Skip to main content
sharethis

สื่อซีเอ็นเอ็นเปิดเผยเรื่องราวการโจมตีทางอากาศของสหรัฐอเมริกาต่อกรุงโตเกียวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งน้อยคนจะรู้จัก เหตุการณ์ครั้งนั้นคร่าชีวิตคนไปถึงราว 100,000 ราย และทำลายอาคารบ้านเรือนจำนวนมาก แต่กลับเป็นเหตุการณ์ที่มีคนพูดถึงน้อยกว่ากรณีการโจมตีด้วยระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ

ภาพกรุงโตเกียวหลังจากถูกทิ้งระเบิดเพลิงในปี 2488 (ที่มา: วิกิพีเดีย)

ฮารุโยะ นิเฮย์ คือหนึ่งในผู้อยู่ในเหตุการณ์โจมตีทางอากาศต่อกรุงโตเกียวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในตอนนั้นเธออายุเพียงแค่ 8 ปี นิเฮย์เล่าว่าในตอนที่กองทัพอเมริกันทิ้งระเบิดในเมืองของเธอนั้น มันทำให้เกิดพายุหมุนของเปลวเพลิง ดูดเอาที่นอนและเครื่องเรือนอื่นๆ จากบ้านของเธอออกไป ก่อนที่สิ่งของเหล่านั้นจะมอดไหม้ในกองเพลิง

นิเฮย์เล่าว่าเธอกำลังนอนหลับอยู่ในตอนที่เกิดเหตุทิ้งระเบิด เธอต้องหนีตายพร้อมกับพ่อแม่พี่น้องในบ้าน ในตอนนั้นผู้คนไปรวมตัวกันที่ทางแยกถนนของกรุงโตเกียว เธอตะโกนร้องเรียกพ่อ พ่อของเธอโอบหุ้มตัวเธอไว้เพื่อปกป้องเธอจากเปลวเพลิง เธอได้ยินเสียงคนพูดว่า "พวกเราคือชาวญี่ปุ่น พวกเราจะต้องมีชีวิตรอด พวกเราจะต้องมีชีวิตรอด" จนกระทั่งเสียงจางลงไปเรื่อยๆ ในขณะที่ฝูงชนห้อมล้อมกองทับกันจนเธอสลบไป

มีคนนำตัวนิเฮย์ออกจากกองซากศพของผู้คนที่หมกไหม้จนเป็นตอตะโก และซากศพเหล่านี้เองก็ปกป้องเธอกับพ่อของเธอไว้จากเปลวเพลิง ในวันที่เธอฟื้นขึ้นมาอีกทีหนึ่งนั้นเป็นวันที่ 10 มี.ค. 2488 ซีเอ็นเอ็นระบุว่าในวันนั้นเธอได้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

เหตุการณ์ในครั้งนั้นมาจากการที่กองทัพอเมริกันใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 จำนวน 300 ลำทิ้งระเบิดเพลิง 1,500 ตัน ใส่เมืองหลวงกรุงโตเกียวในช่วงกลางคืน ส่งผลให้มีประชาชนชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตราว 100,000 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีกประมาณ 1 ล้านราย เหยื่อส่วนใหญ่เป็นพลเรือน นอกจากนี้อาคารบ้านเรือนในพื้นที่ 40.9 ตร.กม. ที่ถูกทิ้งระเบิด ถูกเผาไหม้เป็นเถ้าถ่าน มีการประเมินว่ามีคนต้องไร้บ้านราว 1 ล้านคนจากเหตุการณ์นี้

ซีเอ็นเอ็นระบุว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้มีมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูในสองแห่งแบบนับแยกกันหลังจากนั้น โดยในเหตุการณ์ระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมามีผู้เสียชีวิตราว 70,000 ราย และในนางาซากิมีผู้เสียชีวิตราว 46,000 ราย แต่ทว่ากลับไม่มีการสร้างอนุสรณ์สถานรำลึกถึงเหตุการณ์ในโตเกียวแบบเดียวกับที่มีการสร้างเพื่อรำลึกเหตุการณ์ฮิโรชิมาและนางาซากิ รวมถึงไม่มีการพูดถึงและโต้เถียงกันแบบเดียวกับเหตุการณ์ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดที่เดรสเดนเมืองของเยอรมนี ทำให้ถึงแม้ว่าเหตุการณ์จะครบรอบ 75 ปีแล้วก็ตาม

ปฏิบัติการทิ้งระเบิดโตเกียวเมื่อ 75 ปีที่แล้วเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการที่ชื่อปฏิบัติการมีตติงเฮาส์ (Operation Meetinghouse) ที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ มีปฏิบัติการโจมตีญี่ปุ่นในช่วงระหว่างเดือน ก.พ. - พ.ค. ปี 2488 คนที่วางแผนในเรื่องนี้หลักๆ คือ นายพล เคอร์ติส เลอเมย์ ผู้บัญชาการฝ่ายอากาศยานทิ้งระเบิดในแปซิฟิกในสมัยนั้น โดยที่ต่อมาเขาเป็นผู้นำการทิ้งระเบิดใส้เกาหลีเหนือและเวียดนาม รวมถึงสนับสนุนให้มีการยิงระเบิดนิวเคลียร์ใส่รัสเซียก่อนในช่วงที่มีวิกฤตขีปนาวุธคิวบาในปี 2505

ถึงแม้ประธานาธิบดีในยุคก่อนหน้านั้นคือ แฟรงคลิน รูสเวลต์ เคยส่งสาส์นเตือนว่าผู้ทำสงครามไม่ควร "กระทำป่าเถื่อนไร้มนุษยธรรม" ด้วยการทิ้งระเบิดใส่พลเรือน แต่ดูเหมือนสหรัฐฯ ก็เปลี่ยนนโยบายนี้เสียเองในปี 2488 หลังจากที่มีเหตุการณ์กองทัพญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ในปี 2484 สหรัฐฯ ก็จ้องจะโต้ตอบญี่ปุ่นอยู่แล้ว พวกเขาวางแผนยึดกุมพื้นที่ต่างๆ เพื่อตั้งฐานทัพอากาศใกล้ๆ กับญี่ปุ่นได้ เกาะกวมในตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกก็เป็นหนึ่งในฐานที่มั่นดังกล่าว

ในปฏิบัติการโจมตีโตเกียวครั้งนั้น ทางการสหรัฐฯ ใช้เครื่องบิน B-29 เครื่องบินรุ่นใหม่ที่เพิ่งคิดค้นขึ้นมาที่บินได้เร็ว ไต่ระดับความสูงได้สูง และบรรจุระเบิดได้จำนวนมาก มีการตั้งข้อสังเกตกับปฏิบัติการมีตติงเฮาส์ว่าใช้ระเบิดเพลิงเพราะจงใจจะเผาอาคารส่วนใหญ่ในโตเกียวที่ทำจากไม้

เครื่องบินชนิดใหม่มาพร้อมยุทธวิธีใหม่ นักบินมากกว่า 3,000 นายของสหรัฐฯ ในตอนนั้นแสดงความตะลึง ไม่เชื่อในสิ่งที่ได้ยิน หลังจากที่พวกเขาได้รับฟังคำสั่งเบื้องต้นของปฏิบัติการ เจมส์ บาวแมน ลูกชายของหนึ่งในทหารอากาศที่ปฏิบัติการในครั้งนั้นเขียนเล่าเรื่องราวนี้ไว้ว่า "คนส่วนใหญ่ในห้องแถลงคำสั่งปฏิบัติการวันนั้นเชื่อว่ามีสองอย่างเกิดขึ้น หนึ่งคือ เลอเมย์บ้าไปแล้วจริงๆ และสองคือพวกเขาจำนวนมากจะไม่มีชีวิตรอดไปถึงวันพรุ่งนี้"

สิ่งที่ทำให้นักบินคิดว่าพวกเขาจะไม่รอดคือคำสั่งที่ให้บินเป็นแถวยาวแถวเดียวทำให้ไม่สามารถปกป้องตัวเองจากฝูงบินรบของฝ่ายญี่ปุ่นได้ นอกจากนี้ยังสั่งให้ปลดอาวุธป้องกันทั้งหมดออกเพื่อให้บรรทุกระเบิดเพลิงให้ได้มากที่สุด

