Skip to main content
sharethis

พีมูฟภาคเหนือเคลื่อนไหวยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้เร่งทบทวนพระราชบัญญัติเกี่ยวกับป่าไม้ 3 ฉบับ เหตุไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนอยู่กับป่า ชูแนวทางการจัดการที่ดินและทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชน และมติ ครม. ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง รับรองสิทธิชุมชนอย่างแท้จริง

2 ก.พ. 2563 เวลา 09.00 น. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ในนามสมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ประมาณ 100 คน ได้นัดรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ทางขึ้นดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ทำพิธีสักการะครูบาศรีวิชัย ก่อนจะเดินเท้าไปที่ส่วนจัดการต้นน้ำ สำนักบริหารพื้นที่16 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นกยกรัฐมนตรี ผ่านนายธนพร ศรียากูล ผู้แทนสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี ให้รับข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาป่าไม้และที่ดินในเขตป่าไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

พะตี่ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ปราชญ์ปกาเกอะญอชุมชนบ้านสบลาน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า พื้นที่ป่าจิตวิญญาณของชุมชนอยู่ในพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขานมาตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถกันพื้นที่ออกจากการเตรียมการประกาศได้ และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฉบับปี 2562 ก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการ จึงต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับวิถีชุมชนอย่างแท้จริง 

“พวกเราใช้ชีวิตอยู่ในป่า มีการเลี้ยงวัวเลี้ยงควายแบบปล่อยไปในป่า แต่ พ.ร.บ.อุทยานฯ บอกว่าถ้าเลี้ยงสัตว์ต้องเสียค่าธรรมเนียม 10,000 บาท ตรงนี้เรากังวลที่สุดเลย การจะมาประกาศอุทยานฯ ในพื้นที่เราต้องคำนึงถึงวิถีชีวิตเราด้วย ต้องกันพื้นที่เราออกให้หมด เราไม่ได้คัดค้านการประกาศอุทยานฯ นะ แต่เราอยากให้เขากันพื้นที่ป่าจิตวิญญาณให้เรา เพราะเราดูแลและใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ปู่ย่าตายายแล้ว เราไม่ได้อยู่มาวันสองวัน เราอยู่มา 4 ชั่วอายุคน” พะตี่ตาแยะกล่าว

ด้านนายพฤ โอ่โดเชา ชาวบ้านป่าคา อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า แนวทางตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 รวมไปถึงมติ ครม. 26 พ.ย. 2561 จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาชุมชนที่อยู่ในเขตป่าได้ จึงเสนอให้ใช้แนวทางโฉนดชุมชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชนและมติคณะรัฐมนตรี 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

“พวกเราเกิดมาก็อยู่บนดอย พอใช้เกณฑ์ว่าพื้นที่ลาดชันอยู่ไม่ได้ ลุ่มน้ำชั้น 1 อยู่ไม่ได้ พื้นที่ป่าอยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะไร่หมุนเวียนที่บางท่านบอกว่าจะถอยกลับไปดูให้แค่ 7 ปี แต่พวกเราบอกว่าการทำไร่หมุนเวียนทิ้งไว้ต่ำที่สุด 7 ปี บางที่อาจเป็น 10 ปีเลยในการพักฟื้น เราอยากให้ใช้แนวทางโฉนดชุมชนและแนวทางตามมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 เพราะพวกเรากะเหรี่ยงอยู่ที่ไหนป่าอยู่ที่นั่น อยากให้แต่ละกระทรวงเอาแนวทางนี้ไปใช้ในพื้นที่ด้วย พวกเราก็อยากรักษาป่าเหมือนกันนะครับ แต่ต่อไปเราจะไม่มีสิทธิ์แล้วถ้าใช้กฎหมายที่ออกมา” ชาวปกาเกอะญอบ้านป่าคากล่าว

ทั้งนี้ กลุ่ม สกน. ในนามสมาชิกพีมูฟได้ยื่นหนังสือเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย 9 ข้อต่อรัฐบาล โดยเป็นนโยบายที่ได้ยื่นถึงนายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 13-15 ม.ค. ที่ผ่านมา และจะมีการประชุมหารือร่วมกับระหว่างพีมูฟกับกระทรวงฯ อีกครั้งในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ และจะจัดกิจกรรมเสนอรูปธรรมการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่ชุมชนดอยช้างป่าแป๋ (ต่าหลู่เก่อชอ) ตำบลป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดเชียงใหม่ ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าป่าบ้านโฮ่ง ชูเป็นพื้นที่นำร่องแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างพีมูฟและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

หนังสือถึงนายกรัฐมนตรี
2 ก.พ. 2563

เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาป่าไม้และที่ดินในเขตป่า

เรียน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 
ผ่านนายธนพร ศรียากูล ผู้แทนสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี

ตามที่นายธนพร ศรียากูล และคณะผู้แทนสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอเกี่ยวปัญหาอันเกิดจากการประกาศใช้กฎหมายป่าไม้ฉบับใหม่ ทั้ง พ.ร.บ.อุทยาน, พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า, พ.ร.บ.ป่าชุมชน  ร่วมทั้งมติคณะรัฐมนตรี นโยบายด้านการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากร และระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินในเขตป่าในพื้นที่ภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ระหว่างวันที่ 31 ม.ค. – 2 ก.พ. 2563 นั้น

สหพันธ์เกษตรภาคเหนือ (สกน.) ในนาม “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)” ซึ่งเป็นชุมชนที่ได้ผลกระทบจากนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของรัฐที่ผ่านมา ดังมีรายชื่อพื้นที่แนบท้ายหนังสือฉบับนี้ ขอเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาป่าไม้และที่ดินในเขตป่า มายังท่านนายกรัฐมนตรี ผ่านนายธนพร ศรียากูล ผู้แทนสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี ดังนี้

1. ให้ยุตินโยบายทวงคืนผืนป่าที่สร้างผลกระทบต่อคนจนและเกษตรกรรายย่อย พร้อมทั้งให้หาแนวทางและมาตรการในการฟื้นฟูเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐที่ผ่านมา  

2. ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ตามตามมติ ครม. ดังกล่าว เนื่องจากมติ ครม.และแนวทางดังกล่าว ทำลายหลักการคนอยู่ป่า ละเมิดสิทธิของชุมชนที่ดูแลรักษาป่ามาช้านาน และไม่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่

3. ผลักดันให้มีมาตรการคุ้มครอง “พื้นที่โฉนดชุมชน” ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และยกระดับโครงการจัดที่ดินชุมชน (คทช.) ให้เป็นการรองรับสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการที่ดินร่วมกันอย่างแท้จริง และผลักดันให้มี “พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชน” เพื่อรองรับการจัดการทรัพยากรตามหลักวิถีชุมชนที่ดำรงมาช้านาน

4. ขอให้ทบทวน ปรับปรุงเนื้อหา พ.ร.บ.ป่าชุมชน, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ฉบับ พ.ศ. 2562 ให้สอคคล้องกับเนื้อหาและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2560

5. ผลักดันให้มีการคุ้มครอง พื้นที่ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ และพื้นที่วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2553 และวันที่ 3 ส.ค. 2553 และยกระดับมติ ครม. ทั้งสองฉบับดังกล่าวให้เป็น “พระราชบัญญัติเขตส่งเสริมและคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์” ตามยุทธศาสตร์ชาติด้านสังคมภายในปี พ.ศ.2564

6. กรณีชุมชนที่อยู่ในระหว่างการแก้ปัญหากับหน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ชุมชนสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา และที่อยู่อาศัยได้

7. ให้มีการแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากคดีป่าไม้ที่ดินที่เกิดจากนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยมีมาตรการดังนี้ (1) ให้มีมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้สามารถมีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้เพียงพอต่อการยังชีพได้  (2) คดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของกระบวนการยุติธรรมให้หามาตรการในการจำหน่ายคดี  (3) ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจออกคำสั่งทางปกครองตามกฎหมายป่าไม้ให้ชะลอหรือยกเลิก (ในกรณีที่ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ใช่เป็นการบุกรุกใหม่และเป็นผู้ยากไร้ตามคำสั่งที่ 66/2557) (4) ให้มีคณะทำงานรวบรวมกลั่นกรองและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาคดีความที่เกิดจากปัญหาป่าไม้ที่ดินทั้งหมด เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติผู้ยากไร้และไม่มีที่ดินทำกินตามคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 และข้อเท็จจริงอื่น ๆ   

8. เร่งแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดินของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จำนวน 67 กรณี ตามผลการเจรจาระหว่าง ขปส.กับกระทรวงทรัพย์ฯ ที่ผ่านมา

9. ให้มีนโยบายพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทำกินที่อยู่อาศัยและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กับ ขปส.

เรา หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาป่าไม้และที่ดินในเขตป่า จะได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับหลักสากล เพื่อคืนความเป็นธรรมให้ชุมชนที่รักษาป่ามาโดยเร่งด่วน

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ

รายชื่อชุมชนในพื้นที่สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการทรัพยากรป่าไม้และที่ดินในเขตป่าของรัฐ
1. อุทยานแห่งชาติศรีลานนา
2. อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
3. อุทยานแห่งชาติผาแดง
4. อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง
5. อุทยานแห่งชาติลำน้ำกก (เตรียมการ)
6. อุทยานแห่งชาติแม่เงา (เตรียมการ)
7. อุทยานแห่งชาติออบขาน (เตรียมการ) 
8. อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ)
9. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว
10. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าแม่โท
11. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าป่าบ้านโฮ่ง
12. อุทยานแห่งชาติขุนขาน
13. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้าราม
14. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง
15. อุทยานแห่งชาติภูคา
16. อุทยานแห่งชาติแม่จริม
17. อุทยานแห่งชาติสาละวิน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net