นักปรัชญาชายขอบ: ประชาธิปไตยที่ประชาชนไม่มีตัวแทน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อเปิดหนังสือ “ประชาธิปไตย หลากความหมาย หลายรูปแบบ” ของประจักษ์ ก้องกีรติ จะเห็นว่าความหมายของ “ประชาธิปไตยแบบไทย” มีบางแง่ที่สอดคล้องกับ “ประชาธิปไตยแบบเอเชีย” เช่นว่า เป็นระบอบประชาธิปไตยที่รัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ได้ (ซึ่งไทยน่าจะเด่นเป็นพิเศษในแง่นี้) เน้นการรักษาความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียม, เน้นความเป็นรัฐราชการมากกว่าสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน, เน้นความสำคัญของคุณค่าทางวัฒนธรรมดั้งเดิมเหนือกว่าคุณค่าสากล 

ลักษณะพิเศษของประชาธิปไตยแบบไทยที่ต่างจากประชาธิปไตยแบบเอเชีย นอกจากจะโดดเด่นมากกว่าในแง่ว่ารัฐบาลจะมาจาการเลือกตั้งหรือไม่ก็ได้แล้ว ยังเน้นความสามัคคีภายใต้ความจงรักภักดีต่ออุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ที่เป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทย หรือเป็นแก่นแกนของ “ความเป็นไทย” อุดมการณ์สูงสุดนี้เป็นตัวกำหนดเอกภาพและความสามัคคีของคนในชาติ ดังนั้น บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดๆ ที่ถูกสงสัย หรือถูกมองว่าไม่จงรักภักดีต่ออุดมการณ์ดังกล่าว จึงกลายเป็นฝ่ายที่สร้างความแตกแยก ไม่รักชาติ หรือชังชาติ

ในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย อำนาจนำทางการเมืองตามเป็นจริงไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งที่เป็นตัวแทนประชาชน แต่อยู่ในมือของเครือข่ายกลุ่มชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มีสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์รวมสูงสุดบนยอดปิรามิด 

สถาบันทางสังคมและการเมืองที่เป็นตัวแทนกลุ่มชนชั้นนำฝ่ายอนุรุกษ์นิยม ได้แก่ องคมนตรี สถาบันกองทัพ สถาบันตุลาการ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา หรือระบบราชการโดยรวม และกลุ่มทุนเอกชนขนาดใหญ่ รวมทั้งพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ พรรคเครือข่าย และพรรคที่พวกอำมาตย์ตั้งขึ้นในยุคต่างๆ

ที่น่าเศร้าคือ มหาวิทยาลัยก็ไม่สามารถจะเป็น “เสียงแห่งมโนธรรมสำนึก” แทนประชาชนได้ มหาวิทยาลัยห้ามจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ด้วยข้ออ้างว่าต้องการรักษา “ความเป็นกลางทางการเมือง” ขณะที่สมัยทักษิณ, ยิ่งลักษณ์ บรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัย และประชาคมมหาวิทยาลัยและศิษย์เก่าพร้อมหน้ากันออกมาวิจารณ์ และประท้วงขับไล่ อธิการบดีของมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งไปเป็น สนช. (สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ที่เผด็จการตั้ง ดังที่เราทราบกันเป็นต้น

ดังนั้น ที่เผด็จการอยู่ยาวและลุแก่อำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เพราะประชาชนกลัวที่จะออกมาต่อต้านเท่านั้น แต่ความจริงคือประชาชนไม่มีสถาบันใดๆ ที่เป็นตัวแทนเจตนารมณ์ของพวกเขาที่เชื่อถือมั่นใจได้ แม้จะลุกขึ้นสู้ก็เสมือนเป็นผู้โดดเดี่ยว เสียงของพวกเขาไม่ถูกได้ยิน ไม่มีสถาบันตัวแทนใดๆ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของพวกเขาได้ แม้แต่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนก็เป็นตัวแทนกลุ่มอำนาจชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมมากกว่า จึงเกิดคำถามตลอดมาว่า ออกมาสู้และติดคุกแล้วไง มีใครได้ยินเสียงเรา และกลุ่มบุคคล องค์กร หรือสถาบันทางการเมืองและทางสังคมใดที่จะยืนอยู่เคียงข้างเราและก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

ส่วนพรรคการเมืองที่เสนอตัวเป็นตัวแทนประชาชน หรือที่ถูกประชาชนคาดหวังว่าน่าจะนำการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นประชาธิปไตยก้าวหน้าแบบ “เสรีนิยมประชาธิปไตย” (liberal democracy) หรือ “สังคมประชาธิปไตย” (social democracy) ก็จะถูกยุบ ถูกทำลายในทุกวิถีทาง

แก่นแกนของความขัดแย้งทางการเมืองกว่าทศวรรษมานี้ ก็คือการสกัดกั้น การทำลายพรรคการเมืองที่พยายามจะเสนอตัวเป็นตัวแทนประชาชน ยิ่งความพยายามที่จะยุบพรรคอนาคตใหม่ยิ่งเห็นได้อย่างชัดแจ้ง 

แม้จะจริงว่า “ยุบพรรคการเมืองได้ ก็ตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาแทนได้” แต่ในระยะกว่าทศวรรษนี้ พรรคการเมืองที่ถูกยุบซ้ำๆ ก็ถูกทอนกำลังลงเรื่อยๆ อ่อนแอลงเรื่องๆ ด้วยเงื่อนไข ปัจจัยหลายๆ อย่าง ซึ่งความอ่อนแอลงเรื่อยๆ เพราะถูกยุบเรื่อยๆ นี้ย่อมเป็นไปตามความคาดหวังของฝ่ายอนุรักษ์นิยมอยู่แล้ว พวกเขาต้องการให้เป็นเช่นนั้น ในขณะที่พวกเขาเขียนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย จัดตั้งพรรคการเมือง จัดตั้งมวลชน และวางระบบกลไกอื่นๆ ที่ทำให้พวกเขาสามารถใช้อำนาจทั้งโดยเปิดเผยและอย่างลับที่ล้วนแต่เรียกร้องความรับผิดชอบไม่ได้ และพวกเขาก็ใช้อำนาจนั้นๆ ได้อย่างไม่ต้องแคร์อะไรมากขึ้นๆ

ดังนั้น การยุบพรรคการเมือง จึงไม่ใช่เป็นเพียงการทำลายพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่เป็นตัวแทนของประชาชนกลุ่มหนึ่งๆ แต่มันคือยุทธวิธีการบริหารอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้เกิดพรรคการเมืองที่สามารถจะเป็นตัวแทนของประชาชนเพื่อก้าวข้ามประชาธิปไตยแบบไทยไปสู่เสรีนิยมประชาธิปไตย หรือสังคมประชาธิปไตย มันคือการปิดกั้นและทำลายโอกาสความก้าวหน้าของชาติ และทำให้ประชาธิปไตยแบบไทยที่อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่กลุ่มชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ แต่เป็นอำนาจเข้มแข็งที่ไร้ประสิทธิภาพและความยุติธรรม บั่นทอนศักยภาพและพลังสร้างสรรค์ของประชาชน

ปัญหาคือ ถ้าประชาชนส่วนใหญ่เชื่อตามที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมหลอกลวงว่า การยุบพรรคการเมืองคือส่วนหนึ่งของการป้องกันและการปราบโกง เราก็จะนั่งดูพรรคการเมืองถูกยุบไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราเข้าใจร่วมกันว่า แท้จริงแล้วมันคือความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์การบริหารอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่สกัดกั้นและทำลายพรรคการเมืองที่พยายามเสนอตัวเป็นตัวแทนประชาชนตลอดมา หากประชาชนนั่งดูพรรคการเมืองถูกยุบไปเรื่อยๆ ต่อไปอีก เราก็ย่อมจะถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยที่ไม่มีตัวแทนของประชาชนตลอดไป

ณ เวลานี้ ความร่วมมือระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเก่งในการแยกพรรคการเมืองกับประชาชน สร้างวาทกรรมสารพัดที่ทำให้เชื่อว่าพรรคการเมืองไม่น่าเชื่อถือ เป็นสาเหตุให้เกิดรัฐประหารและความเลวร้ายสารพัด แล้วพวกเขาก็พยายามผนวกตัวเองเข้ากับประชาชน อ้างตนเป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชาชน เพราะเป็นฝ่ายทำประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนมากกว่าใครอื่น 

พูดอีกอย่าง กลุ่มชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมกระหายความนิยมจากประชาชน หรือต้องการเป็น “ป๊อปปูลาร์” ในหมู่ประชาชนด้วยวิธีการสารพัด พวกเขา “เช็คยอด” ความนิยมของประชาชนตลอดเวลา แต่ปัญหาสำคัญคือพวกเขาไม่เคยคิดจะสร้างความนิยมจากประชาชนบนกติกาที่ฟรีและแฟร์ ไม่ต้องการอยู่ภายใต้เสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบตามระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย 

พรรคอนาคตใหม่ คือพรรคการเมืองที่กวักมือเรียกพรรคการเมืองอื่นๆ และกลุ่มการเมืองทุกกลุ่ม ไม่ว่าฝ่ายอนุรักษ์ยิมหรือก้าวหน้า ขวาหรือซ้าย เสรีนิยมหรือสังคมนิยมให้เสนอตัวแข่งขันกันเป็น “ตัวแทน” ของประชาชนบนการต่อสู้แข่งขังภายใต้กติกาที่ฟรีและแฟร์ การยุบพรรคอนาคตใหม่จึงเป็นการปิดโอกาสที่สังคมไทยจะก้าวไปสู่ระบบการเมืองที่ประชาชนสามารถจะมีตัวแทนของตนเองได้อย่างแท้จริง

แน่นอนว่า ในเวลานี้และอนาคต ย่อมไม่ใช่อนาคตใหม่เพียงพรรคเดียวที่เป็นตัวแทนของประชาชน แต่ถ้าไม่ยอมรับการต่อสู้แข่งขันภายใต้กติกาที่ฟรีและแฟร์แบบที่อนาคตใหม่ยืนยันและเรียกร้อง พรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริงย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ 

 

ที่มาภาพ https://www.matichon.co.th/politics/news_670978
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท