ผู้หญิงอิรักประท้วงต้านความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม และการเหยียดเพศจากผู้นำศาสนา

ผู้หญิงอิรักจำนวนมากชุมนุมประท้วงต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมทั้งจากรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธโดยเฉพาะผู้ชุมนุมสตรีและต่อต้านการเหยียด-แบ่งแยกเพศจากครูสอนศาสนาชื่อดังในประเทศรวมถึงเรียกร้องให้แยกรัฐกับศาสนาออกจากกัน โดยที่ในอิรักเพิ่งมีการประท้วงใหญ่จนทำให้นายกฯ คนเดิมลาออกเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา

ที่มาของภาพประกอบ:  Murtadha Al-Sudani/Anadolu Agency

17 ก.พ. 2563 ในอิรักมีผู้หญิงจำนวนมากชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมที่แสดงการต่อสู้ขัดขืนพวกเขา การชุมนุมในอิรักครั้งนี้มีขึ้นตามเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบกแดด, บาสรา, นาสิริยา, นาจาฟ, กัรบะลาอ์ นอกจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธแล้ว การชุมนุมในครั้งนี้ยังเน้นเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการประท้วงที่สามารถโค่นล้มรัฐบาลได้แล้วก่อนหน้านี้ รวมถึงยังเป็นการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับผู้ประท้วงชาย

สหพันธ์สตรีอิรักเคยออกแถลงประณามการใช้ความรุนแรงอย่างเกินเลยของกองกำลังความมั่นคงอิรักในสัปดาห์ที่แล้ว มีข้อมูลระบุว่า ในการประท้วงรัฐบาลตลอด 4 เดือน มีผู้ประท้วงเสียชีวิตมากกว่า 600 ราย และมีอย่างน้อย 18,000 รายที่ได้รับบาดเจ็บ โดยที่การประท้วงดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสันติ

สหพันธ์สตรีอาหรับแถลงอีกว่าผู้หญิงเป็นผู้นำการประท้วงบางกลุ่มในการต่อต้านรัฐบาล พวกเธอมักจะต้องเผชิญกับความรุนแรงโหดร้ายเป็นพิเศษ มีนักกิจกรรมหญิงที่มีชื่อเสียงอย่างน้อย 4 ราย ที่ถูกยิงเสียชีวิตในช่วงที่มีการประท้วง

ในเว็บไซต์พีเพิลดิสแพทช์ระบุว่าในวันที่ 14 ก.พ. ผู้หญิงอิรักก็ออกมาประท้วงนับแสนคนทั่วประเทศเพื่อแสดงความไม่พอใจที่ครูสอนศาสนานิกายชีอะฮ์ ซึ่งเป็นนิกายที่ชาวอิรักส่วนใหญ่นับถือเรียกร้องให้ผู้หญิงกับผู้ชายควรจะแยกกันประท้วงเพราะเพศสภาพที่ต่างกัน รวมถึงกล่าวหาว่าผู้ประท้วงเป็นพวก "โป๊เปลือย" "ไร้จริยธรรม" รวมถึงกล่าวเหยียดผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย

เรื่องนี้ทำให้ผู้ประท้วงแสดงความไม่พอใจและเรียกร้องให้มีการ "แยกรัฐกับศาสนาออกจากกันจะเป็นการดีกว่ามาแบ่งแยกชายหญิงออกจากกัน" ซึ่งเป็นข้อความระบุในโปสเตอร์ประท้วงชิ้นหนึ่ง นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการ "ปฏิวัติ" "ต่อต้านขัดขืน" และมองว่าตัวเองเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมของประเทศชาติ

มีผู้ประท้วงจำนวนมากโบกธงอิรักและตะโกนคำขวัญว่า "หยุดการกีดกันเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง" "เลิกการแบ่งแยกเพศสภาพ" "ผู้หญิงคือการปฏิวัติไม่ใช่อวัยวะเพศ" และ "เสรีภาพ การปฏิวัติ สตรีนิยม"

ทั้งนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาสหพันธ์สตรียังจัดการประชุมเรียกร้องให้สหประชาชาติและประชาคมโลกร่วมมือกันทำให้รัฐบาลอิรักต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตนเอง หนึ่งในวิดีโอของการประท้วงแสดงให้เห็นกลุ่มผู้ชายคล้องแขนอยู่ริมขอบด้านนอกขบวนชุมนุมเพื่อคุ้มกันการเดินขบวน

ในขบวนการเคลื่อนไหวครั้งนี้ยังมีการใช้แฮชแท็กเป็นภาษาอาหรับที่แปลว่า "ลูกสาวของประเทศ" เพื่อเรียกร้องการสนับสนุนการเคลื่อนไหวจากโซเชียลมีเดีย

บัลซัม มุสตาฟา ผู้เชี่ยวชาญด้านอิรัก จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมกล่าวว่าแฮชแท็กดังกล่าวนี้สามารถกุมอารมณ์ความรู้สึกของการมีสตำแหน่งแห่งที่ในสังคมและความรู้สึกเจ็บปวด แต่ขณะเดียวกันก็เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงจัดพื้นที่มีส่วนร่วมมากขึ้นเพื่อให้ผู้หญิงได้รับสิทธิอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกลัวการถูกกดขี่

สำหรับการประท้วงรัฐบาลในอิรักนั้นเริ่มต้นมาจากการเรียกร้องให้มีการจ้างงานที่ดีขึ้น การบริการสาธารณะที่ดีขึ้น และหยุดการทุจริตคอร์รัปชั่นที่แพร่ระบาดในรัฐบาล แต่ต่อมาก็ปะทุกลายเป็นหนึ่งในการลุกฮือระดับรากหญ้าที่ใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปีของอิรัก การประท้วงในครั้งนี้เป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรี อะดิล อับดุล มาห์ดี ลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 29 พ.ย. 2562

เรียบเรียงจาก

'Million woman' march hits streets of Iraq demanding end to violence, The New Arab, 13-02-2020

Hundreds of thousands take part in ‘million-women march’ in Iraq, Peoples Dispatch, 14-02-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท