี้ถือเป็นการย้ายครั้งที่ 2 หลังจากย้ายจากกลางวงเวียนไปไว้ทางทิศเหนือ ฝั่งถนนพหลโยธินขาออกมุ่งหน้าสะพานใหม่เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 เพื่อไม่ให้กระทบโครงสร้างสถานีวัดพระศรีมหาธาตุฯ ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ไม่มีใครทราบจนวันนี้ว่ามันถูกย้ายไปอยู่ที่ใด

การเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฎครั้งแรก

ก่อนการหายไปของอนุสาวรีย์ปราบกบฏ 1 วัน ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า คืนวันที่ 23 ธันวาคม 2561 กรุงเทพมหานครได้ทำพิธีสักการะแบบเงียบๆ เพื่อจะดำเนินการย้ายอนุสาวรีย์แห่งนี้ไปไว้ที่ศูนย์ก่อสร้าง กทม.ย่านหนองบอนอย่างถาวร จากนั้นรายงานข่าวดังกล่าวก็ถูกลบออกไปจากระบบ ศักดิ์ชัย ยุญมา ผอ. สำนักการโยธา กทม.ยืนยันในภายหลังว่า อนุสาวรีย์ปราบกบฏไม่ได้ถูกนำไปเก็บไว้ที่ศูนย์ก่อสร้างหนองบอนตามที่มีการรายงานข่าว และไม่เคยทราบเรื่องการเคลื่อนย้ายเลย

ความกังวลว่ามรดกต่างๆ ของคณะราษฎรจะทยอยหายทวีมากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงของใหญ่โตอย่างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบนถนนราชดำเนิน บางคนฟังแล้วอาจจะขำ แต่อันที่จริงในอดีตเคยมีความพยายามจะทุบทำลายมันแล้วแทนที่ด้วยอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแล้ว

หนังสือ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น” ระบุว่า ในปี 2512 เคยมีข้อเสนอให้รื้อป้อมกลางรูปรัฐธรรมนูญออกและสร้างพระบรมรูปของรัชกาลที่ 7 ในท่าพระราชทานรัฐธรรมนูญแทน แต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกคัดค้านและไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงกับตัวอนุสาวรีย์จนถึงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีการปรับปรุงตัวพานรัฐธรรมนูญ ขัดล้างและปิดทอง

ต่อมาวันที่ 10 ธันวาคม 2523 มีการเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หน้า ณ อาคารรัฐสภาเดิมพร้อมทั้งให้เปิดห้องใต้ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ใช้ชื่อว่า พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ภาพวาดจำลองของอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ในตำแหน่งเดียวกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตามแผนที่เคยมีการเสนอ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม)

ในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก “Revolution versus Counter-Revolution: The People’s Party and the Royalist(s) in Visual Dialogue” ธนาวิเสนอว่าภาพของรัชกาลที่ 7 ในท่าพระราชทานรัฐธรรมนูญเป็นการแสดงให้เห็นถึงการกลับมาของอิทธิพลสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย และเป็นการสร้างความทรงจำใหม่เกี่ยวกับการถือกำเนิดของระบอบประชาธิปไตยในไทย การสร้างพระบรมรูปดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างวาทกรรม “ชิงสุกก่อนห่าม” ทำให้คณะราษฎรกลายเป็นฝ่ายที่รีบร้อนเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองโดยที่ประชาชนยังไม่พร้อม ส่วนรัชกาลที่ 7 กลายเป็นพระบิดาแห่งประชาธิปไตยไทย

อย่างไรก็ตาม การทำลายมรดกทางวัฒนธรรมของคณะราษฎรมีทั้งการทำลายโดยรู้ตัว ตั้งใจ และการทำลายโดยไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังตกเป็นเครื่องมือของกระบวนการทำให้ลืมทางการเมือง แบบหลังมีต้นตอมาจากการที่ประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าวถูกลบหายไปจากเรื่องเล่าของอดีต ทำให้ไม่ได้ถูกจดจำ การทุบทำลายจึงเกิดได้ง่าย ชาตรีเห็นว่าการทำลายโดยไม่รู้ตัวนั้นร้ายแรงกว่าตั้งใจเสียอีก

เราอาจอนุมานได้ว่ากรณีของจังหวัดบุรีรัมย์เป็นเช่นนั้น วันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 มีการรื้อถอนอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญจังหวัดบุรีรัมย์ โดยเทศบาลเมืองบุรีรัมย์อ้างว่าเป็นการรื้อถอนเพื่อแก้ปัญหาการจราจร และจะติดตั้งสัญญาณไฟจราจรดิจิตัลแทน

การรื้อถอนวงเวียนรัฐธรรมนูญ จังหวัดบุรีรัมย์ ในวันที่ 6 พ.ย. 2557 (ภาพจากวิวัฒน์ โรจนาวรรณ)

ก่อนหน้านี้อนุสาวรีย์ที่บุรีรัมย์เคยถูกย้ายจากวงเวียนไปติดตั้งที่หน้าศาลากลางจังหวัดเดิมด้วย แต่ก็ถูกรื้อออกอีกเมื่อมีการสร้างพระเมรุมาศจำลองในช่วงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 9 จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการสร้างอนุสาวรีย์ใหม่แต่อย่างใด ล่าสุด เดือนตุลาคม 2562 เพจพาเลาะไปติดตามจนพบว่าชิ้นส่วนพานรัฐธรรมนูญของอนุสาวรีย์บุรีรัมย์ถูกกองระเกะระกะอยู่ที่กองช่างของเทศบาล

เมื่อไม่มีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญหรืองานรื่นเริงที่เชื่อมโยงกับตัวอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ คนในท้องถิ่นก็ค่อยๆ ลืมว่ามันสำคัญอย่างไร กระทั่งลืมว่ามีมันอยู่ จึงเกิดการเคลื่อนย้าย แทนที่ ทุบทำลายกันเป็นอันมาก ปัจจุบันมีอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในภาคอีสานหลงเหลือเพียง 5 แห่งเท่านั้น คือ มหาสารคาม สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น และชัยภูมิ

ขณะที่มรดกคณะราษฎรทยอยสูญหายหรือถูกทำลาย วันที่ 9 ตุลาคม 2562 ที่กองบัญชาการกองทัพบท พล. อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้เป็นประธานเปิดห้องศรีสิทธิสงครามและห้องบวรเดช ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ โดยชื่อห้องทั้งสองมาจากชื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมและผู้นำกบฎบวรเดช และพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) อีกหนึ่งแกนนำกบฏบวรเดชและตาของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานท์ องคมนตรีผู้เคยรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการแต่งตั้งโดย คมช.

การเกิดครั้งที่สองของคณะราษฎร

หมุดคณะราษฎรจำลองที่ฝังอยู่ในพื้นในห้องอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

อย่างไรก็ดี หลังการรัฐประหารปี 2549 เรื่องราวของ “คณะราษฎร” ถูกพูดถึงอย่างมากอีกครั้งในฐานะวีรชนและสัญลักษณ์การต่อสู้กับอุดมการณ์กษัตริย์นิยมที่ครอบงำสังคมไทยอยู่ในปัจจุบัน ชาตรีเสนอว่า นี่ถือเป็น “การกำเนิดครั้งที่ 2”  ของคณะราษฎร

ดังนั้น หากว่าตามชาตรี การรื้อถอนหมุดคณะราษฎรและการย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ก็อาจเรียกได้ว่าเป็น  “การฆ่าคณะราษฎรครั้งที่ 2” เช่นกัน และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะสามารถทำได้สำเร็จหรือไม่ เนื่องจากความพยายามที่จะรักษาความทรงจำของคณะราษฎรไว้ก็ยังคงมีอยู่

เดือนเมษายน 2562 คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ทำเรื่องขออนุญาตทำการฝังหมุดคณะราษฎรจำลองเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านรัฐศาสตร์ให้แก่นิสิต แต่ทางกองอาคารสถานที่ งานผังแม่บทและออกแบบสิ่งก่อสร้างของทางมหาวิทยาลัยไม่อนุญาต

อลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการดังกล่าวเล่าว่า เขามีโครงการที่จะทำอุทยานการเรียนรู้ไว้ที่คณะ โดยมีรูปปั้นนักคิดจากยุคต่างๆ เช่น โสเครตีส มาเคียเวลลี จอห์น ลอค และคาร์ล มาร์กซ์ และอยากให้มีรูปปั้นนักคิดจากประเทศไทยด้วย เช่น 4 รัฐมนตรีอีสาน ครูครอง จันดาวงศ์ แต่เนื่องจากงบประมาณมีไม่เพียงพอ จึงทำเพียงหมุดคณะราษฎรก่อน โดยทางคณบดีไม่ได้คัดค้านใดๆ แต่เพราะต้องการนำหมุดคณะราษฎรจำลองฝังลงในพื้นอาคารเพื่อให้เหมือนหมุดจริง ทำให้ต้องขออนุญาตจากทางมหาวิทยาลัย ตอนแรกกองอาคารสถานที่อนุมัติแล้ว แต่ต่อมากลับมีหนังสือสั่งการจากรองอธิการบดีในขณะนั้นไม่อนุมัติให้ฝังให้เหตุผลว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ไม่อยู่ในวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยในการเรียนการสอน การวิจัย และการทำนุบำรุงวัฒนธรรม ทั้งเกรงว่าจะทำให้เกิดความแตกแยกในมหาวิทยาลัย

อลงกรณ์กล่าวว่า รองอธิการบดีคนดังกล่าวไม่ได้คัดค้านการมีหมุดคณะราษฎรอยู่ในอุทยานการเรียนรู้ เพียงแต่ขอให้จัดแสดงด้วยวิธีอื่นแทนการฝังลงพื้นอาคาร นอกจากนี้ยังไม่มีแรงต้านจากฝ่ายอื่นในมหาวิทยาลัย ส่วนนิสิตก็ให้กำลังใจดีและยังสนับสนุนให้ฝังลงพื้น อย่างไรก็ตาม ขั้นต่อไปคงจะจัดทำหมุดขึ้นมาแล้วใส่ชั้นจัดแสดงแทน

นอกจากนี้หมุดคณะราษฏรจำลองยังสามารถพบเห็นได้ที่ลานประติมากรรมข้างหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และในห้องอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

บรรณานุกรม

ชาตรี ประกิตนนทการ. สถาปัตยกรรมไทยหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์อ่าน, 2558

ธงชัย วินิจจะกูล. “ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม : จากยุคอาณานิคมอำพรางสู่ราชาชาตินิยมใหม่หรือลัทธิเสด็จพ่อของกระฎุมพีไทยในปัจจุบัน” ศิลปวัฒนธรรม. 23(1): พฤศจิกายน 2544, 56 – 65

ธนาวิ โชติประดิษฐ. “A Dark Spot on a Royal Space: The Art of the People’s Party and the Politics of Thai (Art) History” Southeast of Now: Directions in Contemporary and Modern Art in Asia. 1(1): มีนาคม 2560 , 131 - 157

ธนาวิ โชติประดิษฐ. Revolution versus Counter-Revolution: The People’s Party and the Royalist(s) in Visual Dialogue. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัย Birkbeck College, University of London, 2559. สืบค้นวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 จาก https://www.academia.edu/29635672/Revolution_versus_Counter-Revolution_The_Peoples_Party_and_the_Royalist_s_in_Visual_Dialogue

มาลินี คุ้มสุภา. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กับความหมายที่มองไม่เห็น. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิภาษา, 2548

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ “เรื่องคนร้าย”หน้าใส”ขโมยหมุด” ประชาไท.  26 เมษายน 2560 สืบค้นวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 จากประชาไท https://prachatai.com/journal/2017/04/71195

ศรัญญู เทพสงเคราะห์. ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฏร พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: มติชน, 2562

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net