Skip to main content
sharethis

นักเขียนสัญชาติอังกฤษเชื้อสายอิรักวิพากษ์ระบบการศึกษาอังกฤษที่ไม่ยอมเล่าเรื่องราวด้านร้ายๆ ของตัวเองในช่วงล่าอาณานิคม ซึ่งส่งผลกระทบในหลายประเทศจากอดีตมาจนถึงทุกวันนี้รวมถึงประเทศอิรักซึ่งนักเขียนหญิงผู้นี้ได้ทราบเรื่องราวจากคำบอกเล่าจากปู่และการค้นคว้าเองมากกว่าที่ได้รับจากบทเรียน และการที่ทำให้รู้ประวัติศาสตร์อีกด้านมันกลายเป็นสิ่งที่เสริมพลังให้เธอ รวมถึงทำให้เธอสร้างสรรค์งานเขียนใหม่ๆ ได้

1 ก.ย. 2561 รุคายา อิซซิเดียน นักเขียนชาวอังกฤษเชื้อสายอิรักที่เชี่ยวชาญเรื่องสังคมและวัฒนธรรม นำเสนอบทความในสื่ออัลจาซีราระบุว่าโรงเรียนในอังกฤษเองควรจะมีการเรียนการสอนประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคมอังกฤษซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศบรรพบุรุษของเธอคืออิรัก

อิซซิเดียนระบุว่าจากการที่เธอเติบโตมาในอังกฤษเธอจำไม่ได้เลยว่ามีการสอนเรื่องประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคมจากอังกฤษในโรงเรียนเลย ถึงแม้ว่าหลักสูตรการเรียนการสอนของอังกฤษจะเน้นพูดถึงความรุนแรงจากฝ่ายอื่นๆ เช่น นาซีเยอรมนี หรือสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามกลางเมือง อาจจะมีการพูดถึงประวัติศาสตร์แย่ๆ ในยุคกลางของประเทศตัวเองบ้างเล็กน้อย เช่น เรื่องโรคระบาดครั้งใหญ่ ไฟไหม้กรุงลอนดอนครั้งใหญ่ และช่วงการปกครองของกษัตริย์เฮนรีที่ 8 แต่ไม่มีเรื่องความโหดร้ายของการล่าอาณานิคมอังกฤษเลย

บทความระบุว่าพวกเธอไม่ได้รับรู้เรื่องราวความโหดร้ายของค่ายกักกันกองทัพอังกฤษในช่วงสงครามโบเออร์ หรือเหตุขาดแคลนครั้งใหญ่ในเบงกอลช่วงปี 2486 หรือเหตุสังหารหมู่ชาวเคนยาในช่วงราวปี 2495 และพวกเขายังไม่เคยเรียนรู้ถึงอาชญากรรมจำนวนมากที่อังกฤษเคยทำไว้กับบรรพบุรุษชาวอิรักของพวกเธอเลย ขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษอย่างวินสตัน เชอร์ชิลล์ ถูกยกย่องเป็นฮีโรหรือรัฐบุรุษ แต่ไม่เคยมีเนื้อหาพูดถึงตอนที่เขาสนับสนุนการใช้อาวุธเคมีกับประชาชนชาวอิรักเพื่อโต้ตอบการเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษเลย

อิซซิเดียนระบุต่อไปว่าหลักสูตรการเรียนการสอนของอังกฤษไม่ได้สอนเรื่องที่พวกเขาลักพาตัวและคุมขังกลุ่มผู้นำอิรัก ทิ้งระเบิดใส่พลเรือนเพราะไม่ยอมจ่ายภาษี รวมถึงเผาและทำลายหมู่บ้านและเมืองต่างๆ เพื่อกำราบการปฏิวัติต่อต้าน

บทความของชาวอังกฤษเชื้อสายอิรักยังวิพากษ์วิจารณ์กรณีทางการเมืองของอังกฤษที่แต่งตั้งผู้ช่วยกระทรวงศึกษาธิการเป็นนักประวัติศาสตร์ที่แก้ตัวแทนจักรวรรดิ์นิยมบริติช บทเรียนของอังกฤษยังมีการลบล้างความผิดบาปของคนขาว ไม่ได้มีการพูดถึงปัญหาเรื่องการล่าอาณานิคมทางสีผิวและการที่คนขาววางตัวเป็นใหญ่ซึ่งมีผลกระทบยาวนานต่อประชาชนที่อยู่ใต้อาณานิคม นอกจากนี้เรื่องเล่าแบบที่ล้างผิดตัวเองของอังกฤษก็เป็นสิ่งฝังหัวชาวอังกฤษจำนวนมาก มีชาวอังกฤษร้อยละ 49 เชื่อว่าจักรวรรดิบริติชเป็น "พลังฝายดี" ที่ "ช่วยพัฒนาชีวิตของประเทศใต้อาณานิคม" และมีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่คิดว่าจักรวรรดิ์นี้ทำให้ประเทศใต้อาณานิคมแย่ลง

แต่สิ่งที่ทำให้อิซซิเดียนได้เรียนรู้เรื่องความโหดร้ายจากอาณานิคมไม่ใช่จากห้องเรียน แต่มาจากปากของปู่เธอเอง มันสร้างความรู้สึกไม่สบายใจว่ายังมีเรื่องที่เธอไม่รู้อยู่อีกจนทำให้ต้องไปค้นคว้าต่อจนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธฮเขียนนิยายออกมา สำหรับเธอแล้วการได้สามารถเล่าเรื่องจากฝ่ายของตัวเธอเองได้บ้างมันสร้างความรู้สึกเสริมพลังให้ตัวเอง

อิซซิเดียนระบุว่าการเล่าเรื่องแบบสร้างภาพโรแมนติคให้ฝ่ายผู้ล่าอาณานิคมเหล่านี้ยังมีอยู่ในวัฒนธรรมป็อบต่างๆ ทั้งละครโทรทัศน์เกี่ยวกับคนขาวรวยๆ อย่าง ดาวน์ตันแอบบีย์ และอินเดียนซัมเมอร์ส ซึ่งไม่ได้บอกเลยว่าความมั่งคั่งที่พวกเขาได้มานั้นเอามาจากไหน หรือมีภาพยนตร์ที่สร้างภาพให้พระราชินีวิคเตอเรียดู "ใจกว้าง" ต่อทาสชาวอินเดีย ทั้งที่ได้ผลประโยชน์จากการกดขี่ชาวอินเดียอยู่

อิซซิเดียนวิพากษ์ไปถึงวงการการศึกษาที่มีมหาวิทยาลัยของกลุ่มชนชั้นนำอย่างอ็อกฟอร์ดที่ยังมีลักษณะแบบเอายุโรปเป็นศูนย์กลาง (Eurocentric) และกีดกันผู้หญิงกับคนที่ไม่ใช่คนผิวขาว ซึ่งทำให้กลุ่มนักศึกษาเรียกร้องให้มีการยกเลิกความเป็นเจ้าอาณานิคมในหลักสูตรการศึกษาของมหาวิทยาลัย

ประเด็นเรื่องการพยายามบ่ายเบี่ยงไม่พูดถึงความผิดของอังกฤษในยุคอาณานิคมยังมีอยู่ในแวดวงการเมืองด้วย เช่น กรณีของเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้านี้มีผู้เรียกร้องในปี 2556 ให้อังกฤษขอโทษต่อกรณีการสังหารหมู่ที่อมฤตสาร์ ปี 2462 แต่คาเมรอนก็กล่าวว่า "ผมไม่คิดว่าสิ่งที่ถูกต้องคือการล้วงกลับไปในอดีตเพื่อหาสิ่งที่พวกเราควรจะขอโทษ" อิซซิเดียนวิจารณ์ว่าถ้อยคำของคาเมรอนมีปัญหาตรงที่การลัทธิอาณานิคมไม่ควรถูกผลักให้เป็นประวัติศาสตร์ที่จะต้องให้อภัยและลืมไป เพราะมรดกที่เป็นผลพวงจากอาณานิคมยังคงอยู่ไม่ว่าจะเป็นพรมแดนเทียมๆ การกระจายทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกัน หรือการใช้ทรัพยากรจนหมด ทำให้เกิดความขัดแย้งตามมา รวมถึงปัญหาความยากจนและการด้อยพัฒนาด้วย

"พวกเราจะไม่สูญเสียอะไรเลยจากการยอมรับอาชญากรรมในอดีตของพวกเรา วิธีการเดียวที่เราจะหลีกเลี่ยงการทำผิดพลาดซ้ำอีกคือการเรียนรู้จากมัน" อิซซิเดียนระบุในบทความ


เรียบเรียงจาก

It is time to teach colonial history in British schools, Aljazeera, 31-08-2018
https://www.aljazeera.com/indepth/opinion/time-teach-colonial-history-british-schools-180830055614463.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net