นิเฮย์เล่าถึงผลที่เกิดขึ้นจากปฏิบัติการในคืนวันที่ 9-10 มี.ค. 2484 ว่า ในคืนนั้นเธอเห็นข้าวของต่างๆ ทั้งฟูกที่นอน เสื่อทาทามิและสัมภาระถูกเผาไหม้ มีบางคนที่วิ่งหนีตายพร้อมกับเด็กเล็กที่กำลังลุกไหม้อยู่บนหลังของพวกเขา ท้องถนนกลายเป็นทะเลเพลิง

พ่อของนิเฮย์บอกกับเธอในตอนนั้นว่าแม้แต่หลุมหลบภัยที่พวกเขาวางแผนจะเข้าไปหลบภัยในนั้นก็ไม่ปลอดภัยอีกต่อไปและเสี่ยงจะถูกเผาหรือสำลักควันจากระเบิดเพลิงไปด้วย อีกภาพหนึ่งที่เธอเห็นคือคนขับรถม้าลากสัมภาระในขณะที่เปลวเพลิงกำลังลามจากสัมภาระมาถึงตัวม้าและเผาไหม้ตัวม้าไปแล้วแต่เขาก็ยังพยายามแล่นรถม้าต่อไปจนกระทั่งเปลวเพลิงเผาไหม้ตัวเขาไปด้วย

จากสายตาของนักบินสหรัฐฯ จิม ไวลด์ เขาเล่าว่าพวกเขาได้สร้างเพลิงนรกที่ลุกลามเกินจินตนาการ เบื้องล่างเต็มไปด้วยสีแดงเพลิงและมีควันขโมงรอบด้าน นักบินอีกคนหนึ่งเล่าว่าแม้ว่าหลังจากที่พวกเขาบินออกมาไกลจากโตเกียว 241 กม. เหนือมหาสมุทรแปซิฟิกแล้วก็ยังเห็นเปลวเพลิงชัดเจน

เหตุการณ์โจมตีโตเกียวยิ่งทำให้กองทัพสหรัฐฯ ฮึกเหิมและปฏิบัติการทิ้งระเบิดใส่เมืองอื่นๆ อีกหลายเมือง ทำให้คนเสียชีวิตจำนวนมาก แต่ปฏิบัติการเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ญี่ปุ่นยอมอ่อนข้อแต่อย่างใด กลับยิ่งทำให้ผู้นำญี่ปุ่นในยุคนั้นโกรธแค้นมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้นถึงแม้ว่าในเวลาต่อมาเลอเมย์จะยอมรับว่าการกระทำของตัวเองโหดเหี้ยม แต่ในประเทศสหรัฐฯ เขากลับได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษและได้รับการเลื่อนขั้น เลอเมย์กล่าวไว้ว่า "ในตอนนั้นการสังหารชาวญี่ปุ่นไม่ได้รบกวนจิตใจผมมากนัก ...ผมคิดว่าถ้าหากผมแพ้สงคราม ผมก็อาจจะถูกดำเนินคดีในฐานะอาชญากรสงครามได้" ในชีวประวัติอย่างเป็นทางการของเขาในกองทัพอากาศสหรัฐฯ ก็อ้างว่าเป็น "การรักษาสันติภาพ"

การทิ้งระเบิดครั้งนั้นทำให้นิเฮย์ต้องสูญเสียเพื่อนในโตเกียวที่เคยสัญญาไว้ในวันก่อนที่โตเกียวจะเป็นทะเลเพลิงว่าจะมาเล่นกันอีกในวันต่อมา บ้านเมืองที่พังพินาศทำให้เธอและครอบครัวที่รอดชีวิตต้องไปอาศัยอยู่กับญาติๆ และใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก นิเฮย์บอกว่าในตอนนั้นเธอไม่สนใจอีกแล้วว่าญี่ปุ่นจะแพ้หรือชนะสงคราม เธอขอแค่อย่าให้มีการทิ้งระเบิดเพลิงเกิดขึ้นอีก 

ต่อมาจักรพรรดิฮิโรฮิโตแห่งญี่ปุ่นประกาศแพ้สงครามหลังมีการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ 2 ลูก กระนั้น จักรพรรดิฮิโรฮิโตไม่เคยใช้คำว่า "ยอมแพ้" หรือ "พ่ายแพ้" เลย เพียงแต่ระบุว่าอาวุธใหม่ที่สหรัฐฯ ใช้เป็นอาวุธที่โหดร้ายทารุณที่สุด และญี่ปุ่นจำต้องยอมรับข้อเรียกร้องของศัตรูเพื่อรักษาประเทศไว้

ย้อนกลับมาที่ยุคปัจจุบัน ในมุมเล็กๆ มุมหนึ่งของแขวงโคโตในกรุงโตเกียว มีอาคารสองชั้นที่ดูคล้ายที่พักอาศัย แต่จริงๆ แล้วเป็นศูนย์ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์โจมตีทางอากาศต่อโตเกียวและความเสียหายจากสงคราม อาคารนี้ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2545 จากการรวบรวมเงินทุนของกลุ่มผู้รอดชีวิตจากการโจมตีทางอากาศ

ศูนย์ประวัติศาสตร์ดังกล่าวนี้ไม่เพียงแค่พูดถึงกรณีโตเกียว แต่รวบรวมข้อมูลความเสียหายของการโจมตีทางอากาศในที่อื่นๆ รวมถึงที่ญี่ปุ่นเคยก่อไว้กับประเทศอื่นด้วย เช่น เหตุการณ์ที่กองทัพอากาศญี่ปุ่นโจมตีพลเรือนจีนในฉงชิ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 32,000 ราย รวมถึงกรณีที่ใกล้กับยุคปัจจุบันอย่างการโจมตีทางอากาศในซีเรียและเยเมน

ถึงแม้ว่าคัทสึโมโตะ ซาโอโตเมะ ผู้ก่อตั้งศูนย์ประวัติศาสตร์แห่งนี้จะพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลให้ทุนสนับสนุนอนุสรณ์สถานแห่งนี้ แต่ทางการโตเกียวกลับบอกว่าไม่มีงบประมาณนี้และใช้วิธีจัดตั้งอนุสรณ์สถานขนาดเล็กที่มุมหนึ่งของสวนสาธารณะโยโกอะมิโชใกล้กับโรงเก็บอัฐิของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดโตเกียวและผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในพื้นที่คันโตปี 2456 โดยมีการจารึกรายชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เหล่านั้น แต่สิ่งเหล่านี้ก็เล็กน้อยเกินไปไม่เพียงพอสำหรับผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์

นิเฮย์กล่าวว่าเธอกลัวว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยถ้าหากคนรุ่นหลังไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความโหดร้ายของสงครามในอดีต มีชาวญี่ปุ่นมากกว่าร้อยละ 80 ที่เกิดหลังสงครามไม่เข้าใจความเจ็บปวดจากประวัติศาสตร์สงครามเหล่านี้

ตัวนิเฮย์เองก็เคยรู้สึกกลัวที่จะเข้าไปในอนุสรณ์สถานแห่งนี้มาก่อน เธอไปเยือนที่นั่นพร้อมกับเพื่อนและมีรูปภาพของรูปที่ส่งผลสะเทือนต่อความรู้สึกของเธอ รูปแรกคือรูปที่แสดงถึงศพที่เผาไหม้กองทับกันอยู่ เธอบอกว่ามันเป็นรูปที่ชวนย้อนนึกถึงความทรงจำในวันนั้นทำให้เธอรู้สึกว่าผู้คนที่เสียชีวิตเหล่านี้กำลังบอกเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นให้คนอื่นฟัง อีกรูปหนึ่งเป็นรูปวาดขอบฟ้าของเมืองโตเกียว มีเด็กนั่งอยู่บนก้อนเมฆ นิเฮย์บอกว่ามันทำให้เธอนึกถึงเพื่อนๆ ของเธอ ทำให้เธอคิดว่าเพื่อนๆ เหล่านั้นกำลังมีช่วงเวลาดีๆ อยู่ที่แห่งหนอื่นที่ใดสักแห่ง

เรียบเรียงจาก
History's deadliest air raid happened in Tokyo during World War II and you've probably never heard of it,
CNN, Mar. 9, 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net